รายงานพิเศษ: วันกรรมกรสากล- 25ปี เพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์

 รายงานพิเศษ: วันกรรมกรสากล- วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ข้อเสนอที่รัฐยังไม่แก้ไข

                เดือนพฤษภาคม 2561 ถือว่า เป็นเดือนแห่งการขับเคลื่อนของผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม  ที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกลุกขึ้นมาจัดงานเฉลิมฉลองในวันกรรมกรสากล ซึ่งผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยเองได้จัดเฉลิมฉลองด้วยเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 2 ขบวนในการเดินรณรงค์ข้อเสนอ และยังมีวันที่ 10 พฤษภาคมที่ถือเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่มีที่มาที่ไป โดยสรุปกิจกรรมของบวนผู้ใช้แรงงานได้ดังนี้

วันที่ 1พฤษภาคม 2561 คณะจัดงานวันกรรมกรสากล 2561 ประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้เดินขบวนรณรงค์ พร้อมทั้งเฉลิมฉลอง วันกรรมกรสากล หรือMAYDAY โดยกิจกรรมเริ่มเปิดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเดินร่วมกันไปยังทำเนียบรัฐบาลพร้อมประกาศเจตนารมณ์ ทั้งนี้ช่วงเคลื่อนขบวนมีการส่วนกับขบวนกันกับคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง 1สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ 1องค์กรแรงงานนอกระบบ เป็นช่วงๆ มีภาพแห่งมิตรภาพการทักทายกันของผู้ใช้แรงงาน 2ขบวน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม หรือเรียกว่า”วันกรรมกรสากล”หรือ“วันเมย์เดย์” มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องทุนกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน จนทำให้คนงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา ลาตินอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง “ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง แต่หลังจากนั้น สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433

จนกระทั่ง พ.ศ. 2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงาน จึงถือว่า 1 พฤษภาคม“วันกรรมกรสากล”เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม

แม้ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จะไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เนื่องจากได้ยื่นข้อเรียกร้องทุกปีแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอให้รัฐแก้ปัญหาตามข้อเรียกเดิมเมื่อปี2561

โดยความต้องการของคนงานและขบวนการแรงงาน ได้ถูกนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้พยายามเน้นย้ำเสมอมาว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำของประเทศให้หมดไป และจะทำให้ประเทศมี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” และ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะใช้เวลาไม่นาน แต่จนถึงขณะนี้แนวโน้มสัญญาณต่างๆไม่ชัดเจน การให้น้ำหนัก การให้ความสำคัญ ต่อการแก้ปัญหาต่างๆของคนงานไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะทบทวนและจะให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของขบวนการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อข้อเสนอที่ได้ยื่นไปเมื่อปี 2560 จะนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงตามความต้องการของคนงาน ทั้งนี้ก็เอาประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และคนงานเป็นสำคัญ ซึ่งข้อเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ มีดังนี้

ข้อที่ 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อันประกอบด้วย

ด้านสาธารณสุขประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อที่ 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกภาคส่วนกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คนตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี

ข้อที่ 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม และอนุสัญญา 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 48)

ข้อที่ 4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการที่ดี มีคุณภาพ มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังนี้

ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

ข้อที่ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

ข้อที่ 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวนเพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้ายนั้น ปัจจุบันผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลขององค์การแรงงานฯซึ่งผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ โดยมีสิทธิรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา การจ่ายเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษา ตามคำวินิจฉัยของแพทย์

ข้อที่ 7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ปิด หรือยุบกิจการทุกรูปแบบ

ข้อที่ 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากกองทุน รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

ข้อที่ 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมของแรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

ข้อที่ 10. รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในส่วนขบวนสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง พร้อมกับสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ รวม 17 องค์ที่จัดร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดวันแรงงานประจำปี 2561 ที่ลานคนเมือง โดยมีนายพนัส ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  พร้อมรับข้อเรียกร้องจำนวน 10 ข้อดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 โดยให้กำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ต้องการลาออก ให้นายจ้างอนุญาต โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนที่เกษียณ 60 ปี

2.ขอให้สำนักงานประกันสังคม ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5พันบาทต่อเดือน

3.ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพจากมาตรา 33 และรับบำนาญ ให้มีสิทธิสมัครมาตรา 39 โดยไม่ตัดสิทธิรับเงินบำนาญ

4.ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ประกันสังคมใช้ฐานเงินเดือนตามมาตรา 33 เดิม คำนวณเป็นฐานรับบำนาญ

5.ให้รัฐกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นภาคบังคับทีนายจ้างต้องจัดให้มีขึ้นและกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินกองทุนเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง

6.ให้รัฐเร่งรัดออกกฎหมายที่สนับสนุนการสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจและยุติการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นองค์กรมหาชนหรืออื่นที่เป็นการแบ่งผลกำไรจากรัฐไปให้เอกชน

7.ให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

8.ให้รัฐดำเนินการให้มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับ 87 และ 98

9.ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 11/1ให้เป็นภาคบังคับ และมีโทษทางอาญากรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม

10.ให้รัฐสั่งให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างและลูกจ้างและรัฐบาล ร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะในระบบแรงงานสัมพันธ์

                พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กล่าวว่า ทุกวันนี้มีกฎหมายหลายฉบับเพื่อคุ้มครองแรงงาน โดยทุกอย่างต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งเรื่องค่าแรงจะต้องหารือกัน 3 ฝ่าย ทั้งรัฐ ผู้ประกอบการ และแรงงาน จึงขอให้ ทุกคนอดทน แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ แรงงานถือเป็นทุนมนุษย์อย่างหนึ่ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ตนรักทุกคน เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน แต่ทุกอย่างต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปเพราะเราไม่มีงบฯมากมายที่จะทำทุกอย่างในเวลาเดียวเพราะต้องคำนึงถึงการลงทุน เศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ เนื่องจากวันนี้หลายประเทศต่างชักจูงนักลงทุนเข้าประเทศตัวเอง โดยเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ และหลายประเทศค่าแรงก็ต่ำกว่าไทยทำให้เราเกิดปัญหาพอสมควร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องหาวิธีคุ้มครองแรงงาน ให้มีหลักประกันสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

นายกฯกล่าวกับผู้มาร่วมงานว่า แรงงานทุกคนเป็นพลังงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลนี้จริงจังและจริงใจแก้ปัญหา เพราะทุกคนมีความเป็นคนเหมือนกับตนเวลานี้ทำไปแล้ว 6 ข้อ เหลืออีก 4 ข้อ ต้องหารือกันต่อไป ถ้าดึงดันให้ทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมดก็ทำไม่ได้จะเป็นอันตรายต่อระบบแรงงานและเกิดความล้มเหลว แต่ทั้งนี้รัฐบาลยินดีทำทุกเรื่อง ทั้งการคุ้มครองทางสังคม ความมั่นคงในอาชีพ ค่าตอบแทนและรายได้ที่ต้องสูงขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสม ความปลอดภัยและมาตรการทางสังคมค่าตอบแทนและรายได้ที่ต้องสูงขึ้นตามสัดส่วนที่เหมาะสม ความปลอดภัยและมาตรการทางสังคม สิทธิตามกฎหมาย รัฐบาลจะทำให้ได้มากที่สุด แต่แรงงานต้องพัฒนาตัวเองด้วย สิ่งที่รัฐบาลทำมาได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ได้บอกว่าดีที่สุดหรือดีแล้ว แต่จะทำได้มากที่สุดกว่าห้วงที่ผ่านมา สำหรับแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย 5 ปีเราเน้นสหภาพแรงงาน ความมั่นคง ความเข้มแข็ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความสมดุลที่ดีขึ้นเรื่อยๆและได้รับการยอมรับจากสากลชมแรงงานไทยยอดเยี่ยม

ทั้งนี้ได้รับการร้องเรียนว่ามีหลายกิจการบีบให้คนไทยออกและรับแรงงานต่างด้าวแทน เพราะค่าจ้างถูกกว่า ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใจร้ายกันแบบนี้ เดี๋ยวจะให้ไปสำรวจทั้งหมดและขอให้แจ้งมาวันนี้ไม่ต้องกลัวตกงานกันหมดเพราะเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพราะยังใช้แรงงานที่มีฝีมืออยู่ ส่วนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องปราบปรามให้ได้ ถ้าแจ้งกระทรวงและหน่วยงานแล้วไม่ทำก็แจ้งที่นายกฯจะได้สอบสวนและเล่นงานคนรับผิดชอบโดยตรง

             ในวันเดียวกันเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ นำโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ สหพันธ์คนงานข้ามชาติร่วมกับสำนักบริการวิชากามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดงานวันกรรมกรสากลโดยมีกิจกรรมทั้งภาควิชาการและงานรณรงค์

ในส่วนของงานวิชาการจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเวทีเสวนาในภาคเช้าและภาคบ่าย 2 เรื่องคือ “ชีวิตแรงงานวันนี้ในยุคไทยแลนด์ 4.0” และ “กลไกการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน” ซึ่งมีวิทยากรประกอบด้วยนักวิชาการในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ผู้แทนจากองค์กรสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับ สหพันธ์คนงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน ประธานองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอนแก้ว เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในภาคเหนือ

หลังเสร็จจากกิจกรรมทางวิชาการในช่วงเย็น เดิมผู้จัดงานได้วางแผนให้ผู้เข้าร่วมงานเดินขบวนรณรงค์ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลจากลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยังสวนสาธารณะ”สวนบวกหาด” แต่ได้ถูกระงับอย่างกะทันหันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ผู้จัดจะได้ชี้แจงว่าเป็นการจัดงานในวันกรรมกรสากลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ก็ไม่เป็นผล ผู้ร่วมงานจึงต้องแยกย้ายกันเดินทางไปยังสวนบวกหาดเพื่อร่วมกิจกรรมอ่านบทกวีโดย “แสงดาว ศรัทธามั่น” กวีชื่อดังแห่งเชียงใหม่

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนทำงานงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายในพื้นที่ภาคเหนือ และพบว่ามีปัญหาต่างๆคือ

1) แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภาคเหนือยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ

2) คนงานทำงานบ้านและคนทำงานในภาคเกษตรกรรมไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน  รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ วันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง วันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น

3)แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิเฉกเช่นแรงงานทั่วไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพ และเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน นายจ้างบางรายไม่ได้นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม และคนงานส่วนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตร และกรณีการรับเงินบำเหน็จชราภาพ

4) มีการเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและแรงงานชาย

5) แรงงานในภาคบริการยังคงถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากสังคม ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพเฉกเช่นแรงงานทั่วไป

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา  และส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา กระทรวงแรงงานและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยมีดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยเพิ่มจำนวนและกระจายศูนย์บริการไปยังระดับอำเภอ มีขั้นตอนดำเนินการที่สั้น ง่าย ใช้เอกสารน้อย และลดค่าใช้จ่ายลงให้น้อยกว่าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติจากนายหน้า
  2. รัฐบาลต้องเข้มงวดในการดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่อแรงงานทุกคนตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ
  3. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”
  4. ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว ตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้ในปี 2560
  5. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2561
  6. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2561 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
  7. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  8. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ ไม่เลือกปฏิบัติ
  9. ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  10. ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ยื่น 13 ข้อปฏิรูปความปลอดภัยให้คนงาน ในวาระ 25 ปี188 คน ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และ เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆได้จัดงานรำลึก 25 ปีเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีการใส่บาตรทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่คนงานเคเดอร์ที่ต้องเสียชีวิตถึง 188 คน และร่วมวางดอกไม้หน้าอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยของคนงาน ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการที่เกี่ยวข้องด้านในพิพิธภัณฑ์ฯ จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือต่อพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่อง ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ นั้น ทางคสรท.ได้จัดการรำลึกถึงกรณีความสูญเสียเนื่องในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่างๆยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ ใช้เวลาถึง 21 ปีเพื่อผลักดัน “พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554” รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานจนเป็นผลสำเร็จ

จนถึงปัจจุบัน 7 ปีแล้วของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ยังขาดทิศทางการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน ทำให้คนงานขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การเข้าถึงการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาและทดแทน สถานการณ์ล่วงเลยปรากฏการณ์และโรคใหม่ๆ ทางด้านอาชีวอนามัยจากการทำงาน อันตราย จากการใช้ การสัมผัสสารเคมี ทำให้คนงานต้องเจ็บป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก

ดังนั้นเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งรัดในการปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายของผู้ผู้ใช้แรงงานดังต่อไปนี้

1.ขอให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย /บาดเจ็บจากการงาน จนกว่าแพทย์จะสิ้นสุดการรักษา / ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศปี 2558 ให้เบิกได้ถึง 2 ล้าน แต่เข้าถึงสิทธิได้ยาก

2.ให้รัฐออกนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกฎกระทรวงให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานประกอบการเบี่ยงเบนให้คนงานที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้สิทธิอื่น เช่น ประกันสุขภาพหมู่ หรือ รักษาเอกชนโดยไม่ระบุว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีบทลงโทษกรณีสถานประกอบการไม่ส่งเรื่องแจ้งคนงาน บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เข้ากองทุนเงินทดแทน

3.การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาให้ถึงที่สุดจนหายดี และเงินประเมิน ต้องทดแทนให้คนงานที่สูญเสียอวัยวะ อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ตลอดชีพ

4.ขอให้คณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมใน คณะกรรมการแพทย์ หรือ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

5.ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเนื่องใน “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ทุกปี เฉกเช่นเดียวกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรของคนงานที่มีการทำงานและผลงานอย่างต่อเนื่อง

6.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างน้อย 1 คนในฐานะองค์กรผลักดัน

7.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

8.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้แก่ “สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” และบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มีความรับผิดชอบในภารกิจเข้มงวด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งในเรื่อง การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การเยียวยาและการฟื้นฟู เพื่อให้คนที่ประสบเหตุสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารการจัดการ ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ

9.การตรวจสุขภาพประจำปีให้มีการตรวจแบบอาชีวเวชศาสตร์และต้องตรวจทุกคน แจ้งผลให้คนงานทราบ โดยมีสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

10.ให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่ง ให้มีนโยบายปลอดภัย และมีคนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังและมีส่วนร่วมจากคนงานในสถานประกอบการนั้น โดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยมาจากองค์กรของลูกจ้างหากสถานประกอบการใดไม่มีให้คนงานเลือกตั้งกันเอง

11.ขอให้รัฐเร่งออกกฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพ

12.ขอให้รัฐจัดให้มีคลินิกวินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีระดับมาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถวินิจฉัยโรคได้ ที่สำคัญเมื่อวินิจฉัยคนงานว่าเจ็บป่วย / บาดเจ็บจากการทำงานแล้ว คณะกรรมการแพทย์ต้องยึดเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิกองทุนเงินทดแทน

13.ขอให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบและกลไกรวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดั่งที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “Safety Thailand”ให้เป็นวาระแห่งชาติข้อเสนอทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมายเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน

ทั้งนี้พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ได้รับข้อเสนอ และพร้อมรับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังที่ขบวนการแรงงานมีข้อเสนอมา

ด้านกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดงาน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 ใช้กลไกประชารัฐสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ณ อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รำลึกถึงเหตุโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 และตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยจากอุบัติเหตุและมีสุขภาพอนามัยดี ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้การขับเคลื่อน “ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยหรือ Safety Thailand” เป็นนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการ ด้วยการตรวจบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลสัมฤทธิ์ที่จะมีต่อประชาชน คือ การลดอัตราการประสบอันตรายและการเสียชีวิตจากการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 จัดขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของภาครัฐในการที่จะดูแลแรงงานให้มีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดี และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการเป็นพลัง ขับเคลื่อน Safety Thailand ร่วมกับกระทรวงแรงงานตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้ความปลอดภัยในการทำงานเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงและปลอดภัยอย่างแท้จริง