คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (11)

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (11)

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

พบกันเช่นเคยนะครับ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพูดคุยกันเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน หรือ ความเป็นธรรมทางด้านแรงงาน ในครั้งนี้ก็มีหลายเรื่องหลายประเด็นมาคุยกันนะครับ แต่ต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อเรียนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ต้องนำไปแลกเปลี่ยน บอกต่อ หรือไปช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่รู้หรือต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเครือข่ายกลุ่มเพื่อนต่าง ๆ ก็ไปกระจายขยายผล โดยเฉพาะหากเป็นผู้นำกลุ่ม หรือองค์กรก็จะเป็นประโยชน์หากได้นำไปทดลองปฏิบัติในองค์กรของตน นั่นแหละคือบททดสอบครับ

เรื่องแรก : นโยบายลดภาวะโลกร้อนของธุรกิจกับผลกระทบต่อแรงงาน

เราได้คุยเรื่องนี้กันแล้วในคลินิกกฎหมายด้านแรงงานตอนที่ 9  ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิFES และผู้นำแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สนใจและเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ ซึ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาประมาณปีเศษแล้ว ได้นัดหมายกันมาสรุปงานร่วมกันและวางแผนงานที่จะทำร่วมกันในอนาคต

ประเด็นที่จะขอย้ำกันอีกครั้งหนึ่งก็คือ

  • การดำเนินนโยบายลดภาวะโลกร้อนของธุรกิจสาขาต่าง ๆ ยังขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรแรงงานตั้งแต่ต้น แต่จะชวนองค์กรแรงงานไปร่วมในขั้นตอนปฏิบัติการแล้ว
  • สถานการณ์ปัญหานี้มีตั้งแต่ระดับสถานประกอบการ ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ รวมทั้งความเชื่อมโยงกันในระดับสากลด้วย
  • การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวนี้ เกิดผลกระทบต่อแรงงานแน่นอนชัดเจนแล้ว ในหลายด้านหลายมิติ และกระทบในวงกว้างหรือแรงงานกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทบต่อรูปแบบการจ้างงาน โครงสร้างและขั้นตอนการผลิต และที่ต้องเจอแน่ๆก็คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทดแทน ส่งผลให้มีการยุบหน่วยงาน ลดกำลังแรงงานลง การย้ายสถานที่ทำงาน รวมทั้งการเลิกจ้างคราวละมากๆ โดยมาตรการสมัครใจลาออก หรือที่ฝ่ายธุรกิจผลิตวาทกรรมในนาม “โครงการร่วมใจจาก หรือจำใจจาก” เพื่อให้ฟังแล้ว “ดูดีมีความเป็นธรรม” จะได้ไม่ต้องไปสืบสาวราวเรื่อง หรือสอบถามเหตุผล หรือถามหาความเป็นธรรมกันให้ยืดยาว เรื่องราวจะได้ยุติลงโดยเร็ว ขอย้ำอีกครั้งว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหารุนแรงในอนาคตอันใกล้นี้ องค์กรแรงงาน องค์กรภาคประชาสังคม และแม้แต่หน่วยงานของรัฐ ได้ตระเตรียมความพร้อมกันแล้วหรือไม่
  • มาตรการสำหรับเรื่องนี้ มีตั้งแต่ การป้องกัน การแก้ไข การลดผลกระทบ และการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และประการสำคัญภาคส่วนต่าง ๆ ยังขาดการรับรู้และเข้าใจในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม  เป็นที่น่ายินดีว่า ผู้นำองค์กรแรงงานต่าง ๆ ที่มาร่วมงานกันในครั้งนี้ และที่ได้ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาปีเศษ เห็นตรงกันว่า นโยบายดังกล่าวกระทบต่อแรงงานและครอบครัวโดยตรง เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในการทำงาน  อย่างน้อยตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ว่า ในระยะ ๒ ปี จำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานเรื่องนี้ มีผู้นำแรงงานหรืออาสาสมัครแรงงานที่มีความเข้าใจในประเด็นนี้เป็นอย่างดี และมีทักษะในการทำหน้าที่สื่อสารสังคมทั้งในสถานประกอบการ ระดับอุตสาหกรรม ชุมชน และสาธารณะ โดยเฉพาะเห็นได้ว่าภาคประชาชนมีการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ  มีการสร้างเครือข่ายกับแรงงานที่ได้รับผลกระทบทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งเชื่อมประสานกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย และเนื่องจากคาดหวังกันว่า ประเทศไทยน่าจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นควรจัดทำข้อเสนอนโยบายในเรื่องนี้ ต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ หรือดำเนินกิจกรรมเพื่อให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ประชันขันแข่งกันในเวทีสาธารณะ เพื่อให้กลุ่มแรงงานและประชาชนทั่วไปได้พิจารณานโยบายของพรรคการเมือง รวมทั้งข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาลด้วย เนื่องจากยังไม่มีมาตรการชดเชยหรือเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดโลกร้อน ก็หวังว่าผู้นำองค์กรแรงงานต่าง ๆ จะมองเห็นปัญหาและผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ และร่วมกันคิดร่วมกันปฏิบัติการอย่างจริงจังยั่งยืนต่อไปนะครับ

เรื่องที่ 2 : การเรียกร้องสิทธิหรือการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ควรไปศาลแรงงานหรือพนักงานตรวจแรงงาน

เรื่องนี้เคยมีปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว เริ่มจากจุดที่ว่า ไปพนักงานตรวจแรงงาน พอมีคำสั่งนายจ้างกลับฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ศาลแรงงาน คดีก็ต้องมาขึ้นศาลอยู่ดี  ลูกจ้างจึงเข้าใจผิดว่า อ้าวแล้วไปร้องพนักงานตรวจทำไม มาศาลเสียทีเดียวเลยไม่ดีกว่าหรือ ไปเสียเวลาทำไม มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่บางคนก็กลับแนะนำลูกจ้างทำนองนั้น จึงเกิดปัญหาและทำให้เกิดความเข้าใจกฎหมายแบบผิดๆ ผู้เขียนทราบว่า เคยมีกรณีเกิดขึ้นที่ศาลแรงงานแห่งหนึ่ง ศาลถามลูกจ้างว่า เรื่องเหล่านี้ทำไมต้องมาศาล ทำไมไม่ไปร้องพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้างตอบว่าไปมาแล้ว แต่พนักงานตรวจแรงงานบอกให้มาศาลเลย จะได้ไม่เสียเวลา เพราะพอพนักงานตรวจแรงงานสั่ง นายจ้างก็ฟ้องศาลอยู่ดี ทราบว่าศาลได้เรียกเจ้าหน้าที่มาสอบถามและทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

ดังนั้น จะตอบฟันธงไปเลยว่าต้องเลือกอันใดอันหนึ่งคงไม่ได้ครับ ต้องไปดูสาระของกฎหมาย เพราะผู้ตรากฎหมายก็เขียนกฎหมายออกไปทางยุ่งๆเหยิง ๆ อยู่เหมือนกันครับ บางประเด็นต้องยื่นเรื่องไปที่พนักงานตรวจแรงงานก่อน บางประเด็นไปที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลายประเด็นจะไปที่พนักงานตรวจแรงงานหรือจะไปยื่นฟ้องที่ศาลแรงงานก็ได้ เช่น

ตามมาตรา 40 กรณีนายจ้างจะให้ลูกจ้างหญิงทำงานระหว่างเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า หากพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่า งานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างหญิงนั้น  ให้พนักงานตรวจแรงงานรายงานต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อพิจารณาสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือลดชั่วโมงทำงาน และนายจ้างต้องปฏิบัติตาม

นี่ก็เคยมีตัวอย่างโต้เถียงกันมาแล้ว ว่าเป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงานเอง มิใช่ลูกจ้างจะมาร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หมายความว่า เรื่องของผม เรื่องของฉันในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน แรงงานไม่มีสิทธิมาร้อง นี่ก็ไม่รู้ว่าแปลความกฎหมายกันตามหลักอะไรนะครับ

ประเด็นก็คือว่า จริงที่กฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ก็คืองานของพนักงานตรวจแรงงาน ปัญหาก็คือว่า แล้วพนักงานตรวจจะทราบว่ามีเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร ลำพังแค่พนักงานตรวจแรงงานไปตรวจสถานประกอบการคงไม่ทันกินละครับ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการลูกจ้าง สหภาพแรงงาน หรือผู้นำแรงงาน หรือใครก็ตามที่เขาทำหน้าที่พลเมืองดีได้แจ้งเรื่องไปที่พนักงานตรวจแรงงาน ท่านก็ควรรับเรื่องและมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการหรือให้มีการสั่งการตามกฎหมายต่อไป

กรณีตามมาตรา 75 กรณีจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 75

หากนายจ้างจำเป็นต้องใช้สิทธิดังกล่าว มาตรา 75 กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งการใช้สิทธิให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่าสามวันทำการ

บางกรณีกฎหมายก็มีข้อกำหนดพิเศษ ให้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เรื่องการย้ายสถานประกอบการที่มีผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของลูกจ้างหรือครอบครัว ตามมาตรา 120  หากมีกรณีโต้เถียงกันว่า นายจ้างทำถูกกฎหมายแล้วหรือไม่ หรือเข้าข่ายกรณีนี้หรือไม่ ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานเท่านั้น จะไปยื่นพนักงานตรวจแรงงานก็ไม่ถูก อธิบดีกรมสวัสดิการก็ไม่ใช่ ไปศาลแรงงานเลยก็ไม่ได้

แต่ถ้าเป็นการเรียกร้องสิทธิที่เป็นตัวเงิน (ไม่รวมตัวทอง) อันนี้ลูกจ้างสามารถเลือกที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือจะไปฟ้องศาลแรงงานก็ได้ แต่ถ้ายื่นเรื่องเดียวกันทั้ง 2 ที่ในคราวเดียวกัน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เราเลือกอันใดอันหนึ่ง

ขอทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ ถ้าการเรียกร้องสิทธิมีเฉพาะเรื่องเงินตามกฎหมายฉบับนี้ ขอแนะนำให้ไปยื่นเรื่องต่อพนักงานตรวจแรงงาน คือ ต้องกรอกตามแบบคำร้อง (คร. 7) แล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ที่แนะนำอย่างนี้ เพราะกฎหมายมอบหมายงานนี้ให้พนักงานตรวจแรงงานทำหน้าที่คุ้มครองแรงงาน เมื่อมีคำสั่งแล้วจะเกิดผลตามกฎหมายอันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง คือ ถ้านายจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งและใช้สิทธิทางศาล ก็ต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง และต้องนำเงินตามจำนวนที่

พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งมาวางต่อศาลแรงงานที่ฟ้องคดี ศาลจึงจะรับฟ้องไว้พิจารณา ถ้าไม่วางหรือวางไม่ครบ ศาลจะไม่รับฟ้องไว้พิจารณา อันนี้ก็เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างมากมาย คือนายจ้างต้องคิดคำนวณว่าระหว่างจ่ายเงินให้ลูกจ้างกับดำเนินคดีต่อไป อันไหนจะคุ้มได้คุ้มเสียกว่ากัน ฝั่งลูกจ้างก็ไม่ต้องกังวลว่า ดำเนินคดีนานไปนายจ้างจะมีเงินจ่ายหรือไม่  หรืออาจปิดกิจการ หรือขาดทุนจนไม่มีทรัพย์สินพอใช้หนี้ ก็เงินที่วางศาลไว้จะเป็นหลักประกันจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ถ้าลูกจ้างชนะคดี ก็ขอรับเงินที่วางไว้ได้ หากนายจ้างชนะคดีก็ขอรับเงินคืนจากศาล

อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน คือหากร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจมีคำสั่งแล้ว ลูกจ้างมีช่องทางการใช้สิทธิเพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง คือ การขอรับเงินค่าจ้างหรือค่าชดเชย หรือทั้ง 2 รายการ รวมกันไม่เกิน 60 วัน คิดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ในกรณีที่นายจ้างประสบภาวะขาดทุน หรือปิดกิจการ หรือไม่มีเงินจ่าย

หรือถ้านายจ้างไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง คดีถึงที่สุด นายจ้างอาจถูกดำเนินคดีอาญาอีกทางหนึ่งด้วย คือลูกจ้างสามารถประสานกับพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับนายจ้างกรณีที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพนักงานตรวจแรงงานเองก็มีสิทธิดำเนินคดีอาญากับนายจ้างฐานขัดคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน เรียกว่า กฎหมายแรงงานก็วางมาตรการไว้แล้ว ถ้าเบี้ยวก็เจออาญาอีกด้วย

