คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (22) คนทำงานขับรถส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม

คนทำงานขับรถส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม

                                                                                                                                                          ชฤทธิ์ มีสิทธิ์

            เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ผมได้มีโอกาสไปร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็น  รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซด์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม พูดให้เข้าใจง่ายๆก็ให้นึกถึงแอ็พพลิเคชั่นหรือเพจที่เราสั่งอาหารออนไลน์  ให้เขามาส่งยังที่พักหรือที่บ้าน หรือที่ไหนตามที่เราต้องการนั้นแหละครับ งานนี้จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท หรือที่เรียกกันว่าFES  และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพมหานคร

หัวข้อที่ประชุมสัมมนากันนั้น เป็นผลจากการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างFES และ สถาบันเศรษฐกิจและแรงงานที่เป็นธรรม ซึ่งมีอาจารย์เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และอาจารย์วรดุล ตุลารักษ์ (หากไม่เป็นอาจารย์ก็ขอเรียกอาจารย์นะครับ) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการศึกษาวิจัย งายวิจัยนี้ต่อเนื่องมาจากงานวิจัยชิ้นแรก คือ แพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ ซึ่งมีอาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และอาจารย์เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ได้ร่วมกันทุ่มเทศึกษาวิจัย โดยการสนับสนุนของFES ซึ่งผมเองก็เพิ่งได้รับเอกสารงานวิจัยมา ว่าจะหาเวลาศึกษาเรียนรู้ต่อไปครับ  ผมเรียกงานวิจัยเหล่านี้ว่า งานวิจัยเพื่อชีวิต เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติครับ ขอคารวะผู้มีส่วนในงานนี้ทุกคนครับ

คลินิกกฎหมายด้านแรงงานฉบับนี้ ก็จะเป็นการพูดคุย เล่าเรื่อง หรือตั้งประเด็นให้ทุกท่านได้ช่วยกันขบคิดในเรื่องงานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์มนะครับ

ก่อนอื่นก็ต้องขอสรุปสาระสำคัญที่ผู้วิจัยเขาค้นพบจากการศึกษาวิจัย ดังนี้

ประเด็นแรก

เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเทคโนโลยีดิจิตัล ที่งานวิจัยเรียกว่าแพลตฟอร์มดิจิตัล หมายถึง กลุ่มธุรกิจได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตัล เป็นเครื่องมือหรือกลไก ในการเชื่อมธุรกิจร้านอาหาร กับผู้บริโภค รวมทั้งได้ดึงกำลังแรงงานที่เรียนว่าคนขี่มอเตอร์ไซด์รับส่งอาหาร(ต่อไปจะเรียกว่าคนส่งอาหาร) ให้เข้ามาทำงานรับใช้ธุรกิจที่ควบคุมแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง   ในเรื่องของงาน การจ้างงาน หรือความสัมพันธ์ในการจ้างงานอย่างไรบ้าง

ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิตัล ทำหน้าที่นำเสนอคนส่งอาหารและการจัดส่งอาหารทั้งต่อธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค แพลตฟอร์มจึงมีสถานะไม่ต่างจากนายจ้างของคนส่งอาหาร

ประเด็นที่สอง

ผู้วิจัยใช้คำว่า “นิเวศน์ทางธุรกิจ” โดยเน้นย้ำว่า บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับนิเวศน์ทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึง เครือข่ายขององค์กรต่าง ๆ ทั้งธุรกิจร้านอาหาร ผู้จัดหาวัตถุดิบ /สินค้า ผู้กระจายสินค้า ลูกค้า คู่แข่งทางธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทแพลตฟอร์ม จะทำหน้าที่เชื่อม ดึง และร้อยเรียงส่วนต่าง ๆ ดังกล่าวให้เข้ามาอยู่ในระบบของแพลตฟอร์ม ผมพยายามนึกถึงการสร้างอาณาจักร  ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จากประเทศจีน และอเมริกา เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างหรือกรณีศึกษา

