ผู้สูงอายุกับสวัสดิการอันพึงได้รับจากภาครัฐอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
สกลเดช ศิลาพงษ์
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ยากจนแร้นแค้นมากจนไม่สามารถพอที่จะนำเงินมาสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือให้ประชากรสูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกปีให้มีสภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นมากกว่าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจบัน สำคัญอยู่ที่ว่าผู้นำในรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในเดือนมีนาคมนี้จะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างใกล จริงใจ และสามารถมองทะลุเห็นปัญหาของประชากรผู้สูงวัยกลุ่มใหญ่นี้หรือได้หรือไม่เท่านั้นครับ
หากดูจากตัวเลขของปี 2561 ประเทศไทยมีเงินในกองทุนสำรองระหว่างประเทศติดลำดับที่ 12 ของโลก “สูงเป็นประวัติการณ์” มากกว่าเยอรมัน สหราชอาณาจักร เม็กซิโก ฝรั่งเศส อิตาลีและสหรัฐอเมริกาเสียอีก เงินจำนวนที่ว่านี้สูงถึง $214.7 billion (6.73 trillion baht) มีมูลค่าเทียบเท่ากับ 10% GDP ของประเทศเลยทีเดียว
Work Point Views 9 พฤษภาคม 2518
IMF (International Monetary Fund) เคยเสนอแนะให้ไทยนำเงินกองทุนสำรองที่มีอยู่มากจนเกินความจำเป็นว่าสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนในวัยหลังเกษียณอายุให้มีความสุขมากยิ่งขึ้นเช่นจัดตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” ขึ้นมาเพื่อประกันการดูแลระยะยาว แบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณซึ่งในหลายประเทศได้จัดสรรงบประมาณพิเศษนี้ขึ้นมาสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการนี้โดยเฉพาะเช่นที่สหรัฐอเมริกา รัฐนิวยอรค์ จัดตั้ง “สำนักงานเพื่อผู้สูงอายุ” (Office for Aging) ขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุหลังวัย 60 ปีที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ รัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับคนในครอบครัวในการดูแลผู้สุงอายุทั้งที่บ้านและที่สถานสงเคราะค์คนชรา โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็น “โรคสมองเสื่อม” (Alzheimer) โรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ ที่ต้องการการดุแล 24/7 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก นอกจากนี้ที่ทำการยังมีบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแนะนำเรื่องงานประกันชีวิตและภาษี แจกจ่ายข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง แนะนำด้านสุขภาพและโภชนาการ เหล่านี้เป็นต้น หลายประเทศทั่วโลกรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุ จ่ายค่าจ้างคนที่มาช่วยดูแลบุพการีที่บ้านโดยลูกๆ ไม่ต้องลาออกจากงานอันก่อให้เกิดสูญเสียทรัพยากรมนุษย์โดยเปล่าประโยชน์
IMF เสนอให้ไทยนำเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศมาช่วยเหลือผู้สูงอายุ
Bangkok Post 10 มีนาคม 2562
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ปี 2560 จำนวนประชากรสูงอายุมีตัวเลขอยู่ที่11.35 ล้านคนหรือร้อยละ 17 ของประชากรไทยทั้งประเทศ 65.5 ล้านคนและคาดการว่า อีก 4 ปีข้างหน้าไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 และอีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะมีประชากรสูงอายุถึง 20 ล้านคนและที่สำคัญคือกลุ่มประชากรวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านในปี 2560 มาเป็น 3.5 ล้านคน
มติชนออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2561
รายงานจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องสุภาพและอยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มีมากถึงร้อยละ 5 โดยเฉพาะที่อยู่ในวัยปลายที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้สูงถึงร้อยละ 19 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ หน่วยงานของภาครัฐทั้งหลายคงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ทำงานในเชิงรุก ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุเมื่อรัฐได้มีการกำหนดแผนงาน รวมทั้งสร้างมาตรการต่างๆ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อง่ายต่อการแก้ไขไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งมันค่อนข้างลำบากจนสายเกินแก้
ความต้องการของผู้สูงอายุอันดับต้นๆ คือการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาสุขภาพที่ดี ชึ่งความต้องการของพวกเขาแตกต่างกัน แยกได้ 2 ประเภค
- ผู้สูงอายุติดบ้าน – ออกไปไหนไม่ได้ต้องพึ่งบางส่วน อยู่ที่ร้อยละ 85 หรือ 8.5 แสนคน
- ผู้สูงอายุติดเตียง – พึ่งผู้อื่นตลอดเวลา อยู่ที่ร้อยละ 15 หรือ 1.5 ล้านคน
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ราชภัฏและกรมอนามัยพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็น “โรคสมองเสื่อม” (Alzheimer) เพิ่มแบบก้าวกระโดด โรคนี้จัดได้ว่า “ภัยเงียบ” ที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง ในปี 2563 จะมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมสูงเพิ่มขึ้นถึง 400,200 คน ผู้ป่วยมีสภาพติดเตียง ทุพลภาพและพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา ต้องการความช่วยเหลือระยะยาว มีค่าใช้จ่ายสูงมากในช่วงสุดท้ายของชีวิต ต้องอาศัยการดูแลแบบมืออาชีพซึ่งขึ้นกับสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพ การเตรียมทีม การรักษาดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล ผู้ดูแลและครอบครัว สำหรับในกรณีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะสนับสนุนทางด้านการเงินไม่ว่าจะรักษาตัวที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลเพื่อแบ่งเบาภาระอันหนักอิ้งในการดูแลผู้ป่วยประเภคนี้
สถานภาพทางการเงิน ผู้สูงอายุต้องการความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณอย่างยิ่งยวดที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิต จากรายงานของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติของปี 2060 ในหัวข้อ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมผู้สูงอายุไทยปี 2560” พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 1 ใน 3 มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน ตกอยู่ในสภาพเเร้นแค้น เนื่องจากไม่มีเงินออมหลังเกษียณอายุ บุตรหลานไม่เลี้ยงดู รายได้จากการทำงานลดลง เบี้ยยังชีพไม่พอกับรายรับรายจ่าย
ผู้จัดการออนไลน์ 26 กุมภาพันธ์ 2561
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) ได้ทำงานวิจัยเรื่องสถานการณ์ผู้สูงอายุสมควรจัดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” คือปัญหาการดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุ โดยเฉพาะเรื่องจำนวน “ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” (Day Care Center) ที่มีไม่เพียงพอสำหรับรองรับให้บริการแก่ประชากรสูงวัยอย่างทั่วถึง ผู้สูงอายุหากมีทางเลือกสำหรับการดูแลระยะยาวมักจะนิยมอาศัยอยู่บ้านเป็นหลัก ส่วน “บ้านพักดูแลคนชรา” (Nursing Home) มักจะเป็นทางเลือกสุดท้าย สำหรับงานให้บริการมีหลายรูปแบบชนิด แบบไปเช้า-เย็นกลับและรูปแบบบริการระยะยาว บ้านพักดูแลคนชรา ปัญหาใหญ่คือบ้านพักดูแลคนชราของภาคธุรกิจเอกชนมีค่าบริการแพง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับล่างไม่สามารถจ่ายค่าบริการนี้ได้ นอกจากนี้แล้วปัญหาที่มีความสำคัญไม่น้อยคือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์เฉพาะทางและบุคลากร “ผู้ดูแลด้านสุขภาพ” (Caregivers) ที่มีคุณภาพ บุคลากรในอาชีพนี้ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างดี ได้รับใบรับรอง สามารถเข้าใจพฤติกรรมความต้องการและเรียนรู้โรคของผู้ป่วยในผู้สูงอายุ รักในวิชาชีพ มีความอดทนสูง ซึ่งสังคมยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพนี้เท่าที่ควร
มติชนออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2561
รายงานยังกล่าวต่อไปว่าสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านมีค่าตอบแทนผู้ดูแลโดยประมาณตกอยู่เดือนละ 15,000 บาท ส่วนผู้ป่วยขั้นสุดท้ายรักษาที่บ้าน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 26,372 บาทต่อเดือน ส่วนการรักษาโรงพยาบาลตกอยู่ที่ 45,000 บาทต่อเดือนต่อผู้ป่วยหนึ่งราย จะเห็นได้ว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สามารถกำหนดความเป็นความตาย ขึ้นอยู่กับสถานภาพและความมั่นคงทางการเงินโดยแท้
มติชนออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2561
สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้บริการบ้านดูแลคนชราของรัฐที่มีค่าดูแลไม่แพงนักเช่น สถานสงเคราะห์บ้านบางแค กรณีลูกหลานไม่ดูแล ปัจจุบันมีอยู่แค่ 4 แห่ง รองรับผู้เข้าพักได้ประมาณ 1,300 คน มีค่าใช้จ่ายต้องมีค่าวางมัดจำ 2 แสนบาท คิดค่าห้อง 1,500 บาทต่อเดือน ห้องคู่ 2,000 บาทต่อเดือน รวมอาหาร 3 มื้อน้ำไฟต่างหาก คิวยาวเหยียดเนื่องจากมีความต้องการสูงมากจากจำนวนผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความยากจนไม่สามารถจ่ายค่าบริการบ้านพักดูแลคนชราของภาคธุรกิจเอกชนที่มีราคาแพง บางรายจองแล้วรอนานไม่ไหวเสียชีวิตไปแล้วก็มี ประเด็นนี้มีสำคัญไม่แพ้กับการที่รัฐให้เงินสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยระยะยาว จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างบ้านดูแลคนชราที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมากให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกปี
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลไม่ว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองใดที่ชนะเลือกตั้งมีโอกาสจัดตั้งเป็นรัฐบาล ควรหันมาให้ความสนใจประเด็นปัญหาของผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ซึ่งเป็น “กลุ่มเสี่ยงสูงและเปราะบาง” หน้าที่สำคัญของรัฐบาลในการเสนอตัวเข้ามาบริหารประเทศคือการลดความเหลื่อมล้ำของประชากรในสังคมรวมทั้งขจัดความยากจน สร้างความสุขให้กับประชาชนในชาติมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำตามคำมั่นสัญญาไว้ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หากรัฐไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม ทันกับสถานการณ์เพื่อรองรับความต้องการของผู้สูงอายุที่อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ ในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะพอกพูนจนกลายเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหม่” สร้างภาระหนักให้แก่ครอบครัว สังคมและประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
******************