คสรท.รวมพลรณรงค์กรณีละเมิดสิทธิแรงงาน

แรงงาน จัดขบวนถกแถลงปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ร่วมกับองค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้เดินรณรงค์ เรื่องสถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย “สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ในชีวิตการทำงานของคนงานแม้ว่ากระบวนการผลิต หรือรูปแบบทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การกดขี่ขูดรีดยังคงรูปแบบเดิม แต่มีความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่กลไกกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่ปฏิบัติไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนงาน ทั้งแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน แรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรม และบริการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ที่ยังคงมีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน เช่น แรงงานในระบบ ประกอบด้วย

  1. ลูกจ้างภาครัฐ การจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้นตามสัญญาจ้างชั่วคราว จ้างงานนอกงบประมาณ ค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการจ้างงานดังกล่าวมีการจ้างงานอยู่ทุกหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ
  2. ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ากฎหมายให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์การขึ้นมา เพื่อปกป้องคุ้มครองได้ แต่ก็ยังถูกแทรกแซงจากรัฐ เช่นการเจรจาต่อรองด้านสวัสดิการ แม้ว่าระบบทวิภาคจะเจรจาตกลงกันได้ แต่ว่า ต้องไปสู่ระบบการอนุมัติเป็นมติในคณะรัฐมนตรี การเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์รัฐยังเป็นผู้กำหนด การที่ถูกแบ่งแยกออกจากลูกจ้างเอกชนการใช้กฎหมายคนละกฎหมายทำให้ขบวนแรงงานอ่อนแอ แต่ว่าก็มีความพยายามที่จะทำงานร่วมกันอยู่ตลอด
  3. ประเด็นปัญหาลูกจ้างภาคเอกชน แม้ว่ากฎหมายจะให้โอกาสสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิได้แต่ปัญหา มีมากมายจากฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ การบังคับใช้ หรือกลไกปฏิบัติกลับไม่เอื้อต่อการคุ้มครอง และทำให้คนงานเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ เช่นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ยังคงเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้องไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล เมื่อเจรจาเสร็จสิ้นแล้วนายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ผู้นำแรงงาน หรือสมาชิกสหภาพแรงงานถูกกลั่นแกล้ง ไม่ให้เข้าทำงาน และถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้แรงงานนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวต้องใช้เวลายาวนาน

เรื่องต่อมา คือประเด็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ซึ่งไม่มีกฎหมายแรงงานฉบับไหนสามารถปกป้องคุ้มครองแรงงานได้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาชีพที่เสี่ยงกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผลผลิตตกต่ำ ไม่ได้ราคา ชีวิตไม่มีหลักประกัน ขณะนี้มีการเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตร ด้วยเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ประสบปัญหาอันตรายจากสารเคมีมากมาย ซึ่งทั้งต่อแรงงานภาคเกษตร และตัวเกษตรกรเองด้วยเกิดโรคระบาดต่างๆทั้งคน สัตว์ และพันธ์พืชเป็นต้น

ประเด็นแรงงานนอกระบบในกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน ภาคบริการต่างๆ ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองจากอาชีพที่ไม่มั่นคงทางรายได้ ความปลอดภัยในการทำงานด้วยต้องแบกรับความเสียงต่างๆเองทั้งหมด แม้ว่า บางอาชีพจะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่าก็ไม่ได้มีการปฏิบัติ หรือคุ้มครองได้จริง

ประเด็นต่อมา กรณีปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 4 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการของนายจ้างที่อ้างว่า ขาดแคลนแรงงาน และต้องการที่จะใช้แรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งขอให้รัฐประกาศให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานในอาชีพสงวน ที่รัฐเคยกำหนดไว้ราว 39 อาชีพนั้นได้ ด้วยประชากรที่เป็นคนไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งการจ้างงานแรงงานข้ามชาติภายใต้ความต้องการมากขึ้น พร้อมทั้งแรงงานเหล่านั้นก็ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากอย่างต่อเนื่อง แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารรถรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้มีค่าจ้าง สวัสดิการที่ดีได้ แม้ว่าบางพื้นที่จะมีการลุกขึ้นมาเรียกร้องบ้างว่ายังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เรื่องการยึดเอกสารต่างๆของแรงงานข้ามชาตินายจ้างยังคงกระทำอยู่เช่นเดิม แม้รัฐจะมีการจัดการขึ้นทะเบียนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ซึ่งภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้จะสิ้นสุดการผ่อนผันแล้ว ซึ่งยังมีแรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมือถึงกำหนดระยะเวลาการผ่อนผันรัฐก็จะปราบปรามจับกุมแรงงานข้ามชาติ และลงโทษนายจ้างที่ให้ทำงาน และพักอาศัย อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีเสียงของนายจ้างที่ออกมาส่งเสียงให้มีการผ่อนผันไปก่อนอีกเช่นเดิม

จากที่ตนกล่าวมาเป็นเพียงภาพรวมของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ละสาขา อาชีพ ซึ่งในรายละเอียดการลงพื้นที่ไปสัมผัสปัญหาจริงเพื่อทำความเข้าใจคนงานมากขึ้น ยิ่งในอนาคตตามที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ชาติ  ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การบริการ แต่หากมองภาพที่เกิดขึ้นคือ อนาคตคนงานต้องเผชิญต่อภาวะเสี่ยงต่อการตกงาน ความเสียงหายต่อคนงานย่อมตามมาซึ่งรัฐไม่ได้กล่าวถึง หรือว่าจะวางมาตรการอย่างไรเพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต ซึ่งอาจมีคนตกงานจำนวนมากเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาแทนคนในการทำงาน

แม้ว่า รัฐบาลจะปลอบใจคนทำงานว่าการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะใช้ หลักสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ ในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิคนทำงาน และประชาชน แต่อย่างไรก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ และยังขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายที่จะเห็น คนงานขบวนการแรงงาน และภาคประชาชน

การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และการปกป้องคุ้มครองสิทธิให้เป็นไปตามหลักการทางสากลโดยไม่เลือกปฏิบัติ และรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยไม่ปิดกั้น และต้องสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ประชาชน สามารถรวมตัวกันเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นปฏิญญาสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิรัฐบาลต้องแสดงออกถึงความจริงใจในการยัดถือปฏิบัติ และคสรท. ขอเรียกร้องให้ ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ผู้ใช้แรงงาน ประชาชน ในทุกสาขาอาชีพได้ตระหนักถึงสิทธิแห่งตน รวมพลังกันจัดตั้งองค์กรของตนเองขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิแห่งตน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สืบต่อไป และคสรท.จะติดตามตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และนำเสนอต่อภาคีต่างๆทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ด้วย

ซึ่งในเวที ถกแถลง “การละเมิดสิทธิแรงงาน”ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.),นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท., นางธนัญภรณ์ สมบรม ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง, นางสาวสุรินทร์ พิมพา ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ , นายสมพร ขวัญเนตร ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานถาคตะวันออก,ผู้แทนสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย,ผู้แทนแรงงานนอกระบบ , และผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ดำเนินรายการโดยนางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคสรท.

สรุปเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานได้ดังนี้ ประเด็นกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างปิดงาน หลังจากที่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และชุมนุมเจรจากันจนยุติทำข้อตกลงกันได้ระหว่างนายจ้าง และสหภาพแรงงานฯแล้ว ซึ่งขณะนี้นายจ้างได้รับลูกจ้างส่วนหนึ่งกลับเข้าทำงาน แต่ว่ายังเหลือสหภาพแรงงาน พร้อมสมาชิกอีกกว่า 400 คนที่นายจ้างยังไม่เรียกให้กลับเข้าทำงาน ซึ่งส่วนนี้ยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ต้องการที่จะให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้นายจ้างรับลูกจ้างทั้งหมดที่เหลือกลับเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสหภาพแรงงานเองก็มีปัญหาสมาชิกลดลงเหลือไม่เกินกึ่งหนึ่ง โดยจะมีการเรียกประชุมใหญ่กัน เนื่องจากลูกจ้างส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำงานก็มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาภายใน

สภาพปัญหาหลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันได้นายจ้างได้ให้ลูกจ้างรายงานตัวเพื่อเข้าทำงาน แต่มีส่วนหนึ่งกว่า 400 คนที่ไม่ได้กลับเข้าทำงาน นายจ้างได้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ใช้ระยะเวลา 2 เดือน เพื่อทำกิจกรรมCHR ทำความสะอาดวัด โรงเรียน บ้านพักคนชรา ทำแนวกันไฟ จากนั้นก็อบรมในค่ายทหาร จังหวัดสระบุรี และค่ายทหารที่ราชบุรี แม้ว่าจะทำกิจกรรมตามที่นายจ้างจัดให้แล้ว ก็ยังไม่ได้เรียกให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ซึ่งได้มีข่าวมาอีกว่า หากลูกจ้างใน 400 กว่าคนต้องการที่จะกลับเข้าทำงานต้องไม่ร่วมเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ถือว่า เป็นการละเมิด แทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งขณะนี้สมาชิกสหภาพแรงงานค้อนข้างกลัวไม่ได้กลับเข้าทำงานจึงไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน อีกประเด็นคือหากสมาชิกฯต้องการกลับเข้าทำงานต้องเขียนจดหมายถึงบริษัทฯก่อนแล้วจึงจะเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งสหภาพแรงงานเองก็ทำหนังสือเพื่อสอบถามเรื่องกลับเข้าทำงาน ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้ร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว

ประเด็นต่อมาสถานการละเมิดสิทธิแรงงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง นั้นสภาพปัญหาการจ้างงานระยะสั้น เป็นการจ้างงานชั่วคราวสัญญาจ้างปีต่อปีทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงาน ปัญหาการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งแรงงานสัญญาจ้างไม่สามารถที่จะเข้าเป็นสมาชิดสหภาพแรงงานได้ หากมาร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานก็อาจไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างให้ อีกประเด็นคือ หากคนงานตั้งครรภ์ จะไม่ถูกต่อสัญญาจ้างเช่นกัน หรือบางรายเมื่อคลอดบุตรจะลาได้เพียงหนึ่งเดือน ไม่สามารถใช้สิทธิลาคลอด 90 วันได้ การลาป่วย พักร้อน ลากิจจะถูกนำมาพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาจ้างด้วยทำให้คนงานส่วนนี้ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิอย่างมาก เรื่องความไม่มั่นคงในการมีงานทำ และการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งการจ้างงานแบบสหภาพแรงงานจะอ่อนแอลง เพราะไม่สามารถมีสมาชิกเพิ่มได้เลย

กรณีแรงงานนอกระบบ ด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิแรงงาน แม้แรงงานนอกระบบจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ว่าไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านแรงงานนอกระบบ แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือผู้รับงานไปทำที่บ้านก็ยังขาดเรื่องการบังคับใช้ทำให้แรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการดูแล ด้านสิทธิสวัสดิการ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง หากรวมตัวนายจ้างก็จะไม่ส่งงานให้ทำ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาชีพอีก

การละเมิดสิทธิแรงงานในภาคตะวันออกนั้นนายจ้างมีแนวคิดเรื่องลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนั้นคือการลดคน กดค่าจ้างให้ต่ำแต่นายจ้างไม่เคยบอกว่ากระทบเรื่องผลประกอบการที่ต่ำลง ซึ่งค่าจ้างที่เป็นเพียงค่าจ้างที่ตำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนงานและครอบครัว นายจ้างบางแห่งผิดข้อตกลงเรื่องสภาพการจ้างที่ตกลงโดยไม่ได้สนใจเรื่องผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิการมอบหมายงานล่วงเวลาที่นายจ้างได้ใช้วิธีการให้เซ็นต์ชื่อรับการทำงานล่วงเวลาไว้ล่วงหน้า หากจะไม่สามารถทำได้ คนงานต้องหาคนอื่นมาทำงานแทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้ลูกจ้างต้องรับข้อเสนอของนายจ้าง แม้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองแต่ว่ากระบวนการที่จะเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก หากยื่นข้อเรียกร้อง รวมตัวกันเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็พิพาทแรงงาน และนายจ้างปิดงาน

กรณีการละเมิดสิทธิแรงงานในพื้นที่นครปฐม-สมุทรสาคร มีหลายประเด็นกรณีแรกนายจ้างไม่ยอมแจ้งลูกจ้างว่า บริษัทล้มละลาย โดยปล่อยให้ลูกจ้างทำงานตามปกติแต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่ก็ไม่เลิกจ้างจนกระทั้งนายจ้างถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ลูกจ้างจึงได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเพื่อให้เข้ามาดูแล ซึ่งเมื่อมีการฟ้องศาลชนะก็ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเพื่อขายทอดตลาด ซึ่งประเด็นนี้ยังมีกรณีคนงานผลิตลำโพง ซึ่งอันนี้นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย แจ้งเพียงให้ฟ้องศาลหากต้องการสิทธิ

ประเด็นที่สอง กรณีการกำหนดการเกษียณอายุ 60 ปี ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการประกาศบังคับใช้ ซึ่งแรงงานในหลายสถานประกอบการไม่มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุ เมื่อกฎหมายออกมาก็มีการแสดงเจตนาที่จะขอเกษียณอายุ แต่ว่าโรงงานทอถุงเท้ากับอ้างว่าไม่มีเงินจ่ายชดเชยการเกษียณอายุให้ ทางสหภาพแรงงานจึงไปร้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (กรอก คร. 7) เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายภายใน 90 วัน ซึ่งล่าสุดนายจ้างได้ยินยอมจ่ายให้กับลูกจ้างที่ต้องการเกษียณอายุ จำนวน 18 คน ซึ่งในโรงงานดังกว่า มีคนงานที่สูงอายุทำงานอยู่ตั้งแต่อายุ 60-77 ปีด้วย

ปัญหาการเลิกจ้างผู้นำแรงงาน กรณีนางอภันตรี เจริญศักดิ์  ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นเเนล (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างตั้งแต่การก่อตั้งสหภาพแรงงานครั้งแรก โดยการขับเคลื่อนช่วงแรกมีหลายคนโดยมีการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) กรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างได้รับกลุ่มเข้าไปแต่ว่าไม่ได้มอบหมายงาน และนายจ้างได้ฟ้องศาลให้ยกเลิกคำสั่ง แต่ศาลก็ตัดสินยืนตามครส.ให้รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งนายจ้างก็ยื่นฟ้องแต่ศาลฎีกา ปัญหายังไม่จบหลังจากนายจ้างได้มีการขายเฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ ให้กับบริษัท คิวเอสเอ ไทยเบฟ และบริษัทยัม เรสเตอรองท์ฯอ้างว่าผู้ซื้อไม่มีตำแหน่งที่จะรองรับนางอภันตรี จึงต้องขอเลิกจ้างเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการนำประเด็นดังกล่าวร้องต่อครส.อีกครั้งซึ่งทางครส.ได้มีมติให้นายจ้างรับนางอภันตรีกลับเข้าทำงานอีก ซึ่งก็มีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล และมีการนัดเพื่อไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ประเด็นคือ เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าว

จากนั้นทางคสรท. ได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ถึงประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เชิญตัวแทนภาครัฐมารับข้อเสนอด้วยแต่ว่าไม่มีตัวแทนมาร่วม หรือรับหนังสือดังกล่าว โดยผู้แทนILO ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหา และพร้อมที่จะรับเป็นคนกลางในการที่จะพูดคุย ซึ่งในส่วนของผู้ใช้แรงงานสามารถเสนอประเด็นร้องเรียนผ่านองค์กรสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ(สรส.) เพื่อร้องเรียน ประเด็นปัญหามายังILO  เพื่อการให้ความช่วยเหลือ รณรงค์ ให้เกิดการเจรจาร่วมกัน ด้วยระบบไตรภาคี รัฐ นายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง

                นักสื่อสารแรงงาน รายงาน