ประเด็นที่สาม

กระบวนการผลิตงาน การควบคุม กลยุทธ์ของแพลตฟอร์ม

แต่ละแพลตฟอร์มอาจมีแนวทาง วิธีการ หรือกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป เช่น บางแพลตฟอร์มอาจเข้มงวดและจำกัดการรับสมัครคนส่งอาหาร เงื่อนไขการฝึกอบรมโดยบริษัทแพลตฟอร์ม จนมีผลให้เปรียบเทียบว่าแพลตฟอร์มไหน มีทักษะฝีมือสูงกว่ากัน

แอ็พพลิเคชั่น คือ ศูนย์กลางของการทำงาน เนื่องคนส่งอาหารต้องทำงานทุกอย่างผ่านแอ็พพลิเคชั่น ไม่ว่าในเรื่อง การรับรายการอาหาร ตรวจสอบรายละเอียด นำทาง ส่งมอบงาน รายงานผล และรับคำยืนยันการได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องคนส่งอาหารอาจถูกระงับการทำงานชั่วคราว หากปฏิเสธงานเกินจำนวนที่กำหนด หรือหากลูกค้าให้ผลการประเมินต่ำกว่าที่กำหนด สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ ยังจะถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ หรืองานอิสระ หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทแพลตฟอร์ม อยู่อีกหรือไม่

ประเด็นที่สี่(สุดท้าย)

            สถานะของคนส่งอาหาร สภาพการจ้าง ภาระและผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งอนาคตของงานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม

กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการจ้างหรือการทำงานที่ซับซ้อนขึ้น มีการใช้คำสื่อความหมายสถานะของคนส่งอาหารให้สอดรับกับแนวคิดของธุรกิจ เช่น  เป็นงานอิสระ คนทำงานอิสระ เป็นงานรับจ้างทั่วไปดังที่เรียกกันว่าจ้างทำของ (ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง) มิใช่จ้างแรงงาน(นายจ้างกับลูกจ้าง) คนงานส่งอาหารก็มีความสัมพันธ์ในงานกับผู้บริโภค และธุรกิจร้านอาหารด้วยเช่นกัน

ประเด็นจึงควรพิจารณาว่าความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับคนส่งอาหาร มีสถานะทางกฎหมายเป็นอย่างไร เช่น เป็นนายจ้างกับลูกจ้างหรือไม่  หากเป็นก็สามารถบังคับใช้กฎหมายแรงงานได้ทุกฉบับ แต่ถ้าหากไม่เป็น ก็จะมีสถานะเป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณากันต่อไปว่า แรงงานกลุ่มนี้ มีปัญหาเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมในเรื่องใดบ้าง เช่น การคุ้มครองในเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน เสรีภาพในการรวมตัว รวมทั้งระบบสวัสดิการและการประกันสังคม

ท่านใดสนใจในประเด็นนี้ ลองประสานงานกับคุณปรีดา ศิริสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ของFES หรือสถาบันเศรษฐกิจและแรงงานที่เป็นธรรมดูนะครับ หรืออาจจะมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์นะครับ

ข้อควรพิจารณา

            ประการแรก

            คงจำกันได้นะครับ ภายหลังที่ประเทศไทยเจอภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ในปี 2541ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ พากันปรับรูปแบบการจ้างงาน มีการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น การจ้างเหมาค่าแรง การจ้างงานระยะสั้น การส่งงานอุตสาหกรรมให้รับไปทำที่บ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อลดภาระทางกฎหมายในฐานะนายจ้าง อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตที่มีนัยสำคัญ จนก่อให้เกิดกำลังแรงงานในภาคนอกระบบขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ไม่อาจใช้บังคับได้ เนื่องจากแนวคิดทางกฎหมายให้การคุ้มครองแรงงานเฉพาะผู้ที่เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น

โฮมเนทและเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จึงมีการศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และนำเสนอกฎหมายภาคประชาชน นับแต่ปี 2542 จนกระทั่งปี 2553 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการที่รักความเป็นธรรมเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจนี้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเป็นธรรม หรือมีเกียรติมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังที่คาดหวังไว้  ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านอกจากกระบวนการทางวิชาการ การขับเคลื่อนเสนอแนะกฎหมายโดยภาคประชาชนเองที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการที่รักความเป็นธรรมสนับสนุนนั้น เรายังจะต้องทำภาระงานอื่นใดอีกบ้าง เพื่อเป็นการส่งเสริมความเป็นธรรมให้แก่คนทำงานในสถานการณ์ใหม่ เพราะดูเหมือนว่า กว่าเราจะได้กฎหมายใช้เวลานานมาก ได้กฎหมายมาแล้ว ก็ยังเป็นปัญหาการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายอีกและนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ยังสามารถมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานได้อีกหรือไม่ เพราะใช้ว่ากฎหมายจะบันดาลทุกสิ่งอย่างได้ ยังคงต้องร่วมกันขบคิดและขับเคลื่อนในประเด็นนี้กันต่อไปนะครับ

แต่เหตุที่ต้องทำกฎหมายเป็นการเฉพาะก็ด้วยเหตุว่า ความสัมพันธ์ในการจ้างงานของงานที่รับไปทำที่บ้านไม่ชัดเจนตามสัญญาจ้างแรงงาน เพราะแนวคิดทางกฎหมายยึดถือเรื่องการมีอำนาจในการควบคุม บังคับบัญชาและลงโทษ เป็นประเด็นชี้ขาดว่าเป็นนายจ้างกับลูกจ้างหรือไม่ ประกอบกับกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน หรือมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐาน มีสาระที่ไม่สอดรับกับงานที่รับไปทำที่บ้าน

ประเด็นที่ว่า ธุรกิจพยายามหลีกหนีความเป็นนายจ้างลูกจ้าง เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบในสิทธิแรงงาน จึงเป็นกรณีที่มีความชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจอะไร หากบริษัทแพลตฟอร์ม จะสร้างความสัมพันธ์ในการจ้างงานแบบที่มิใช่นายจ้างลูกจ้างขึ้นมา

ประการที่สอง

            จากการสัมมนาในวันดังกล่าว หลายความเห็นเรียกร้องให้บริษัทแอ็พพลิเคชั่น ปฏิบัติต่อคนส่งอาหาร ในฐานะนายจ้าง และดำเนินการให้คนส่งอาหารได้รับสิทธิและสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากพิจารณาจากสภาพและธรรมชาติของงาน ภาระงาน ตลอดจนการควบคุมคนส่งอาหารแล้ว ประกอบกับในหลายประเทศ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการให้งานนี้อยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายแรงงาน

ประเด็นข้อพิจารณาของผมก็คือว่า  หากเราให้ถืองานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์มเป็นสัญญาจ้างแรงงาน คือเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อจะได้เข้าระบบในกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 ฉบับ โดยอ้างว่า บริษัทแพลตฟอร์มมีการควบคุม บังคับบัญชา และใช้แรงงานคนส่งอาหารใกล้เคียงกับความเป็นนายจ้าง ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานได้ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ว่าด้วย มาตรฐานขั้นต่ำทั้งหมด พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ว่าด้วย ความปลอดภัยเนื่องจากการทำงาน พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ว่าด้วยการประกันสังคม และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ในขณะที่งานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม เกิดขึ้นภายใต้สภาพการณ์ใหม่ อาศัยปัจจัยของเทคโนโลยีดิจิตัล เป็นกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อน ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่เดิม มิได้มีพื้นฐานรองรับสถานการณ์การจ้างงานหรือการทำงานแบบใหม่นี้ คิดว่า ถ้าเราเปลี่ยนหลักคิดเป็นว่าคนส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม ก็คือแรงงาน หรือคนทำงาน ซึ่งจะต้องได้รับหลักประกันสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ได้รับการส่งเสริมพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองแรงงาน ด้วยระบบการบริหารจัดการใหม่ที่เหมาะสมสอดคล้อง อาศัยหลักนิเวศน์ทางธุรกิจที่บริษัทแพลตฟอร์มนำมาใช้มาส่งเสริมพัฒนาแรงงานกลุ่มนี้ให้เติบโตเป็นธรรมไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งหากพิจารณาหลักการงานที่มีคุณค่าขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยหลักการสี่เสาหลัก ก็น่าจะสอดคล้องกับการจ้างงานแบบใหม่ นอกจากนี้ โครงสร้างและกลไกของกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องนิเวศน์ทางธุรกิจเลยครับ ไม่ตอบแม้กระทั่งการบูรณาการในการบังคับใช้กฎหมายครับ

มีการพูดกันว่า ควรหยิบงานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์มฟ้องศาลแรงงานเป็นคดีตัวอย่างดีไหม ที่สัมมนายังมิได้คุยในประเด็นนี้กันมากนัก แต่ผมขอให้ข้อสังเกตไว้เบื้องต้นว่า หากการฟ้องคดีทำให้คนส่งอาหารชนะและศาลวินิจฉัยว่าบริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้าง คนส่งอาหารเป็นลูกจ้าง บริษัทฯก็ยังมีอำนาจและศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบและความสัมพันธ์ในการทำงานเสียใหม่ ให้พ้นจากความสัมพันธ์แบบนายจ้างกับลูกจ้างได้ ซึ่งก็จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาในอนาคตและไม่มีความยั่งยืน ในที่สุดเราก็ต้องกลับมาช่วยคิดและค้นหาแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองคนทำงานในสถานการณ์ใหม่อยู่ดี ว่าในมิติกฎหมายและมิติอื่น ๆ ควรจะมีแนวทางกันอย่างไรดี น่าจะเหมาะสม คุ้มประโยชน์ สอดคล้องและยั่งยืนกว่าครับ

ประการที่สาม

            มีการถกเถียงกันว่า งานส่งอาหารในระบบแพลตฟอร์ม คล้ายกับลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทแพลตฟอร์ม เห็นว่า หากพิจารณาหลักการความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันนั้น จะต้องได้ความว่า มีการลงทุนลงแรงหรือลงปัจจัยการผลิตร่วมกัน อาจเป็นเงิน หรือทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ และประสงค์แบ่งปันผลกำไรกันและกัน ที่สำคัญคือ ต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน มิใช่เอาแต่สุขหรือกำไร ส่วนทุกข์และหนี้สินไม่รับรู้ ซึ่งหากพิจารณาข้อเท็จจริง คงเห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะเข้าข่ายความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ

ในแง่ของแนวคิด เห็นว่าน่าสนใจศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามเกิดขึ้นในวงประชุมสัมมนาว่า คนส่งอาหารไม่คิดจะดำเนินงานในลักษณะผู้ประกอบการ หรือกลุ่มอาชีพแพลตฟอร์มส่งอาหารบ้างหรือ ในส่วนนี้ยังถกเถียงกันไม่มาก คงต้องฝากประเด็นไปคิดไตร่ตรองดูนะครับ

            ประการที่สี่

            ในประเด็นความเป็นอิสระที่ธุรกิจแพลตฟอร์ม นำมากล่าวอ้างและโฆษณานั้น ในงานวิจัยก็ระบุไว้ชัดเจนว่า น่าจะหมายถึงฝั่งบริษัท แพลตฟอร์มมากกว่า มิใช่คนส่งอาหาร เนื่องจากบริษัทมีอิสระอย่างเต็มที่ในการกำหนดราคา ทั้งค่าบริการและค่าตอบแทนของคนส่งอาหาร และยังสามารถผลักหรือส่งต่อให้คนส่งอาหารเป็นผู้แบกภาระในต้นทุนยานพาหนะ เชื้อเพลิงในการขนส่ง การซ่อมบำรุง ค่าเสื่อมราคา แม้กระทั่งการประกันอุบัติเหตุของคนส่งอาหาร

อิสระที่เข้าใจกัน น่าจะหมายถึงอิสระตรงที่ไม่มีหัวหน้างาน หรือการบังคับบัญชาแบบเดิม ๆ มาจ้ำจี้จ้ำไช ดุด่ารบกวนใจทั้งวันตลอดเวลาการทำงาน หากทำผิดแม้เพียงเล็กน้อย ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างก็ลงโทษทางวินัยโดยออกใบเตือน และกฎหมายแรงงานระบุว่า หากลูกจ้างกระทำผิดซ้ำ(ในเรื่องที่ถูกใบเตือนแล้ว) นายจ้างย่อมเลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว ไม่มีสิทธิในค่าเสียหายใดจากการเลิกจ้างนั้น

แต่เมื่อดูในภาพรวม ก็มีกฎระเบียบต่าง ๆ เต็มไปหมด กฎการรับส่งอาหาร กฎการขับรถ กฎการปฏิบัติต่อลูกค้าและร้านอาหาร กระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติภายใต้แอ็พพลิเคชั่น แล้วก็ต้องเร่ง     ส่งงานให้ได้มากชิ้นที่สุด เพื่อค่าตอบแทนที่คาดหวังไว้ เหมือนกับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง  ที่แข่งกันรับส่งผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนขับรถเอง และความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนของทุกคน

            ประการที่ห้า(สุดท้าย)

            ตลอดเวลาที่ผมได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ เห็นความตั้งใจของทีมงานวิจัยที่พยายามจะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างความเป็นธรรมในประเด็นนี้ เห็นองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรแรงงานที่ห่วงใยและปรารถนาให้เพื่อนคนทำงานด้วยกันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆโดยเสมอภาคเท่าเทียม

ประเด็นหนึ่งที่ถูกย้ำหลายครั้งคือ คนส่งอาหารจะต้องรวมตัวกัน จะต้องสื่อสารถึงกัน ต้องช่วยเหลือกัน และจะต้องประสานกับเครือข่ายอาชีพอื่นๆ ที่สำคัญในงานนี้มีตัวแทนของคนส่งอาหารเข้ามาร่วมเล่าเรื่อง ให้ข้อมูลข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เช่น แทบจะหาเวลาพบกัน คุยกันยังไม่ค่อยจะได้เลย และรูปแบบการรวมตัวจะเป็นแบบไหน จะมีขั้นตอนที่เหมาะสมอย่างไร จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็พอจะเห็นทางว่า ตัวแทนของแต่ละส่วน คงต้องมาจับเข่าคุยกันอีก ข้อมูลเชิงลึกก็อาจจะต้องรวบรวมเพิ่มเติม ต้องศึกษาทั้งปัจจุบันและดูแนวโน้มด้วย ข้อค้นพบและประโยชน์ต่างๆ จากงานวิจัยและการสัมมนา ก็คงต้องนำไปเผยแพร่ ขยายผล หรือทำให้เป็นการขับเคลื่อน

โดยสรุป เกิดคณะหรือตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะมาประสานงานกัน คุยกัน และวางแผนงานร่วมกัน เพื่อต่อยอดและทำให้เกิดดอกออกผลยิ่งๆขึ้นไป นับเป็นงานวิจัยและงานสัมมนาที่มีคุณค่ายิ่ง รอชื่นชมความสำเร็จและดอกผลร่วมกันนะครับ ท่านใดมีความรู้ ประสบการณ์ หรือมีเครือข่ายในประเด็นนี้สามารถประสานกับองค์กรที่กล่าวถึงในตอนแรกได้เลยครับ สวัสดีครับ/

@@@@@@@@@