“7 ปรากฎการณ์ลงทุนจากต่างประเทศ” บีโอไอสุดปลื้ม คนงานสุดแป้ก นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าผงาด หุ่นยนต์แทนที่ และทาง (ไม่) รอดของสหภาพแรงงานไทย

7 ปรากฎการณ์ลงทุนจากต่างประเทศ” บีโอไอสุดปลื้ม คนงานสุดแป้ก นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าผงาด หุ่นยนต์แทนที่ และทาง (ไม่) รอดของสหภาพแรงงานไทย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

26 กรกฎาคม 2561

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2561 มีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งด้านแรงงานรายงานว่า Mr. Yosuhiro Morita ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการด้านแรงงาน (Chairman of Labor Committee) ปัจจุบันทำงานที่บริษัทบริดจสโตน ประเทศไทย และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ (The Japanese Chamber of Commerce-JCC) เข้าพบนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือใน 3 เรื่องสำคัญ คือ

(1) การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย ทั้งนี้ทาง JCC กังวลว่าสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างจำนวนมากอาจเตรียมตัวเรื่องงบประมาณไม่ทัน

(2) การตีความคำว่า “งานในลักษณะเดียวกันตามมาตรา 11/1 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทางสถานประกอบการต้องจัดสวัสดิการในรูปแบบใด อย่างไร

(3) ความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลไทยจะให้สัตยาบันได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้ทาง JCC มีข้อกังวลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างที่แก้ไขตามร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หลายประการ

แน่นอนเมื่อภาคธุรกิจเอกชนเป็นฝ่ายเข้าหารือภาครัฐโดยตรงในครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มที่สามารถตีความได้ว่า ทั้ง 3 ประเด็นด้านกฎหมายที่กระทรวงแรงงานกำลังแก้ไขหรือบังคับใช้ไปแล้ว ไม่เอื้อต่อ “ทุนญี่ปุ่น” ที่มาลงทุนในประเทศไทยและย่อมมุ่งหวังกำไรสูงสุดอย่างแน่นอน และภาครัฐควรใคร่ครวญหรือหยิบยกมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

คำถามสำคัญ คือ ปรากฎการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้ฝ่ายองค์กรแรงงานไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?

          แต่ก่อนที่จะไปตอบคำถามนี้ ดิฉันอยากฉายภาพปรากฎการณ์บางอย่างที่แวดล้อมในเบื้องต้น รวม 7 ปรากฎการณ์ก่อน ดังนี้

  • ความสำคัญของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) กลไกภาคธุรกิจที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • 8 ธันวาคม 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ “New Abenomics”
  • 8 ค่ายรถยนต์ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายชิ้นส่วนรถยนต์หนาวๆร้อนๆ
  • อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกับการเติบโตในครึ่งปีหลัง 2561 และปี 2562
  • การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์กับการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และการเข้ามาแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
  • การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเมษายน 2561 มีผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs เท่านั้น
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

          กล่าวคือ

          (ปรากฎการณ์ที่ 1) : ความสำคัญของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCC) กลไกภาคธุรกิจที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) คือ หนึ่งในหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 1,762 บริษัท จากกว่า 5,000 บริษัทของญี่ปุ่นในไทย (เมษายน 2561) ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2497 โดยมีจำนวนสมาชิกเริ่มต้นเพียง 30 บริษัท วัตถุประสงค์สำคัญขององค์กร คือ การช่วยเหลือด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นเจริญเติบโตมีผลกำไรได้เป็นอย่างดี[1]

ทั้งนี้พบว่าประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ตัวเลข ณ ปี 2560 ประมาณ 53,561 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยลงทุนในสิงคโปร์ 39,649 ล้านเหรียญสหรัฐ, อินโดนีเซีย 26,696 ล้านเหรียญสหรัฐ, เวียดนาม 14,651 ล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซีย 12,668 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ (ส่วนประเทศที่มีการลงทุนในไทยรองจากญี่ปุ่น คือ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงาน)[2]

ปัจจุบัน JCC มี Mr.Michinobu Sugata จากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นประธาน มีรองประธาน 4 คน ที่น่าสนใจ คือ  Mr.Shinji Nakano จากบริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์ , Mr.Norio Saigusa จากบริษัทมิตซูบิชิ (ประเทศไทย) , Mr.Hidekazu Ito บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงสร้างองค์กรประกอบด้วย 15 ชมรม แยกตามประเภทของธุรกิจ เช่น ยานยนต์ , อิเลคทรอนิคส์ , เหล็ก , โลหะ , ปิโตรเคมี , เคมีภัณฑ์ , สิ่งทอ ฯลฯ

ทั้งนี้งานสำคัญของ JCC ในปี 2561 ที่เผยแพร่เมื่อมิถุนายน 2561 คือ

  • การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยให้เติบโตได้มากที่สุด
  • ให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลาของกระบวนการผลิต (Lead time) มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้
  • ให้ความสำคัญกับการลงทุนใน “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ตามที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

ในปี 2561 หอการค้าญี่ปุ่น (JCC) ได้เปิดเผยผลสำรวจโดยอ้างอิงข้อมูลจาก BOI ประเทศไทย ระบุว่า การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น 8 % ในปี 2560 โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 256 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 133,002 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศ (282,643 ล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ ประมาณ 61,200 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางธุรกิจของรัฐบาลไทยในหลายๆเรื่อง

ทั้งนี้ BOI ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน 132 โครงการ มูลค่า 36,645 ล้านบาท เฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีโครงการได้รับอนุมัติแล้ว 49 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 28,499.6 ล้านบาท ซึ่งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC 1,016 บริษัท

ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย 44 % วางแผนขยายการลงทุนในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่นักลงทุนหลักในพื้นที่ EEC คาดว่าจะยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ[3]

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยยังเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่ตลอด เป็นเพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปแต่ทุกรัฐบาลก็ยังส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติอยู่เสมอ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นจึงกล่าวได้ว่าการเมืองไม่ส่งผลต่อการลงทุนแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ล่าสุดบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายๆบริษัทได้ทยอยเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเพิ่ม[4] อาทิ

  • โตโยต้า แมททีเรียล แฮนด์ลิ่ง กรุ๊ป ผู้ผลิตและให้บริการรถโฟร์กลิฟต์
  • ฮิตาชิ คอนสตรักชั่น แมชีนเนอรี่ ผู้ให้บริการเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง
  • ไดกิ้น เคมีคอล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ
  • ซูมิโตโม ริโกะ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า
  • โคโนอิเกะ ทรานส์สปอร์ต ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้า
  • แบนโด เคมิคอล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • เซกิกุย เคมิคอล ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก
  • โคเบลโก้ บริษัทในกลุ่มโกเบ สตีล กรุ๊ป
  • ฮิตซ์ บริษัทในเครือฮิตาชิ โซเซน บริษัทรับสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น

มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ

  • เมื่อเดือนธันวาคม 2560 บริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท วาย-เทค คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น และจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “ไทยซัมมิท วาย-เทค
    โอโตพาร์ท”
    จำกัด ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท เพื่อออกแบบ พัฒนา ผลิต ทำการตลาด และขายชิ้นส่วนยานยนต์แบบขึ้นรูปที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยกลุ่มไทยซัมมิท ถือหุ้น 51 % และวาย-เทค คอร์ปอเรชั่น 49 %
  • บริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมทุนกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของไทย ตั้งโรงงานแปรรูปไก่ที่จังหวัดสระบุรี ในนามของ “บริษัท เอเชี่ยน เบสท์
    ชิคเก้น จำกัด”
    ทุนจดทะเบียน 1,833 ล้านบาท มิตซูบิชิ ถือหุ้น 50% เบทาโกร 25% และอิโตแฮม 25% โรงงานแห่งนี้จะมีกำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี สำหรับป้อนให้กับธุรกิจอาหารในญี่ปุ่น

          (ปรากฎการณ์ที่ 2) : 8 ธันวาคม 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ “New Abenomics”

“Abenomics” คือนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ตั้งแต่เริ่มใช้ในปี 2556 เป็นต้นมา ที่ประกอบไปด้วยนโยบายย่อย คือ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมาตรการการคลังเพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย กระตุ้นการลงทุน การบริโภคและการส่งออก และมาตรการปฏิรูปโครงสร้างตลาดแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนวัยทำงานด้วยการจ้างงานสตรีที่มีอายุมากขึ้นรวมถึงแรงงานต่างชาติ เช่น จากประเทศไทย (ในปี 2559 มีแรงงานต่างชาติทำงานในญี่ปุ่นประมาณ 1 ล้านคน)

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2560 ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานหดตัวลงอย่างพลิกผัน ดังนั้นการปรับนโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิวัติด้านผลิตภาพ และการปฏิวัติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ นโยบายใหม่ที่จะขับเคลื่อนญี่ปุ่นไปสู่อนาคต

เป้าหมายหลักของการปฏิวัติผลิตภาพ คือ ผลิตภาพของแรงงานต้องเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็นอัตรา 2 % ต่อปี และเพิ่มค่าจ้างขึ้น 3% ทั้งนี้การนำหุ่นยนต์มาใช้กับทุกอุตสาหกรรมและทุกด้านในชีวิตประจำวันจะช่วยเพิ่มผลิตภาพเป็นสำคัญ เช่น การใช้ AI และหุ่นยนต์ในสถานที่ดูแลระยะยาวเพื่อรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้และลดภาระของผู้ดูแล หรือการใช้รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ขับขี่รถ ส่วนเป้าหมายของการปฏิวัติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ การลงทุนในด้านการศึกษาและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก มีการเปิดตัว “The Council for Designing 100 Year Life Society” เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับคนทุกวัย

นโยบายนี้เมื่อมาพิจารณาที่การจ้างงานโดยตรง พบว่า รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทจ้างงานแบบรับค่าแรงเป็นรายชิ้นงานหรือรายวัน กระทั่งทำงานไม่เต็มเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องรับภาระด้านสวัสดิการและสามารถปรับเปลี่ยนบุคลากรได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ยังได้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบการจ้างงานมากขึ้น ลดบทบาทขององค์กรตัวแทนคนงาน เช่น สหภาพแรงงาน

นอกจากนี้ยังมีการผ่อนคลายกฎระเบียบสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานหลายข้อซึ่งทำให้แรงงานได้รับผลกระทบทางด้านลบมากขึ้นทั้งประเด็นค่าจ้างแรงงานที่ต่ำลง และการไม่พัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น การอนุญาตให้บริษัทจ้างคนงานแบบไม่ประจำที่จัดส่งโดยบริษัทนายหน้าได้อย่างไม่จำกัดเวลา ตราบใดที่เปลี่ยนตัวคนงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

          (ปรากฎการณ์ที่ 3) : 8 ค่ายรถยนต์ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายชิ้นส่วนรถยนต์หนาวๆร้อนๆ

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่ามีการอนุมัติให้บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (จ.ระยอง) ลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ที่อุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง รวมถึงกรณีบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และเมอร์เซเดส-เบนซ์ รวมมูลค่าลงทุน 18,000 ล้านบาท ส่วนฮอนด้าอยู่ในระหว่างการรอพิจารณา

ก่อนหน้านั้นพบว่ามีหลายค่ายรถยนต์ที่ประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับโครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ซึ่งประกอบด้วย (1) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า หรือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) (2) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งคิดอัตราภาษีสรรพสามิตแค่ 50 % และ (3) รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) คิดภาษีสรรพสามิตแค่ 2 %

โดยพบว่าในช่วงสิ้นปี 2560 มีผู้ประกอบการ 5 ราย ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ประกอบด้วย

  • มาสด้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 11,4000 ล้านบาท โดยใช้โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์
    จ.ระยอง เป็นฐานกำลังการผลิต 120,000 คัน/ปี ทั้งนี้มาสด้าร่วมมือกับซัพพลายเออร์ลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์มาสด้าทุกรุ่นและรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ผ่านโรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (MPMT) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ซึ่งจะมีการลงทุนเพิ่มอีกราว 7,200 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์จาก 30,000 เครื่องต่อปี ไปเป็น 1.22 แสนเครื่องต่อปี เพื่อส่งออกไปยังโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศมาเลเซียและเวียดนาม รวมทั้งป้อนให้กับโรงงาน
    ออโต้อัลลายแอนซ์ในประเทศไทย
  • นิสสัน ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด กำลังการผลิต 80,000 คัน/ปี
  • โตโยต้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 70,000 คัน/ปี โดยได้มีความร่วมมือกับไทยซัมมิทในการปรับปรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สอดรับกับรถยนต์ในกลุ่มนี้
  • ฮอนด้า ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ
    จ.ปราจีนบุรี กำลังการผลิต 37,000 คัน/ปี
  • ซูซูกิ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช
    อีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กำลังการผลิต 12,000 คัน/ปี

นอกจากนี้ยังมีค่ายยุโรปยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริด อีก 3 ราย ประกอบด้วย

  • บีเอ็มดับเบิลยู ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 705 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง กำลังการผลิต 100,000 คัน/ปี
  • เมอร์เซเดส-เบนซ์ ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาท ใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ กำลังการผลิต 8,000 คัน/ปี
  • เอ็มจี ขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,030 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 7,000 คัน/ปี

พบว่าในปี 2561 นี้ ทาง BOI ได้เริ่มต้นการพิจารณาอนุมัติในโครงการต่างๆเหล่านี้แล้ว โดยเริ่มจากบีเอ็มดับเบิลยูเป็นแห่งแรก อย่างไรก็ตามแม้ในวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่อนาคตอันใกล้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของราคารถยนต์ถูกลง ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมัน รวมถึงการมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับความต้องการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี 7 พฤษภาคม 2558 ที่กำหนดแนวทางส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟา รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออก

ดังนั้นหากสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเช่นนี้ ผู้ประกอบการภาคชิ้นส่วนยานยนต์ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากผู้ผลิตยานยนต์เปลี่ยนไปผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและไม่เลือกที่จะผลิตยานยนต์ในไทย แรงงานกว่า 650,000 ราย อาจได้รับความเสี่ยง เนื่องจากแรงงานกว่า 450,000 ราย ทำงานกับผู้ผลิตเทียร์ 1 เทียร์ 2 และเทียร์ 3 มีแรงงาน 1 แสนราย ทำงานกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ และอีก 1 แสนราย ทำงานกับโรงงานประกอบรถยนต์

ปัจจุบันรถยนต์ 1 คัน ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ชิ้น/คัน แต่ส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณ 1,500 ชิ้น/คัน  แปลว่าอย่างน้อยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นกว่า 800 บริษัท จํานวนแรงงาน 326,400 คน

อย่างไรก็ตามพบว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด ดังนั้นผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์สันดาปควบคู่กับระบบไฟฟ้า (แบตเตอรี่) โดยคาดการณ์ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องรอเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ไปในทิศทางเดียวกันโดยในปี 2565 ประเทศไทยจะมีผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าปีละ 10,000 คัน คิดเป็น 1 % ของยอดขายรถยนต์โดยรวม และในปี 2036 คาดว่า ยอดขายรถยนต์ครึ่งหนึ่งจะเป็นของ Battery EV และ Plug-in HEV

สำหรับประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำระดับโลกในรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือประเทศนอร์เวย์ โดยเกือบหนึ่งในสามของรถยนต์ที่จำหน่ายในปี 2559 นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ความสำเร็จนี้มาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่สร้างแรงจูงใจใหญ่ให้กับผู้ใช้รถยนต์ โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษี, ค่าใช้ทางพิเศษ, มีที่จอดรถฟรี, และสามารถขับรถในช่องเดินรถประจำทางสาธารณะได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้านี้ยังพบว่า ผลกระทบจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่สินค้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากประเทศจีน จะได้รับการลดอากรขาเข้าลงเหลือ 0% ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างภาษีรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

          (ปรากฎการณ์ที่ 4) : อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกับการเติบโตในครึ่งปีหลัง 2561 และปี 2562

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 มีการแถลงข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อปรับเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ปี 61 ที่คาดว่ารวมยอดผลิตรถยนต์ทั้งปี 2561 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.07-2.1 ล้านคัน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 2 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1.1 ล้านคัน 55 % ของยอดการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจาก

  • ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์ของไทยได้อานิสงส์จากการส่งออก Eco-car ตามเงื่อนไขของโครงการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ในระดับสูงกว่า 1 ล้านคันมาโดยตลอด ทั้งนี้พบว่าการส่งออก Eco-car ตามเงื่อนไขของ BOI โดยค่ายรถที่คาดว่าจะต้องเร่งส่งออกตามเงื่อนไขดังกล่าว อาทิ โตโยต้าและมาสด้า
  • ผู้บริโภคภายใต้โครงการรถคันแรกบางส่วนต้องการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ หลังภาระหนี้ทยอยหมดลง กอปรกับค่ายรถยนต์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและข้อเสนอพิเศษ และแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
  • รัฐบาลเวียดนามผ่อนคลายความเข้มงวดในการนำเข้ารถยนต์จากไทย ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้มาตรการทดสอบการปล่อยมลพิษ และความปลอดภัยกับรถยนต์นำเข้าทุกล็อตตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 (จากเดิมตรวจสอบรถยนต์นำเข้าเฉพาะล็อตแรก) มีผลให้ค่ายรถชะลอการส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามชั่วคราว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยเจรจาเพื่อขอให้เวียดนามผ่อนคลายความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์นำเข้าจากไทย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบให้ลดน้อยลง
  • การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียจะเติบโตดีต่อเนื่องหลังการปิดโรงงาน Toyota และ GM ในออสเตรเลีย ตั้งแต่ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ถือเป็นโอกาสขยายการส่งออกรถยนต์บางรุ่นไปตลาดออสเตรเลีย
  • ตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จะขยายตัวดีตามทิศทางเศรษฐกิจและยังได้ปัจจัยหนุนจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ที่ภาษีนำเข้าลดเป็น 0 % ในปี 2561
  • การพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และธุรกิจโลจิสติก จะหนุนความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็กเพิ่มมากขึ้น พบว่า ผู้ผลิต/ประกอบรถบรรทุก รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ได้อานิสงส์จากการนำมาใช้ในโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ผนวกกับความต้องการรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้น และยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
  • ผู้ผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่เพื่อการโดยสาร (รถบัส) คาดว่าจะขยายตัวดีตามทิศทางการลงทุนของธุรกิจท่องเที่ยวและรถโดยสารเอกชน รวมทั้งความต้องการรถโดยสารประจำทางของภาครัฐ (ขสมก.) และการทยอยปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสตามมาตรการรัฐ ขณะที่ตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวดีโดยเฉพาะตลาดอาเซียน
  • อัตราการถือครองรถยนต์ของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 232 คันต่อประชากร 1 พันคน เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่ 431 คันต่อประชากร 1 พันคน จะยังเป็นโอกาสในการเติบโตของตลาดในประเทศ

ปัจจุบันในปี 2560 สถานะของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในตลาดโลกพบว่า ไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเป็นอันดับ 12 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ตลาดรถยนต์ในไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลก อันดับ 6 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อพิจารณาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

สำหรับทิศทางตลาดรถยนต์ในระยะยาว การปรับเปลี่ยนนโยบายของทางการไทยที่จะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค จะมีผลให้ผู้ประกอบการวางแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง

ประการต่อมาเมื่อมาพิจารณาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรง พบว่า

ในปี 2560 ไทยมีสถานะเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนฯทุกประเภทเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 14 ของโลก ทั้งนี้มีการส่งออกไปยังฐานผลิตยานยนต์ในอาเซียน (โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) สัดส่วนรวมกัน 28 % ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนฯรวมของไทย และมีการส่งออกชิ้นส่วนฯ ไปยังฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญอื่นๆ ของโลก อาทิ สหรัฐฯ (สัดส่วน 15%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8%) เป็นต้น

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์นั้น

  • ความต้องการชิ้นส่วนเพื่อการทดแทน (REM) คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งของจำนวนรถยนต์สะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี (รถยนต์ในโครงการรถคันแรกมีอายุครบ 5 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ เพิ่มขึ้นตามอายุและระยะทางการใช้งาน
  • การส่งออกชิ้นส่วนฯ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากการย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งมีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกับฐานการผลิตยานยนต์ทั่วโลก จะหนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ไทยยกระดับคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิต และสามารถขยายการส่งออกได้ต่อเนื่อง
  • อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีกว่า 1,100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ Tier 2–Tier 3 สนองตอบความต้องการในตลาด REM อาจมีความเสี่ยงจากการที่ผู้ผลิตต่างชาติโดยเฉพาะ SME ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยและแข่งขันในตลาด REM มากขึ้น
  • คาดว่ารายรับของผู้ผลิตส่วนประกอบ , ชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้ผลิตยางรถยนต์จะเติบโตดี ผู้ประกอบการจะมีโอกาสทำกำไรได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้จำหน่ายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์จะได้ประโยชน์จากปริมาณยานยนต์จดทะเบียนสะสมที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการในตลาดประกอบยานยนต์ (OEM) ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่องตามปริมาณการผลิตยานยนต์ที่ขยายตัวดี ส่วนตลาดเพื่อการทดแทน (REM) REM) ยังเติบโตตามปริมาณยานยนต์สะสมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาหรับตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามนโยบายของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกในภูมิภาค
  • เริ่มมีการลงทุนชิ้นส่วนฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทยโดยเฉพาะแบตเตอรี่ อาทิ ค่ายโตโยต้าลงทุนผลิตแบตเตอรี่นิเกิลเมทัลไฮดราย , ค่าย BMW วางแผนลงทุนผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้จะกระทบความต้องการใช้ชิ้นส่วนฯ บางประเภทในตลาด OEM ในระยะยาว อาทิ เครื่องยนต์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน ระบบจุดระเบิด เกียร์ เป็นต้น
  • ขณะที่ชิ้นส่วนฯ บางประเภท อาทิ ชิ้นส่วนช่วงล่าง (Suspension) ตัวถัง ระบบส่องสว่าง อุปกรณ์ภายในรถ เป็นต้น จะยังมีความต้องการต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนฯ ที่ยังมีความจำเป็น
  • นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้า BEVs ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังจะช่วยยืดอายุการใช้งานชิ้นส่วนฯ บางประเภทมีผลให้ความถี่ในการเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ลดลง เช่นยางรถยนต์ ผ้าเบรก เป็นต้น อีกทั้งรถยนต์ในอนาคตจะมีระบบช่วยในการขับขี่ให้ปลอดภัยมากขึ้น อาจมีผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาด REM มีแนวโน้มลดลงด้วย

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังจะปรับปรุงเงื่อนไขการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศใหม่ด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (local content requirement) มาเป็น 90 % โดยนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชิ้นส่วนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทยซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 รองจากตลาดญี่ปุ่น

พบว่า ผู้ส่งออกชิ้นส่วน/อุปกรณ์ยานยนต์ไปอินโดนีเซีย 10 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์แมนูแฟคเจอริ่ง, บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย), บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์, บริษัทฮีโน่มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย), บริษัทโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์), บริษัทไทย-สวีดิชแอสเซมบลีย์, บริษัทอีซูซุ โกลบอล ซีวี เอ็นจิเนียริ่ง เซ็นเตอร์, บริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์, บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) และบริษัทเอ็นทีเอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)[5]

          (ปรากฎการณ์ที่ 5) : การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์กับการขาดแคลนแรงงานฝีมือและการเข้ามาแทนที่ด้วยหุ่นยนต์

จากรายงานของ International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบที่ต้องจัดการเอง (Manual) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 แต่สำหรับในอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงความต้องการตลาด ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติสามารถตอบสนองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยปัจจุบันการผลิตและการประกอบยานยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดที่ลดลง ค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ (กันยายน 2560) คาดการณ์ว่าหุ่นยนต์อาจเข้ามาทำงานแทนแรงงานไทยกว่า 6.5 แสนคน ภายในปี 2573 ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robots: IR) ทั้งส่งเสริมกิจการที่ผลิตหุ่นยนต์ และส่งเสริมให้มีการใช้หุ่นยนต์ รวมถึงจากสถานการณ์ที่การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานเริ่มมีความคุ้มค่ามากขึ้นในปัจจุบัน

กลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆที่แรงงานมีโอกาสถูกแทนที่ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) และมีลักษณะงานที่ทำซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่ม ที่มีการจ้างงานรวมกันราว 2 ล้านคน

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ต่อการผลิตรถยนต์ของไทยที่อยู่ในระดับ 16 ตัวต่อการผลิตรถยนต์ 1,000 คัน มีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 40 ตัวต่อการผลิตรถยนต์ 1,000 คัน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการจะลงทุนในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต

ในปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้ามาหุ่นยนต์ราว 13,500 ตัว ส่วนมากใช้ในโรงงานยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม

ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนในหุ่นยนต์ในงานเชื่อมสปอต (spot welding) สามารถทดแทนการใช้แรงงานได้ประมาณ 5 คนต่อตัว ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณตัวละ 3.5 – 4.5 ล้านบาท กับต้นทุนการจ้างแรงงานเชื่อมสปอตในปัจจุบันที่มีค่าแรงวันละ 400 – 480 บาท พบว่าระยะเวลาที่ผู้ประกอบการจะคุ้มทุนจากการลงทุนในหุ่นยนต์จะอยู่ที่ราว 8-10 ปี

ขณะที่การใช้งานหุ่นยนต์สำหรับงานทั่วไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 1.2 ล้านบาทต่อตัว และสามารถทดแทนแรงงานได้ราว 2 คนต่อตัว ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี จากอัตราค่าจ้างในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 300 – 450 บาทต่อวัน

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาคุ้มทุนกับอายุการใช้งานหุ่นยนต์ที่มีอายุประมาณ 8-12 ปี จึงสามารถสรุปได้ว่า ณ ระดับค่าจ้างในปัจจุบัน การลงทุนในหุ่นยนต์เพื่อทดแทนการใช้แรงงานอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว สอดคล้องกับที่สถาบันยานยนต์ (พฤษภาคม 2561) ระบุว่าแนวโน้มกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2563 ไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 70 % สูงที่สุดในอาเซียน

ปัจจุบันพบว่าภาคเอกชนไทยหลายรายนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานเพื่อทดแทนแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิต เช่นกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่ในสิ้นปี 2560 ได้มีแผนการเพิ่มหุ่นยนต์ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้ได้ 2,000 ตัว โดยบริษัทนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบัน (2560) มีจำนวน 1,765 ตัว และ 3 ปีที่ผ่านมา สามารถทดแทนคนงานได้ถึง 5,000 คน เช่น การใช้หุ่นยนต์แขนกลผลิตชิ้นส่วนแผงเหล็กกั้นระหว่างห้องเครื่องกับคอนโซนรถยนต์ของบริษัทไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำงานแทนคน จากเดิมที่ต้องใช้แรงงาน 15 คน ลดเหลือแค่ 5 คน ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตได้มากถึงร้อยละ 50[6]

          (ปรากฎการณ์ที่ 6) : การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเมษายน 2561 มีผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs เท่านั้น

จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อมีนาคม 2561 พบว่า มีเพียงภาคการผลิตบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ผลกระทบโดยรวมยังค่อนข้างจำกัดทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตรวม และราคาสินค้าผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน

กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอยู่ปลายน้ำของสายพานการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบมากทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เป็นต้น กลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึงราวร้อยละ 40 โดยเฉพาะ SMEs ภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงราวร้อยละ 80

อย่างไรก็ตามทางภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ทั้งโครงการช่วยเพิ่มผลิตภาพ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการให้ SMEs สามารถนำค่าจ้างรายวันไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือ SMEs ในช่วงของการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่กำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 1.15 เท่า ของค่าจ้างรายวันที่จ่ายแก่ลูกจ้าง ส่าหรับค่าจ้างที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2561

หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งครอบคลุมถึงการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกิจการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ , ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 200 ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดฝึกอบรมบุคคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางที่สูงขึ้น อาทิ การวิเคราะห์ระบบข้อมูล (Big Data Analysis) Big Data Analysis)

          (ปรากฎการณ์ที่ 7) : อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ในปี 2559 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมีจำนวนผู้ผลิตประมาณ 400 ราย ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าส่งต่อให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำของโลก อาทิ มิตซูบิชิ ,โซนี่ , แอลจี , ซัมซุง , โตชิบา เป็นต้น และ (2) ผู้ผลิตสัญชาติไทยทั้งผู้รับจ้างผลิตสินค้าแบรนด์อื่น และผู้ผลิตที่มีการพัฒนาแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าของตนเอง ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทยกลุ่มเครื่องปรับอากาศ เช่น ทาซากิ , ซัยโจ-เดนกิ  ,ยูนิแอร์ , เซ็นทรัลแอร์ เป็นต้น กลุ่มพัดลม เช่น ฮาตาริ , แอคคอร์ด , มาสเตอร์คูล เป็นต้น[7]

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 65-75 % ของปริมาณการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน (สัดส่วน 22.4 %) สหรัฐฯ (14.4 %) ญี่ปุ่น (13.9 %) สหภาพยุโรป (12.5 %) โดยเป็นการส่งออกเครื่องปรับอากาศสัดส่วน 22.1 % ของมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โทรทัศน์และวิทยุ 12.9 %ตู้เย็น 8.5 % เครื่องซักผ้า 5.2 % คอมเพรสเซอร์ 4.4 % วีดีโอ 2.3 % และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น 44.6%

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรม ดังนี้

  • ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศจะมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและกาลังซื้อภาคครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นภายหลังจากภาระหนี้โครงการรถคันแรกทยอยครบกำหนด ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยฟื้นตัวทำให้มีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคบางส่วนจะมีความต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนชั้นกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา ยังไม่มีฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศทำให้จาเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า
  • ยังมีปัจจัยหนุนจากความต้องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศเป็นระบบอินเวอร์เตอร์ที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าซึ่งจะหนุนความต้องการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ แนวโน้มตลาดเช่นนี้จะส่งผลให้รายรับของผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตดีต่อเนื่อง
  • ไทยยังคงได้อานิสงส์จากการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งออกที่สำคัญ และมีศักยภาพในการแข่งขันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็น (อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่ คอมเพรสเซอร์ เป็นต้น) ซึ่งบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ยังมีแผนขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่องโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์และส่วนประกอบเพื่อเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาคจึงยังหนุนการเติบโตของการส่งออก
  • ในระยะปานกลาง -ยาว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมใหม่ จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง อาทิ กลุ่มเครื่องทำความเย็น และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
  • ขณะเดียวกันยังพบว่า สิทธิประโยชน์ที่ BOI ให้แก่นักลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับไทย พบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ EEC มีมากกว่าของประเทศอื่น ๆ และมีข้อจำกัดน้อยกว่า รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอีกหลายประการ นับว่าเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้

ดังนั้น จากการฉายภาพให้เห็นทั้ง 7 ปรากฎการณ์การลงทุนจากต่างประเทศในไทย รวมถึงคณะจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (The Japanese Chamber of Commerce-JCC) เข้าพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงสะท้อนอะไรให้ฝ่ายองค์กรแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานต่างๆได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

  • นโยบายของรัฐบาลไม่ว่ายุคสมัยใดยังคงมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การรวมตัวเป็นองค์กรแรงงานและการเจรจาต่อรองเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ยังถูกมองว่าเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ยังคงมอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องค่าจ้าง สภาพการจ้าง สวัสดิการของคนงานให้กับนายจ้างและฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ กระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาดำเนินกิจการ มีมาตรการหลายอย่างเพื่อกีดกันคนงานไม่ให้รวมตัวกัน บรรษัทข้ามชาติส่วนหนึ่งมีนโยบายเชิงรุกเพื่อที่จะทำลายสหภาพแรงงานในรูปของการนำกลไกทางกฎหมาย กระบวนการทางศาล และกลไกกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือมากกว่าการเผชิญหน้าหรือปะทะโดยตรงแบบในอดีตที่ผ่านมา
  • การปรับตัวของรัฐราชการไทยโดยตรง ในการเป็นกลไกจัดตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการที่ตัวแทนมาจากภาคส่วนต่างๆทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อมาทำหน้าที่แทน “องค์กรแรงงานระดับต่างๆ” กระทั่งแทน “สหภาพแรงงาน” เพื่อทำหน้าที่เชื่อมความเข้าใจนายจ้าง-ลูกจ้างในกิจการที่มีแนวโน้มด้านการละเมิดสิทธิแรงงานสูงและนายจ้างไม่ยอมรับบทบาทสหภาพแรงงาน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เองยิ่งลดทอนความขัดแย้งในสถานประกอบการที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เหลือในรูปคณะกรรมการที่มีการประชุมเป็นครั้งๆไป และมองเป็นปัญหาระดับสถานประกอบการไม่ใช่ปัญหาระดับโครงสร้าง ที่ “ทุนข้ามชาติ” มีแนวนโยบายกำจัดบทบาทองค์กรแรงงานให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ทุนมีกำไรสูงสุด
  • บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยแม้จะมีความเข้าใจและมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานในประเทศตนมาก่อน เช่น บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นหรือจากประเทศทางยุโรป แต่พอมาลงทุนในไทยกลับไม่ยอมรับการมีสหภาพแรงงาน เพราะคาดหวังที่จะเข้าประกอบกิจการเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเผชิญกับการรวมตัวและเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานหรือองค์กรแรงงานต่างๆ และยิ่งมีทัศนะเชิงลบต่อสหภาพแรงงานก็ยิ่งทำให้การรวมตัวจัดตั้งของคนงาน ยังถือเป็นเรื่องยากแม้ในบริษัทข้ามชาติที่มีธรรมเนียมการทำงานกับสหภาพแรงงานมาก่อนก็ตาม
  • บทบาทของ “ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ชมรมบริหารบุคคลต่างๆ” กลายเป็นกลไกสำคัญของการอยู่รอดของ “สหภาพแรงงานในสถานประกอบการ” พบว่าปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานในปัจจุบันมักเป็นความขัดแย้งเชิงข้อกฎหมาย เนื่องจากทั้งนายจ้างกับลูกจ้างต่างมีความรู้และประสบการณ์เรื่องกฎหมายแรงงานมากขึ้น นายจ้างตัวจริงที่เป็นทุนข้ามชาติมักจะลดการเผชิญหน้าโดยตรง แต่จะกำหนดหรือมอบนโยบายหลัก และมอบหมายให้“ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ฝ่ายบุคคล”เป็นผู้เจรจาต่อรองแทน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารของกลุ่มบุคคลนี้กับสหภาพแรงงาน หรือ “ชมรมบริหารบุคคล” กับ “องค์กรแรงงานระดับสูงเหนือกว่าสหภาพแรงงาน” ที่มีวิธีคิดกำกับอยู่เบื้องหลัง “ไพร่-ศักดินา/นาย-บ่าว” หรือ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” หรือ “ความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบพ่อลูก” เหล่านี้คือทิศทางและผลสรุปที่จะชักนำให้นายจ้างตัวจริงมีมติออกมาในรูปแบบต่างๆ
  • คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 องค์กรภาคธุรกิจ คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทุนภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลไกและช่องทางของ กรอ. นี้เองก็ได้เป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทุนสามารถเข้าสู่กลไกอื่นๆ ของรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย คณะกรรมการชุดต่างๆที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐได้กำหนดให้มีตัวแทนของฝ่ายทุนเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดต่างๆเสมอไป ขณะที่ภาคแรงงานมักถูกมองข้ามว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ควรมีสิทธิในกระบวนการตัดสินใจดังกล่าวร่วมด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เอาเข้าจริงแล้วท้ายที่สุดเมื่อทุนยังดำเนินไปด้วยวิถีทุน การปรับบทบาททัศนคติของบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนการด้านแรงงานต่างๆ  เพื่อให้เกิดกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่สัมฤทธิ์ผลสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้

แน่นอนนี้ย่อมมิพักใช่เรื่องที่สามารถกระทำได้เร็ววัน เพราะต้องมีการนำหลักคิดเรื่องความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการที่รัฐสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมเป็นภาคีพันธมิตร (alliance) ในการพัฒนาของรัฐในทุกระดับ  ยอมรับบทบาทของสหภาพแรงงานในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (Fully equal partners) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและเพื่อเพิ่มผลผลิตควบคู่กันไป ยืดหยุ่นทางการปฏิบัติด้านแรงงานสัมพันธ์ไม่ใช่การยึดข้อกฎหมายประการเดียว โดยเฉพาะการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานระดับต่างๆได้เติบโต มีบทบาทสำคัญในการจัดการวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งด้วยการร่วมกันภายในสถานประกอบการและมีส่วนร่วมกับภาครัฐในวงกว้าง เพื่อให้บรรลุแนวทางเป้าหมาย “การทำงานที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง”

—————————————————————————–

[1] สารจากประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประธานลำดับที่ 54 นายมิจิโนบุ ซึงาตะ มิถุนายน 2561

[2] ไทยคว้าอันดับ 1 ประเทศน่าเริ่มต้นธุรกิจที่สุดในโลก โพสต์ทูเดย์วันที่ 26 ม.ค. 2561 และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (เอกสารอัดสำเนา)

[3] สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายเดือนปี 2560 โดย BOI

[4] ทัพธุรกิจญี่ปุ่นดาหน้าลงทุนไทย “สมคิด”โรดโชว์รอบใหม่ดึง SME ประชาชาติธุรกิจ 29 มกราคม 2561

[5] ประชาชาติธุรกิจ 18 พฤษภาคม 2561

[6] ไทยซัมมิทเพิ่มหุ่นยนต์ 2,000 ตัวสิ้นปีนี้ https://www.voicetv.co.th/read/523282

[7] ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธันวาคม 2560