เครือข่ายผู้หญิง 4 ภาค ร้อง“บิ๊กตู่” ถอนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวฯออกไป

ร้อง “บิ๊กตู่” ถอนร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัวฯฉบับใหม่ ชี้ส่งผลในการคุ้มครองความปลอดภัย เสี่ยงรุนแรงซ้ำซ้อน เหตุตัดกลไกอำนาจตำรวจคุ้มครองผู้เสียหาย แต่กลับเน้นไกล่เกลี่ยประณีประนอม ส่อขัดรัฐธรรมนูญม.128 เหตุไร้เงาองค์กรเด็ก สตรี เครือข่ายครอบครัว ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 7 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะทำงานเครือข่ายคัดค้านร่างพรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. … ซึ่งประกอบด้วย  มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิชุมชนไทย มูลนิธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ชมรมแม่หญิงจังหวัดบุรีรัมย์ และเครือข่ายสตรี 4 ภาค เดินทางมายื่นจดหมาย ข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ….. ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
น.ส.ธนวดี ท่าจีน กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้จะมีการคัดค้านประท้วงร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวจากภาคีเครือข่ายครอบครัว เด็ก และสตรี ตั้งแต่ปี 2558 แล้วก็ตาม จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี โปรดส่งข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาถอนร่าง พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. …  ด้วยเหตุผลที่ร่าง พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ…..นี้ จะมีผลยกเลิก พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครอง สวัสดิภาพความปลอดภัยของเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการในครอบครัว และมีปัญหาในการปฏิบัติงาน
เธอระบุว่า เนื่องด้วยเหตุที่ร่าง กม.ใหม่นี้ มีบทบัญญัติ ยกเลิก กฎหมายปัจจุบันคือ พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วนความรุนแรงในครอบครัว ที่ตราขึ้นเพื่อบัญญัติให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญาที่รัฐต้องยื่นมือเข้าแทรกแซง  เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นสำคัญ และบำบัดฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำ  ซึ่งตราขึ้นและบังคับใช้มานานถึง 11 ปีแล้ว แต่ปรากฎว่า  ร่าง พรบ. …สถาบันครอบครัว ไม่เน้นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ  แต่เน้นคุ้มครองสถาบันครอบครัว ซึ่งข้อเท็จจริงของการเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดได้ในหลากหลายสถานะและความสัมพันธ์ ไม่จำกัดเฉพาะ พ่อ แม่ ลูก
เธอระบุด้วยว่า  ร่าง พรบ.ฯ ลดทอนบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมของ จนท. ตำรวจและอัยการ  แต่ไปเน้นและเพิ่มบทบาทของ พมจ. และพนักงานเจ้าหน้าที่ๆ รมว. พม. แต่งตั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่ใช้มานาน 11 ปี ควรต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งร่าง พรบ. ให้อำนาจการไกล่เกลี่ยและการกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ พมจ. และอธิบดี สค. พม. ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของศาล เป็นการเขียนกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเหนือพลเมือง  ควรจะได้มีการทบทวนอย่างรอบคอบ
“นิยาม “ความรุนแรงในครอบครัว” เปลี่ยนไป โดยร่าง พรบ. เน้นว่า “ผู้กระทำความรุนแรง” ต้องเป็น“บุคคลในครอบครัว” ขณะที่ กม. ปัจจุบัน เน้น “ผู้ถูกกระทำเป็น “บุคคลในครอบครัว”  และ ร่าง พรบ. ระบุว่าการกระทำความรุนแรงว่าต้อง  “โดยเจตนา” ขณะที่ กม.ปัจจุบันระบุ “โดยมุ่งประสงค์”  ดังนั้นร่าง พรบ. จะมีปัญหา/ภาระในการพิสูจน์ความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่า “มีเจตนา” ก็ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้  รวมทั้งนิยาม “บุคคลในครอบครัว”  ร่าง พรบ. ตัดคำว่า “สมาชิกในครอบครัว” ที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบันออกไป คำว่า “สมาชิกในครอบครัว” (family members) เป็นคำสากลที่มีปรากฏอยู่ใน  กม.ว่าด้วย domestic violence ในประเทศต่างๆ ซึ่งครอบครัวทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ญาติสืบสายโลหิต หรือ ลุงป้าน้าอา เพื่อน คนทำงานบ้าน ก็เข้าข่ายเป็น “สมาชิกในครอบครัว” ทั้งหมด” น.ส.ธนวดี ระบุ
เธอกล่าวด้วยว่า ร่าง พรบ.ฯ ได้กำหนดให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว มีอำนาจคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่เด็กกระทำผิดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็ก และให้อำนาจคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เป็นผู้เสียหาย โดยทั้งสองกรณีไม่มีรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรและเกิดความซ้ำซ้อนกับเขตอำนาจของศาลเยาวชนฯในคดีอาญา รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พรบ.ฯ นี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 ดังนี้ “โดยในข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่ามีสาระสําคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ หรือทุพพลภาพ ต้องกําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรงร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด และในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ ต้องกําหนดให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเข้าชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด” 
“ต้องกําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด”  โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏมีผู้แทนขององค์กรเด็ก สตรี เครือข่ายครอบครัว ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ
“นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า ไม่มี Domestic Violence Act ของประเทศไหนที่บรรจุประเด็นการพัฒนาครอบครัวไว้ในกฎหมาย เพราะการพัฒนาครอบครัวเป็นมาตรการทางการบริหารทางสังคมและทางการศึกษาไม่ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายแต่อย่างใด” น.ส.ธนวดี กล่าว

โดยข้อเสนอของเครือข่ายมี ดังนี้

  1.  เพราะร่างนี้ มีบทบัญญัติ ยกเลิก กฎหมายปัจจุบันคือ พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วนความรุนแรงในครอบครัว ที่ตราขึ้นเพื่อบัญญัติให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญาที่รัฐต้องยื่นมือเข้าแทรกแซง เพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นสำคัญ และบำบัดฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำ  ซึ่งตราขึ้นและบังคับใช้มานานถึง 11 ปีแล้ว
  2.  ร่าง พรบ. …สถาบันครอบครัว ไม่เน้นกาคุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่เน้นคุ้มครองสถาบันครอบครัว ซึ่งข้อเท็จจริงของการเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดได้ในหลากหลายสถานะและความสัมพันธ์ ไม่จำกัดเฉพาะ พ่อ แม่ ลูก
  3.  ร่าง พรบ.ฯ ลดทอนบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมของ จนท. ตำรวจและอัยการ แต่ไปเน้นและเพิ่มบทบาทของ พมจ. และพนักงานเจ้าหน้าที่ๆ รมว. พม. แต่งตั้ง ซึ่งเป็นการเปลั่ยนแปลงกลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่ใช้มานาน 11 ปี ควรต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
  4.  ร่าง พรบ. ให้อำนาจการไกล่เกลี่ยและการกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ พมจ. และอธิบดี สค. พม. ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของศาล เป็นการเขียนกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเหนือพลเมือง ควรจะได้มีการทบทวนอย่างรอบคอบ

  1.  ร่าง พรบ.ฯ เปลี่ยนแปลงนิยาม “ครอบครัว” แตกต่างไปจากความหมายที่เป็นสากล “ที่ครอบคลุมบุคคลทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ภายใต้หลัฝคาเดียวกัน” เป็นเพียงครอบครัวสามี-ภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (คู่สมรส) และบุตรเท่านั้น
  2. นิยาม “ความรุนแรงในครอบครัว” เปลี่ยนไป โดยร่าง พรบ. เน้นว่า “ผู้กระทำความรุนแรง” ต้องเป็น ”บุคคลในครอบครัว” ขณะที่ กม. ปัจจุบัน เน้น “ผู้ถูกกระทำเป็น “บุคคลในครอบครัว”  และ ร่าง พรบ. ระบุว่าการกระทำความรุนแรงว่าต้อง “โดยเจตนา” ขณะที่ กม.ปัจจุบันระบุ “โดยมุ่งประสงค์”  ดังนั้นร่าง พรบ. จะมีปัญหา/ภาระในการพิสูจน์ความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่า “มีเจตนา” ก็ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้
  3.  นิยาม “บุคคลในครอบครัว”  ร่าง พรบ. ตัดคำว่า “สมาชิกในครอบครัว” ที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบันออกไป คำว่า “สมาชิกในครอบครัว” (family members) เป็นคำสากลที่มีปรากฏอยู่ใน กม.ว่าด้วย domestic violence ในประเทศต่างๆ ซึ่งครอบครัวทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ญาติสืบสายโลหิต หรือ ลุงป้าน้าอา เพื่อน คนทำงานบ้าน ก็เข้าข่ายเป็น “สมาชิกในครอบครัว” ทั้งหมด
  4.  ร่าง พรบ. กำหนดเรื่อง “เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์กระทำความรุนแรงในครอบครัว” ไว้ในขณะที่ได้ยกเลิกการกระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่เป็นความผิดอาญา แต่ ร่าง พรบ. กลับกำหนดว่าให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้ต้องถูกการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ย้อนแย้งกันเอง
  5.   ร่าง พรบ. บัญญัติให้(1) การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดตามมาตรา 295 มาตรา 379 มาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 397 และมาตรา 398 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ ในขณะที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้แค่การกระทำความรุนแรงโดยบุคคลในครอบครัวที่กระทำต่อบุคคลในครอบครัวที่สามารถยอมความได้ เป็นการขยายความผิดอาญาที่ยอมความได้มากเกินไป
  6. ร่าง พรบ. บัญญัติข้อยกเว้นในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลในครอบครัว ได้ในกรณีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลผู้นั้น เป็นการเพิ่มข้อยกเว้น ในขณะที่กฎหมายปัจจุบันเห็นว่าไม่เปิดข้อยกเว้นไว้ โดยมีเจตนาที่จะห้ามเปิดเผยข้อมูลอย่างเด็ดขาด

เหตุผลข้อ 11 (เพิ่ม 1 ข้อ) คือ การแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาวาระ 2 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 การพิจารณาของ กมธ.วิสามัญคณะนี้ต้อง “กําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด”  เมื่อไม่กำหนดไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือเป็นโมฆะ

รธน. “มาตรา 128 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอํานาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอํานาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ และกิจการอื่นเพื่อดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ในข้อบังคับตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่ามีสาระสําคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการหรือทุพพลภาพ ต้องกําหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทํางานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด และในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ ต้องกําหนดให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด”

///////////////////////////////////////////////