5 ประเด็นวิเคราะห์เพื่อโต้ตอบสหรัฐ
กรณีแบน 3 สารพิษ และการนำเข้าผลผลิตการเกษตร
ตามที่นาย รัส ไนซ์ลีย์ (Russ Nicely) ทูตเกษตร ประจำสถานทูตไทยที่กรุงเทพ และ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ (Ted Mckinly) ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เพื่อขอให้รัฐบาลไทยเลื่อนการแบนไกลโฟเซตออกไปก่อน โดยชี้ว่าการแบนไกลโฟเซตของไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและการนำเข้าสินค้าเกษตรของประเทศไทยนั้น
เมื่อพิจารณาเนื้อหาในจดหมายนำและจดหมายแนบดังกล่าว ไบโอไทยเห็นว่ามีประเด็นการวิเคราะห์เพื่อโต้ตอบฝ่ายสหรัฐและข้อเสนอเพื่อดำเนินการต่อ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การคัดค้านการแบนสารพิษ 3 ชนิดของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยอ้างว่าจะทำให้ต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท
กรณีนี้ไบโอไทยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สหรัฐจะเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายการเกษตรของประเทศไทย หากพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภา กระบวนการแบน 3 สารพิษ คือรูปธรรมของนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่การลดละเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ภายใต้กรอบการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืน และข้อมูลการคัดค้านโดยอ้างตัวเลขต้นทุนสารเคมีทดแทนที่เพิ่มขึ้นนั้น นอกจากเป็นตัวเลขลอยๆซึ่งได้มาจากบริษัทเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากการค้า 3 สารพิษอ้าง โดยไม่มีผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์รองรับแต่ประการใดแล้ว ยังไม่ได้กล่าวถึงผลได้จากการแบนสารพิษ เช่น การลดผลกระทบค่ารักษาพยาบาลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนโอกาสของประเทศในการพัฒนานวัตกรรมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร และวิธีการทางเลือกต่างๆในการควบคุมศัตรูพืช
ประเด็นที่ 2 การกล่าวหาว่าการตัดสินใจของไทยไม่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Sound Science) โดยแนะนำให้ฝ่ายไทยพิจารณาการใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) และ คณะทำงาน JMPR เป็นต้น
สหรัฐเสนอให้ใช้การประเมินความเสี่ยงโดยใช้แนวทางการประเมินของ EPA และ JMPR (คณะทำงานร่วมเรื่องสารเคมีตกค้าง) เพื่อพิจารณาการแบนหรือไม่แบนไกลโฟเซตนั้น เป็นเพราะแนวทางการประเมิน/แนวปฏิบัติของทั้งสององค์กรเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนสหรัฐที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ แต่หาได้รับการสนับสนุนจากสื่อ อเมริกันชน และศาลสหรัฐ แต่ประการใด ดังนี้
หนึ่ง การประเมินความเสี่ยงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของสหรัฐโดย EPA ไม่ถูกยอมรับแม้ในสหรัฐอเมริกาเอง ดังเป็นที่ทราบว่าในปี 2015 EPA ในยุคโอบามาได้เตรียมแบนสารพิษคลอร์ไพริฟอสเพราะมีผลทำลายสมองเด็กและทารก แต่กลับถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดในยุคประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดยทรัมป์ได้แต่งตั้งผู้บริหารที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรมมาเป็นผู้บริหาร EPA จนถูกสื่อมวลชนในสหรัฐรวมกันขุดคุ้ย และต้องลาออกไป ประชาชนอเมริกันต้องพึ่งอำนาจศาล จนในที่สุดศาลในสหรัฐได้มีคำสั่งให้ EPA ต้องแบนสารพิษซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของดาวอะโกรไซแอนส์ ภายใน 60 วัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี
สอง สหรัฐอ้างการประเมินความเสี่ยงโดยคณะทำงาน JMPR ว่า การใช้ไกลโฟเซตตามที่ระบุตามคำแนะนำไม่เป็นสาเหตุของการก่อมะเร็ง ขัดแย้งกับข้อมูลของฝ่ายไทยที่ใช้การประเมินของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุให้ไกลโฟเซตเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A ความแตกต่างสำคัญของการประเมินโดย 2 องค์กรนี้คือ IARC ปฏิเสธการใช้ข้อมูลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะที่คณะทำงาน JMPR ซึ่งอ้างว่าเป็นคณะทำงานร่วมระหว่าง FAO และ WHO นั้นมีประธานและคณะทำงานหลายคนที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายไกลโฟเซต ดังที่สื่อในยุโรปได้เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อเร็วๆนี้ จนเป็นผลให้รัฐสภายุโรปโหวตแบนไกลโฟเซต
ความไม่น่าเชื่อถือของ EPA และ JMPR นั้นถูกสะท้อนได้จากกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐ ที่ศาลสหรัฐได้ตัดสินให้บริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าปรับหลายหมื่นล้านบาทแก่ชาวอเมริกันที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจากการใช้สารพิษดังกล่าว โดยขณะนี้มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลแล้วกว่า 18,400 คดี
“Sound Science” ของสหรัฐจึงเป็นวาทกรรมประเภท Corporate science ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสารเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพของตน แต่ไม่ยอมรับรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เปิดเผยผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ประเด็นที่ 3 สหรัฐไม่มีผลประโยชน์จากการค้าไกลโฟเซตและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจริงหรือ ?
การแบนไกลโฟเซตดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากการค้าสารพิษนี้ในประเทศไทยเนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่ทั้งจากสารไกลโฟเซตและสารอื่นๆมาจากแหล่งผลิตในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่าลืมความจริงที่ว่า การแบนไกลโฟเซตจะมีก่อผลกระทบมหาศาลต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐที่ผูกขาดพืชดัดแปลงพันธุกรรมของโลกซึ่งมากกว่า 90% เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อต้านทานไกลโฟเซต
การแบนไกลโฟเซตในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ คือการปิดประตูสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์จากการผลักดันพืชจีเอ็มตระกูล RoundUp Ready ของไบเออร์-มอนซานโต้ เพราะทันทีที่ไกลโฟเซตถูกแบน พืชซึ่งถูกออกแบบให้ต้านทานไกลโฟเซตนั้นจะเปล่าประโยชน์ และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในที่สุด
อนึ่ง ควรทราบว่าต้นทุนการเกษตรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคตนั้น ต้นทุนค่าสารเคมีอยู่ที่ประมาณ 5% ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น แต่ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อค่าเมล็ดพันธุ์นั้นสูงตั้งแต่ 15-35% ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญของความพยายามต้านการแบนไกลโฟเซตของ เท็ด แมคคินนีย์ ซึ่งมีประวัติการทำงานยาวนาน 19 ปีในบริษัทดาวอะโกรไซแอนส์ หนึ่งในบริษัทผู้ก่อตั้ง CropLife ที่มีบทบาทอย่างสูงในการต้านการแบนสารพิษทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย
ประเด็นที่ 4 การแบนสารพิษจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐซึ่งส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลี หรือประเทศผู้นำเข้าอย่างประเทศไทยกันแน่ ?
หากจะเกิดผลกระทบการค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี หรือข้าวโพด จากการแบนไกลโฟเซตของประเทศไทย ปัญหานั้นไม่ใช่เป็นปัญหาของฝ่ายไทยแต่เป็นปัญหาของฝ่ายสหรัฐที่เกรงว่าอุตสาหกรรมถั่วเหลือง ข้าวสาลี และพืชผลอื่นๆของตนที่ยังคงใช้ไกลโฟเซตจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกมายังประเทศไทย ดังที่ข้อความในจดหมายของสหรัฐได้ร้องขอให้ฝ่ายไทย “คงระดับค่า MRL สำหรับการตกค้างของไกลโฟเซตให้อยู่ในระดับเดิม” (MRL : Meximum Residue Limit)
เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลและแง่มุมทางจิตวิทยาการค้า การแบน 3 สารพิษซึ่งรวมถึงไกลโฟเซตต่างหากที่ทำให้รัฐบาลไทยมีอำนาจการต่อรองทางการค้าไม่ใช่ฝ่ายสหรัฐ
เป็นความเข้าใจผิดแบบกลับหัวกลับหาง สำหรับผู้ที่เข้าใจว่าการแบนไกลโฟเซต ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าผลผลิตจากประเทศที่ยังคงใช้ไกลโฟเซตอยู่เพราะผิดกฎของ WTO กล่าวคือการนำเข้าผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใดขึ้นอยู่กับกฎระเบียบภายในของไทยเอง แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับแนวปฏิบัติในความตกลงสุขอนามัยพืช (SPS) ใน WTO
ภายใต้ความตกลงสุขอนามัยพืชของ WTO นั้น ระบุเพียงว่าการแบนสารเคมี หรือการกำหนดค่า MRL ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ซึ่งจะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศนั้น ต้องยึดหลักฐานข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยประเทศที่เป็นสมาชิกของ WTO ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป และไทย ล้วนมีความแตกต่างกันในการแบนสารพิษและระดับการกำหนดค่า MRL ของตน ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงมีสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่การผลิตนั้นมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกแบนในประเทศอื่นเสมอ ในกรณีแบบนี้จึงมีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Import Tolerance หรือ Import MRL ของแต่ละประเทศหรือแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจขึ้น เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
กรณีสหรัฐอเมริกา เมื่อสหรัฐแบนสารพิษชนิดใด จะยกเลิกค่าการตกค้าง (Tolerance) ทำให้ไม่สามารถใช้สารพิษชนิดนั้นในการปลูกพืชในประเทศได้ แต่สหรัฐจะกำหนดค่า Import Tolerance สำหรับสินค้านำเข้า เช่น เมื่อสหรัฐแบนคาร์โบฟูราน ในปี 2009 ได้ยกเว้นให้สำหรับสินค้านำเข้า 4 ประเภทได้แก่ ข้าว กล้วย กาแฟ และน้ำตาล แต่การตกค้างต้องไม่เกินค่า MRL ที่สหรัฐกำหนด ซึ่งจะเป็นตาม CODEX หรือกำหนดขึ้นใหม่ก็ได้
ในกรณีสหภาพยุโรป ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและมีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายๆชนิด นั้นก็ยังเปิดช่องให้มีการนำเข้าผลผลิตจากประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้สารบางชนิดที่ในอียูไม่อนุญาตก็ได้ตาม EU Regulation 396/2005
โดยปกติจะมีการกำหนดค่า MRL เริ่มต้นที่ 0.01 Mg/Kg หรือค่าอื่นๆตามความสามารถในการวิเคราะห์หรือระดับที่เหมาะสมในการคุ้มครองผู้บริโภค
ในกลุ่ม APEC มีการกำหนดแนวปฏิบัติเอาไว้หลายแนวทาง สำหรับประเทศที่ต้องการนำเข้าสินค้าที่ในประเทศของตนไม่ได้กำหนดค่า MRL แต่ประสงค์จะนำเข้าสินค้านั้นจากต่างประเทศ โดยมีแนวปฏิบัติหลายวิธี เช่น กำหนดค่า MRL ตามเกณฑ์ของประเทศผู้ส่งออก กำหนดให้ตามเกณฑ์ CODEX หรือกำหนดขึ้นใหม่จากฐานข้อมูลการประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลของหน่วยงานระหว่างประเทศ หรือหากยังไม่สามารถคุ้มครองการบริโภคให้ปลอดภัยได้ก็ไปใช้ค่าเริ่มต้น (Default limit) แบบเดียวกับยุโรป
ประเด็นที่ 5 ทางเลือกของรัฐบาลไทยในการนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ
ประเทศไทยไม่สามารถผลิตหรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอในสินค้าบางกลุ่ม เช่น ข้าวสาลีและถั่วเหลือง ดังนั้นจึงต้องนำเข้าจากสหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา รัสเซีย และยูเครน เป็นต้น
ในกรณีนี้ ประเทศไทยสามารถใช้แนวปฏิบัติแบบเดียวกันกับสหรัฐหรือยุโรป ในการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้ โดยอาจกำหนดค่า Import MRL ที่คำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยใช้ข้อมูลใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณา ซึ่งอาจจะเท่ากับหรือต่ำกว่าค่า MRL ของสหรัฐที่กำหนดการตกค้างของถั่วเหลืองไม่เกิน 40 mg/Kg หรือ 20 mg/Kg ของ EUและ CODEX ก็ได้
ในกรณีที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หลังจากมีการประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายแล้ว กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 ตามข้อ 4 ให้ยกเว้นสินค้าบางรายการที่เราไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตไม่เพียงพอ
อนึ่งการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่าถั่วเหลืองที่บริโภคในประเทศไทยมีปริมาณไกลโฟเสทที่ตรวจพบสูงสุด คือ 5.06 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีตัวอย่างเพียง 4 ตัวอย่าง จาก 24 ตัวอย่าง (คิดเป็น 16.6%) ที่มีปริมาณไกลโฟเสทมากกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณของไกลโฟเสทที่ตรวจพบในตัวอย่างถั่วเหลืองในประเทศไทยนี้ยังมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานสูงสุดที่ยอมรับได้ในถั่วเหลืองที่กำหนดโดยองค์กรต่างๆทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในแง่การปกป้องสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรกำหนดค่าการตกค้างที่ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จากการพิจารณาข้อมูลพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ตามเงื่อนไขในความตกลง SPS ใน WTO และหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน (Precaution Principle) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน
ในความเห็นของเรา การแบน 3 สารพิษคือการเปิดภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ ทั้งในการปฏิรูปไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยด้านอาหาร มากกว่าการขายสินค้าเกษตรกรรมราคาถูกๆและถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย จนบางกรณีต้องสมัครใจยุติการส่งออกในบางสินค้า ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต
มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
29 ตุลาคม 2562