กรณีที่จะต้องพิจารณาหรือประเมินดูก็คือ กรณีที่มีทั้งการละเมิดสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น จ่ายค่าล่วงเวลาไม่ครบ วันพักร้อนไม่ถูกต้อง  หักค่าจ้างไม่ถูกต้อง ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง และมีประเด็นเรื่อง การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมด้วย อันนี้โดยกระบวนการทางกฎหมายลูกจ้างมีสิทธิเลือก 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ส่วนเรื่องเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหาย ไปฟ้องศาลแรงงาน จะดำเนินในห้วงเวลาเดียวกัน หรือจะให้จบชั้นพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่เท่ากับต้องดำเนินการ ๒ หน่วยงาน มีภาระด้านค่าใช้จ่ายและเวลา แต่มีหลักประกันทางกฎหมายมากกว่า

แบบที่ 2 ฟ้องศาลแรงงานทั้งสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อันนี้เป็นการดำเนินคดีคราวเดียว แต่การคุ้มครองทางกฎหมายน้อยกว่าแบบที่ 1

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการใช้สิทธิทางกฎหมาย ขอแนะนำให้ลูกจ้างได้ปรึกษากับองค์กรแรงงาน หรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน หรือสภาทนายความที่มีบริการให้คำแนะนำปรึกษาหรือช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ

เรื่องที่ 3 : มีคำถามว่าประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับ แก้ไขปรับปรุงมาก็หลายครั้งหลายครา ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช. แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ นายจ้างก็หาทางหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายโดยคำแนะนำของที่ปรึกษา  ในที่สุดลูกจ้างก็ต้องเป็นฝ่ายลำบากไปดำเนินคดีกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มันเป็นธรรมสำหรับลูกจ้างแล้วหรือ

ตอนแรกที่ฟังคำถามกึ่งๆระบาย ผู้เขียนก็ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน เพราะผู้เขียนเองก็เคยชินกับความคิดที่ว่า ถ้าลูกจ้างถูกละเมิดหรือนายจ้างทำผิดกฎหมาย ก็ไปดำเนินคดีซิ  ร้องเรียนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซิ ถ้าเรื่องใหญ่มากๆกระทบมากๆ  ก็ร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเลย หรือถ้าเป็นประเด็นกระทบสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ก็ให้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แล้วก็นึกคิดย้อนอดีตไป ก็พบว่าในประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาช้านานแล้ว มีข้อเสนอแนะกันมากมาย แต่ปัญหาก็ดูเหมือนพายเรือในอ่าง

ก็จริงนะ เราได้แต่แนะนำและเรียกร้องให้แรงงานลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมายและช่องทางที่ประเทศนี้มีให้  กระทรวงแรงงานเองก็เน้นย้ำตลอดมาให้แรงงานมายื่นคำร้อง มาใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยแจ้งว่าแต่ละกรมกองมีนิติกรและเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือทางคดี โดยไม่ได้คิดค่าบริการ

แต่ลืมนึกไปว่า ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายนักหากประชาชนคนยากคนจน จะต้องดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว เขาต้องลำบากขนาดไหนในการใช้สิทธิตามกฎหมาย หลายคดีเขาต้องดำเนินคดีด้วยตนเอง ทั้งในชั้นต้น จนถึงชั้นฎีกา แม้คดีถึงที่สุดแล้ว ยังต้องไปลำบากดำเนินการในชั้นบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์นายจ้างมาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคือลูกจ้างผู้ฟ้องคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะลูกจ้างต้องดำเนินคดีกับนายจ้าง หรือผู้ที่ตนต้องพึ่งพางานหรือรายได้ในการดำรงชีพทั้งเพื่อตนเองและครอบครัว อีกทั้งหากมีการดำเนินคดีกับนายจ้างแล้ว ยังจะต้องพะวักพะวงว่า  จะยังมีหลักประกันในการทำงานในอนาคตหรือไม่

ดังนั้น หากยอมรับความจริงว่า ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเปราะบางและลูกจ้างอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง และต้องพึ่งพารายได้หรือเศรษฐกิจจากนายจ้าง  การกระตุ้นหรือผลักดันให้ลูกจ้างดำเนินคดีกับนายจ้าง น่าจะเป็นหนทางนำลูกจ้างไปสู่ภาวะที่ยากลำบากและเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น ยกเว้นลูกจ้างที่มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กร หรือมีองค์กรที่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ หรือลูกจ้างที่มีความกล้าหาญ มีความพร้อมทางความคิด หรือมีสำนึกในการปกป้องสิทธิหรือความยุติธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ลูกจ้างส่วนนี้ยังมีจำนวนน้อย

ผู้เขียนคิดว่า หลายปีที่ผ่านมา ลูกจ้างส่วนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการพึ่งตนเองในการแก้ไขปัญหา หรือปกป้องสิทธิของตน แต่มันไม่ทันกับฝ่ายที่สร้างปัญหา ทางแก้ที่จะเกิดผลก็คือ กระทรวงแรงงานจะต้องมีความเด็ดขาดและจริงจัง กับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง คือทำกฎหมายให้มีพลังและมีความหมาย ที่เรียกกันว่าบังคับใช้กฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ยึดเจตนารมณ์ ตรงไปตรงมา ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม หน้ายักษ์หน้ามาร ยึดประชาชนและประเทศชาติเป็นเป้าหมาย เข้มแข็งในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม และอย่าชักช้า อำนาจตามกฎหมายกระทรวงแรงงานมีเกินพอแล้วครับ ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าการคุ้มครองแรงงานในบ้านเมืองไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญก้าวหน้า เพราะจะว่าไปแล้ว กระทรวงแรงงานเปรียบเสมือนป้อมปราการด่านแรก หรือต้นทางของกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ถ้าทำตรงนี้ให้ดี ให้เร็ว ให้บังเกิดผล ก็จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม กลไกอื่น ๆ อาจไม่จำเป็น หรือสามารถปรับลดให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ ประเทศชาติจะได้มีงบประมาณไปพัฒนาในส่วนที่จำเป็นอื่นต่อไป

เรื่องสุดท้าย : กรณีเลิกจ้างจำนวนมาก ๆ หรือยุบหน่วยงาน และใช้วิธีการให้ลูกจ้างลาออกโดยให้เงินเพิ่มจากสิทธิขั้นพื้นฐานอีกจำนวนหนึ่ง

ครั้งนี้ตั้งใจว่าจะคุยกันแค่ 3 เรื่อง ก็ไปเห็นข่าวในโซเชี่ยล วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เทสโก้โลตัสยุบหน่วยงาน หรือลดกำลังแรงงานลงเป็นจำนวนมาก แต่จ่ายสิทธิพื้นฐานให้ตามกฎหมายบวกเงินเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ประมาณ 1 ถึง 3 เดือนตามอายุงานมากน้อยของแต่ละคน เกิดอาการช็อคประเทศกันไป ความจริงจะเป็นอย่างไร คงต้องรอสื่อสารมวลชนทำหน้าที่ หรือฟังคำชี้แจงจากเทสโก้โลตัส

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้รับข้อมูลจากผู้นำแรงงานอาวุโสท่านหนึ่งยืนยันว่า บางสาขามีการลดกำลังคนลงเกินกว่า 20 คน และมีการลดกำลังคนเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ในปี 2560 เทสโก้โลตัส มีกำไรติดอันดับ8 ทุกท่านก็ควรติดตามข่าวคราวเรื่องนี้กันต่อไปนะครับ  ดังนั้น กรณีนี้จึงมิใช่เรื่องของนายจ้างลูกจ้างของเทสโก้โลตัสเท่านั้นนะครับ  แต่เป็นปัญหาของสังคมและประเทศชาติครับ

เรื่องทำนองนี้ ผู้เขียนเคยหยิบยกมาพูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ครั้งต้น ๆ แล้วครับ ลองพลิกย้อนไปอ่านดูนะครับ แต่จะย้ำอีกทีว่า กรณีนี้เป็นกรณีประจวบเหมาะของแม่น้ำ 3 สาย คือ(1)แม่น้ำสายความรับผิดชอบที่ควรจะเป็นของธุรกิจ (2) แม่น้ำสายความยากจนข้นแค้นระคนความกลัวของลูกจ้าง และ(3) แม่น้ำสายความไม่เด็ดขาดจริงจังของภาครัฐ

ประเด็นแรก การลดกำลังแรงงานจำนวนมากๆ โดยกะทันหัน และจ่ายเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือบวกให้อีกนิดหน่อย มีความถามว่า เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจ(ขนาดใหญ่) ที่เพียงพอแล้วหรือยัง และได้แจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้ลูกจ้างได้ทราบล่วงหน้าในระยะเวลาพอควรในการเตรียมตัวรับความเสี่ยงหรือหางานใหม่ รวมทั้งหาทางแก้ไขความเดือดร้อนของครอบครัว เหตุผลความจำเป็นของธุรกิจเพียงพอหรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อาจถูกฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายได้อีก และจะเกิดคำถามว่า การดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วย หลักการความรับผิดชอบของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแล้วหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ในส่วนของลูกจ้างพบว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัด ไม่รู้หลักกฎหมาย ไม่เคยตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรม คิดตามวาทกรรมของนายทุน เช่น “กำขี้ดีกว่ากำตด” “ถ้านายจ้างไม่มีความจำเป็นจริงๆ เขาจะลดคนทำไม” “ฟ้องคดีไป ไม่รู้ว่าจะชนะหรือเปล่า จะได้เงินหรือเปล่า ได้เมื่อไหร่ อีกนาน” “เซ็นใบลาออกวันนี้ ได้เงินเลย” และประการสำคัญ ภาวะของลูกจ้างเต็มไปด้วยภาระค่าใช้จ่าย หนี้สิน และไม่มีการออมหรือออมได้เพียงเล็กน้อย เงินหมื่นยังไม่มีเก็บเลย นี่เขาจ่ายให้เป็นเงินแสนเลยนะ ในชีวิตนี้ยังไม่มีเงินแสนเลยนะ ดังนั้น จบวันนี้ดีที่สุด นี่คือข้อสรุปของลูกจ้าง และน่าจะเป็นความคิดส่วนใหญ่ การลาออกสมบูรณ์ไหม หรือจำยอม หรือถูกบังคับ โอ้!!! ลองคิดดูครับ ดังนั้น หากเซ็นใบลาออกแล้ว รับเงินแล้ว ธุรกิจเขารัดกุมครับเขามีวิธีปฏิบัติที่แนบเนียนรัดกุมครับ จะไปฟ้องคดีว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคงยากเพราะเขาไม่ได้เลิกจ้าง และการลาออกก็สมบูรณ์ ประเด็นที่พอจะพิจารณาได้คงเป็นเรื่องความเหมาะสม คุณธรรมจริยธรรมของธุรกิจมากกว่า เพราะธุรกิจยังประกอบการต่อไป มิได้ล้มเลิกหรือล้มหายตายจากไปจากประเทศไทย โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ของคนยากจนที่จะต้องหาทางแก้ไขต่อไป หากธุรกิจเขายังยึดถือทฤษฎีที่ว่า ยังมีคนจนมากพอให้เขาซื้อได้ในตลาดแรงงาน เหตุการณ์ทำนองนี้ก็คงมีให้เห็นอีกต่อไป

ประเด็นที่ 3 ส่วนภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกและเชิงป้องกันให้มากกว่านี้ ตามแก้ปัญหาไม่ไหวหรอกครับ เคยพูดเคยเสนอแนะกันแล้ว แต่ส่วนนโยบายยังไม่ได้ยิน หลักการสั้นๆ ครับ การปรับโครงสร้างการผลิต การยุบหน่วยงาน การลดกำลังแรงงาน การใช้เทคโนโลยีทดแทนและลดกำลังแรงงานลงจำนวนมาก เป็นต้น เป็นการบริหารจัดการของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสาธารณะและสังคม มิใช่เอกสิทธิหรือดุลพินิจอิสระของธุรกิจในการบริหารจัดการ แต่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดิน จำเป็นต้องถูกแทรกแซงโดยรัฐ ดังนั้นจำเป็นต้องมีนโยบาย กฎหมาย และมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกัน แก้ไข และชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว อย่าให้ประชาชนต้องลำบากและรันทดหดหู่ใจไปกว่านี้อีกเลยครับ

    @@@@@@@@@