คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (25) สิทธิแรงงานในภาวะวิกฤติโรคโควิด –19

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (25) สิทธิแรงงานในภาวะวิกฤติโรคโควิด –19

                                                                            ชฤทธิ์  มีสิทธิ์ (4/2563)

          คลินิกกฎหมายด้านแรงงานตอนที่ 23 และ 24 เราเพิ่งคุยกันเรื่องสิทธิแรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจและสถานประกอบการต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยน สภาพการจ้าง ลดค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รูปแบบการจ้างงาน  การหยุดกิจการชั่วคราว ตลอดจนการเลิกจ้าง โดยอ้างสภาวะทางเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว  แรงงานก็ต้องเผชิญกับปัญหาและความเดือดร้อนต่างๆนานามาพักหนึ่งแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็ได้สะท้อนปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อจำกัดของกฎหมาย รวมทั้งมาตรการการบริหารจัดการแรงงานภาครัฐที่ควรดำเนินการไปแล้ว ท่านย้อนไปอ่านดูได้นะครับ

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก  ด้วยเหตุการณ์ช็อคโลกและช็อคประเทศไทย คือ ไวรัสโควิด -19 ดังที่เรียกกันว่าโรคอุบัติใหม่ คือโรคที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน จึงยังไม่มียาหรือวัคซีนจัดการกับโรคได้โดยตรง  สำหรับประเทศไทยโควิด -19    เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่มาถึงจุดเดือดและเกิดความปั่นป่วนราวกลางเดือนมีนาคม 2563  จนกระทั่งนำไปสู่การใช้กฎหมายพิเศษในการบริหารจัดการประเทศในสถานการณ์โควิด -19 ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้รับทราบ เรียนรู้ ปรับตัว (ได้บ้างไม่ได้บ้าง) รวมทั้งเผชิญปัญหาด้วยความยากลำบากกันมาแล้ว

สถานการณ์ในช่วงแรก

เป็นกรณีการเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า  ซึ่งสถานประกอบการต่าง ๆ มีโครงการหรือแผนงานศึกษาดูงานหรือทัศนศึกษาที่ต่างประเทศ ทั้งกำลังจะเดินทางไป และกำลังที่จะกลับจากประเทศเสี่ยง  หรือพนักงานมีโปรแกรมสำหรับการท่องเที่ยว หรือไปปฏิบัติงานที่ต่างประเทศ และครบกำหนดกลับประเทศไทยในช่วงโควิด –19  ซึ่งหลายประเทศมีความเสี่ยงโรคโควิด-19

ผู้เขียนจำได้ว่า ในช่วงนั้นแนวความคิดที่จะร่วมกันปกป้องชีวิตและสุขภาพยังไม่เด่นชัดนัก ธุรกิจและสถานประกอบการต่าง ๆ มุ่งแต่จะแก้ปัญหาเพื่อให้บริษัทตนเองปลอดภัย คนงานไม่คิดเชื้อ หรือไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค และมิให้เกิดผลกระทบกับองค์กรของตน ท่าทีของนายจ้างและสถานประกอบการต่าง ๆ จึงออกมาแบบแข็งๆขาดๆ ด้วย เช่น

©ห้ามพนักงานเดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19  หากพนักงานฝ่าฝืนนายจ้างจะเลิกจ้าง หรือถือว่าพนักงานลาออกจากบริษัท

©พนักงานที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง หากถูกรัฐบาลกักตัว 14 วัน พนักงานจะต้องลาพักร้อนบ้าง ลากิจบ้าง  หรือลาโดยไม่รับค่าจ้างบ้าง หรือเลยเถิดไปถึงขนาดให้ลาป่วยกันก็มี ทั้งๆ ที่ยังมิได้ป่วย หรือยังมิได้ตรวจร่างกายเลยว่ามีเชื้อโรคอยู่หรือไม่

©ธุรกิจหลายแห่งเริ่มกลัวโรคโควิด-19  หยุดกิจการชั่วคราวก็มี ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานก็มี กระจายงานให้พนักงานไปทำที่บ้านก็มี  หรือให้ลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างทั้งเดือนก็มี  และหากพนักงานคนใดไปข้องแวะในกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง นายจ้างจะไม่รับผิดชอบ และอาจถูกเลิกจ้างในทันที (เฮ้อๆๆๆ)

