รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง -นักวิชาการ จับมือหาทางแก้ปัญหาสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ

รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง -นักวิชาการ จับมือหาทางแก้ปัญหาสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ – กระทรวงแรงงาน ขานรับให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 เริ่มแก้ปัญหาแรงงานประมง เตียมปรับกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562 ที่ห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะ ของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้รับการคุ้มครอง ร่วมกับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นข้าราชการแรงงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำแรงงานทั้งผู้นำแรงงานนอกระบบ ผู้นำแรงงานในระบบ คนทำงานกับแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ นักกฎหมาย นายจ้าง และสื่อมวลชน โดยมีการประชุมเมื่อ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงพันธ์ ตันตระกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รายงานโดยสรุปได้ดังนี้ ว่า โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองคนทำงานในประเทศไทย เช่น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ.2554 และอื่นๆ

8 ประเภทแรงงานที่มีการจ้างงานในประเทศไทย คือ นักศึกษาฝึกงาน แบบระบบทวิภาคี แรงงานที่เป็นประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่นคนพิการ ผู้สูงอายุ พนักงานของรัฐ ตามกฎหมายกำหนดโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ แรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานภาคเกษตร แรงงานภาคบริการ แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีตัวเลขกลุ่มแรงงานที่สำคัญ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ธันวาคม 2561 และสำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติ ดังนี้ แรงงานในระบบจำนวน 17.79 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 20.08 ล้านคน แรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ถูกกฎหมาย 3,083,451 คน แรงงานสูงอายุ 4.06 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 11.68 ล้านคน และยังมีแรงงานเด็กอายุตั้งแต่ 5-17 ปี 268,100 คน จากประชากรวัยเด็ก 10,876,257 คน

สถานการณ์การจ้างงานแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีครอบครัว และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทดแทนแรงงานที่มีค่าจ้างสูง โดยมีตัวเลขแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วยพม่า ลาว กัมพูชา 3,083,451 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ 1,021,630 คน  บัตรสีชมพู 1,193,885 คน ระบบMOU ระหว่างประเทศ 846,375 คน  และจ้างงานตามฤดูกาล 21,561 คน ประกอบด้วย พม่า และกัมพูชา

25 อาชีพที่แรงงานข้ามชาติทำได้ คือ อาชีพประมง และต่อเนื่องประมงทะเล เกษตร และต่อเนื่องเกษตร ปศุสัตว์ และต่อเนื่องปศุสัตว์ รับซื้อของเก่า เหมืองแร่ และเหมืองหิน ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหะ ผลิตหรือจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม ผลิต หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากดิน ผลิตหรือจะหน่ายวัสดุก่อสร้าง แปรรูปหิน จำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ  ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการต่างๆยกเว้นกิจการรับเหมาฯ ค้าส่ง ค้าปลีกแผงลอยในตลาด แปรรูปสัตว์น้ำ อู่ซ่อมรถ ล้าง อัดฉีด ปั้มน้ำมัน รับใช้ในบ้าน สถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม และสถานพยาบาล ขนส่งสินค้าทางบก ทางน้ำ คลังสินค้า โดยมี 10 อันดับงานที่แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติได้รับอนุญาตทำงาน คือ ก่อสร้าง 383,609 คน การให้บริการต่างๆ 260,158 คน งานต่อเนื่องการเกษตร 216,459 คน เกษตร และปศุสัตว์ 194,533 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 169,037 คน จำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป 122,805 คน ค้าส่ง ค้าปลีก แผงลอยในตลาด 91,822 คน ผู้รับใช้ในบ้าน 81,194 คน จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหะ 67,297 คน และต่อเนื่องประมงทะเล 56,164 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเฉพาะที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับMOUเท่านั้น

5 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานสูงสุด ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และทำMOU มีดังนี้ กรุงเทพมหานคร 478,188 คน สมุทรสาคร 197,695 คน นครปฐม 134,058 คน นนทบุรี 130,364 คน และสมุทรปราการ 101,353 คน

ซึ่งลักษณะกฎหมายจ้างงานในประเทศไทย มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างน้อย 15 ฉบับ มองความสัมพันธ์ในฐานะที่มีการจ้างงานแรงงานต่อกันคุ้มครองคนที่เป็นแรงงานทุกชาติ ไม่ว่าจะมีสัญชาติ หรือไร้สัญชาติ ยกเว้นเพียง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยผิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522  พระราชกฤษฎีกาบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังให้การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกด้าน ส่งผลต่อความเหลื่อมด้านล้ำการงาน และสุขภาวะ เช่นการรวมกลุ่มเพื่อการเจรจาต่อรอง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้านค่าตอบแทนจากการทำงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ การมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่อง การมีหลักประกันทางสังคม หรือสิทธิแรงงานด้านต่างๆ คืออย่างปัญหากำหมายคุ้มครองแรงงานยังมีการยกเว้นการบังคับใช้ในกลุ่มแรงงานที่ทำงานรับใช้ในบ้าน โดยมีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย กรณีแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้ทำงานตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงในการทำงาน และค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด

 

สิทธิแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านได้รับตามกฎหมาย คือ วันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วัน วันหยุดประเพณี 13 วัน หากตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องหยุดชดเชยเพิ่มอีก 1 วัน ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อน 6 วันทำงาน ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากนายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับเด็กโดยตรง ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดต้องได้ค่าจ้าง และได้รับค่าจ้างหากลาป่วยไม่เกิน 30 วัน

ด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติทำงานในบ้านที่กฎหมายยกเว้น คือ ไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของนายจ้าง ไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน และเวลาพักผ่อน ไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานประกันสุขภาพ ประกันสังคม อาหาร และที่พัก กรณีถูกเลิกจ้างไม่ได้ค่าชดเชย และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานได้

ประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตร ได้รับตามกฎหมาย คือ หากต้องทำงานในวันหยุดต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง แต่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15 วันทำงาน กำหนดงานที่ห้ามลูกจ้างมีครรภ์ทำ และมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร กรณีหยุดพักผ่อนไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยได้รับค่าจ้าง หลังทำงานครบ 180 วัน และจัดให้มีน้ำดื่ม และพักอาศัย กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้สามารถใช้สิทธิกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

สิทธิแรงงานข้ามชาติภาคเกษตรที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น ไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นกับการตกลงกันระหว่าลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่มีการกำหนดชั่วโมงทำงาน และเวลาพักที่แน่นอน ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดตามประเพณี ไม่มีการกำหนดเวลาทำงานของแรงงานหญิง และเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น

ประเด็นกฎหมายประกันสังคม ก็ยังมีข้อยกเว้นที่ไม่บังคับใช้ในกลุ่มลูกจ้างบางประเภทที่มีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงลูกจ้างภาคเกษตร กิจการประมง และผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในส่วนกฎหมายเงินทดแทน ยังกำหนดกิจการที่ยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ เช่น เกษตร งานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจ หาบเร่ แผงลอย ปัญหาที่เกิดต่อแรงงานข้ามชาติ เมื่อกฎหมายมีการยกเว้นการคุ้มครอง คือ เมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุ หรือโรคอันเนื่องมาจากการทำงานของลูกจ้าง จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามประโยชน์ทดแทนมาตรา 33 นายจ้างและลูกจ้างต้องแบกรับความเสี่ยงเอง และการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่เผชิญ ไม่ใช่เพียงการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ยังเป็นผลสำคัญ มาจากตัวบทกฎหมายด้านการจ้างงานที่ยกเว้นการไม่คุ้มครองแรงงานบ้างกลุ่มที่จ้างงาน และในบางเรื่องที่ยกเว้นการไม่คุ้มครองแรงงานบางกลุ่มที่จ้างงาน และในบางเรื่องถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง และส่งผลให้แรงงานต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการจ้างงาน

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเสขวรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน  และคณะ ได้ยื่นสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ( ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ต่อนายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO เป็นผู้ต้อนรับและรับสัตยาบันสาร ณ ห้อง Cabinet สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

“การให้สัตยาบันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทยและสินค้าประมงไทย และการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทย ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงของทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติให้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับเนื่องจากอนุสัญญาจะช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานประมง เช่น การกำหนดชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ระบบการตรวจแรงงานและความเป็นอยู่บนเรือประมง เป็นต้น และรัฐบาลไทยได้ผลักดันการทำงานเพื่อระดับการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา IUU มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยมีการทำการประมงอย่างยั่งยืน การดำเนินมาตรการหลายประการ รวมถึงการจัดระเบียบการทำประมงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการให้สัตยาบันพิธีสารของอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาฉบับที่ 188 จะมีผลทำให้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยได้รับการเลื่อนลำดับประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในปีที่ผ่านมาซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย อันแสดงถึงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้รองรับกับอนุสัญญา ฉบับที่ 188 นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่สอดคล้องอยู่แล้ว 11 เรื่อง ส่วนที่ยังไม่สอดคล้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของประมงไทย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

(รายงานโดยวาสนา ลำดี)