แรงงานวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ “ไม่สุจริตใจ-ไม่ปรองดอง”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2561 เวลา 10.00-13.30 น. ณ ห้องเพทาย ชั้น G โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน  กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับโซลิดาริตี้ เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ได้จัดเสวนาเรื่อง วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (มีนาคม 2561) ฉบับ “ไม่สุจริตใจ-ไม่ปรองดอง”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่าเนื่องด้วยการที่กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์แรงงานในประเทศ และไม่สอดคล้องต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง

แต่ก็เข้าใจว่ากฎหมายแรงงานที่มีก็เป็นเพียงบรรทัดฐานเบื้องต้นในการใช้ดูแลสิทธิแรงงาน และการร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งตอนนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ในปัจจุบันนั้น ด้วยความต่างด้านสิทธิแรงงานและการแบ่งแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจกับแรงงานเอกชนออกจากกัน แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ฉบับเช่นเดิม ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ถอนตัวออกจากการมีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้การรวมตัวของแรงงานไม่สามารถที่จะสร้างเอกภาพได้อย่างต้องการ เพื่อเรียกร้องสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานกลุ่มไหน

การที่ คสรท.ได้ถอนตัวในการที่จะร่างกฎหมายต่อไปตามกระบวนการ อันนั้นก็ว่ากันไป แต่ว่าช่วงนี้ก็ถือว่าสามารถที่จะแก้ไขกฎหมายได้ เพราะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ ปีหน้าจะครบ 100 ปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเทศไทยมองอย่างไร ภายใต้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นี้จึงถือว่ากระทรวงแรงงานเองก็ยังสามารถที่จะนำข้อเสนอของแรงงานทุกกลุ่มไปปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างจริงจังต่อไป

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า การมาร่วมเวทีในวันนี้ถือว่าเป็นการมาแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อรับฟังประเด็นข้อเสนอเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงสิ่งที่ขาดและมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาจริงๆ

กฎหมาย คือ กติกาที่จะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม และต้องได้รับการยอมรับจากภาคีเครือข่าย และต้องมีการเปิดเผยเพื่อให้เกิดการปรับปรุง ให้เกิดการยอมรับกันทุกฝ่าย และการแก้ไขร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ก็เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น ทันกระแสโลกาภิวัตน์ การแก้ไขจึงสำคัญ รวมถึงในเรื่องการเรียกร้องให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 187 เรื่องความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีความคืบหน้าหลังจากที่มีการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว ดังนั้นการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ก็เช่นเดียวกัน

กระทรวงแรงงานมีความแน่วแน่ในการที่จะรับฟังความคิดเห็น เพราะถือว่าเป็นกติกาต้องได้รับการยอมรับ และเน้นให้ทุกคนใช้เป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับได้ร่วมกัน และเมื่อมีการรับฟังทุกฝ่าย รับฟังข้อทักท้วงของทุกภาคส่วนแล้ว รวมถึงเวทีนี้ก็จะนำไปเสนอเพื่อปรับปรุงและต้องยอมรับกติกาดังกล่าวต่อไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผู้บริหารก็ฝากให้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการฯดำเนินการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งดีใจที่วันนี้พวกเรามีการจัดเสวนาพูดคุยกัน เมื่อวานได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะนโยบายรัฐบาลนั้นเน้นกลไกประชารัฐ เน้นความโปร่งใสในการดูแลผู้ใช้แรงงาน คนทำงาน สิ่งที่ทำให้แรงงานไทยเชื่อมกับแรงงานโลกได้ เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ดี เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน เหล่านี้คือความห่วงใยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) กล่าวว่า CILT เป็นการรวมตัวของคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวของคนงานในโลกที่มีการรวมตัวข้ามอุตสาหกรรม เพื่อการปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่แรงงานมีความถดถอย ขณะที่ทุนรวมตัวกันมากขึ้น คนงานก็ต้องรวมตัวข้ามอุตสาหกรรม เช่น คนงานโลหะ คนงานตัดเย็บเสื้อผ้า เคมีภัณฑ์ เป็นการรวมกันเป็น IndustriALL Global Union รวมทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านคน จาก 140 กว่าประเทศ รวมถึงประเทศไทย

CILT พยายามรวมตัวให้สอดคล้องกับระดับสากล เป็นการรวมตัวขององค์กรแรงงาน TEAM แน่นอนบางส่วนมีความซ้อนกับพี่น้องในภาคตะวันออก, กลุ่ม G-CUT คือ กลุ่มพลังงานและเคมีภัณฑ์ และกลุ่ม
สิ่งทอ ที่ทราบกันว่าในสถานการณ์วันนี้และอนาคตสิ่งทอจะลำบาก ล้มหายตายจาก ก็ต้องปรับตัวกัน

อีกประการสำคัญ คือ เรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่มีจำนวนมาก นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ซึ่งมีการร้องเรียนไปยังองค์กรแรงงานโลกให้ทราบสถานการณ์แล้ว

สำหรับกรณีที่ประเทศไทยจะรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 นั้น มองว่าดูเหมือนเป็นการให้ลูกปืน แปลกๆ เพราะอย่างคนงานก็มีการรวมตัวกันมาก่อนแล้ว แต่พอในสมัย รสช. เมื่อปี 2534 ก็มีการแยกเป็นภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจ

รวมถึงในร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่นี้ก็มีการแก้ไขหลายมาตรา เช่น แรงงานข้ามชาติสามารถรวมตัวกันได้ เป็นต้น แม้จะมีการตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหม แน่นอนก็ต้องพิจารณากันต่อไปในรายละเอียดในเรื่องนี้

MR.Robert Pajkovski ผู้อำนวยการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC) กล่าวว่า ก่อนเข้ามาในห้องเสวนานี้ ผมเห็นที่จอดรถของโรงแรมมีรถหลายประเภทมาก โดยเฉพาะรถราคาแพงๆ เช่น Porsche แต่ผมเดินทางมาด้วยโตโยต้า หวังว่าห้องนี้ไม่มีคนรวย มีแต่คนทำงานทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานเพื่อจะได้มีเงินเลี้ยงดูตัวเองให้ได้

เมื่อวันเวลาจำนวนมากของพวกเราคือทำงาน จึงมีเวลานอน 6-7 ชั่วโมง หรือเวลาอยู่กับครอบครัวเพียง 4-5 ชั่วโมง นี้จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เราต้องเข้าใจว่า กฎหมายแรงงานถูกสร้างจากรัฐบาล ซึ่งเข้ามากำหนดวันเวลาทำงาน ชั่วโมงทำงาน เป็นเท่าไหร่ เราจะได้รับการคุ้มครองแรงงานขนาดไหน กำหนดกรอบต่างๆตรงนี้

คิดว่าหลายๆท่านคงได้ยินถึงแรงกดดันในการปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามเป็นการพูดถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมประมงมากกว่า แต่หลายสิ่งหลายอย่างสถานการณ์แรงงานไทยแม้ดีกว่าแต่ไม่ดีกว่าเยอะ ซึ่งคิดว่าเมื่อสถานการณ์แรงงานไทยไม่ดี แรงงานข้ามชาติคงดีได้ยาก ดังนั้นเราต้องสร้างให้เกิดสภาพการจ้างที่ดีและงานที่มีคุณค่า

ประเทศไทยถือเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทในระดับสากล การค้า เศรษฐกิจที่เชื่อมกับสากล สินค้าไทยส่งออกไปอเมริกา บริษัทข้ามชาติมาตั้งในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ผลประโยชน์ไม่คืนกลับคนทำงานเท่าไหร่นัก ผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนการค้า กระจุกอยู่กับคนเล็กๆเท่านั้น

ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในทุกที่ทั่วโลก ถ้ามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพม่า ลาว กัมพูชา ประเทศไทยอาจพัฒนามากกว่าโดยเฉพาะด้านแรงงานสัมพันธ์ แต่เราก็มีตัวกฎหมายทำให้แรงงานกว่า 80 % เข้าไม่ถึงเสรีภาพการรวมตัว ผมเข้าใจดีว่าการร่างกฎหมายต้องสมดุลทั้งนายจ้าง รัฐบาล และลูกจ้าง

โดยปกตินายจ้างเป็นเจ้าของทุน เป็นสิทธิที่จะควบคุมทุกอย่างในสถานที่ทำงาน และการใช้ชีวิตของแรงงานในสถานประกอบการ  แต่นายจ้างไม่ได้เป็นเจ้าของคนงาน การที่มาตรฐาน ILO ตั้งขึ้นมา ไม่ได้ถูกสร้างแค่คนงาน แต่เป็นการสร้างร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย และมีประวัติการทำงานมาก่อนที่ ILO จะตั้งมาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

ตนเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องปกติที่จะบอกว่าประเทศนั้นใช้มาตรฐานแรงงานสากลไม่ได้ เพราะเป็นประเทศที่แตกต่างหรือพิเศษกว่า แต่เท่าที่ผมเห็นสถานการณ์การละเมิดสิทธิในบริษัทข้ามชาติในไทย ก็เกิดขึ้นทั่วโลก นี้เป็นปัญหาหลัก

ดังนั้นถ้ากฎหมายแรงงานคุ้มครองลูกจ้างไม่ได้ นายจ้างก็จะควบคุมคนงาน และนายจ้างมักมองสหภาพแรงงาน ผู้นำแรงงาน เป็นตัวสร้างปัญหาให้พวกเขา ซึ่งรู้สึกว่าวุฒิภาวะหรือพัฒนาการต่างๆต้องเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไปไกล แต่พัฒนาสังคมไม่เปลี่ยนแปลง นี้ไม่ใช่ยุคเกษตรกรรม รายได้เกิดขึ้นในสถานประกอบการ หรือทำงานเป็นข้าราชการในที่ต่างๆ

สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ เราต้องมีกฎหมายแรงงานที่เคารพคนงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การบริหารจัดการ แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากการค้าขายและการลงทุน ผมคิดว่าต้องมีกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เมื่อคนงานมีความสุข ก็จะสามารถสนับสนุนครอบครัว สังคมได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

เวทีเสวนา “วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (มีนาคม 2561) ฉบับ “ไม่สุจริตใจ-ไม่ปรองดอง”

                ประกอบไปด้วยวิทยากร 5 คน ได้แก่

  • นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาและยกร่างกฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
  • นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน
  • ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
  • นายศักดิ์ดา หวานแก้ว ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT)
  • นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

โดยมีนายมงคล ยางงาม ผู้ช่วยทนายความ ฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

นายณรงค์ฤทธิ์  วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาและยกร่างกฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า  ปีที่ผ่านมา ที่ไปร่วมเวทีเสวนาที่สีลม วันนี้ได้มาอีกครั้ง ถ้าดูในเอกสารที่ผู้จัดนำเสนอไว้ คือ 40 กว่าปี มีความพยายามแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หลายครั้ง ควบคู่กับการเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ก็มีความพยายามหลายครั้ง

ที่ผ่านมาจะเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา 2 ครั้ง แต่มีบางฝ่ายไม่สบายใจ และรัฐบาลก็ถอนออกมาและปรึกษาหารือกับพี่น้องแรงงานใหม่อีกครั้ง และกระทรวงแรงงานก็จะเสนอเข้ารัฐสภาปี 2558 แต่ก็มีพี่น้องแรงงานไปยื่นหนังสือนายกฯ เราก็ถอนออกมา มาปรับปรุง ไปรับฟังความคิดเห็นปี 2560 แรงงานก็มีส่วนร่วมในการอภิปรายที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค และตอนนี้ก็พยายามผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบันฉบับที่ 98 เหล่านี้เป็นการแสดงพัฒนาการด้านกฎหมาย เกิดภาพลักษณ์กับพี่น้องแรงงานที่ดีขึ้น

ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น จัดไปแล้วรอบหนึ่ง และก็มีการจัดอีก 4 ครั้งที่ผ่านมา ล่าสุดจัดที่กระทรวงแรงงาน เมื่อ 9 มีนาคม 2561 หลักการของร่างนี้ เมื่อรับฟังเสร็จก็ต้องประมวลความคิดเห็นต่อไป

ในเวทีเสวนาครั้งนี้ของ คสรท. กระทรวงแรงงานก็จะนำข้อมูลจากพี่น้องไปพิจารณาร่วมด้วย นอกจาก 4 ครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมรับผิดชอบตรงนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 หรือกระทั่งแม้ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ก็ยังสามารถเปิดรับฟังได้เช่นกัน

หลักการใหญ่ๆของกฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญได้แก่

  • ร่างกฎหมายเดิมเลยได้ออกแบบมาเพื่อจะให้สอดคล้องกับการให้สัตยาบันฉบับที่ 87 และ 98 ร่างมาตั้งแต่ปี 2553-58 คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีความพยายามให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ แต่มีเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้ต้องถอนออกมา สมัยรมต.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็มีความพยายามให้สัตยาบัน แต่กำหนดว่าต้องผ่านรัฐสภาก่อน ต้องทำควบคู่กัน มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2557 กำลังจะเสนอ ก็เดินต่อไปไม่ได้ ต้องย้อนกลับมาพิจารณาใหม่
  • หลักการร่างนี้ คือ ชัดเจนว่าสอดคล้องกับหลักการอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 แต่เนื้อหาบางมาตราอาจไม่ตรง ไม่สอดคล้อง
  • เป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานในทางปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากตัวกฎหมายเอง เช่น ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ก่อนดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เช่น สุมหัวปรึกษาหารือ มีคนมือดีไปรู้ว่าจะก่อตั้งสหภาพแรงงาน ไปล้มกระดาน เลิกจ้าง ซูเอี๋ยกับนายจ้างเพื่อไม่ให้สหภาพแรงงานเกิดได้ กฎหมายก็แก้ไขใหม่ในหมวดการกระทำไม่เป็นธรรม หรือไม่สามารถปิดงานเฉพาะบุคคลเฉพาะส่วนได้อีกต่อไปแล้ว หรือรายชื่อเข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องตกหล่นไม่ครบ 15 % ก็ยังคุ้มครองต่อไป แน่นอนฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วย บอกว่า ถ้าเหลือ 1 คน จะเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างไรต่อไป น่าจะไปกำหนดเพดานไหม เช่น 5 % ว่าต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ย เป็นต้น
  • ร่างกฎหมายนี้ยังมีการนำหลักสุจริตใจมาใช้เป็นกรอบแรงงานสัมพันธ์ ออกแบบองค์กรให้มีหน้าที่ตัดสินใจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้อง มีหลักคุ้มครองคนงานให้มากที่สุด

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน

ผมได้ทำเอกสารมาแล้ว เปรียบพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 กับร่างพ.ร.บ. ที่กำลังอภิปรายอยู่ เน้นการเปรียบเทียบเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ไม่ใช่รายมาตรา และวิเคราะห์ 11 ประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

กลางปีก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม) ได้เห็นชอบอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ถือว่าเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องทั้งนายจ้างและรัฐ ไม่ใช่แค่ลูกจ้างเท่านั้น มีเรื่องการคุ้มครองไม่ให้แทรกแซงการจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง

หากย้อนไปเมื่อสิงหาคม 2510 ที่มีการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศก่อตั้ง แต่ประเทศอื่นที่ก่อตั้งได้รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไปแล้ว บางประเทศรับรองฉบับเดียว บางประเทศรับรองทั้ง 2 ฉบับ มีประเทศไทยไม่รับรองเพียงประเทศเดียว สมัยรมต. แรงงานที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยไปให้สัญญากับ ILO ว่าเรากำลังพิจารณาให้สัตยาบัน ที่สำคัญ คือ ปีหน้าจะครบ 100 ปี ILO ที่ตั้งมาเมื่อปี 2462 คาดว่าคงจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองในเรื่องเหล่านี้อยู่

แม้ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการเป็นประเทศก่อตั้ง ILO แต่ก็ยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO หลายฉบับ และปีหน้าเราน่าจะมีการเลือกตั้ง คาดว่าจะมีบรรยากาศการผลักดันได้คล่องตัวมากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่า ครม. ชุดนี้จะเอาด้วยไหม แต่ถ้าชุดหน้า น่าจะมีแนวโน้มเอาด้วย อันนี้ที่ผมประเมินไว้

ความจำเป็นในร่างกฎหมาย ที่ระบุว่าเพราะใช้มานาน มีอะไรหลายอย่างไม่สอดคล้องกับภาวะสังคม , เป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ผมถือว่าพูดชัดเจนมาก ที่ผ่านมาพูดกว้างๆ การพูดแบบนี้ผูกมัดตนเอง และต่อมาเพิ่มอัตราโทษให้เหมาะสม อันนี้ผมไม่สนใจ เพราะที่ผ่านมาก็บังคับใช้ได้จริงไหม ยังไม่ทราบ

สรุปมา 11 ประเด็นไม่สอดคล้อง ได้แก่

  • กฎหมายยังแบ่งแยกลูกจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐอื่นๆไม่ให้มีสิทธิรวมตัวและเจรจาต่อรองเป็นองค์กรเดียวกันได้
  • การกำหนดให้หน่วยงานรัฐกำหนดหลักเกณฑ์การรวมตัว ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดินคงเป็นไปได้ยากมากๆ
  • สหภาพแรงงานเอกชนและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานและสภาองค์การลูกจ้างได้
  • ให้อำนาจกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงเพิ่มกิจการบริการสาธารณะที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วจะต้องเข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
  • ให้อำนาจรัฐมนตรีสั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการทั่วไป
  • การยื่นขอรับใบรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
  • ข้อบังคับของสมาคมนายจ้างหรือของสหภาพแรงงาน กำหนดให้อย่างน้อยต้องมีข้อความมากถึง 11 รายการ
  • วัตถุประสงค์จัดตั้งสหภาพแรงงานยังไม่สามารถกำหนดเองได้แบบกว้างขึ้น จำกัดเฉพาะเพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี
  • ลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทยที่จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เน้นการเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองด้วยหรือไม่ อย่างไร
  • สหภาพแรงงานต้องจัดให้มีทะเบียนสมาชิกตามแบบที่อธิบดีกำหนด
  • อธิบดีมีอำนาจเข้าไปในสำนักงานสหภาพแรงงาน เพื่อประกอบกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นได้อยู่

ประเด็นที่อยากจะเน้นคือ นโยบายรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือทำบางเรื่องที่อยากทำ บางเรื่องก็ใช้มาตรา 44 มากำกับ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ผมสนใจหมวดการปฏิรูปประเทศมากกว่า มาตรา 258 พูดชัดเจนว่า ให้มีกลไกดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อน และสอดคล้องกับมาตรา 7 และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักการสากล ซึ่งร่างกฎหมายนี้ก็ตั้งเป้าอยู่ แต่ก็เจอปัญหาผู้นำแรงงาน ผู้นำนายจ้าง ไม่คำนึงถึงหลักการ แค่คำนึงถึงความเป็นจริงของตนเองมากกว่า

ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังถือว่าเป็นการแก้ไขจากกฎหมายเดิม มีประเด็นดีใจ คือ การรับฟังในวันนี้จะนำไปประกอบการปรับปรุงอีกรอบ ความคิดเห็นของเราจะนำไปบรรจุ หากพิจารณาจะเห็นว่าจากปี 2518 มีการแก้ไข 2-3 ครั้ง แยกแรงงานภาคเอกชนกับภาครัฐวิสาหกิจ และบังคับใช้มายาวนานมาก จนมาถึงการเรียกร้องอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 คือ เสรีภาพในการสมาคมและรวมตัว และฉบับที่ 98  คือ การรวมตัวและเจรจาต่อรอง

ที่ผ่านมาในการออกกฎหมายก็มีการโต้แย้งว่าจะรับอนุสัญญาก่อนหรือจะแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก่อน และค่อยไปรับรอง สถานการณ์นี้ก็ถกเถียงไม่เลิก และล่าสุดนี้คือร่างที่เราพิจารณากันอยู่ ก่อนหน้านั้นมีฉบับ 6 มีนาคม 60 และมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งก้าวหน้า ทรงตัว ถอยหลัง

หัวข้อวันนี้ตั้งชื่อได้ดุดันมาก ไม่สุจริตใจ ไม่ปรองดอง เมื่อก่อนมีร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ฉบับสีม่วง ปฏิญญาวังน้ำเขียว” ฉบับนั้นก็ก้าวหน้าจนตามไม่ทัน เราก็เคยมี

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ พบว่า

  1. พนักงานของรัฐสามารถรวมตัวเจรจากันได้ สมัยก่อนไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ เช่น พนักงานของรัฐ ก็ถูกเอาเปรียบมาก ก็จะสามารถเจรจาต่อรองได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายยังอยู่ในหลักเกณฑ์ วิธีการที่มีเงื่อนไขกำหนด คำถามคือ ใครกำหนด หากไม่เอื้อต่อคนงานก็จะเป็นปัญหาในอนาคตติดตามมา
  2. คนงานรับเหมาค่าแรง สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการนั้นๆได้ นี้คือหลักการ แต่วิธีปฏิบัติจะเป็นอย่างไร อาจไม่เลิกจ้างแต่ขอคืนต้นสังกัด ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตามไปคุ้มครอง จะทำอย่างไรต่อ
  3. มีการปิดงานในมาตรา 5 ที่แก้ไขนิยามให้มีความชัดเจนขึ้น ปิดงานเฉพาะส่วนไม่ได้แล้ว และไปสัมพันธ์กับการกระทำไม่เป็นธรรมด้วย คือ ห้ามเลือกปฏิบัติ แต่ผมยังนึกถึงรูปธรรมไม่ออก เพราะคำนี้เป็นนามธรรมด้วย เพราะเกรงว่า จะให้ ครส. วินิจฉัย ซึ่งก็ต้องผ่านไปยังศาลต่อไป ตอนนี้คดีแรงงานมี 3 ศาล ใช้เวลานาน การตีความว่า ห้ามเลือกปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร
  4. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ได้ตัดบางข้อความออก คือ ประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานออกไป เช่น การหักค่าบำรุงสหภาพแรงงาน ไม่ถือเป็นสภาพการจ้าง แต่เป็นข้อตกลง คำถามคือจะตัดถ้อยคำนี้ออกทำไม ทั้งที่เป็นการช่วยให้เกิดการคุ้มครองคนงานมากขึ้น
  5. การยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ทำให้ความคงทนของข้อเรียกร้องเดินต่อ รวมทั้งการขยายระยะเวลาการเจรจา จาก 3 วัน เป็น 5 วัน ผมพยายามหาเหตุผลคืออะไร ทำไมไม่ 4 วัน หรือ 6 วัน ก็ไม่ปรากฎ รวมทั้งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เดิม 5 วัน เปลี่ยนเป็น 15 วัน เหตุผลคืออะไรก็ไม่ทราบ 7 วันได้ไหม คนละครึ่ง การยืดระยะเวลาไกล่เกลี่ย ความกดดันตกมาที่ลูกจ้าง หรือฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้อง มนุษย์ใจร้อนอยากรู้ผลแตกหัก ต้องปรับปรุงไหม นานไปไหมในสมัยปัจจุบัน
  6. คุณสมบัติที่ปรึกษา ไม่กำหนดแล้ว ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ที่ผ่านมาก็มีความเฉี่ยวคุก หากใครไม่ขึ้นทะเบียน ให้มาเน้นความสามารถแทน
  7. เพิ่มกิจการห้ามนัดหยุดงาน ผมมองว่าล้าหลัง เพราะยังแยกภาคเอกชนกับภาครัฐวิสาหกิจ ยังถือคนละฉบับ ถ้าก้าวหน้าต้องผนวกกัน เช่น เข้าเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างต้องอยู่ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เอกชน แต่บริหารก็แยกรัฐวิสาหกิจออกไป ยังไม่เดินไปรอยเดียวกัน ทั้งที่หลักการต้องคุ้มครองทั้งคู่ให้สามารถผนวกรวมกันได้
  8. ที่หายไปอีกเรื่อง คือ มาตรา 35 คือ อำนาจรัฐมนตรีสั่งให้รับกลับเข้าทำงาน ฉบับใหม่ คือ รมต. ส่งเรื่องให้ ครส. ชี้ขาด แต่อำนาจสั่งกลับเข้าทำงานไม่มีแล้ว มีแค่ชี้ขาดเท่านั้น
  9. เรื่องผู้ชี้ขาด พยายามสร้างกลไกบางอย่างในการวินิจฉัย เรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ ทำหน้าที่ชี้ขาดและส่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ต่อไป แต่คณะกรรมการที่ตั้งใหม่ มีอำนาจมากน้อยขนาดไหน และเป็นเรื่องใหม่มาก และครอบคลุมตามที่กำหนดไว้ไหม
  10. ครส. ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพิ่มผู้ทรงวุฒิเข้ามา คำถาม คือ ผู้ทรงคือใคร ? มีอำนาจขนาดไหน ยกมือได้ไหม เพราะ ครส. ใช้วิธีพิจารณาจากเสียงข้างมาก
  11. ขบวนการแรงงานพยายามเรียกร้องให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเหมือนจัดตั้งสหกรณ์ ปรากฎว่า คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ แม้ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ดูเผินๆเหมือนการออกแบบหลักสูตรบางอย่าง และการกำหนดเรื่องการส่งคนไปประชุมที่ ILO ประจำปี
  12. มีคำว่า การทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ให้คำนึงถึงหลักสุจริตใจและการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ของทุกฝ่าย หลักสุจริตใจ คืออะไร คำถามผมคือ หลักสุจริตใจ ต้องมาพร้อมกับความเป็นธรรม เช่น ถูกกฎหมายแต่ไม่เป็นธรรม เหมือนข่าวตอนนี้ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างมาก
  13. การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง ผมสนใจมาตรา 95 เดิม คือ หัวหน้างานที่ให้คุณให้โทษ คำถามคือ การเตือนระดับไหน จึงถือเป็นระดับบังคับบัญชา บางครั้งตัวนายจ้างจะกีดกันบังคับบัญชาระดับต้นพ้นจากการรวมตัวในปฏิบัติการ อันนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง การเตือนด้วยวาจา กีดกันอย่างไร ควรเป็นระดับผู้ช่วยผู้จัดการขึ้นไปมากกว่า
  14. แรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกได้ จัดตั้งสหภาพแรงงานได้
  15. การไม่มอบหมายงานให้ทำถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม เป็นการลดคุณค่าการเป็นมนุษย์ ต้องตามไปคุ้มครองต่อไป เพราะหากท้ายที่สุด ครส. วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำไม่เป็นธรรม นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม ใครจะดำเนินคดีอาญา เพราะ ครส. เป็นคนชี้แต่ไม่มีอำนาจดำเนินการได้
  16. การได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หากสมาชิกเกิน 2 ใน 3 ก็ยังคงอยู่ คือ ถือว่าไม่ลงทุน เป็นการผิดหลักการ ร่างฉบับวังน้ำเขียว เสนอว่า คนเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วม เสนอว่าต้องปรับแก้ เพื่อถ่วงดุลอำนาจอย่างเหมาะสม ปัญหาจะน้อยลง
  17. ห้ามผู้รับเหมา ทหาร นักศึกษาฝึกงาน เข้ามาทำงานแทนในช่วงปิดงาน ในกฎหมายก็ยังมีอยู่ ไม่ห้ามในกรณีเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นการคานอำนาจจะไม่เกิดขึ้นจริง
  18. การแทรกแซง ยังเกิดขึ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิธีการต่างๆ ที่รัฐกำหนดในวิธีปฏิบัติ

ดังนั้นโดยสรุปในภาพรวม คือ ต้องปรับแก้ในบางมาตราจะมีความสมบูรณ์กว่านี้

นายศักดิ์ดา หวานแก้ว ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) กล่าวว่า วันนี้บ้านเราสถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนไปอย่างมาก วันนี้เราจะเจอปัญหาระดับมหภาค ทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต การย้ายฐานการผลิต เหล่านี้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับมิติแรงงานสัมพันธ์ด้วยทั้งนั้น

ผมมองว่าฐานคิดเดิมของกฎหมายมีปัญหา ดังนั้นฐานคิดใหม่ ต้อง win-win ไปได้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ไม่อย่างนั้นจะยังคงไม่เกิดความยั่งยืน

หากพิจารณาที่ตัวแรงงาน ก็จะเห็นว่ามีทั้งแรงงานตกงาน แรงงานเกินก็มี แรงงานขาดแคลนก็มี วิศวกรมีการจ้างงานแค่เดือนละ 12,000 บาท เป็นต้น ถือว่าแรงงานบางคนก็ยังยากจนอยู่ กฎหมายจะช่วยอะไรได้บ้าง

มาดูแรงงานต่างด้าว ยังจดทะเบียนไม่หมดเลย เช่น พม่า ที่มหาชัย มาอยู่นานๆ ความชำนาญจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปคนงานกลุ่มนี้สามารถยื่นข้อเรียกร้องได้ 3 ล้านคนอย่างน้อย เราต้องคิดต่อจะเอาอย่างไรส่วนที่มาช่วยทำงาน ใครได้ประโยชน์บ้าง

มาดูอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปวส. เดี๋ยวนี้เดือนละ 45,000 ก็มี หากมีย้ายฐานการผลิตจะทำอย่างไร นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้จะทำอย่างไร แรงงานสัมพันธ์จะคุ้มครองไหม

แรงงานเชิงสร้างสรรค์จะพิจารณาอย่างไร การกำหนดบทลงโทษ กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ เรามักทะเลาะเรื่องเล็ก แต่ผมว่าเราควรคุยเรื่องใหญ่มากกว่า

ที่เกาหลีมีแรงงาน 26 ประเทศเข้ามาทำงาน เจ้าหน้าที่แรงงานพูดได้ 26 ภาษา แต่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไทยยังไม่ได้พูดถึง เพราะภาคปฏิบัติ กฎหมายลูกต้องจัดทำต่อไป เหล่านี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมาก หากแรงงานต่างด้าวมีการรวมตัว แต่เรา เจ้าหน้าที่กลับพูดภาษาเขาไม่ได้เลย

วิกฤติเศรษฐกิจจะจัดการอย่างไร อาจมีปัญหาซ้ำ เราต้องกลับมาดู ทั้งด้วยตัวเราเอง นายจ้างสนับสนุน ภาครัฐสนับสนุน เหล่านี้คือกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

กฎหมายมีการแก้ไขไม่กี่ฉบับ แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งย้ายฐานการผลิต การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ คุณภาพชีวิตแรงงาน วิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง ค่าจ้าง สวัสดิการ ประชากรสูงอายุ เหมือนเราซุกปัญหาและแก้ส่วนๆ ไม่แก้ทั้งระบบ กรรมการที่ไปนั่ง วางยุทธศาสตร์แรงงานอย่างไร ยังไม่เห็นความชัดเจนตรงนี้

มีตัวอย่างว่า คน GEN Z ต้องการทำงาน 3 ชั่วโมงแต่ละบริษัท วันหนึ่งๆทำทั้ง 4 บริษัท ไม่อยากทำงาน 8 ชั่วโมงในบริษัทเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายยังเอาคนรุ่นเก่ามาคุย รุ่นลูกหลานที่เปลี่ยนไปเป็น 4.0 จะเอาอย่างไร สหภาพแรงงานจะปรับตัวตามเทรนด์เหล่านี้อย่างไร

จากคนงาน 38 ล้านคน เป็นสหภาพแรงงาน 3-4 แสน  มารวมแรงงานข้ามชาติอีก มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ จะเอาอย่างไรต่อ

การตั้งร่มต่างๆในองค์กร มีสภาต่างๆ ภาคปฏิบัติจะมีทิศทางอย่างไร เหล่านี้เราต้องช่วยออกแบบในวิธีปฏิบัติต่างๆ

การตัดสินของ ครส. ใช้เวลากี่วันจบ เหล่านี้คืออยู่ที่การบริหารจัดการ บางเรื่องด่วนต้องจัดการ บางเรื่องไม่แฟร์ต้องจบ ปิดงานก็ต้องปิดทั้งหมดเลย ให้จบภายใน 3 วัน เอาคนเกี่ยวข้องมาคุย ให้จบแบบ win- win เหล่านี้คือหลักการทั้งสิ้น

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า สมัยก่อนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เคยมีการยกร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เรียกว่า “ฉบับสีม่วง” คนยกร่าง เช่น พี่ตุลา ปัจฉิมเวช , บัวลอย จรัญ ก่อมขุนทด ก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนทวีป กาญจนวงศ์ ยังอยู่

ในร่างกฎหมายฉบับล่าสุดนี้ ผมยังเห็นถึงความไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO เนื่องจากยังมีการแบ่งแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจกับแรงงานเอกชน หมวดที่นำไปใส่ไว้คือเรื่องการส่งเสริม แต่ยังมีเรื่องขององค์กรแรงงานบางส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการสนับสนุนเฉพาะกลุ่มในการที่จะมีท่อน้ำเลี้ยง สิ่งที่อันตราย คือ ให้ความเห็นเรื่องส่งผู้แทนไปประชุมที่ ILO ได้ คำถามคือ ต้องชัดเจน หลายข้อเขียนกว้างไป ต้องชัดเจนกว่านี้

การคุ้มครองแรงงาน พบว่า การเจรจาเพิ่มเป็น 5 วัน ผมมองว่ามา lobby พวกเราให้มากขึ้น เราตายหมดแน่ เพราะสายป่านสั้นกว่านายจ้างมาก พิพาทแรงงาน 24 ชั่วโมง ขยายเป็น 48 ชั่วโมง ของเรา 24 ชั่วโมง ก็แย่อยู่แล้ว

การกระทำไม่เป็นธรรม มีการเพิ่มหลายเรื่องเข้ามา เช่น การขัดขวางการดำเนินงานของสภาองค์การลูกจ้างที่เพิ่มเข้ามา แล้วพวกที่ไม่ได้เป็นสภาฯจะจัดวางตรงไหน

คสรท. ถอนตัวจากคณะทำงานยกร่างของกระทรวงแรงงาน เพราะเราไม่เห็นด้วยที่แบ่งกฎหมายเป็น 2 ฉบับ เราจึงถอนตัวออกมา คนที่นั่งพิจารณาในนั้น คือ ผู้แทนสภาแรงงานทั้งนั้น แต่สุดท้ายกฎหมายก็ต้องบังคับใช้กับทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้กับแรงงานทุกกลุ่มให้ได้จริงๆ

ต่อมาในเรื่องบทลงโทษ ควรเขียนว่าไม่ต่ำกว่า ไม่ใช่ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้

ให้แรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพแรงงานได้ ถือว่าก้าวหน้าและท้าทาย

อีกอันหนึ่ง มาตรา 4 ไม่บังคับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ผมว่าต้องเปิดกว้าง เช่น ลูกจ้างข้าราชการ ถูกเอารัดเอาเปรียบ จะเอาอย่างไร คนเหล่านี้ควรได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานกลุ่มอื่นๆเช่นกัน

สรุปโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษย์