ชฤทธิ์ มีสิทธิ์
คราวที่แล้วได้นำเสนอและชวนพูดคุยในประเด็นสิทธิแรงงานหรือกฎหมายด้านแรงงานในภาพรวมที่คาบเกี่ยวกับประเด็นนโยบาย เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เผื่อว่าจะมีระดับบริหารหรือนโยบายได้ยินได้ฟังบ้าง หวังไว้อย่างนั้น (ถ้าจะให้มีผลกระทบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง ต้องรวมกลุ่มไปยื่นกับมือท่านรัฐมนตรีพร้อมทั้งนัดหมายสื่อมวลชน หรือไม่ก็ออกสื่อออนไลน์ให้หนักๆและต่อเนื่องเข้าไว้) ในครั้งนี้ก็จะขอคุยกันต่อในเรื่องกฎหมายเชิงนโยบาย แม้บางเรื่องบางประเด็นอาจจะห่างตัวท่านทั้งหลายที่ติดตามคลินิกกฎหมายด้านแรงงานอยู่เป็นประจำนะครับ
เนื้อหาส่วนแรกที่จะกล่าวถึงคือ หากจะพิจารณากฎหมายด้านแรงงานที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานเป็นสำคัญ (ยกเว้นเรื่องศาลแรงงาน) สามารถจัดกลุ่มกฎหมาย (ผมแบ่งเองเพื่อความเข้าใจโดยง่าย)ได้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน
ประกอบด้วย (1) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มีการแก้ไขเรื่อยมาจนปัจจุบัน รวม 7 ฉบับ) (2) พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2553 (3) พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (4) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
กลุ่มที่ 2 ด้านการจัดหางาน และการส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือ
มีเพียง 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 (มีการแก้ไขหลายครั้ง)
กลุ่มที่ 3 ด้านแรงงานสัมพันธ์
มีจำนวน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 (สำหรับลูกจ้างในส่วนเอกชน/ไม่มีการแก้ไขหลักการและสาระสำคัญเลย) และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (ในส่วนรัฐวิสาหกิจ)
กลุ่มที่ 4 ด้านกลไกและการบริหารแรงงานกลุ่มพิเศษ
ด้านกลไกมีเพียงฉบับเดียวคือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ส่วนด้านการบริหารแรงงานกลุ่มพิเศษ พบอยู่ 2 ฉบับ คือ กลุ่มย่อยที่ 1 ด้านแรงงานต่างด้าว คือ พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 (กฎหมายพิเศษเชิงนโยบายเร่งด่วนออกโดยฝ่ายบริหาร) และกลุ่มย่อยที่ 2 ด้านแรงงานนอกระบบ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 (กฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบกลุ่มเฉพาะคือผู้รับงานไปทำที่บ้าน)
ปรากฏตามแผนภูมิแสดงภาพรวมกลุ่มกฎหมายด้านแรงงานตามที่จำแนก
เนื้อหาส่วนที่ 2 ที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อมาคือ จะขอนำเสนอภาพรวมของมาตรการและกลไก(เครื่องมือที่กฎหมายสร้างไว้เพื่อแก้ไขปัญหา) ของกฎหมายด้านแรงงาน เป็นดังนี้ครับ
- ฝ่ายบริหารคือกระทรวงแรงงาน ออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง
- จัดตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการค่าจ้าง คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น
- วางอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การตรวจแรงงานทั่วไป การตรวจความปลอดภัย เป็นต้น
- การจัดตั้งกองทุนด้านต่าง ๆ เช่น กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
- การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- มาตรการพิเศษในกฎหมาย เช่น การชำระเงินเพิ่มหรือค่าปรับในทางแพ่ง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายเงินทดแทน และกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น
- การระงับข้อพิพาทแรงงานในสถานการณ์พิเศษ ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจสั่งยกเลิกการปิดงานหรือการนัดหยุดงานที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรือความเดือดร้อนของประชาชน
- ขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งการอุทธรณ์ทั้งทางปกครองและทางแรงงาน
- มาตรการบังคับโทษทางอาญา ซึ่งกฎหมายแรงงานเกือบทั้งหมดมีโทษทางอาญา
- กลไกศาลแรงงาน เช่น การไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนพิจารณาทางกฎหมาย การสั่งแก้ไขเรื่องสัญญาจ้าง คำสั่งหรือระเบียบของนายจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบลูกจ้างเกินควร รวมทั้งการให้อำนาจศาลพิจารณาและพิพากษาเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
- มาตรการพิเศษในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว และแรงงานนอกระบบ เช่น การกำหนดงานที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ ในท้องที่ใด เมื่อใด ห้ามเด็ดขาดหรือมีเงื่อนไขก็ได้ ห้ามส่งงานอันตรายตามที่กฎหมายกำหนดไปทำที่บ้าน
ปรากฏตามแผนภูมิแสดงภาพรวมมาตรการและกลไกของกฎหมายด้านแรงงาน
เนื้อหาในส่วนที่ 3 คือ คณะกรรมการชุดต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคณะกรรมการแบบไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ) หรือจตุภาคี คือมีเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบางฉบับก็กำหนดกระบวนการสรรหา บางฉบับก็รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง นอกจากนี้ บางฉบับก็มีคณะกรรมการระดับชาติหรือระดับนโยบายชุดเดียว บางฉบับก็มีคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการชุดอื่น ๆ ด้วย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย บางฉบับก็ไม่มีคณะกรรมการเชิงนโยบาย มีแต่คณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้ครับ
- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี/ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน) คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน (ไตรภาคี ปลัดกระทรวงเป็นประธานวินิจฉัยเรื่อง การย้ายสถานประกอบการที่กระทบการดำเนินชีวิตของลูกจ้างและครอบครัว)
- พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ มีคณะกรรมการระดับนโยบายชุดเดียวคือ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีคณะกรรมการประกันสังคม (ปลัดประทรวงแรงงานเป็นประธาน) และคณะกรรมการอุทธรณ์ (รมต.แรงงานแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการ)
- พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน (เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นประธาน) คณะกรรมการการแพทย์ (รมต.แรงงานแต่งตั้ง)
- พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (รมต.แรงงานแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการ)
- พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (รมต.แรงงานเป็นประธานกรรมการ)
- พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (รมต.แรงงานเป็นประธาน)
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ)
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ)
คณะกรรมการตามกฎหมายเกือบทั้งหมด ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนคณะกรรมการชุดอื่นๆ ซึ่งมีจำนำวนน้อย กฎหมายมิได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ แต่กำหนดให้รมต.แรงงานเป็นผู้แต่งตั้งประธานและคณะกรรมการ
ปรากฏตามแผนภูมิแสดงภาพรวมคณะกรรมการตามกฎหมายด้านแรงงาน
ในส่วนที่ 3 นี้ ปรากฏว่า ยังมีคณะกรรมการนโยบายด้านแรงงานอีกหลายชุดที่มิได้เกิดจากกฎหมายเฉพาะ แต่มีที่มาโดยทางอื่น เช่น คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ แต่งตั้งโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (พ.ศ. 2519) คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 17 มีนาคม 2552) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนโยบายด้านแรงงานโดยตรง
ในลำดับต่อไปก็จะเป็นการชวนคิดชวนคุย เพื่อจะได้มีข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก
คงต้องทบทวนหรือทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจนว่า คณะกรรมการหลักในกฎหมายแรงงานแต่ละฉบับ เป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหรือพัฒนานโยบายในเรื่องที่กฎหมายฉบับนั้นกำหนดไว้ หรือมีอำนาจหน้าที่เพียงเสนอแนะความเห็นในทางนโยบายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการกฎหมาย หรือเสนอแนะความเห็นทางนโยบายต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการบริหารและการบังคับใช้กฎหมายฉบับนั้น เนื่องจากเท่าที่ตรวจสอบกฎหมายฉบับต่าง ๆ มีบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อแนวคิด รูปแบบ และโครงสร้างของกฎหมาย โดยจะขอยกเป็นตัวอย่าง เช่น
1.1 คณะกรรมการค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 79 มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นและให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและการพัฒนาค่าจ้างและรายได้
1.2 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 25
มีอำนาจหน้าที่
— เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
—ให้ความเห็นแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน(นโยบายภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด)
1.3 คณะกรรมการประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 9 มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม
1.4 คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มาตรา 28 มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน มาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน มาตรการในการป้องกันการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
1.5 คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวโดยกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำงานของคนต่างด้าว เป้าหมายและแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รวมทั้งการเสนอให้ทบทวนนโยบายด้วย เมื่อคณะกรรมการตามกฎหมายจัดทำนโยบายเสร็จแล้ว ให้เสนอครม.เพื่อพิจารณา หากครม.เห็นชอบ ให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดำเนินการหรือกำกับให้เป็นไปตามนั้น
จากตัวอย่างที่ยกมา พบว่า การให้คณะกรรมการมีอำนาจในเชิงนโยบายตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการนโยบายการทำงานของคนต่างด้าว (พระราชกำหนด) นอกนั้นจะเป็นคณะกรรมการนโยบายตามมติครม. หรือคำสั่งของรัฐบาล หรือไม่ก็ปรากฏในรูปของแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ส่วนที่ปรากฏในกฎหมายในรูปแบบพระราชบัญญัติ จะเป็นเรื่องการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในเรื่องนโยบาย หรือมาตรการ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งก็คือนโยบายภายใต้ที่กฎหมายบัญญัติไว้ และนโยบายที่จะช่วยในเรื่องการบริหารหรือการบังคับใช้กฎหมายนั่นเอง
นอกจากนี้ ในทางบริหารนโยบายของรัฐบาล ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ทำบทบาทหน้าที่ในประเด็นนโยบายด้านแรงงานโดยเฉพาะอีกโดยมิได้เชื่อมโยงกับกฎหมายฉบับใดโดยเฉพาะดังที่ได้กล่าวแล้ว เช่น คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น หรือไม่ก็อยู่ในรูปของแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อไม่กี่ปีก่อนมี คสช. และสนช. พบว่า ภาคประชาชนหลายส่วน มีแนวคิดใหม่ในการจัดทำกฎหมาย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และ โครงสร้างของกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น กฎหมายสำหรับการบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ หรือนำเรื่องมาตรการบริหารภาครัฐโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มากำหนดไว้ในโครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าในแนวทางนี้มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ควรพัฒนาต่อยอดต่อไปหรือไม่ หรือควรทำในแนวทางใดถึงจะดี
ประเด็นข้อสังเกตก็คือว่า การกำหนดไว้ 3 ระดับดังกล่าว มิได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายทุกฉบับ หรือการกำหนด 3 ระดับดังกล่าวมีเหตุผลหรือความเหมาะสมแล้วหรือที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายเช่นนั้น โดยกระบวนการบริหารภายใต้กฎหมายดังกล่าว เราสามารถพัฒนานโยบายในประเด็นแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้จริงหรือ อีกประการหนึ่ง ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ปรากฏว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่ถือได้ว่า เกี่ยวข้องหรือมีผลกับคนทำงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองดูแล คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบแห่งชาติ คือการกำหนดมาตรการทางบริหาร หรือมาตรการนโยบายในประเด็นการส่งเสริมและการพัฒนาแรงงานนอกระบบในภาพรวมไว้ในกฎหมายเฉพาะ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนไปบ้างแล้ว ก็ไม่ทราบว่า รัฐบาลชุดใหม่หรือรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน เห็นด้วยหรือมีแนวคิดต่อการจัดทำกฎหมายในแนวคิดและรูปแบบดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร และจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปให้บรรลุผล หรือไม่ ซึ่งคงต้องวางแนวคิด นโยบาย และแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านแรงงาน กับการพัฒนากฎหมาย กล่าวคือ การพัฒนานโยบายด้านแรงงานโดย มติครม. การพัฒนานโยบายในรูปแบบกฎหมาย ไม่ว่าพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด และคณะกรรมการที่เสนอแนะนโยบายตามพระราชบัญญัติฉบับต่าง ๆ จะบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจัง และไม่ล่าช้า ได้อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนจบกระบวนการ
ประเด็นที่ 2
ในประเด็นการพัฒนานโยบายด้านแรงงาน นอกจากนโยบายที่ฝ่ายรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และนำไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการของแต่ละกระทรวงนั้น จะมีช่องทางรับฟังหรือผสมผสานประเด็นนโยบายที่เสนอโดยภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้อย่างไร เนื่องจากมีประเด็นนโยบายอีกหลายประเด็นที่ไม่มีอยู่ในนโยบายหรือแผนของรัฐบาล
ประเด็นที่ 3
ในประเด็นการพัฒนา หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว กระทรวงแรงงานหรือคณะรัฐบาล จะมีมาตรการให้ภาคประชาชนหรือภาคส่วนที่มีความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นได้อย่างไร มิใช่มามีส่วนร่วมในชั้นการรับฟังความเห็น ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่า ภาคประชาชนไม่สามารถขอให้หน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนากฎหมายยอมรับข้อเสนอหลักการของภาคประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานและรัฐบาล จะมีมาตรการเชื่อมโยงภารกิจตามประเด็นที่ 2 และที่ 3 ให้เชื่อมประสานและเกื้อหนุนกันได้อย่างไร
ประเด็นที่ 4
เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นว่า ตามกฎหมายให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ในเชิงนโยบายในประเด็นการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน มาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน มาตรการในการป้องกันการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย เนื่องจากการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งถือเป็นนโยบายในความหมายอย่างกว้างมาก แต่ในความเป็นจริงคณะกรรมการชุดดังกล่าว ทำบทบาทได้เพียงการพิจารณาหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายลำดับรองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการหารือหรือขอความเห็นในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมาย หรือในทางที่ควรจะเป็นคณะกรรมการชุดนี้สามารถเสนอแนะความเห็นในทางนโยบายต่อรัฐมนตรีได้เลยโดยไม่ต้องรอว่าท่านจะขอความเห็นหรือไม่ รวมทั้งสามารถเสนอโครงการหรือแผนงานต่างๆเพื่อการวิจัย หรือการปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายดังกล่าวก็เป็นการดำเนินงานในส่วนของหน่วยงานกระทรวงแรงงานเป็นหลัก หากจะทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ได้ผลจริงจัง ก็จะต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการ การศึกษาวิจัย และจะต้องมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ ตามเป้าหมายที่เห็นพ้องต้องกัน
ประเด็นสุดท้าย
เนื่องจากกฎหมายด้านแรงงานมีหลายฉบับ ทั้งเชิงประเด็น เชิงกลุ่มเป้าหมาย เชิงฐานสิทธิด้านแรงงาน และเชิงบริหารจัดการ และกฎหมายดังกล่าวมีการใช้บังคับมาหลายสิบปี มิได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ประกอบกับรัฐบาลมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ (1) กฎหมายที่เข้าข่ายการทบทวน มีทั้งพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด (2) รัฐมนตรีที่รักษาการกฎหมายมีหน้าที่สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดตรวจสอบกฎหมายที่ใช้อยู่ และแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบ กฎหมายใดใช้บังคับเกิน 5 ปี นับแต่กฎหมายให้ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายใช้บังคับ กระทรวงแรงงานต้องแจ้งด้วยว่าจะดำเนินการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายแรงงานฉบับใด ในปีใด ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับแต่ที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่ทราบว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการในประเด็นนี้ไปแล้วอย่างไรบ้าง คงต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบข้อมูลดูนะครับ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่โดยตรง ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือที่อาจได้รับผลกระทบทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม คงจะได้นำไปขบคิด ถกเถียง และหาทางออกทางแก้ต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงแรงงานและรัฐบาลมีหน้าที่สำคัญยิ่ง ที่จะริเริ่มทบทวนและประเมินผลศักยภาพของกฎหมายภายใต้แนวคิดและโครงสร้างของกฎหมายดังที่เป็นอยู่ ว่าการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายในกฎหมายแรงงานฉบับต่าง ๆ นั้น มีความชัดเจน มีมาตรฐาน เป็นเอกภาพ และปฏิบัติได้จริงหรือไม่เพียงใด จะได้พัฒนาต่อยอดหรือแก้ไขปรับปรุงได้ถูกต้อง และจะเชื่อมโยง หรือพัฒนามาตรการนโยบายที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายรูปแบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เนื่องจากดูเหมือนว่า การพัฒนานโยบายภายใต้กฎหมายก็มีข้อจำกัด การพัฒนานโยบายที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายก็มีอุปสรรค มีความล่าช้า และขัดแย้งกันจนไม่อาจหาข้อยุติได้ ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชนหลายส่วนไม่มีช่องทางเข้าไปผสานกับนโยบายแห่งรัฐ และดูเหมือนว่า ประชาชนจะเกิดความรู้สึกและความคิดว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายห่างเหินจากชีวิตจริงของประชาชนเข้าไปทุกทีๆๆๆๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าเราจะเดินหน้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมอย่างแน่นอนครับ/.