สร.รฟท.ยื่นถึง รมต.ศักดิสยาม ชิดชอบ ขอให้ต่อสู้คดีกรณีค่าเสียหายจากโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย – กระทรวงคมนาคม กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด เสนอ 3 ข้อแก้ปัญหา
วันที่ 12 กันยายน 2562 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขอให้ต่อสู้คดีกรณีค่าเสียหายจากโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย – กระทรวงคมนาคม กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด จนถึงที่สุด
โดยหนังสืออ้างถึง 1.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดง อ.221 – 223 / 2562 21 มีนาคม 2562
2.คำสั่งศาลปกครองกลางไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีโฮปเวลล์ 23 สิงหาคม 2562
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร อนุญาโตตุลาการ ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งต่อมากระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมได้มีคำร้องยื่นต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลพิจารณาคดีโครงการดังกล่าวใหม่ โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไปซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยศาลมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท .โต้แย้งประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
การเลิกกันของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ผู้ร้อง และ บริษัท โฮปเวลล์ จำกัด (ประเทศไทย) มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดี และผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯในฐานะผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานที่จะนำเสนอต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นพยานหลักฐานใหม่อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ คำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ประกอบวรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) กล่าวว่า ในประเด็นดังที่กล่าวมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)เคารพในคำพิพากษาของศาลปกครองและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และ ขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทยที่พยายามต่อสู้คดีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม สร.รฟท.เห็นว่ามีข้อเท็จจริงบางประการที่ยังมิได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลในการให้ศาลปกครองพิจารณาคดีดังกล่าวใหม่ ดังปรากฏในแถลงการณ์ของ สร.รฟท.ที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา และในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมปัจจุบัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สั่งการ(ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว)ให้หาแนวทางต่อสู้คดีใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้นเพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน และการรถไฟฯสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)จึงขอให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯหยิบยกประเด็นที่จะต่อสู้คดีใหม่ดังนี้
1.โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครซึ่งดำเนินโครงการโดยบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด มีอายุสัมปทาน 30 ปี ระยะการก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2535 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 แต่โครงการต้องมีความคืบหน้าเพียง 13.77 %หลังดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลา 7 ปี ขณะที่แผนงานกำหนดว่าจะต้องมีความคืบหน้า 89.75 % ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารดำเนินการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 ซึ่งโครงการหากดำเนินการจนแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการขนส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯอย่างมากและจะเป็นการช่วยลดปริมาณความหนาแน่นของระบบจราจรและยานพาหนะขนส่งลงเป็นอย่างมาก ฉะนั้นความเสียหายที่การรถไฟฯและประเทศชาติ ประชาชนต้องสูญเสียประโยชน์ไปนั้นมีมูลค่าเท่าใด ควรที่จะหยิบยกมาเป็นประเด็นในการต่อสู้คดีใหม่
2.โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครซึ่งดำเนินโครงการโดยบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทจะจัดหาเงินมาลงทุนเองโดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงินในเวลานั้น(ปี พ.ศ. 2534)ประมาณ 80,000ล้านบาทโดยการก่อสร้างมีระยะทางทั้งสิ้น ประมาณ 60 กิโลเมตร
โดยโฮปเวลล์จะได้รับสิทธิสร้างถนนยกระดับ เรียกเก็บค่าผ่านทาง คู่ขนานกับทางรถไฟยกระดับ และได้รับสัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับด้วย และสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์สองข้างทาง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ดังที่กล่าวมาโครงการดังกล่าวมีอายุสัมปทาน 30 ปีระยะเวลาสัมปทานที่กำหนดไว้ในสัญญาประกอบกับโครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จและเกิดข้อพิพาทกันเสมอมาในกรณีที่การรถไฟจะเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินสองข้างทางซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุแห่งข้อพิพาทของสัญญา ในประเด็นนี้ การรถไฟฯ กระทรวงคมนาคมต้องคำนวณมูลค่าความเสียหายจากการสูญเสียโอกาสว่าเป็นมูลค่าเท่าใดเพื่อยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการต่อสู้คดีเพื่อเป็นเหตุผลให้ศาลพิจารณาใหม่
3.นอกเหนือจากการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาคดีใหม่บนเหตุผล ข้อเท็จจริงใหม่ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากมีช่องทางในการดำเนินการทางคดีในศาลยุติธรรมทั่วไปก็ขอให้การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมดำเนินการจนถึงที่สุดทุกช่องทาง
ภายใต้เจตจำนงของรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน จึงต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนายศักดิ์สยาม ชิดชอบได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จะหาช่องทางในการต่อสู้คดีทุกช่องทางจนถึงที่สุดจึงถือเป็นเรื่องที่ดี น่าชื่นชม สร.รฟท.จึงขอให้กำลังใจรวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและสนับสนุนในการต่อสู้คดีทุกช่องทางให้ถึงที่สุด ในส่วนของ สร.รฟท.ก็จะดำเนินการอีกทางหนึ่งคู่ขนานกันไปเป้าหมายร่วมกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป