เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องแรงงานข้ามชาติ เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ต่อ องค์การสหประชาชาติ (UN THAILAND) นำโดยนางสาว ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างฯ และผู้แทนแรงงานข้ามชาติกว่า 50 คน ซึ่งมีผู้แทนUN ออกมารับข้อเรียกร้อง
ในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองให้เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ด้วยหลักการให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพจากประเทศต้นทางมาทำงานที่ประเทศปลายทาง ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาล และภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ความเชื่อ สีผิว และเพศสภาพ และต้องรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ให้มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคกับแรงงานในท้องถิ่นประเทศนั้นๆ
ปัจจุบันในประเทศไทยพบการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ที่เป็นแรงงานมาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม รวมทั้งแรงงานชาติอื่นเป็นจำนวนหลักล้านคน และแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
แต่การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และนายจ้างที่นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีระบบนายหน้า บริษัทจัดหางาน ที่แสวงหาประโยชน์ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกว่ากฎหมายกำหนด เอารัดเอาเปรียบโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน จ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด สภาพการทำงานมีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตโดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานในภาคก่อสร้าง ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม ทำงานไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลา ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บเงินโดยไม่มีเหตุผล
จากสถานการณ์ปัญหาแรงงานข้ามชาติดังกล่าวมาทั้งหมดพวกเราเครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอต่อองค์การสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทยดังนี้
- ขอให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายประกันสังคม ให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิประกันสังคมทั้ง 7 กรณี และในกรณีชราภาพขอให้จ่ายสิทธิให้กับแรงงานข้ามชาติโดยไม่ต้องรออายุตัวครบ 55 ปี
- ขอให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมาย กองทุนเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย เสียชีวิต สูญหายจากการทำงาน
- ขอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสวัสดิการ วันลา วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันหยุดตามประเพณี ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสัญญาการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ
- ขอให้รัฐบาลตรวจสอบการเก็บค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และประชาสัมพันธ์ให้แรงงานข้ามชาติสามารถไปต่อเอกสารในการทำงานได้โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้า
- ขอให้รัฐบาลตรวจสอบสถานประกอบการ ที่ยึด พลาสปอร์ต วีซ่า และเอกสารอื่นที่เป็นของแรงงานข้ามชาติไว้ ขอให้ส่งคืนแรงงานข้ามชาติที่เป็นเจ้าของทันที
- ขอให้รัฐบาลตรวจสอบสถานประกอบการเรื่องการแจ้งออก และแจ้งเข้า ให้เป็นไปตามระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
- ขอให้รัฐบาลไทยให้เสรีภาพแรงงานข้ามชาติในการวมตัวเป็นองค์กรสหภาพแรงงาน
- ขอให้รัฐบาลไทยพัฒนากลไกการการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เช่น การจัดระบบการร้องเรียนที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
- ขอให้กระทรวงแรงงานจัดอบรมสิทธิกฎหมายแรงงานให้กับแรงงานข้ามชาติ
- ขอให้องค์การสหประชาชาติ ได้ประสานสถานฑูตกัมพูชาในประเทศไทยให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกัมพูชา
- ขอให้รัฐบาลไทย ประสานงานรัฐบาลประเทศต้นทาง เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่หนังสือเดินทางและเอกสารแทนหนังสือเดินทางที่กำลังจะหมดอายุให้ได้รับการต่ออายุ หรือได้รับสิทธิให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้ เพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ทางเครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติด้วย