โดยที่ฝ่ายแรงงานเองแทบจะมิได้ตรวจสอบกันเลยว่า มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่  เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนั้น ไม่เอื้อต่อการตรวจสอบหรือการใช้สิทธิตามกฎหมายเท่าใดนัก เพราะได้แต่วิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ รวมทั้งสถานการณ์นี้เป็นเรื่องใหม่ แรงงานเองยังขาดความรู้ความเข้าใจ และตั้งหลักไม่ทัน ประเด็นสำคัญคือ อาจกล่าวได้ว่า เป็นสถานการณ์สงครามโรคมาเกิดซ้อนสงครามการค้าหรือสงครามเศรษฐกิจ แล้วพี่น้องแรงงานจะรับมือกันไหวหรือครับ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ว่านี้ ก็มีการสื่อสารความคิดในเฟสบุ๊ค หรือในโซเชี่ยล น่าจะมาจากสำนักกฎหมายของฝ่ายธุรกิจ ว่า “ โน เวิร์ค โนเพย์ “ (เมื่อไม่ทำงาน ย่อมไม่ได้ค่าจ้าง) เพื่อโน้มนำความคิดคนในสังคมว่า ถ้าไม่มีการทำงาน ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิในค่าจ้าง ซึ่งในความเป็นจริงหลักการที่ว่านี้ ถูกต้องและใช้ได้ในบางกรณี  มิใช่ข้อสรุปเด็ดขาด  แบบรวมยอด เหมาเข่งหรือเป็นสูตรสำเร็จตายตัว  เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องรู้  เรียนรู้และทำความเข้าใจอีกมากมาย และหากใช้กันแบบผิดๆถูกๆอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทโดยไม่จำเป็น และสังคมแรงงานอาจเข้าใจเจตนาของผู้นำเสนอความคิดนี้คลาดเคลื่อน ทำให้เสียหายได้

หลักการที่ว่านี้กระทบต่อลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือรายชิ้นเป็นหลัก เช่น วันใดที่ลูกจ้างดังกล่าวลางาน หรือหยุดงาน ก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง   ในขณะที่ลูกจ้างรายเดือนลางานหรือหยุดงาน ก็ยังคงได้รับค่าจ้างเต็มเดือน   แต่หากลูกจ้างไม่ว่าประเภทใด พร้อมทำงานให้นายจ้าง แต่นายจ้างไม่พร้อมให้ทำงาน โดยมิใช่ความผิดลูกจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนตามปกติ  แต่ในส่วนแรงงานนอกระบบ คือแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง และแรงงานที่ไม่เป็นนายจ้าง ทำงานโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้นหรือตามผลงานอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำงานส่งมอบตามสัญญา ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอยู่แล้ว หลักการโน เวิร์ค โนเพย์ ก็ใช้ไม่ได้กับกรณีนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หลักการโนเวิร์คโนเพย์ ก็ถูกยกเว้นโดยหลักกฎหมายพิเศษ เช่น

–พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 75 คือกรณีนายจ้างมีเหตุจำเป็นสำคัญที่มิใช่เหตุสุดวิสัย หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว จะต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างล่วงหน้า และต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานตลอดเวลาที่สั่งหยุดกิจการ เงินที่ว่านี้ แท้จริงก็คือค่าจ้างนั่นแหละ แต่ที่กฎหมายใช้คำว่าเงินเฉย ๆ มิใช่ค่าจ้าง ก็เพราะหลักการและนิยามค่าจ้างตามกฎหมาย นั้นหมายถึงเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงาน เมื่อไม่มีการทำงานเงินที่จ่ายจึงมิใช่ค่าจ้าง แต่ตามเจตนารมณ์ก็เพื่อประกันค่าจ้างหรือรายได้ในการยังชีพของลูกจ้าง อันเกิดจากเหตุที่มิใช่ความผิดของใคร แต่เป็นเหตุจำเป็นอันสำคัญ (มิใช่เหตุสุดวิสัย) ของฝ่ายนายจ้าง

ผมเห็นว่า การนำเสนอความคิดเรื่องโนเวิร์คโนเพย์ ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และเพื่อเป็นการช่วยเหลือปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ท่าทีจึงควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มิใช่มาตั้งแง่กันในทางกฎหมายหรือในทางที่จะเอาประโยชน์หรือเอาตัวรอด โดยไม่คำนึกทุกข์ร้อนหรือโรคอุบัติใหม่ที่สังคมเผชิญอยู่

มีข้อสังเกตว่า สถานประกอบการที่มีการเปลี่ยนลดสภาพการจ้าง ลดค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งเลิกจ้างโดยอ้างภาวะเศรษฐกิจนั้น มักจะพบว่ามีธุรกิจหรือสถานประกอบการจำนวนหนึ่งมิได้ประสบปัญหาจริง แต่อ้างภาวะดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเลิกจ้าง หรือเพื่อทำให้ลูกจ้างเห็นอกเห็นใจ ไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องนายจ้าง แม้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายก็ตาม  และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด -19 ก็น่าเชื่อว่ามีธุรกิจบางส่วนฉวยโอกาสจากวิกฤติโรค มาลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการรวมทั้งเลิกจ้าง โดยที่การตรวจสอบต่าง ๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค อันนี้ก็เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานหรือความไม่เป็นธรรมของแรงงานที่เกิดขึ้น

สถานการณ์ในช่วงที่สอง

          อยากจะเรียกว่าเป็นช่วงสถานการณ์ปั่นป่วน เนื่องจากมีปัญหายุ่งยากจากโควิด-19 ประดังประเดเข้ามาหลายด้าน กล่าวคือ

ด้านการควบคุมการแพร่ระบาดโรค

มีประเด็นว่าควรปิดเมืองหรือปิดประเทศหรือไม่  การกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง การขอความร่วมมือให้ผู้ที่ไปสัมพันธ์หรือใกล้ชิดบุคคลในสถานที่เสี่ยงเข้ามารับการตรวจ ในขณะเดียวกันตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อบริหารจัดการประเทศในภาวะวิกฤติโรค และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ได้สั่งปิดสถานประกอบการหรือสถานบริการหลายประเภท หลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีความเสี่ยง จนนำไปสู่สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด  เนื่องจากสถานประกอบการถูกสั่งปิดดังกล่าว

ด้านการบรรเทาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

          มีประเด็นถกเถียงกันในสังคมว่า โควิด -19 ก่อผลกระทบทั่วทั้งประเทศและทั้งโลก ดังนั้นรัฐบาลไทยควรมีมาตรการเยียวยาประชาชนในเบื้องต้นแบบถ้วนหน้า เพราะได้รับผลกระทบกันทุกสาขาอาชีพ การเยียวยาเบื้องต้นจึงสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ ไม่ต้องตรวจสอบ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบทันท่วงที  ส่วนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  มีความเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือที่เป็นการเฉพาะรัฐค่อยหาทางดูแลช่วยเหลือแบบเข้มข้นต่อไป

ในที่สุดรัฐก็ตัดสินใจช่วยเหลือเฉพาะบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ประกอบอาชีพไม่ได้ หรือรายได้ลดลงอย่างมาก จนกระทบต่อการดำรงชีพ ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานที่ทำงานอิสระ ไม่มีนายจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระแบบหาเช้ากินค่ำ หรือลูกจ้าง หรือแรงงานอิสระที่ทำงานในสถานประกอบการ สถานบริการ หรือที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่รัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค

แต่เนื่องจากฐานข้อมูลของรัฐเกี่ยวกับแรงงานกลุ่มที่กล่าวถึงนี้ ยังไม่เป็นระบบ ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ รวมทั้ง ซ้ำซ้อน และกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน  ประกอบกับมีพฤติกรรมของประชาชนที่น่าเชื่อได้ว่า  ประชาชนหลายภาคส่วน แม้อาจไม่กระทบหรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขอรับการเยียวยา  แต่ก็ขอลงทะเบียนไปก่อนเผื่อได้ ทำให้มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับการเยียวยาสูงถึง ๒๖ ล้านคนเศษ เป็นภาระของรัฐในการตรวจสอบเพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ก็มีคำถามของภาคส่วนต่าง ๆ ว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด    -๑๙ ได้รับการเยียวยาจากรัฐตรงตามเป้าหมาย ครบถ้วนเป็นธรรมแล้วหรือไม่ ดูเหมือนว่า มีเสียงสะท้อนมารอบทิศว่า คนที่เดือดร้อนจริง ๆ ยังเข้าไม่ถึงการเยียวยา ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการลงทะเบียนเพื่อขอรับการเยียวยาจากรัฐ

ในช่วงนี้มีสถานการณ์ปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ที่ไม่ควรเกิดขึ้นหลายประการ เพราะเป็นพฤติกรรมที่เป็นการเอาเปรียบแรงงานจนเกินไป และการบริหารจัดการด้านแรงงาน มิได้สอดรับกับสถานการณ์การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค  กล่าวคือ

–ในช่วงแรกท่านจะเห็นได้ว่า ธุรกิจส่วนหนึ่งประกาศชัดเจนเลยว่า เขาจะปรับรูปแบบการทำงาน หรือบางส่วนหยุดการทำงานชั่วคราวไปเลย โดยประกาศชัดเจนว่า พนักงานจะต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ นายจ้างบางส่วนก็ประกาศชัดเจนว่า ให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว  ด้วยเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันโรค อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 การปฏิบัติเช่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติที่ยอมรับได้ และน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

–ในช่วงเวลาต่อมา เมื่อรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษสั่งให้สถานประกอบการหรือสถานบริการบางประเภท บางพื้นที่ หยุดประกอบการ หรือหยุดให้บริการ เพราะมีการติดเชื้อ  เป็นพื้นที่เสี่ยง หรือลักษณะและสภาพของงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด สถานประกอบการหรือสถานบริการเหล่านี้ต้องดำเนินการตามคำสั่งของรัฐ เหตุที่ว่านี้ มิใช่ความผิดของนายจ้าง และมิใช่ความผิดของนายจ้าง แต่เป็นกรณีที่รัฐต้องการแก้ไขปัญหาสังคม อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย กรณีนี้ นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง ตลอดระยะเวลาที่รัฐสั่งให้หยุด กรณีนี้มิใช่การเลิกจ้าง ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่ สิทธิและสวัสดิการที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานลูกจ้างยังได้รับตามปกติ อายุงานยังนับต่อเนื่อง แต่ประกันสังคมไม่ต้องส่งเพราะไม่มีค่าจ้างให้หักเพื่อนำส่งประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่นายจ้างต้องหยุดงานชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐและถือเป็นเหตุสุดวิสัยนี้  ย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งรัฐได้แก้ไขกฎหมายให้ได้รับประโยชน์ทดแทนอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 90 วัน แต่คิดจากอัตราเงินสมทบประกันสังคม ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

เรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นก็คือ มีธุรกิจและสถานประกอบการจำนวนมากทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งรวยทั้งจน แม้รัฐบาลมิได้มีคำสั่งให้หยุดกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค  ต่างก็หลบเลี่ยงไม่ใช้มาตรา 75 (จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติที่เคยได้รับ) ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่สร้างสรรค์  ตามหลักจรรยาบรรณของธุรกิจ หรือเกื้อกูลลูกจ้างเช่นที่นายจ้างบางส่วนได้ปฏิบัติในช่วงแรก

กล่าวได้ว่าธุรกิจแห่กันมาถล่มกองทุนประกันสังคมกันอย่างเต็มที่  ทั้งๆที่เหตุความเป็นจริง ไม่ตรงกับที่กฎหมายบัญญัติคุ้มครองไว้  ธุรกิจบางส่วนถือโอกาสมั่วนิ่ม ให้ลูกจ้างลาออกจากงานไปเลยก็มี เพื่อไปรับประโยชน์ทดแทนการว่างงาน จึงไม่แปลกใจเลยที่สำนักงานประกันสังคมได้ทวงถามนายจ้างออกสื่อเลยว่า ให้รีบส่งหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างมาให้สำนักงานประกันสังคมโยเร็ว  เพราะรอเอกสารจากนายจ้างอยู่  มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ประกันสังคมไม่สามารถสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ลูกจ้างผู้ประกันตนได้

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมนายจ้างชักช้า ลังเล หรือไม่ส่งละครับ??? ท่านไปคิดกันเอาเองแล้วกันนะครับ  ส่วนทำไมนายจ้างไม่ใช้มาตรา 75 แต่มาใช้ประกันสังคม ท่านใช้หลักเลขคณิตชั้นประถมก็คิดออกแล้วครับ ถ้าใช้นายจ้างต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างแต่ละคนได้รับ นายจ้างต้องควักกระเป๋าตัวเอง  แต่หากใช้ช่องทางกฎหมายประกันสังคม  ทางประกันสังคมจะจ่ายประโยชน์ทดแทนคิดร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน เงินส่วนนี้เป็นของสามฝ่ายร่วมกัน คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

ผู้เขียนขอตั้งขอสังเกตตรงนี้หน่อยว่า  เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นว่านี้ เท่าที่ทบทวนเหตุการณ์   ต่าง ๆแล้ว พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีการจัดสัมมนาฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ระบบทางอิเลคทรอนิคส์ โดยทนายความ ที่ผู้ใช้แรงงานรู้จักและจดจำกันได้ดีมิรู้เลือน หัวข้อเก๋ไก๋ครับ ในทำนองกฎหมายแรงงาน และการบริหารจัดการด้านแรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19

ผู้เขียนก็ได้แต่ครุ่นคิดว่า เขาจะสัมมนากันไปในทิศทางไหนหรือ??? หลักกฎหมายที่จะพูดคุยกันคือมาตราใด กฎหมายใด เพราะกฎหมายแรงงานของไทย ไม่ได้มีบทบัญญัติรองรับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ กับวิกฤติโรคแต่อย่างใด มีมาตราเดียวจริงๆ ตามกฎหมายประกันสังคม เรื่องที่นายจ้างให้ลูกจ้างผู้ประกันตนหยุดงานชั่วราว ด้วยเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงาน        เอาละ!!! แถมให้อีกมาตราหนึ่งพออนุโลมใช้ได้ แต่ก็เพียงเฉียดๆ เฉี่ยวๆ ประเด็นวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ไม่ถึงกับเป็นเหตุสุดวิสัยนะ มิใช่เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งก็คือมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีเท่านี้จริง ๆ  นอกนั้น เป็นการใช้กฎหมายแรงงานที่เป็นหลักทั่วไป หรือ  หลักพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันนี้ครับ ว่าไปแล้ว การนำกฎหมายที่มีอยู่ แต่มิใช่บทกฎหมายโดยตรงมาใช้นั้น  จะป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไรกันละครับ

อีกประการหนึ่ง การที่ธุรกิจหรือสถานประกอบการต่าง ๆส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะมีเยอะ อ้างโควิด -19 เป็นเหตุสุดวิสัยแล้วสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยไปเลยนั้น เห็นว่า ไม่อาจสรุปแบบนั้นได้ในทุกกรณี หรือแบบเหมาเข่ง เพราะเรื่องเหตุสุดวิสัยนั้นคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายๆไปครับ

            เหตุสุดวิสัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น หมายถึงเหตุใดก็ตาม ที่เกิดขึ้นแล้วบุคคลใดก็ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการแก้ไขหรือป้องกันได้ แม้จะใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม

กรณีโควิด –19 ยังมิใช่เหตุสุดวิสัย เพราะยังป้องกันได้ ควบคุมได้ จัดการได้ และแต่ละที่แค่ละแห่งมีสภาพไม่เหมือนกัน

            เหตุสุดวิสัยอาจเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องชำระเงินหรือชำระหนี้ให้ลูกจ้างทั้งหมดเลยก็ได้ หรือแต่เพียงบางคนและบางอย่างก็ได้ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปครับ ไม่อาจสรุปเหมารวมได้

            มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ยังสามารถประกอบการแบบสายพานการผลิตต่อไปได้ ทั้งๆ ที่น่าจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และบางโรงงานที่มีพนักงานติดเชื้อ ก็สามารถพิจารณาหาสาเหตุการติดเชื้อได้ และบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจาก ธุรกิจเหล่านี้เข้าใจและสามารถนำนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดโรคมาบูรณาการเข้ากับกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานได้อย่างดี และจนบัดนี้ยังสามารถประกอบการได้ตามปกติ ดังนั้นจะสรุปเหมารวมว่าโควิด -19 เป็นเหตุสุดวิสัยน่าจะไม่ถูกต้องทั้งตามหลักการทางสาธารณสุขและหลักกฎหมายด้านแรงงานเท่าที่มีอยู่ครับ

เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงาน เพื่อรองรับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้เขียนได้พูดถึงอยู่หลายตอน ภาคประชาสังคมก็เคยมีข้อเสนอให้ภาครัฐ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกากรบริหารแรงงานภาครัฐเพื่อรองรับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ (ยังไม่ได้คิดถึงวิกฤติโรคเลยครับ) แต่ยังไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด

ดังนั้น ผู้เขียนใคร่ขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมด้านแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างจัง ละเว้นมาตรการทางกฎหมาย ที่นำมาใช้แล้ว มีแต่จะเป็นการทำร้าย บั่นทอน หรือทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก แต่ใช้กฎหมายภายใต้หลักการและนโยบายเพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรค ซึ่งประชาชนและแรงงานจะต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคที่ถูกต้องครบถ้วน เข้าถึงอุปกรณ์การป้องกันโรคและการรักษา และการร่วมกันบรรเทา เยียวยา และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

ธุรกิจใด นายจ้างใด ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และนั่นเป็นความจริงแท้ ฝ่ายแรงงานก็ควรได้รับรู้ความจริงนี้ และใช้ท่าทีเห็นอกเห็นใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย อะไรที่แรงงานพอจะช่วยได้ ก็ต้องช่วยละครับ จะยืนแข็งทื่อไม่ปรับไม่ลดสิทธิประโยชน์อะไรเลย น่าจะไม่สอดคล้องละครับ

ส่วนนายจ้างใด ธุรกิจใดที่เพิ่งได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาผลประกอบการดีมาตลอด หรือมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยเหลือลูกจ้างหรือช่วยเหลือสังคม ก็อย่างได้ใช้แต่กฎหมายที่มีข้อจำกัดเลยครับ  ท่านต้องช่วยเหลือแรงงานและช่วยเหลือสังคมนะครับ คิดถึงอนาคตที่จะต้องร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศดีกว่าไหมครับ

ส่วนภาครัฐต้องถือว่าในยามนี้ ท่านมีหน้าที่หลักในการช่วยเหลือทุกภาคส่วนในสังคม นำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศนี้มารวมศูนย์ เพื่อกระจายไปสู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ทันท่วงที ทั่วถึงและเป็นธรรม เมื่อเรายังไม่มีกฎหมายที่ใช้บรรเทา เยียวยาหรือลดผลกระทบได้โดยตรง ท่านก็คงต้องใช้กฎหมายพิเศษที่อยู่ในอำนาจท่าน ออกมาตรการบริหารภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งท่านมีอำนาจกระทำได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงว่า ธุรกิจที่มิได้ประสบปัญหาถึงขนาด แต่กลับฉวยโอกาสเปลี่ยนลดสภาพการจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ อย่างไม่เป็นธรรม หรือเลิกจ้างไปก่อนแล้ว โดยไม่เป็นธรรม รัฐยังจะช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้อีกหรือครับ หรือจะมีมาตรการประการใดจึงจะเหมาะสมเป็นธรรมครับ

ส่วนฝ่ายแรงงาน ผู้เขียนเห็นว่า กรณีท่านถูกเลิกจ้างไปแล้วโดยไม่เป็นธรรม ท่านยังมีเวลาที่จะพิจารณาใช้สิทธิในทางศาล หลายกรณีที่นายจ้างและธุรกิจละเมิดต่อกฎหมาย หรือปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เรายังมีเวลาในการร้องขอให้รัฐตรวจสอบ หรือใช้สิทธิตามกฎหมายครับ

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ฝ่ายแรงงานจะมีแนวทางในการประกอบอาชีพภายหลังโควิด-19 สิ้นสุด หรือในระยะยาวอย่างไร  จะกลับมาเริ่มต้นกับนายจ้างรายเดิมอีกหรือไม่ อย่างไร??? เพราะท่านถูกเลิกจ้างไปแล้ว จะกลับมาใช้ชีวิตคนงานแบบเดิมอีกหรือไม่ อย่างไร   ควรได้พิจารณา ทบทวนไตร่ตรองให้ถ่องแท้นะครับ

วิสาหกิจชุมชน หรือการประกอบอาชีพอิสระในชุมชนหรือถิ่นฐานบ้านเกิดของแรงงานเอง เป็นทางเลือกหรือไม่ คงต้องคิดกัน สรุปบทเรียนกัน และนำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง  เพราะหากตัดสินใจกันอย่างไร ก็คงต้องร่วมกันจัดทำข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในแผนการพัฒนาอาชีพในระยะยาวครับ หวังว่าประชาชนและแรงงานทุกท่านได้เรียนรู้ จัดการและแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ และผ่านพ้นวิกฤติ สู่ชีวิตที่เป็นปกติ มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ

@@@@@@@@@