คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (21) ข้อย้ำเตือนเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานและความเป็นธรรม

ข้อย้ำเตือนเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานและความเป็นธรรม

                                                                                                                      ชฤทธิ์ มีสิทธิ์

            ท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามข่าวคราวและสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ก็คงเห็นแล้วนะครับว่า พายุการจ้างงานกำลังก่อตัว สงครามการค้าของนายทุนยักษ์ใหญ่ได้พัฒนารูปแบบและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกที ในขณะที่ปัญหาการจ้างงานในประเทศก็ออกอาการให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

นับตั้งแต่กิจการยานยนต์ที่มีแนวโน้มลดกำลังการผลิตลงเป็นจำนวนมาก และได้กำหนดแผนที่จะลดกำลังแรงงานลง ซึ่งก็คือการเลิกจ้าง แม้ไม่ถึงกับเลิกจ้างโดยกระทันหัน แต่ระยะเวลาเพียง 1 ถึง 2 ปี แรงงานจะเตรียมการรองรับหรือจัดขบวนได้ทันหรือ??? ในส่วนกระทรวงแรงงานได้เตรียมการเรื่องนี้แล้วหรือไม่ อย่างไร

มีหลายบริษัทหรือหลายสถานประกอบการมีการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ ก็ปรากฏเป็นข่าวว่าบริษัทที่ประกอบการผลิตเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้กับรถยนต์ ได้ประกาศปิดกิจการอ้างเหตุว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คำสั่งซื้อลดลงมาก และไม่มีหลักประกันในอนาคต (จริงหรือไม่ ประการใด คงต้องตรวจสอบกันดูนะครับ)  มีแรงงานถูกเลิกจ้างประมาณ 400 คนเศษ แต่ยังดีที่นายจ้างยังมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

คำถามกลับไปก็คือว่า ที่ประกอบการมาเป็นสิบๆปี กิจการเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด พอประสบปัญหาในปัจจุบัน จึงตัดสินใจปิดกิจการแล้วจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิขั้นต่ำนั้นเป็นธรรมแล้วหรือ???  มันยังมีความรับผิดชอบของธุรกิจที่มากกว่าขั้นต่ำ ที่ประกาศในรูปของจรรยาบรรณ ซีเอสอาร์ รวมทั้งหลักการความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ดังที่ได้โฆษณามาโดยตลอดนั้น สถานประกอบการหรือนายจ้างได้แสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมเพียงพอแล้วหรือยัง

อีกกรณีหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าว เพราะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของบุคลากรทางการศึกษา หรือที่เรียกกันว่าครูอัตราจ้าง เดิมทีเป็นลูกจ้างภาครัฐ ทำสัญญาจ้างคราวละปี และมีการต่ออายุสัญญาจ้างมาเรื่อย ๆ นับสิบสิบปีแล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้าง ให้เป็นจ้างเหมาบริการ ซึ่งมิใช่ลูกจ้างแล้ว       การจ้างเหมาบริการเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของ ดังนั้น ที่มีบางองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้และเรียกบุคคลดังกล่าวว่า “ลูกจ้างเหมาบริการ” นั้น ไม่ถูกต้องนะครับ เขาไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างเลยครับ(คำว่าลูกจ้างเหมาบริการจึงไม่มีอยู่จริงครับ) สถานะของเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้รับจ้างทำงานอิสระครับ แบบจ็อบ โครงการ หรืองานอิสระนะครับ หลุดออกจากระบบมาตรฐานด้านแรงงานทั้งหมด มีช่องทางเดียวที่พอจะไปพลอยอาศัยได้บ้าง คือ ประกันสังคมมาตรา 40 เพราะมาตรานี้ใช้กับบุคคลที่ไม่มีนายจ้าง

กลุ่มจ้างเหมาบริการในภาครัฐ มันมีทั้งจ้างเหมาบริการแท้ คือเป็นจริงตามสภาพของงาน กับจ้างเหมาบริการเทียม คือเป็นการจ้างแบบแอบแฝง ซ่อนเร้น บิดเบือน อำพราง ไม่จริงไม่แท้ ซึ่งนับเป็นปัญหาอันใหญ่หลวง มีคนทำงาน   ที่ตกอยู่ในสภาพนี้หลายแสนคน หรือร่วมล้านคน

เหล่านี้ ยังไม่รวมสถานการณ์ปัญหาในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติยืนยันข้อมูลว่า ยังมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในหลายเรื่อง      เมื่อการใช้สิทธิทางกฎหมาย เป็นภาระแก่แรงงานและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือมาก  เนื่องจากนายจ้างมักจะว่าจ้างทนายความเข้ามาต่อสู้คดี กว่าที่แรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย ก็กินเวลายาวนาน และต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงหลายประการ การดำเนินคดีตามกฎหมายยังไม่ใช่ทางออกที่เหมาสมและเป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ  ปรากฏว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยการช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชน เลือกใช้การร้องเรียนเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางการค้า หรือการสื่อสารข้อมูลทางสื่อ ปรากฏว่า มีการแก้ไขปัญหาดีกว่าการใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม

สภาพปัญหาที่กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราควรต้องยอมรับความจริงว่า ภาพรวมด้านสิทธิแรงงาน เรายังบกพร่องอยู่หลายด้าน หลายเรื่องจริง  ดังนั้นกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีแก่ไทยที่ส่งสินค้าไปขายยังอเมริกา ไม่ว่าเหตุผลแท้จริงของอเมริกาจะเป็นอย่างไร แต่ประเด็นหนึ่งที่อเมริกาอ้างเพื่อตัดสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าวก็คือ ประเทศไทยบกพร่องหรือไม่ได้มาตรฐานด้านสิทธิแรงงาน หากไม่มีมูลอเมริกาจะอ้างเป็นเหตุได้อย่างไรครับ  ยอมรับความจริงและร่วมกันแก้ไขดีที่สุดครับ มีทางออกทางแก้ตั้งเยอะแยะครับ ไม่อิงกับมาตรฐานแรงงานสากลคงไม่ได้ แต่สามารถปรับประยุกต์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาวการณ์ของประเทศไทยได้ ค่อยเป็นค่อยไปแต่อยู่บนหลักการและความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนาสิทธิแรงงาน แต่ท่าทีของกระทรวงแรงงานและผู้นำแรงงานบางส่วนที่แสดงออกในเรื่องนี้ ยังมีจุดให้โต้แย้งได้มากมายครับ อีกทั้งไม่ส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในทางสากลงดงามหรือเป็นที่ยอมรับครับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์ปัญหาด้านแรงงานหรือการจ้างงานจะส่อเค้ารุนแรงเพียงใด แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้เตรียมการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด ในส่วนแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ ก็ปรากฏการเคลื่อนไหวเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มแรงงานยานยนต์  แต่ยังไม่เห็นมุมมอง แผนงาน หรือแนวทางของขบวนการแรงงาน หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องแผนงานหรือการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ก็คงค่อยว่ากันไปนะครับ ในส่วนนี้ผู้เขียนขอทำหน้าที่ให้ข้อคิดเรื่องความเป็นธรรม  ให้หลักกฎหมาย และแนวปฏิบัติเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานก่อนนะครับ อย่างน้อยก็พอจะช่วยลดความเสี่ยงของแรงงานหรือคนทำงานลงไปได้บ้าง

ประเด็นแรก

            ตรวจสอบข้อมูลก่อนเลยว่า ในประเด็นที่นายจ้างกระทำต่อแรงงาน เช่น การย้ายสถานประกอบการ การยุบแผนก การลดกำลังผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้แทนอันเก่าและเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้าง หรือการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (ปัญหาสภาพคล่อง คำสั่งซื้อลดลง ย้ายฐานการผลิต ภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เป็นต้น) มีกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือประกาศ หรือในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือในจรรยาบรรณทางการค้า ไว้หรือไม่ อย่างไร มีสาระสำคัญอะไรบ้าง

ถ้าหากมี ก็นำมาศึกษาวิเคราะห์และประเมินดูว่า เราสามารถใช้ช่องทางใดได้บ้าง เพื่อความเป็นธรรม และประโยชน์สูงสุดของคนทำงาน

ประเด็นที่สอง

            ควรศึกษาว่าประเด็นหรือการกระทำของนายจ้างดังกล่าว เข้าข่ายกฎหมายฉบับใดบ้าง มาตราใดบ้าง เพราะต้องไม่ลืมว่า การกระทำหนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ อาจมีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฉบับ และโดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านแรงงาน ท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามีกฎหมายด้านแรงงานเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น การเลิกจ้างในส่วนแรงงานภาคเอกชน  คาบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย สัญญาจ้างแรงงาน

ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษาข้อกฎหมายนั้นจำเป็นต้องปรึกษาผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ปัจจุบันนี้ มีผู้นำแรงงานที่ใส่ใจศึกษาประเด็นข้อกฎหมาย จนมีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่างว่าแหละครับ บางเรื่องบางปัญหามันมีความซับซ้อน หากมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านแรงงานให้คำแนะนำปรึกษาด้วยจะเป็นการดีมากครับ

ประเด็นที่สาม

            นอกจากศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าวตามประเด็นที่ 2 แล้ว จำเป็นต้องศึกษามาตรการหรือกลไกต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมด้วย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา หรือกลไกการร้องเรียนความเป็นธรรมต่อฝ่ายบริหาร เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งกลไกจรรยาบรรณทางการค้า กลไกที่รับเรื่องร้องเรียนตามหลักการธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคมหรือสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ภายใต้อายุความ หรือระยะเวลาที่จะต้องใช้สิทธิร้องทุกข์ตามกฎหมาย  แรงงานหรือคนทำงานอาจใช้สิทธิในกลไกตามประเด็นที่ 3 นี้เสียก่อน เพราะหากเราไปใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรมและเมื่อใดเรื่องไปถึงศาล หากประเด็นร้องเรียนกับประเด็นในศาลเป็นเรื่องเดียวกัน เราก็จะไม่มีสิทธิร้องเรียนตามกลไกในประเด็นที่ 3 นี้ครับ

ประเด็นที่สี่

            กรณีการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (คำสั่งซื้อ สภาพคล่อง ขาดทุน ปรับโครงสร้างองค์กร ฯ) หากเป็นจริงและถึงขนาดต้องเลิกจ้าง หากไม่เลิกจ้างธุรกิจอาจประสบปัญหาถึงขั้นต้องเลิกกิจการหรือเสียหายมาก หากเป็นอย่างนี้แปลว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุผลสมควร เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิอื่นๆที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามสัญญาจ้าง ตามระเบียบ หรือข้อตกลง หรือตามกฎหมาย

ข้อย้ำเตือนและพึงระวัง ข้อที่ 1

หากเราไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและสมบูรณ์ตามเหตุผลที่อ้างในการเลิกจ้าง เราก็ต้องไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆของนายจ้างที่ไปยอมรับว่า”เป็นจริงตามหนังสือเลิกจ้าง” เพราะถ้าไปยอมรับดังกล่าว ต่อมามีข้อมูลว่าเหตุผลที่นายจ้างอ้างไม่จริง เราก็ไม่อาจอ้างในการฟ้องคดีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้

            ข้อย้ำเตือนและพึงระวัง ข้อที่ 2

            ในการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว นอกจากค่าชดเชย และค่าต่าง ๆ ตามกฎหมายแล้ว ธุรกิจบางส่วนมักจะยอมจ่ายเงินพิเศษนอกเหนือจากสิทธิตามกฎหมาย ให้คนละ 1 ถึง 2 เดือน แต่ในคำสั่งหรือหนังสือเลิกจ้าง หรือหลักฐานการรับเงิน หรือใบอะไรก็แล้วแต่ที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อ มักจะมีข้อความว่า “ลูกจ้างยอมรับเหตุผลในการเลิกจ้างทุกประการ” และ “ลูกจ้างจะไม่ฟ้องร้องหรือดำเนินคดีใดๆกับนายจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน หรือเกี่ยวกับการเลิกจ้างนี้

ความหมายดังกล่าวนี้ แม้ลูกจ้างจะลงชื่อและเขียนข้อความว่ารับทราบในเอกสารดังกล่าว ผู้พิพากษาในศาลแรงงานบางส่วนก็เห็นและวินิจฉัยว่า มีความหมายหรือเจตนาในการประนีประนอมยอมความตามกฎหมายแล้ว ลูกจ้างไม่มีสิทธิมาฟ้องคดีเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกต่อไป บางรายถึงขั้นให้ลูกจ้างถอนฟ้องไปเลย

ท่านให้เหตุผลตรงๆเลยว่า “ก็อย่าเซ็นชื่อ” หรือ “ไม่ก็ให้ขีดข้อความที่ว่านั้นออกเสีย” เพราะเงินใดก็ตามที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายกรณีเลิกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายอาจต้องรับโทษทางอาญา หรือต้องชำระเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน กรณีจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถ้าเซ็นไปต้องถือว่าสละสิทธิการฟ้องร้อง เนื่องจากเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่นายจ้างลูกจ้างสามารถตกลงสละสิทธิเรียกร้องกันได้ ไม่ขัดกฎหมาย ไม่ขัดความสงบ ไม่เหมือนกับการสละสิทธิไม่ฟ้องร้องสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายครับ จำไว้นะครับ อย่าเห็นแก่เงินเดือนหรือ 2 เดือน เว้นแต่เหตุผลที่นายจ้างเป็นความจริงและถึงขนาดต้องเลิกจ้าง อย่างนั้นก็ควรแล้ว

ประเด็นที่ 5

            เดี๋ยวนี้ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายธุรกิจ หลายบริษัท มักนำเอาเรื่องจรรยาบรรณทางการค้า หรือนโยบายองค์กร รวมทั้งหลักธรรมาภิบาล ไปเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน พูดง่าย ๆว่า จรรยาบรรณหรือเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานด้วย หากมีการทำผิดหรือฝ่าฝืนจรรยาบรรณดังกล่าว ถือว่าผิดสัญญาจ้าง ผิดระเบียบ  ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะต้องถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกเลิกจ้างได้ ในทางกลับกัน หากนายจ้างหรือฝ่ายบริหารของนายจ้างละเมิดจรรยาบรรณ หลักธรรมาภิบาล หรือนโยบายองค์กร ก็ถือว่านายจ้างทำผิดสัญญาจ้าง หรือละเมิดเป็นเหตุให้ลูกจ้างมีสิทธิดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงานได้ตามประเด็นที่มีการโต้แย้งกันทางกฎหมายครับ เช่น ผู้จัดการโรงงาน หรือกรรมการผู้จัดการ ที่บริหารจัดการโดยฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณของธุรกิจ หรือสั่งเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณ บุคคลดังกล่าวย่อมอาจถูกลูกจ้างฟ้องให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นส่วนตัว (ไม่เกี่ยวกับบริษัท) กรณีที่ทำผิดดังกล่าวได้  ถือว่าใช้อำนาจบริหารในทางการที่จ้างแต่ไปละเมิดสิทธิของลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างเสียหาย โดยมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ครับ

สิทธิแรงงาน สิทธิตามกฎหมาย และความเป็นธรรมของแรงงาน หากแรงงานในระดับปัจเจก ระดับบุคคลเอง ไม่ใส่ใจ ไม่รักไม่หวงแหน และไม่ไขว่คว้าเอามาคุ้มครองและรับใช้ชีวิตของแรงงานอย่างจริงจังแล้ว  ก็อย่าหวังว่า ความเป็นธรรมทางด้านแรงงานในภาพรวมหรือในระดับสังคม จะได้รับการดูแลใส่ใจ ฝากให้คิดอย่างจริงจังอีกสักครั้งนะครับ/.

@@@@@@@@@