ขบวนการแรงงาน ถกทางออกสหรัฐระงับ GSP

ขบวนการแรงงานไทยและสากลร่วมถกทางออกจากปัญหาการถูกระงับ GSP จากการละเมิดสิทธิแรงงาน, เป็นห่วงความไม่ชัดเจนของรัฐบาลไทยอาจทำสูญเสียโอกาสทางการค้าและส่งออกกับประเทศอื่น ๆ 

เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 สมาพันธ์แรงงานสากล( ITUC)และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาและแถลงข่าว “ทางออกสำหรับประเทศไทย: การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทยที่มีเหตุจากการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย” ขึ้นที่ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) กรุงเทพ ฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ เคที ไฟน์โกลด์ รองประธาน ITUC และ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของ สหพันธ์แรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมอเมริกัน (AFL-CIO) , สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. ,และ ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยมี อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำแรงงานจากไทยและสากล ได้มีโอกาสอภิปราย หารือ ถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานในประเทศไทยซึ่งนำมาสู่การที่สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ ฯ (USTR)ประกาศตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรสินค้านำเข้า (GSP)ของไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมใน ปี 2562 ที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจได้มีโอกาสซักถามในข้อสงสัยและให้ความเห็น

นางเคที่ ไฟน์โกลด์ ผู้นำแรงงานจาก AFL-CIO ซึ่งมีสมาชิกเป็น คนงานและลูกจ้างในสหรัฐ ฯ กว่า 12 ล้าน คน , และ ITUC ซึ่งมีสมาชิกกว่า 250 ล้านคนทั่วโลก  ได้กล่าวว่าขบวนการแรงงานในสหรัฐ ฯ ได้ต่อสู้ผลักดันตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1980 ให้มีเพิ่มเงื่อนไขการเคารพมาตรฐานแรงงานสากลตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้าไปในการให้สิทธิ ฯ GSP ของรัฐบาลสหรัฐ ฯ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศที่ได้รับสิทธิฉวยโอกาสหาความได้เปรียบทางการค้าและลดต้นทุนการผลิตด้วยการละเมิดหรือจำกัดสิทธิต่อคนงานและลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพ ฯ และเจรจาต่อรอง ขบวนการแรงงานในสหรัฐ ฯ ยังได้ต่อสู้เพื่อให้การได้สิทธิ GSP ของแต่ละประเทศ นำมาสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนงานและลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงสิทธิในการได้รับค่าจ้างและสภาพการจ้างที่เป็นธรรม และ ได้รับการเคารพและส่งเสริมสิทธิพื้นฐานด้านอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แต่ละประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาโดยวัดจากตัวเลขการส่งออก หรือ GDP โดยไม่ได้คำนึงคุณภาพชีวิตของคนงานและลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ  การถูกตัดสิทธิ GSP ด้วยเหตุจากการละเมิดสิทธิแรงงานไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะต่อการค้ากับสหรัฐ ฯ แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ให้เข้ามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน  โดยทาง AFL-CIO ได้มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2556  เพื่อรายงานต่อ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ ฯ (USTR)  จนนำมาสู่การตัดสิทธิในปี พ.ศ.2562  เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานตามที่ได้ร้องเรียนไป

เคที่ ไฟน์โกลด์ ยังได้อธิบายถึงข้อสงสัยและคำกล่าวอ้างจากรัฐบาลไทยว่า การตัดสิทธิ GSP เป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐ ฯกดดันให้รัฐบาลไทยให้สิทธิแรงงานข้ามชาติมากกว่าแรงงานไทยจริงหรือไม่ โดยกล่าวว่า กรณีการละเมิดสิทธิที่อยู่ในข้อร้องเรียนส่วนมากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) , สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย หรือ กรณีของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็กทริก ข้อร้องเรียน GSP เป็นการมุ่งหวังให้มีการเคารพมาตรฐานแรงงานตามหลักการของ ILO ซึ่งต้องการให้เกิดการเคารพและส่งเสริมสิทธิต่อคนงานและลูกจ้างทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสัญชาติ นอกจากนี้ ในการจัดอันดับประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานของ ITUC ประจำปี 2562  ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในเรตติ้ง 5 หรือ ประเทศที่ไม่มีการรับประกันเรื่องสิทธิ  กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดมาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นการละเมิดสิทธิทั้งระบบจากการที่กฎหมายและนโยบายของรัฐล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล ความล้มเหลวของประเทศไทยเห็นได้ชัดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศและการที่มีสมาชิกสหภาพ ฯ ในประเทศเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ ซึ่งน้อยมากและส่งผลต่ออำนาจการต่อรองของคนงานและภาคประชาชน ดังนั้น ขบวนการแรงงานสากลจะใช้กลไกและเครื่องมือต่าง ๆที่มีอยู่เพื่อต่อสู้ให้คนงานและลูกจ้างในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ รวมทั้งมีโอกาสในการรวมตัวจัดตั้งและต่อรองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับตนเอง

เคที่ ไฟน์โกลด์ยังได้ให้ความเห็นต่อคำถามถึงกรณีที่รัฐบาลไทยมองว่าสิทธิ GSP ที่ถูกระงับเป็นเพียงส่วนน้อย โดยมองว่ารัฐบาลอาจจะยังไม่เข้าใจผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการระงับสิทธิที่มีการประกาศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่หนึ่งในสามของสินค้าจากไทยที่ได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมด ตนในฐานะตัวแทนจาก AFL-CIO มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซึ่งมีคำถามถึงความคืบหน้าของการแก้ปัญหา จากการที่ตนได้พบกับ รมว.แรงงาน และได้รับคำตอบกระทรวงแรงงานจะปรึกษากับที่ปรึกษาทางเทคนิค ซึ่งตนคิดว่าการแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรจะต้องให้ความสำคัญกับข้อแนะนำจากผู้นำแรงงานที่ได้ประสบและได้รับผลกระทบจากกรณีการละเมิดสิทธิต่าง ๆ มากกว่าความเห็นจากที่ปรึกษาทางเทคนิค นอกจากนี้ ตนในฐานะตัวแทนจาก ITUC ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายสหภาพแรงงานในยุโรปเสมอ และผู้นำรัฐบาลจากทั้ง EU และสวิตเซอร์แลนด์ที่มีแผนจะเจรจาข้อตกลงด้านการค้าเสรี (FTA)กับไทยจะต้องรับรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานในประเทศไทยก่อนที่จะมีการเจรจาใด ๆ เนื่องจากการเจรจา FTAกับประเทศเหล่านี้ล้วยแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศคู่ค้าเคารพสิทธิแรงงานตามมาตรฐานหลักของ ILO ด้วยเช่นกัน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. กล่าวว่า เมื่อวาน คสรท. และ สรส. ได้พา คุณไฟน์โกลด์ไปเข้าพบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เพื่อมีการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสิทธิ GSP ของไทยจะยังไม่ถูกระงับจนกว่าจะถึงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งยังพอมีเวลาให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหา โดยในอดีต ประเทศไทยก็เคยตกอยู่ในวิกฤตมีความเสี่ยงที่จะถูกบอยคอตสินค้าจากการละเมิดสิทธิแรงงานและมนุษยชนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการติดอยู่ในเทียร์ 3 ในรายงานด้านการค้ามนุษย์ (TIP Report) ของรัฐบาลสหรัฐ ฯ หรือ การได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และสหภาพแรงงานที่เข้าใจปัญหาจนสามารถช่วยเหลือให้ประเทศรอดพ้นวิกฤติได้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาจะสำเร็จได้ต้องมีการพูดและยอมรับความจริง ไม่ใช่ปฏิเสธว่าไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิ  เช่นกรณีของสหภาพ ฯการรถไฟ ฯ ซึ่งตนเป็นหนึ่งในผู้นำสหภาพ ฯ ที่เรียกร้องไม่ให้มีการขับรถไฟที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหลังจากเกิดเหตุรถไฟตกรางที่ อ.เขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน แต่กลับถูกดำเนินคดีในศาลอาญา ถูกเลิกจ้าง ถูกปรับร่วมกับผู้นำคนอื่น ๆ เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท และถูกการรถไฟ ฯ หักเงินเดือนไปจ่ายค่าปรับเหลือให้ใช้เพียงแค่เดือนละ 300 บาท

สาวิทย์ได้กล่าวต่อว่า  ปัจจุบัน เรื่องสิทธิและธุรกิจในปัจจุบันเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ประเทศไทยลงนามในพันธะสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานหลายครั้ง รวมทั้งการลงนามใน การส่งเสริมการอนุวัติการตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGP)  แต่น้อยครั้งที่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งรวมถึงกรณีของ GSP จากสหรัฐ ฯ ซึ่งไทยได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ามานานแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บังคับให้ต้องมีการเคารพมาตรฐานแรงงานสากล ในอนาคตการแข่งขันทางการค้าจะมีการนำเรื่องการเคารพสิทธิมาเป็นเงื่อนไข ซึ่งถ้าประเทศไหนไม่ปฏิบัติตามจะทำให้มีโอกาสโดนบอยคอตสินค้า โดยไม่เพียงแต่กรณีการค้ากับสหรัฐ ฯ  แต่ล่าสุดสมาพันธ์แรงงานยุโรป (ETUC )ซึ่งมีสมาชิกเป็นคนงานและลูกจ้างจากทั่วยุโรป และมีตัวแทนอยู่ใน รัฐสภาของ EU ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับ ITUC เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศตามที่ถูกกล่าวหาจากข้อร้องเรียนให้มีการตัดสิทธิ GSP โดยทาง ETUC จะให้ตัวแทนซึ่งนั่งอยู่ในรัฐสภา พูดคุยกับ ประเทศสมาชิก EU และ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ให้เข้าใจถึงสภาพปัญหาการละเมิดสิทธ์แรงงานในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งการพูดคุยเพื่อลงนาม FTA ซึ่งล้วนแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศที่เป็นคู่ค้าเคารพสิทธิแรงงานตามาตรฐานของ ILO

สาวิทย์ ยังได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานที่ตัวเองมีส่วนร่วม ทั้ง คสรท. และ สรส. ได้เข้าไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติซึ่งในอดีตเคยถูกเอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิอย่างมาก จนสามารถรวมตัวเพื่อให้การช่วยเหลือตัวเองและต่อรองกับสมาคมนายจ้างซึ่งมีสมาชิกกว่า 20 บริษัทได้ แม้ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติยังถูกละเมิดสิทธิและยังไม่สามารถตั้งสหภาพ ฯของตัวเองได้ แต่ถือได้ว่ามีพัฒนาการที่ดีกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงแรงงานไทยมากกว่า เพราะทั้ง ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ ที่ไม่สามารถจดทะเบียนและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ โดยในปัจจุบัน มีการแบ่งลูกจ้างภาครัฐเป็นหลายประเภท ซึ่งหลายกลุ่มไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งในด้านประกันสังคม และสิทธิตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน รวมทั้งได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้กับแรงงานในภาคเอกชนทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติ โดยตนและเพื่อนผู้นำแรงงานที่ทำงานด้วยกันโดนกล่าวหาว่า ขายชาติ นำข้อมูลไปให้กับต่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ต้องแยกกันระหว่างความเป็นรัฐและความเป็นแรงงานหรือลูกจ้าง เพราะขบวนการแรงงานมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของพี่น้องแรงงานและลูกจ้างทั่วโลกโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสัญชาติ ขบวนการแรงงานในสหรัฐ ฯ บ่อยครั้งก็คัดค้านกับสิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ฯ เอง เช่นเดียวกับแรงงานไทย องค์กรแรงงานสากลอย่าง ITUC หรือ AFL-CIO ถือว่าเป็นพี่น้องกับแรงงานไทยและทั่วโลก เพราะมีเป้าหมายที่จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นควบคู่กับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ไม่ใช่แค่เติบโตเพียงตัวเลขแต่ทิ้งคนงานและลูกจ้างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้ถูกละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยืนยันว่าปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานซึ่งนำมาสู่การตัดสิทธิ GSP นั้นส่วนมากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย โดยประเทศไทยมีปัญหากฎหมายแรงงานไม่ได้มาตรฐานสากลเนื่องจากไทยไม่ได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (เสรีภาพการสมาคมจัดตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม) ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลักของ ILO และเป็นสิทธิพื้นฐานที่ส่งเสริมการรวมตัวและอำนาจต่อรองของลูกจ้างซึ่งจะนำมาสู่สิทธิและการส่งเสริมคุ้มครองด้านอื่น ๆ โดยที่ผ่านมา ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ไทยเกือบจะลงสัตยาบันในอนุสัญญาสองฉบับนี้ แต่เนื่องจากกระบวนการทางรัฐสภาที่ล่าช้าและข้อบังคับทางกฎหมายทำให้สุดท้ายรัฐบาลยุบสภาก่อน   ในช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานเกิดขึ้นมาก ตนจึงต้องทำงานกับเครือข่ายและมิตรสหายจากต่างประเทศเพื่อใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทำให้เกิดการเคารพมาตรฐานแรงงานสากลในประเทศไทย โดนข้อมูลที่ตนส่งไปครั้งแรก มีกรณีการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นในกว่า 10 บริษัทและองค์กรเช่น บริษัทยัม เรสทัวรองท์ บริษัทอิเล็กโทรลักซ์ และ การรถไฟแห่งประเทศไทย  โดยตนยืนยันว่ารัฐบาลและผู้แทนการค้าของสหรัฐ ฯ ได้ส่งตัวแทนมาเพื่อพูดคุยและตรวจสอบกับตัวแทนจากรัฐบาลและสหภาพแรงงานของไทยโดยตลอด ดังนั้นการตัดสิทธิ GSP ที่เกิดขึ้นจึงผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาอย่างยาวนาน ไม่ได้ทำโดยกะทันหัน

ชาลี ยังได้กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ส่งกรณีต่าง ๆ ไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 ก็มีการละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานที่สำคัญเกิดขึ้นตามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก ซึ่งบริษัทได้กลั่นแกล้งไม่ให้สมาชิกสหภาพ ฯ เข้าทำงานหลังจากสิ้นสุดกรณีพิพาทแรงงาน โดยให้ไปทำกิจกรรมในค่ายทหารและใช้วิธีกดดันต่าง ๆ เพื่อให้ลูกจ้างรู้สึกผิดทั้งที่ใช้สิทธ์ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมาย และมีการสร้างเงื่อนไขให้คนงานที่กลับเข้าทำงานต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน  โดยในช่วงที่ตนเป็นประธาน คสรท.ได้เคยต่อสู้เรียกร้องให้ลูกจ้างเอาท์ซอสเหมาค่าแรงที่ถูกเลือกปฏิบัติไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับลูกจ้างประจำที่ทำงานประเภทเดียวกัน แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งในปี 2555 ไม่ให้เลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการกับลูกจ้างเอาท์ซอสเหมาค่าแรง แต่ก็ไม่มีการออกเป็นกฎกระทรวงทำให้ลูกจ้างที่ถูกละเมิดและต้องการเข้าถึงสิทธิต้องไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานเองในทุกกรณี แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศ

ชาลีกล่าวว่า หลังจากที่มีการยื่นตัดสิทธิ GSP สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานโดยรวมยังไม่มีอะไรดีขึ้น และมีกรณีที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น บริษัทมิซูโน พรีซิชัน จ. ที่มีการการเลิกจ้างคนงานที่จัดตั้งสหภาพ ฯเพียงหนึ่งวันหลังจากมีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของสหภาพ ฯ พระนครศรีอยุธยา บริษัท พงศ์พารา โคดันรับเบอร์ จ.สมุทรสาคร ที่มีการปิดโรงงานเดิมเพื่อจดทะเบียนบริษัทใหม่โดยใช้สถานที่และเครื่องจักรการผลิตเดิมเพื่อให้คนงานจากบริษัทเดิมเกือบ 1000 คน (ซึ่ง 700 คนในนั้นเป็นสมาชิกสหภาพ ฯ)มาสมัครงานกับบริษัทใหม่โดยต้องยอมลดและรับค่าจ้างและสวัสดิการในอัตราแรกเข้า รวมทั้งบริษัท เซอิชิน จ.ชลบุรี ซึ่งปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ถึงรัฐบาลจะให้ข่าวว่าสิทธิพิเศษที่ได้รับเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยถ้าเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่ตนมองเรื่องศักดิ์ศรีของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าเราไม่แก้ไขการละเมิดสิทธิก็อาจจะถูกครหาว่าเป็นประเทศที่เจริญมาด้วยการ”เหยียบหัวคนงาน” ดังนั้นตนจึงขอให้รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งต้องมีโรดแมปและระยะเวลาที่ชัดเจน และต้องมีการตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากสหภาพแรงงานที่เข้าใจประเด็น และมีการทำงานประสานกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศที่ดีกว่านี้ จึงจะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและชวยยกระดับการคุ้มครองแรงงานในประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลได้

หลังจากนั้น  นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมระหว่าง ITUC และ สรส. ซึ่งเป็นสมาชิกของ ITUC ในประเทศไทย โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

วันที่ 8 มกราคม 2563 แถลงการณ์ ทางออกสำหรับประเทศไทย: การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย ที่มีเหตุจากการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย” ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ถ.เพลินจิต ลุมพินี กรุงเทพฯ 

ประเทศไทยมีปัญหาแรงงานที่สะสมมานาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สิทธิแรงงานถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการนัดหยุดงานอันเป็นเครื่องมือสำหรับคนงานในการเจรจาต่อรองร่วม ตัวอย่างเช่น

ผู้นำ 7 คน จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟแห่งประเทศไทย ยังคงต้องถูกหักเงินเดือน เพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน

24 ล้านบาท และผู้นำจำนวน 13 คนถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาเรื่องการทุจริตและการประพฤติมิชอบ อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ด้านแรงงาน เรียกร้องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2552 ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 คน ถูกตัดสินโดยศาลฎีกาคดีอาญาว่ามีความผิด และมีคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเงิน 3,479,793 บาท อันเกิดจากการชุมนุมที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2556 สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์จนเกือบจะหมดหายไปจากสถานประกอบการ หลังจากที่คนงานต้องยอมจำนนต่อกลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานที่รุนแรง (รวมทั้งการบังคับให้กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่เข้าร่วมฝึกแบบทหารและให้คนงานลงนามเอกสารข้อตกลงแต่ละคนไม่ให้มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกต่อไป แนวปฏิบัตินี้กำลังจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้ในการกำจัดสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่อื่นๆ ต่อไป และการฟ้องร้องเป็นคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทฟาร์มไก่ธรรมเกษตร ฟ้องนักเคลื่อนไหว คนงาน ผู้สื่อข่าว และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

ไม่เพียงแต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น การละเมิดสิทธิของแรงงานและการเลือกปฏิบัติ ต่อต้านสหภาพแรงงาน ยังคงเกิดมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 สมาชิกสหภาพแรงงานจากบริษัท มิซูโน พลาสติก จำกัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 30 คน ถูกปลดออกจากงานเพียง 1 วัน หลังจากการประชุมสหภาพแรงงานครั้งแรกและสมาชิกสหภาพแรงงาน 700 คน (ในจำนวนพนักงานทั้งหมด 1,000 คน) ที่ บริษัท พงศ์พารา โคดันรับเบอร์ ย่านอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ต้องตกงานหลังจากที่บริษัทปิดกิจการ เพียงเพื่อเปิดใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ในสถานที่เดียวกันและมีความเป็นเจ้าของเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ให้คนงานที่ถูกปลดออก มาสมัครงานใหม่ เพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการเสมือนพนักงานใหม่

การละเมิดสิทธิของแรงงานนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนจำนวน 9 ฉบับ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (ILO CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้เคยให้ความเห็นในรายงานฉบับที่ 389 (22 มิถุนายน 2562) ว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 นั้นล่าช้ามาเป็นระยะเวลานาน แม้จะมีการตรวจสอบครั้งแรกของคณะกรรมการILO CFA และให้คำแนะนำในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในเรื่องเสรีภาพในการสมาคมสิทธิในการจัดตั้งองค์กรของแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการนัดหยุดงาน ในร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แม้ว่ารัฐบาลจะรายงานผลการแก้ไข ตามรายงานฉบับที่ 389 ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิที่จะนัดหยุดงานได้ แต่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 นั้น ยังคงกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดต่อความสามารถของแรงงาน และสหภาพแรงงาน รวมทั้งผู้นำของพวกเขาที่จะรวมตัวนัดหยุดงาน และยังกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างมากที่จะสั่งยุติการนัดหยุดงาน เพื่อประโยชน์ของ “เศรษฐกิจ” หรือ “ความสงบเรียบร้อย”

ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 สหรัฐอเมริกาได้อ้างเป็นเหตุผลที่จะประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย จำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่จะสร้างความเสียหายกับการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 2561 พบว่า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่กำลังจะถูกระงับสิทธิคิดเป็นมูลค่า 1,919 ล้านเหรียญ และในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษ GSP คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท

ในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังที่กล่าว เพื่อทำให้การจ้างแรงงานในประเทศไทยเป็นไปตามาตรฐานสากล อีกทั้งทำให้ปัญหาการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP กับสินค้าไทยจำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราวหมดไป ITUC (International Trade Union Confederation) ได้ลงนามในหนังสือร้องเรียนรัฐบาลไทย ร่วมกับองค์กรด้านแรงงานอีก 3 แห่ง ได้แก่ สมาพันธ์สหภาพแรงงานยุโรป (ETUC: European Trade Union Confederation), IndustriALL Global Union และสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF: International Transportation Federation) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิแรงงานให้ดีขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะนำไปสู่ในการแก้ไขการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ต่อไป

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยการสนับสนุนของขบวนการแรงงานในระดับสากล ประกอบด้วย ITUC, ETUC, IndustriALL Global Union, และ ITF ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว โดยยึดหลักการมาตรฐานแรงงานระดับสากล เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีสภาพการจ้างงานที่ดี อันจะส่งผลให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาทบทวนการระงับการให้สิทธิพิเศษ GPS คืนให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งให้รัฐบาลไทยทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้มีความยั่งยืนต่อไป ซึ่ง สรส. พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี เฉกเช่นหลายกรณีก่อนหน้านี้