แรงงานเอกชน -รัฐวิสาหกิจ ร่วมป้อง 13 ผู้นำแรงงานสร.รถไฟ หลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดย้อนหลังกรณีเขาเต่า

ยื่นILO กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ร้องขอความเป็นธรรมให้ผู้นำแรงงานรถไฟ 13 คนกรณีเขาเต่า หลังป.ป.ช ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานละทิ้งหน้าที่ ย้อนหลังทั้งที่มีการลงโทษแล้ว

ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 เครือข่ายแรงงานกลุ่มต่างๆประกอบด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท. ) เครือข่ายน้ำ ไฟฟ้า และยาเพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ยื่นหนังสือถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ขอความเป็นธรรมให้กับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้ง 13 คน โดยที่กระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมารับหนังสือ

นายคมสัน ทองศิริ ประธานเครือข่ายน้ำ ไฟฟ้า และยาเพื่อชาติประชาชน (คฟปย.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยออกมาเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้โดยสาร และผู้นำงานเนื่องจากปัยหาของความไม่สมบูรณ์ของหัวรถจักรรถไฟในขณะนั้น แต่ว่าในขณะเดียวกันผู้นำแรงงานสหภาพแรงงานฯทั้ง 13 คนก็ถูกกระทำถูกให้ออกจากงานซึ่งมันเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเราเองก้อยากให้มีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้นำแรงงานของพวกเราทั้ง 13 คน วันนี้จึงมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้แกปัญหาความเป็นธรรมของผู้นำแรงงานทั้ง 13 คน เพราะไม่อยากที่จะให้เรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน และความไม่เป็นธรรมนี้เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการตัดสิทธิ์ทางการค้าเกิดขึ้น

นายมานพ เกื้อรัฒน์ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ซึ่งผลจากการสอบสวนภายในที่การรถไฟฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญาจนเป็นเหตุให้พนักงานขับรถต้องติดคุก และต้องออกจากงาน เมื่อศาลอาญาเห็นว่านำรถจักรที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวน ซึ่งต่อมาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลก็มีคำพิพากษาให้พนักงานขับรถและการรถไฟฯ จ่ายค่าเสียหายให้แก้ผู้ฟ้อง เนื่องจากนำรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวนจนเกิดเหตุร้ายแรง แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล( ITUC) ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผลการสรุปก็ออกมาในลักษณะที่เห็นว่าสหภาพแรงงานรถไฟและผู้นำสหภาพฯ นั้นกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงาน และได้ส่งคำวินิจฉัยมายังรัฐบาลไทยเพื่อยุติและคืนสิทธิให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ จากผลที่สรุปออกมาชี้ให้เห็นถึงการกระทำของสหภาพแรงงานรถไฟและผู้นำสหภาพที่ได้กระทำการที่เป็นประโยชน์แก่การรถไฟฯ เอง รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยสาธารณะของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สั่งไล่ออกกรรมการ สร.รฟท. ที่หาดใหญ่ทันที 6 คน ในปี 2552 โดยกล่าวหาว่า ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง พร้อมกันนั้นได้นำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟจำนวน 7 คน ในส่วนกลางซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และถูกเลิกจ้างไปในปี 2554 พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก จึงเป็นเหตุให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศร่วมกันรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลไทยและการรถไฟฯ ยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพรถไฟฯ และให้รับทั้งหมดเข้าทำงานและให้คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ถูกออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ ซึ่งต่อมาการรถไฟฯ และ สร.รฟท. ได้เจรจากันผ่านคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งที่ประชุมมีมติให้รับผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้งหมดกลับเข้าทำงานในปี 2557 และได้จ่ายเงินและสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานคืนให้แก่ผู้นำ 6 คน ที่สาขาหาดใหญ่ แต่ผู้นำส่วนกลาง 7 คน แม้จะได้กลับเข้าทำงานแต่ก็ยังไม่ได้รับคืนสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานโดยที่การรถไฟฯ อ้างว่ามีค่าเสียหายที่ทั้ง 7 คนต้องจ่ายให้กับการรถไฟฯ ซึ่งต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้นำสหภาพรถไฟทั้ง 7 คนจ่ายค่าเสียหายให้แก่การรถไฟฯ เป็นเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทราบว่าภายหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมา การรถไฟฯ ได้เริ่มดำเนินการหักเงินจากผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟฯ ทั้ง 7 คนแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จากจำนวนยอดเงินตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก โดยจำนวนเงินที่ต้องถูกหักชดใช้ค่าเสียหายต้องใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะครบตามจำนวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัว ซึ่งผู้นำบางคนขณะนี้ ได้เกษียณอายุแล้วและยังต้องเอาเงินยังชีพ (บำนาญ) หลังเกษียณมาชดใช้ค่าเสียหายทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่การกระทำดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการตามมติที่ประชุมของสมาชิกสหภาพแรงงานรถไฟฯ ในปี 2552 ในเรื่องของความปลอดภัย โดยให้ สร.รฟท. ดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯ ในฐานะนายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเพื่อมิให้พนักงานการรถไฟฯ ในฐานะลูกจ้าง ต้องปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯ และพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 ยังได้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการภายหลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางอาญากับกรรมการ สร.รฟท. ทั้ง 13 คน (ส่วนกลาง 7 คน/สาขาหาดใหญ่ 6 คน) ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ละทิ้งหน้าที่หรือกระทำการอย่างใด ๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหายโดยร่วมกระทำการเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 166 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยหน้าที่การงานและการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายหรืออาจเสียหายแก่กิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยส่งคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และส่งคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา (การรถไฟฯ) ให้ดำเนินการทางวินัยกับกรรมการ สร.รฟท. ทั้ง 13 คน (ส่วนกลาง 7 คน/สาขาหาดใหญ่ 6 คน)

จะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่ของกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยโดยทั้ง 13 คนนั้น ก็เพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชน จากเหตุเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ทั้งยังมีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้การรถไฟฯ ดำเนินการให้มีสภาพรถจักรที่สมบูรณ์ก่อนนำออกบริการประชาชน ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ซึ่งมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางส่วนเอาไว้ และยังต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอื่นอีก อาทิ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายอาญา เป็นต้น ทั้งที่หากเป็นประชาชนปกติทั่วไปก็คงจะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และหากเป็นการดำเนินการของสหภาพแรงงานควรที่จะนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายแรงงานมาใช้เพื่อดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอความร่วมมือมายังท่านได้โปรดพิจารณาแนวทางออกร่วมกันเพื่อดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้ง 13 คน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาตามคำร้องขอต่อไป

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้กล่าวกับผู้นำแรงงานที่มายื่นหนังสือว่า ตนนั้นเข้ามาแบบไม่ได้เลือกเลย มาทำงานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเลย ซึ่งเห็นว่าประเด็นนี้กฎหมายแรงงานเขาก็มี ซึ่งการมาทำงานนี้ก็ดีใจที่ได้ช่วยคนจำนวนมากคนที่อยู่ในฐานะลำบาก มีสหภาพแรงงานคิดว่าจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้มีกำลัง ต้องศึกษาปัญหาเพื่อหาทางช่วยเหลือกัน ซึ่งเบื้องต้นขอรับเรื่องไว้พิจารณาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยจะศึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม

รายงานโดย วาสนา ลำดี