องค์กรแรงงานค้าน ม.44 ตั้งบอร์ดประกันสังคม ย้ำต้องเลือกตั้ง

เครือข่ายแรงงานค้านใช้ ม.44 ตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคมชุดใหม่ เสนอต้องทำตามกฎหมายกำหนด ย้ำการปฏิรูประบบประกันสังคม หัวใจ คือ การบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใสมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และนายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้ให้สัมภาษณ์ กรณีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ แทนที่คณะกรรมการชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งด้วยคำสั่ง มาตรา44  ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งชุดที่แต่งตั้งนั้นกำลังจะหมดหมดวาระลง โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ไปหาแนวทางการเลือกตั้งที่เหมาะสม และราคาที่เหมาะสม เพราะค่าดำเนินการ 3 พันบ้านบาท แต่อยู่วาระเพียง 2 ปี นั้นเห็นว่าไม่คุ้มค่า

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า ตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ระบุชัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการร่างเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งเข้าใจว่า กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังดำเนินการ ส่วนที่ว่าติดที่การใช้งบถึง 3,000 ล้านบาทนั้น งบดังกล่าวเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกำหนดตัวเลขจากการเลือกตั้งทั่วไปอยู่ที่ประชากรรายละ 87 บาทต่อคน งบประมาณเลือกตั้งทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขผู้ประกันตนจริงๆ มีอยู่ที่ 13 ล้านคน ก็จะเท่ากับ 1,131 ล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์อาจหมายถึงตัวเลขภาพรวมการเลือกตั้ง หรือมีการคำนวณอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว คปค. เสนอทางออก ซึ่งประหยัดงบได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมา คปค.ได้ทำหนังสือเสนอไปยัง นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เกี่ยวกับโมเดลระเบียบการเลือกตั้ง โดยการเลือกบอร์ดครั้งนี้ จะแตกต่างจากบอร์ดชุดเดิม ที่ คสช. แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 ซึ่งหมดวาระไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 วาระละ 2 ปี และเดิมกรรมการมีจำนวน 15 คน ฝั่งละ 5 คน ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง แต่ในกฎหมายใหม่ระบุให้มีทั้งหมด 21 คน ฝ่ายละ 7 คน โดยโมเดลของ คปค.เสนอว่า ให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 77 เขต ใช้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดในการดำเนินการ และผู้ประกันตนมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง

นายมนัส ยังกล่าวว่า สำหรับการเลือกจะแบ่งออกเป็นฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง อย่างฝ่ายลูกจ้างจะทำการเลือกผู้แทนเข้าไปในบอร์ดฯ จำนวน 7 คน โดยใช้วิธีคัดเลือกจากพื้นที่แบ่งเป็นขั้นต่ำพื้นที่ไหนมีผู้ประกันตน 150,000 คน ให้มีผู้แทน 1 คนลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าบอร์ด ขณะที่นายจ้างให้พิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีนายจ้างรวม 5,000 คน ให้มีผู้แทน 1 คน ซึ่งรวมทั้งประเทศจะมีผู้แทนทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 125 คน หลังจากนั้น ก็ให้มีการเลือกออกมาให้ได้ฝ่ายละ 7 คน ส่วนที่ว่าต้องมีการพิจารณา เพื่อให้ประหยัดงบประมาณ อาจมีข้อเสนอเรื่อง ม.44 แต่งตั้งบอร์ดสปส. อีกครั้งนั้น ทางเราไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาบอร์ดชุดเดิมก็มาจาก ม.44 ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว และเราก็มี พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ใน ม.8 ก็ระบุชัดว่าต้องเลือกตั้ง จึงควรปฏิบัติตามกฎหมาย

“จากที่เคยหารือกันทราบว่า จะใช้งบบริหารจัดการของสำนักงานฯประมาณ 10% ซึ่งเป็นการเอามาจากดอกผลของเงินสมทบทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งดอกผลดังกล่าวปกติก็นำมาใช้ในเรื่องของการบริหารจัดการของสำนักงานอยู่แล้ว เช่น เบี้ยประชุม หรือการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ไม่ได้กระทบผู้ประกันตน ในทางกลับกัน การมีการเลือกตั้งเช่นนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตน เพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาการคัดเลือกกรรมการเข้ามานั่งในบอร์ดฯ ในส่วนของผู้ประกันตนจะมาจากสหภาพแรงงานแห่งละ 1 เสียง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป เพราะบางสหภาพแรงงานก็อาจมีคนไม่ถึงพันก็มี ดังนั้น การเลือกตั้งจะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทนเพื่อมารักษาสิทธิประโยชน์ของตน” นายมนัส กล่าว

ด้านนายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากจะใช้ ม. 44 ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะกฎหมายระบุอยู่แล้วว่า ต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ 4 ออกมาตั้งแต่ปี 2558 และให้ออกระเบียบเลือกตั้งภายใน 180 วัน แต่พอบอร์ด สปส. มาจากคำสั่ง คสช. ก็ทำให้ถูกละเว้น แต่เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทาง คสรท. ก็ติดตามอยู่ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งจำนวนตัวเลขที่บอกว่าต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาทนั้น จริงๆไม่ถึง เท่าที่ทราบประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท แต่ทาง สปส. ก็มองว่าเยอะเกินไป ซึ่งล่าสุดแม้ทาง คปค. จะเสนอโมเดลลดลงมาเหลือ 500 ล้าน ก็ยังมีกระแสข่าวว่าเยอะไปอีก ซึ่งก็กังวลเหมือนกันว่า จะเป็นหนทางให้ใช้ ม.44 หรือไม่ แต่หากเป็นเช่นนั้น ทาง คสรท. ไม่ยินยอมและจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน