สรส. กับองค์กรแรงงานสากล แถลงดัชนีชี้วัดด้านสิทธิแรงงานสากล ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2019 พร้อมเสนอ 3 ข้อให้รัฐแก้ปัญหา
วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (State enterprises Workers’ Relations Confederation (สรส.) ได้จัดประชุมในหัวข้อ “การละเมิดสิทธิแรงงานในทางกฎหมายและทางปฏิบัติในประเทศไทย : กรณีศึกษาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)” จากนั้นเป็นการแถลงข่าว “ดัชนีชี้วัดด้านสิทธิแรงงานสากล สมาพันธ์สหภาพแรงงงานสากล ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2019 การละเมิดสิทธิแรงงานในทางกฎหมายและทางปฏิบัติในประเทศไทย : กรณีศึกษาของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand) ถนนเพลินจิต ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม ปทุมวัน กรุงเทพฯ โดย สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้แถลงเสนอ 3 ข้อให้รัฐแก้ปัญหาดังนี้
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกสหภาพแรงงานแรงงานรัฐวิสาหกิจ 42 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของสมาพันธ์สหภาพแรงงานโลกระดับสากล (International Trade Union Confederation) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการละเมิดมาตรฐานสากลด้านแรงงานอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังที่กล่าวข้างต้น โดยให้พิจารณาข้อเสนอ ดังนี้
- ให้รัฐยกระดับมาตรฐานทางด้านแรงงานในประเทศไทย ให้เคารพสิทธิของสหภาพแรงงาน ด้วยการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98
- ให้รัฐปรับปรุงระบบแรงงานสัมพันธ์ของภาคอุตสาหกรรม (Industrial Relations) ในรัฐวิสาหกิจ ด้วยการใช้วิธีการพูดคุยในทางสังคม (Social Dialogue) แทนการกล่าวหา/กล่าวโทษ รวมทั้งการกำหนดนโยบายรัฐและแจ้งให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ มิให้ดำเนินการฟ้องร้องทางคดีกับสหภาพแรงงาน ในการการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรฐานสากลด้านแรงงานทั้ง 3 ข้อข้างต้น
- ให้รัฐยกระดับคุณภาพบริการ โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถไฟของประเทศให้ได้มาตรฐานสากล โดยสนับสนุนให้การรถไฟแห่งประเทศจัดหาและบำรุงรักษา รถจักร ล้อเลื่อน และอุปกรณ์ช่วยในการเดินรถไฟให้ปลอดภัย ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และไม่ให้นำรถไฟที่ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ออกเดินรถไฟให้บริการแก่ประชาชน
จากเหตุการณ์ละเมิดมาตรฐานสากลด้านแรงงานอย่างรุนแรง และสั่นคลอนขบวนการขับเคลื่อนแรงงานรัฐวิสาหกิจของไทยคือ การที่นายจ้างของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กฎหมายเล่นงานผู้นำแรงงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย (สร.กบท.) ด้วยการฟ้องร้องเป็นคดีความด้านแรงงานและเรียกร้องค่าเสียหายจากการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานที่เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลด้านแรงงาน โดยหลักการในอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 สหภาพแรงงานมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ไว้ 3 เรื่องที่พึงจะกระทำได้ คือ 1) เสรีภาพในการสมาคมของคนงาน 2) สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม 3) สิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง
ดังนั้น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในประเทศใดก็ตาม ควรที่จะมีความสามารถในการเข้าถึงและใช้สิทธิเหล่านี้ เพื่อดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานได้อย่างอิสระ โดยปราศจากการแทรกแซงของภาคีฝ่ายนายจ้างหรือรัฐบาลได้
ในประเทศไทย เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุในการเดินรถไฟของรถด่วนขบวนที่ 84 วิ่งจากสถานีตรัง ปลายทางสถานีกรุงเทพ ตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 88 ราย นับเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและความสูญเสียอย่างร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดในรอบหลายปี สร.รฟท. เห็นว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากอัตรากำลังของพนักงานมีไม่เพียงพอกับงานที่ต้องปฏิบัติ อันเนื่องมาจากมติของคณะรัฐมนตรีที่จำกัดอัตรากำลังบุคคลกรในรัฐวิสาหกิจ ทำให้พนักงานขับรถไฟต้องทำงานหนักจนเหนื่อยล้า ไม่มีเวลาได้พักผ่อน ประกอบกับ รถจักร ล้อเลื่อน และอุปกรณ์ช่วยในการเดินรถไฟให้ปลอดภัย ถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน จนเสื่อมสภาพ ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อหรือบำรุงรักษาจากรัฐบาล จนทำให้งานบริการเดินรถไฟขาดคุณภาพ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยในการเดินรถไฟในระดับสากล สร.รฟท. จึงได้เริ่มรณรงค์การเดินรถไฟให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้กับสมาชิก สร.รฟท. ได้มีความรู้และมีความตระหนักถึงความสำคัญของการเดินรถไฟอย่างปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ได้เชื่อมั่นในคุณภาพของการเดินรถไฟและระบบความปลอดภัยในการเดินรถไฟ ในระหว่างวันที่ 13-27 ตุลาคม 2552 แต่กลับถูกนายจ้างกล่าวหาว่ากระทำการให้ รฟท. ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และได้ออกคำสั่งลงโทษเลิกจ้างพนักงานที่เป็นกรรมการ สร.รฟท. จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็น 13 คน และฟ้องเป็นเป็นคดีแรงงาน และเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ รฟท. เป็นจำนวนเงินสูงถึง 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจไทยในอุตสาหกรรมการบิน ได้กระทำการละเมิดข้อตกลงระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน ด้วยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเป็นคดีพิพาทในศาลแรงงาน โดยกล่าวหาผู้แทนของ สร.กบท. จำนวน 4 คน และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้แทน สร.กบท. ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ที่เกิดจากการชุมนุมของพนักงานบริการภาคพื้น ที่ปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 2556 ว่าส่งผลให้ บมจ.การบินไทย เสียหายด้านภาพลักษณ์ เป็นจำนวนเงินประมาณ 326.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ในขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ข้อพิพาทนี้ มีมูลเหตุ เริ่มต้นจาก บมจ.การบินไทย มีผลประกอบการในปีงบประมาณ 2555 กำไร ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่มีข่าวเผยแพร่ว่าคณะกรรมการบริษัท มีมติไม่ขึ้นเงินเดือนประจำปีพนักงานและไม่จ่ายโบนัส ดังนั้น ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2556 พนักงานที่ปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงได้ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ให้บริษัทปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้แทนนายจ้าง นำทีมโดยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ขอหารือกับผู้แทนของ สร.กบท. และผลการหารือ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม โดยกำหนดนัดหารือรายละเอียดของข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 มกราคม 2556 ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงได้ระบุว่า จะไม่เอาผิดในทางวินัยกับพนักงานที่ร่วมชุมนุม และจะไม่ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ในที่สุด ผลของการหารือในวันที่ 21 มกราคม 2556 ได้เห็นชอบร่วมกัน ในการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนพนักงานประจำปี ด้วยกรอบวงเงินร้อยละ 7.5 และ สร.กบท. ได้ขอเพิ่มวงเงินตอบแทนพิเศษ 300 ล้านบาท แทนการปรับเพิ่มเงินโบนัส โดยให้แก่พนักงานทุกคน ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิก สร.กบท. อย่างไรก็ตาม นายจ้างกลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ด้วยการยื่นฟ้องเป็นคดีแรงงานกล่าวหา ผู้แทนของ สร.กบท. จำนวน 4 คน ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าทำให้องค์กรเสียหายด้านภาพลักษณ์ อันเป็นผลจากการชุมนุมของพนักงานที่ปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 255
ทั้งนี้ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการประชุมในวันนี้ จะช่วยสะท้อนสภาพของปัญหาการละเมิดมาตรฐานสากลด้านแรงงานอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้สังคมได้รับทราบ รวมทั้งกระตุ้นให้รัฐได้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจให้เข้าสู่มาตรฐานแรงงานในระดับสากล ทัดเทียมกับอารยประเทศ และที่สำคัญให้บริการของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการขนส่งระบบทางรางที่กำลังจะกลายเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักให้กับประชาชน เป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนของประเทศ