กลุ่มผู้ใช้แรงงาน หิ้วปิ่นโตบุกกระทรวง กินข้าวคลุกน้ำปลา ร้องขอความเป็นธรรม กรณีลูกจ้าง180ชีวิต ถูกลอยแพ บริษัทอ้างผลกระทบโควิด-19 ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง แถมหักเงินทุกเดือน แต่ไม่ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม ส่งผลลูกจ้างถูกตัดสิทธิรักษาพยาบาล ช่วยเหลือ
วันนี้ (13พ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง นำตัวแทน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ของ บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีลูกจ้างกว่า 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน โดยนายจ้างอ้างผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง อีกทั้งบริษัทหักเงินเดือนแต่กลับไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิช่วยเหลือรักษาพยาบาล ทั้งนี้ได้มีการนำปิ่นโตใส่ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา มานั่งกินที่หน้ากระทรวง เพื่อสื่อให้เห็นว่า กำลังจะอดตายด้วย
นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยบริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด ประเภทกิจการประเภทสิ่งทอ มีพนักงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานชาวพม่า กว่า 180 คน สถานการณ์ปัญหาของบริษัทฯ มีปัญหามาต่อเนื่องและยาวนาน โดยบริษัทฯ อ้างว่าไม่มีเงินทุนมาซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้า และได้มีการขายเครื่องจักรไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ทั้งการไม่มีคำสั่งหรือออเดอร์สินค้าเข้ามา บริษัทฯ มีนโยบายบังคับใช้มาตรา 75 และการยุบการทำงานในบางแผนกลง ซึ่งบริษัทแจ้งพนักงานด้วยวาจา ไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร
นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้พนักงานเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งการใช้นโยบายและการปฏิบัติการของบริษัทฯได้ส่งผลต่อพนักงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานพม่า ดังนี้ 1.เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานไม่ตรงตามวันที่กำหนดไว้ โดยกำหนดจ่ายวันที่ 8 และ 23 ของทุกเดือนแต่บริษัทฯได้เลื่อนการจ่ายเงินออกไป โดยจ่ายเพียงคนละ 2,000 กว่าบาท/คน จากค่าแรงที่ต้องได้รับจริง 4,000 กว่าบาท/คน 2.บริษัทฯ สั่งพนักงานให้หยุดงานด้วยวาจาในหลายแผนก ไม่ได้บอกล่าวล่วงหน้า ไม่มีการติดประกาศให้พนักงานทราบ โดยให้พนักงานสลับกันมาทำงาน 3. บริษัทฯ ไม่มีมาตรการจ่ายเงินชดเชยที่ชัดเจน และบริษัทฯไม่ชี้แจงเหตุผลให้พนักงานทราบ 4.บริษัทฯ ไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้แก่ลูกจ้าง เงินสมทบประกันสังคมนายจ้างเก็บจากลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนแต่ไม่ได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมตามระเบียบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 – เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 7 เดือน ส่งผลทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนำไปสู่การขาดสิทธิในการรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 5.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประเด็น เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินชดเชยเกษียณอายุของลูกจ้าง
ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอฯ กล่าวด้วยว่า ต้องการมาเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ต้องเป็นตัวกลางในการเจรจากับนายจ้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น 2.บริษัทฯ ต้องแจ้งให้พนักงานให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหากจะให้พนักงานหยุดงาน และจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา 75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 3.บริษัทฯ จะต้องนำส่งประกันสังคมย้อนหลัง เพื่อรักษาสถานภาพผู้ประกันตนให้แก่พนักงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่ควรจะได้รับ 4.บริษัทฯ ต้องเร่งจ่ายเงินออมสะสม และเงินเกษียณอายุให้แก่พนักงานโดยเร็ว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤต 5. หากบริษัทฯไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทฯต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานทุกคนตามกฎหมาย