สหพันธ์จับมือนักศึกษา เสนอ รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 27 พฤาภาคม 2563 สหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ พร้อมด้วยสหภาพแรงงานนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง “รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า” ถึง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายสมภาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศุนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 1 อาคารสำนักงาน ก.พ. โดดจดหมายมีเนื้อหาและข้อเรียกร้อง ดังนี้
ดังที่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2563 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 ซึ่งมีการประกาศใช้ มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยรัฐบาลได้อ้างว่าการขยายเวลาดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) มิได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงนั้น
ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น กลับมีเหตุการณ์จับกุมหรือข่มขู่ดำเนินคดีข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับนิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม และแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่มักจะกล่าวหาว่านิสิตนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้นกระทำการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม มิได้กล่าวถึงการควบคุม การแพร่ระบาดของโรคเลย แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐบาลมิได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค แต่ใช้เพื่อควบคุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเป็นการฉวยโอกาสปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นข้ออ้างแต่เพียงเท่านั้น
การขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ต้องขาดแคลนรายได้เนื่องจากถูกเลิกจ้างหรือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ อีกทั้งมาตรการจำกัด การออกจากเคหะสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิวส์) ยังส่งผลให้ประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ทำงานช่วงกลางคืนต้องประสบความยากลำบากในการเดินทาง หรือกระทั่งไม่สามารถทำงานได้เลย นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ดำเนินไปแล้วนั้นเต็มไปด้วยความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพ เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกหล่นไปจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบและแรงงานในภาคเกษตรกรรม การขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพียงเพื่อให้รัฐบาลได้รักษาอำนาจของพวกตนไว้นั้นจึงถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนอย่างเลือดเย็น และยังเป็นการดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด
ในขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดได้ทุเลาความรุนแรงลงไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พวกเรา นักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้ใช้แรงงาน
จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้เชื้อโรคเป็นข้ออ้างในการเหยียบย่ำประชาชน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้
- ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนำกฎหมายที่สามารถใช้ควบคุมโรคแต่ไม่สามารถใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติโรคระบาดร้ายแรง พ.ศ.2558 มาใช้แทน
- เยียวยาประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เช่น แรงงานนอก ระบบประกันสังคม แรงงานที่จ้างตัวเอง แรงงานในภาคเกษตรกรรม ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และทันท่วงที
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้ รัฐบาลจะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าการรักษาอำนาจของตนเอง ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยย่อมเป็นของประชาชนไทยทุกคน
“นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร จงรวมตัวกัน” รายชื่อองค์กร ดังนี้ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง,เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน และคนทำไม้แห่งประเทศไทย, สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม,สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย,สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย