แรงงาน แถลงหนุนเครือข่ายเพื่อนตะวันออก หยุดผังเมือง-ทบทวนโครงการEEC

คสรท.และสรส. ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลให้หยุด ทบทวนโครงการ EEC ยกเลิกการทำผังเมืองในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งแสดงจุดยืน ขอสนับสนุนการขับเคลื่อนและข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมของพี่น้อง “เครือข่ายเพื่อนตะวันออก

วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลให้ “หยุด ทบทวนโครงการ EEC ยกเลิกการทำผังเมืองในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งแสดงจุดยืน ขอสนับสนุนการขับเคลื่อนและข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมของพี่น้อง “เครือข่ายเพื่อนตะวันออกจากการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่47/2560กำหนดให้มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนต่อยอดจากโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก(Easthern Seaboard Development Program : ESB)ซึ่งต่อมารัฐบาล คสช.ได้มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า “ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561” โดยปราศจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งต่อมามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งรัดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชนในพื้นที่ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้านเกษตรกรรม อันเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นพื้นที่มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาหาร ควรที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลและส่งเสริมพัฒนาจากภาครัฐ อันเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ขึ้นชื่อว่า “แหล่งผลิตอาหารโลก” และเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 – 2580 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “นำพาประเทศไทยไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ขัดต่อหลักการที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง

โดยการดำเนินการขับเคลื่อน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทั้งที่เป็นการทำผังเมืองรวมถึง 3 จังหวัด ซึ่งขาดการรับฟังและการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและขาดการศึกษาผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน อันเป็นเหตุให้เครือข่ายและชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการจัดทำร่างผังเมืองใหม่ที่มีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นการทำลายหลักประกันด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และหลักรัฐศาสตร์ การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ อบอุ่น มีความสุข เป็นการจัดทำผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนธุรกิจ กลุ่มทุนซื้อขายที่ดินและกลุ่มอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแหล่งอาหาร แหล่งเกษตรกรรมแม้แต่น้อย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ “ขอสนับสนุน การทำหน้าที่ปกบ้าน ป้องเมือง คุ้มครองท้องถิ่นที่อาศัย อาชีพ และสนับสนุนข้อเสนอของพี่น้อง “เครือข่ายเพื่อนตะวันออก” จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และ รัฐสภา โปรดพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้าน โดยนำข้อเสนอของ “เครือข่ายเพื่อนตะวันออก”มาพิจารณาอย่างเร่งด่วนโดยไม่ควรรีบเร่งดำเนินการโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก และ ที่อื่นๆโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใหม่ รัฐบาลใหม่ พรรคการเมือง และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงจำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน อันเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย