ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กับชนชั้นแรงงาน

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณกับชนชั้นแรงงาน[1]

นภาพร อติวานิชยพงศ์

ดิฉันรู้จักกับอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณครั้งแรกในช่วงที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณปีพ.ศ.  2523-2524 และหลังจากนั้นก็ได้ร่วมงานกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการใน “กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ต่อมาจึงได้ทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานร่วมกันในระหว่างปีพ.ศ. 2530-2534 ที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน โดยดิฉันเป็นผู้จัดการมูลนิธิฯ ส่วนอาจารย์เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่มีศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุรเป็นประธาน

มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเสียชีวิตของอารมณ์ พงศ์พงันในเดือนมิถุนายน 2523 อารมณ์ พงศ์พงันเป็นผู้นำขบวนการแรงงานไทยหลังเหตุการณ์  14 ตุลาคม 2516 เขาเป็นหนึ่งในจำเลย 19 คนที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่เกือบ 2 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ร่วมกับสุธรรม แสงประทุม ธงชัย วินิจกุล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุรชาติ บำรุงสุข สุชีลา ตันชัยนันท์ และคนอื่นๆ วัตถุประสงค์ของการตั้งมูลนิธิแห่งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการและจัดตั้งสถาบันการค้นคว้าให้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยอาศัยเงื่อนไขการรำลึกถึงการต่อสู้ของอารมณ์ พงศ์พงันมาจัดตั้งมูลนิธิ

อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณในขณะนั้นเป็นลูกหลานชนชั้นปกครองและมีวงศาคณาญาติตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นพ่อเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองในสังคมไทย แล้วเหตุใดท่านจึงมาเกี่ยวข้องกับชนชั้นแรงงานและมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน?

ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงศ์งัน มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในระหว่างปี พ.ศ. 2523-2525 กลุ่มต่าง ๆ ที่ร่วมกันหาทุนมาก่อตั้งมูลนิธิฯได้แก่สโมสรนักศึกษา 18 สถาบัน กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม คณะกรรมการยุติธรรมและสันติ กลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะทนายความคดี 6 ตุลาคม อาจารย์มหาวิทยาลัย และสหภาพแรงงานหลายแห่ง มีการรณรงค์หาเงินบริจาคทั้งภายในและภายนอกประเทศ สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสโดย คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่กำลังศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้รวบรวมเงินบริจาคส่งมาให้ 500 ฟรังก์[2]

ช่วงเวลาดังกล่าวอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นนักวิชาการแนวมาร์ซิสต์ใน “กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ที่กำลังหมกมุ่นกับวิวาทะเรื่องวิถีการผลิตของสังคมไทย แต่ท่านมิได้มีงานศึกษาเกี่ยวกับขบวนการแรงงานไทยเหมือนนักเศรษศาสตร์การเมืองในรุ่นเดียวกัน เช่น แล ดิลกวิทยรัตน์ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ หรือสังศิต พิริยะรังสรรค์ เหตุที่อาจารย์ไกรศักดิ์เริ่มสนใจและเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานน่าจะมาจากลูกศิษย์และเพื่อนๆ ของท่านที่ทำงานจัดตั้งทางความคิดกับคนงานในช่วงนั้น

ระหว่างปี พ.ศ. 2524-2525 อุดมการณ์ปฏิวัติสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย แต่นักวิชาการในกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนหนึ่งรวมทั้งอาจารย์ไกรศักดิ์ ได้ถกเถียงว่าเป็นความล่มสลายของลัทธิเหมาเจ๋อตงไม่ใช่ลัทธิมาร์กซ์[3] การปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศไทยจะยังคงดำเนินต่อไปได้โดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นกำลังสำคัญไม่ใช่ชนชั้นชาวนาเหมือนการปฏิวัติในจีนเมื่อพ.ศ. 2492 ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ไกรศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ อีก5-6คน ที่สนใจลัทธิมาร์กซ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหิดล และจุฬาลงกรณ์ฯ ตั้งกลุ่มศึกษาและทำกิจกรรมจัดตั้งแรงงานในเขตย่านอุตสาหกรรมพระประแดง อ้อมใหญ่ และธุรกิจโรงแรม

เมื่อมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ก่อตั้งสำเร็จในช่วงต้นปีพ.ศ.  2526 อาจารย์ไกรศักดิ์ยังไม่ได้มาร่วมเป็นคณะกรรมการที่มีไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการฝ่ายวิชาการคือ จอน อึ๊งภากรณ์   ไชยันต์ รัชชกูล นิพนธ์ กลิ่นวิชิต และสำรวย มงคลพร แต่ท่านได้มาเข้าร่วมเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการในคณะกรรมการมูลนิธิฯชุดที่ 2 ซึ่งในระยะแรกอาจารย์ได้ช่วยแปลข้อเสนอโครงการของมูลนิธิฯ เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับนำไปยื่นเสนอขอทุนสนับสนุนการทำงานจากองค์กรระหว่างประเทศ

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2530 เป็นต้นมา มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้ผลิตจดหมายข่าวรายเดือนชื่อ “แรงงานปริทัศน์” เพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานอย่าสม่ำเสมอทุกเดือน(จนถึงปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการทำเป็นจดหมายข่าวออนไลน์) จนถึงเดือนมกราคม 2532 นายพนัส ไทยล้วน เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยในขณะนั้นไม่พอใจรายงานข่าวที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เขียนเรื่อง “คนงานเสถียรภาพไล่ตะเพิดผู้นำแรงงาน” จึงได้ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อบุคคล 3 คนคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้รายงานข่าว สมคิด ศรีสมาน เจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่แรงงานปริทัศน์ นฤมล ทับจุมพล กรรมการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

ต่อเหตุการณ์ที่แรงงานปริทัศน์ถูกฟ้องนี้ อาจารย์ไกรศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ต่อไปถ้าคุณพนัส ไทยล้วนจะฟ้องแรงงานปริทัศน์ ขอให้ฟ้องผมเป็นคนแรก เพราะผมเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการของมูลนิธิฯ มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว”[4]

เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บิดาของอาจารย์ไกรศักดิ์ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปีพ.ศ. 2531-2534 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจารย์ไกรศักดิ์ได้ตั้งทีมงานที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรีขึ้นที่บ้านพิษณุโลก ในระหว่างนี้ท่านยังคงเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการของมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน อยู่เหมือนเดิม ซึ่งต้องบอกว่า ท่านมีความใจกว้างเป็นอย่างยิ่ง สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวและส่วนตัวได้อย่างชัดเจน เพราะแรงงานปริทัศน์ได้ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณอย่างรุนแรง[5] โดยที่ท่านไม่ได้เข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใด

ในสมัยของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งอาจารย์ไกรศักดิ์ได้เชิญท่านร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาด้านแรงงานในทีมงานบ้านพิษณุโลกด้วย ศาสตราจารย์นิคมเป็นอดีตข้าราชการและนักวิชาการแรงงานที่พยายามผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบประกันสังคมเพื่อให้ลูกจ้างในภาคเอกชนได้มีสวัสดิการรองรับเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ความพยายามของท่านยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าประเทศไทยเคยมีกฎหมายประกันสังคมฉบับแรกในปี พ.ศ. 2497 แต่ไม่ได้มีการนำออกมาบังคับใช้เป็นเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งในระหว่างปี 2531-2532 สหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้ร่วมกันรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างหนักถึงขั้นมีการอดอาหารและชุมนุมประท้วงที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้วุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับรองพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับที่แรงงานต้องการ จนประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2533[6]

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากความร่วมมือของสหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนในการเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่นอกรัฐสภาแล้ว ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร และอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นผู้ที่มีบทบาทอยู่มากในการผลักดันและสนับสนุนผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา จนทำให้พระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับพ.ศ. 2533 ซึ่งให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการแก่ลูกจ้างสามารถประกาศใช้ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยหลังจากรอคอยมายาวนานกว่า 30 ปี

ตลอดชีวิตของอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ แม้ว่าตัวท่านจะเกิดมาและมีชีวิตอยู่ในแวดวงของชนชั้นผู้มีอภิสิทธิ์ในสังคมไทย แต่ท่านกลับยอมทำงานเหนื่อยเพื่อให้คนจนและคนที่เสียเปรียบในสังคมไทยได้รับความเป็นธรรม ซึ่งช่วงหนึ่งในชีวิตของท่านก็ได้สร้างคุณูปการให้แก่ชนชั้นแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของคนที่เสียเปรียบในสังคมนี้

//////////////////////////////////////////////

[1] บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในวาระที่อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านในวันที่ 21 กันยายน 2563

[2] นภาพร อติวานิชยพงศ์.2531. “ความเป็นมาของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน”. แรงงานปริทัศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 (มิถุนายน) หน้า 7-9.

[3] สุวินัย ภรณวลัย.2524. “ความอับจนของลัทธิเหมาหรือความอับจนของลัทธิมาร์กซ์ : บทวิเคราะห์โดยสังเขปของการปฏิวัติจีน ลัทธิเหมาและเศรษฐกิจจีนหลังการปฏิวัติจนถึงปัจจุบัน” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 1 ฉบับที่5-6 (ตุลาคม-ธันวาคม) หน้า 8-62.

[4] นภาพร อติวานิชยพงศ์. 2532.  “พนัส ไทยล้วน ฟ้องแรงงานปริทัศน์” แรงงานปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (เมษายน) หน้า 16-17.

[5] สมศักดิ์ สามัคคีธรรม. 25333. “รัฐบาลชาติชายกับขบวนการแรงงาน” แรงงานปริทัศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม) หน้า 5-9.

[6] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ (บรรณาธิการ). 2551).  เส้นทางสู้สู่ประกันสังคม.กรุงเทพฯ: บริษัท 21 เซ็นจูรี จำกัด.