คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๙) นโยบายลดภาวะโลกร้อนของภาคธุรกิจกับผลกระทบต่อแรงงาน “ธุรกิจรอด แต่แรงงานไม่รอด”

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๙)

                                                                                                                                ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

ในครั้งนี้เราจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่อง การดำเนินนโยบายลดโลกร้อนของภาคธุรกิจกับผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่งครับ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าขบวนการแรงงานได้มีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในเรื่องดังกล่าว หรือไม่  อย่างไร และเพียงใดครับ

ขอเริ่มต้นอย่างนี้ครับ เมื่อปี ๒๕๖๐ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องกิจกรรมที่สำคัญที่ทำกันในระดับสากล   สถานการณ์สำคัญหนึ่งที่ท้าทายและชวนให้ขบคิดกันก็คือ ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซบางชนิด เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้กลับไปรวมตัวกันอย่างหนาแน่นในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการระบายความร้อนจากพื้นผิวโลก  อุณหภูมิโลกจึงสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และส่งส่งผลต่อภาวะภูมิอากาศโดยรวมของโลก และอื่น ๆ อีกหลายประกาย ซึ่งในที่สุดแล้วผลร้ายทั้งปวงก็กลับมาสู่มวลมนุษยชาติ

สถาบันทรัพยากรโลกระบุว่า ในปี ๒๕๕๕ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ ๒๖ ของโลก  เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑๙ เมื่อปี ๒๕๓๓  ทำให้ประเทศไทยต้องจัดทำแผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๙๓ เพื่อเป็นกรอบนโยบายบูรณาการและจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจสีเขียว และพบว่านโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ก่อผลกระทบทำให้การจ้างงานลดลงในอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมถ่านหิน เป็นต้น (เอกสารข้อเสนอนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : สิงหาคม ๒๕๖๑)

องค์กรภาคประชาสังคมในต่างประเทศที่เรียนรู้ เข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ จึงให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อสังคม รวมทั้งมีกิจกรรมผลักดันเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้เกิดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ มีแนวคิดให้แรงงานที่ต้องตกงานจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว  ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อชดเชยการเสียโอกาสในการทำงาน และได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนด้านต่าง ๆที่จำเป็น โดยแรงงานมีส่วนร่วม เพราะนโยบายดังกล่าวมีผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง

แม้ว่าการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดโลกร้อน จะเป็นเรื่องดี เป็นกรณีจำเป็น และเพื่อปกป้องโลก แต่การดำเนินการดังกล่าวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อผู้คนบนโลกใบนี้เช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ย่อมเกิดผลกระทบต่อแรงงานอย่างแน่นอน  มากน้อยแตกต่างกันไป การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดและหลักการสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เรื่อง แนวทางสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๕๘

ตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดา มีโครงการเปลี่ยนผ่านด้วยการประกันการจ้างงาน การพัฒนาทักษะเพื่อสร้างโอกาสในการหางานใหม่ เป็นต้น  หรือประเทศเยอรมัน สมาพันธ์แรงงานเยอรมัน ได้จัดตั้งหน่วยงานทางวิชาการเฉพาะด้าน เพื่อรณรงค์และผลักดันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ คำนึงสภาพการจ้างงานที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงสิทธิผู้บริโภคด้วย (เอกสารของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ๒๕๖๑)

ในที่สุดมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยโดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริค  เอแบร์ท  จึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยมีหลักการสำคัญคือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายแรงงานจำเป็นต้องดำเนินงานทั้งในระดับสากลและระดับประเทศเพื่อเชื่อมประสานกันการดำเนินงานไม่เพียงแต่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเท่านั้น  แต่จำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้และความตระหนัก  ในระดับแกนนำขององค์กรแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ได้มีทักษะเพิ่มขึ้นในเรื่องการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล หรือที่เรียกกันว่าการวิจัย เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะและขับเคลื่อนทางด้านนโยบาย ทั้งในระดับสถานประกอบการ ระดับกลุ่มอุตสาหกรรม และระดับประเทศ  หรืออาจกล่าวได้ว่า หยิบยกประเด็นนี้ มาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน พัฒนาศักยภาพร่วมกัน ขับเคลื่อนร่วมกัน และเข้มแข็งไปด้วยกัน  และมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต โดยมุ่งหวังว่าน่าจะเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็นสถาบันกลางหรือขบวนการมากยิ่งขึ้น  เข้มแข็งมีพลังอย่างมีรากฐานเพื่อความยั่งยืนครับ นับว่าเป็นงานที่ท้าทายยิ่งครับ และต้องการมวลมิตรเข้ามาร่วมคิดร่วมเรียนรู้ ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อน และร่วมในความสำเร็จครับ

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้ดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับองค์กรแรงงานหลายครั้ง  รวมทั้งเมื่อวันที่ ๓-๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ พฤกษาวัลเลย์ รีสอร์ท อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ก็ได้จัดกิจกรรมที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาข้อเสนอนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม มีผู้นำแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน ผู้เขียนก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้จัดไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

มีประเด็นที่อยากกล่าวถึงดังนี้ครับ

ประเด็นแรก ว่ากันตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับเรื่องการลดโลกร้อน ยังคงมีประเด็นคำถามสำหรับภาครัฐว่า นโยบายของรัฐในเรื่องลดโลกร้อนภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคแรงงานซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายดังกล่าวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด นโยบายของรัฐดังกล่าวได้มีมาตรการเพื่อเป็นหลักประกันว่า ภารกิจทางยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงทบวงกรมนั้น ได้มีมาตรการหรือแนวทางในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐดีพอแล้วหรือยัง และนโยบายดังกล่าวได้มีมาตรการครอบคลุมทั้งในเชิงป้องกัน แก้ไข ส่งเสริมพัฒนา และเยียวยาความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือสังคมแล้วหรือยัง

ในประเด็นดังกล่าวนี้ มีเสียงตอบดัง ๆ มาจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ยังไม่มี

ประเด็นที่สอง การดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เป็นเรื่องใหญ่ และมีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางเช่นนี้  จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชนท้องถิ่น จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างแข็งขันจริงจังและต่อเนื่อง  ความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ มาตรการสำคัญที่จะต้องทำประการหนึ่งคือ จะต้องมีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน เสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องดีงามเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน และช่วยเหลือกันไม่ให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดต้องรับภาระหรือแบกรับความเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าวโดยไม่เป็นธรรม หรือกล่าวเสียใหม่ว่า การดำเนินงานสำเร็จสมความมุ่งหมายไปด้วยกัน มิใช่กลุ่มหนึ่งเป็นสุขแต่อีกหลายกลุ่มทนทุกข์ กล่าวได้ว่ายึดประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ ไม่ทอดทิ้งกลุ่มประชาชนผู้ขาดโอกาส

ประเด็นที่สาม ในส่วนของภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดำเนินนโยบายเพื่อลดโลกร้อน จากการดำเนินงานของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกับผู้นำแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พบว่า นโยบายลดโลกร้อนของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดำเนินงานในลักษณะ คิดเอง เออเอง และประกาศใช้เป็นนโยบายของสถานประกอบการ โครงการใดกิจกรรมใดที่ธุรกิจอยากเชิญชวนลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วม  บุคคลดังกล่าวจึงจะมีโอกาสเข้าร่วมงาน คือเข้าร่วมในระยะการปฏิบัติการแล้ว  มิได้มีส่วนร่วมคิดร่วมเสนอแนะความเห็นตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายอันสำคัญประการหนึ่งในเรื่องการมีส่วนร่วมของแรงงานหรือองค์กรแรงงานในเรื่องนโยบายของสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อแรงงานอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้นำแรงงานที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก็มิได้ท้อถอย หรือสิ้นหวังจากการที่ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และคิดเห็นกันว่า ยังไม่สายที่องค์กรแรงงาน หรือสหภาพแรงงานจะได้เร่งประสานกับทางสถานประกอบการ เพื่อเข้าไปพูดคุยในเรื่องนี้ และให้ข้อมูลแก่สถานประกอบการว่า จาการดำเนินนโยบายดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อแรงงานอย่างไรบ้าง  จะได้เห็นแผนงานในภาพรวม และเห็นบทบาทที่สหภาพแรงงานและแรงงานจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

มีข้อที่น่าห่วงใยบางประการคือ ในหลายสถานประกอบการ มีการอ้างนโยบายลดโลกร้อนของรัฐบาล แล้วปรับเปลี่ยนโน่นนี่ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ไปสู่เรื่องใหญ่ เช่น การปิดไฟ ปิดแอร์ตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งบางช่วงเวลาก็ตรง กับเวลาพักของพนักงานในบางกะ ซึ่งก็ต้องทนร้อนเอา  การใช้กระดาษทิชชูอย่างประหยัด มาตรการประหยัดการใช้ น้ำประปา การลดการใช้กระดาษในการสื่อสารในองค์กรและเปลี่ยนมาใช้การสื่อสารทางอิเลคทรอนิคส์แทน โดยการยกเลิกการใช้ใบลาหยุดงาน (ที่ใช้กระดาษ) ทุกประเภท และใช้การสื่อสารทางอิเลคทรอนิคส์แทน

ส่วนในเรื่องใหญ่ ๆ ก็เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิต มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ยุบรวมแผนกงาน  โยกย้ายแรงงานไปยังสาขาต่าง ๆ รวมทั้ง การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น หุ่นยนต์มาทำงานแทนคน ผู้นำแรงงานหลายคนยืนยันตรงกันว่า นโยบายดังกล่าวของธุรกิจจะนำไปสู่การลดจำนวนแรงงานลงอย่างแน่นอน  ซึ่งไปเข้ากับแผนของธุรกิจที่ต้องการปรับเปลี่ยนกำลังแรงงานที่มีอายุมาก หรือสุขภาพไม่ค่อยดี หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง สิ่งที่แรงงานต้องเผชิญและท้าทายต่อบทบาทขององค์กรแรงงานอย่างยิ่งก็คือ โครงการสมัครใจลาออกโดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ธุรกิจกำหนด ดังที่เรียกกันว่า “โครงการจำใจจาก” ซึ่งยังคงมีคำถามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้ใครได้ประโยชน์ กระบวนการมีความโปร่งใสหรือไม่ สิทธิประโยชน์เป็นธรรมแล้วหรือไม่ องค์กรแรงงานมีส่วนร่วมหรือไม่ เพียงใด เพราะโดยผลของโครงการจำใจจากนี้  กระทบต่อความมั่นคงในการทำงานโดยตรง และทั้งแรงงานเอง องค์กรแรงงาน และรัฐบาล  มีแผนงานรองรับผลกระทบจากการดำเนินโครงการจำใจจากอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เหล่านี้ก็คือการหมักหมมปัญหาทางสังคมไว้

พนักงานที่ปรับตัวไม่ได้ หรือไม่มีความสุขกับการทำงานในรูปแบบใหม่ ก็ตกเป็นเหยื่อของนโยบายลดโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่าน บ้างก็ลาออกจากงานไปเอง บ้างก็ถูกเลิกจ้าง บ้างก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนย้ายสถานที่ทำงานโดยไม่เป็นธรรม และกล้ำกลืนฝืนทนทำงานไป ด้วยการอธิบายของธุรกิจว่า นี่เป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ตามนโยบายของรัฐบาล อันเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับธุรกิจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของธุรกิจ

ผู้นำแรงงานหลายคนมีข้อสงสัยต่อการดำเนินการของธุรกิจดังกล่าว เพราะในบางกรณีก็ไม่มีความชัดเจนพอว่า “เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อลดโลกร้อน หรือเป็นการอ้างนโยบายเพื่อมาปัดกวาดธุรกิจของตนให้เติบโตและเปลี่ยนผ่านได้”  โดยยังสามารถรักษาสถานะของธุรกิจไว้ในโลกของการแข่งขันเพื่อกำไรสูงสุดต่อไป หรือกล่าวให้ชัดว่า  เริ่มพบเห็นหลายกรณีแล้วที่มีลักษณะเป็นการอ้างนโยบายลดโลกร้อน แต่เอนเอียงไปทางลดต้นทุนการผลิตมากกว่า และในหลายกรณีผู้นำแรงงานเห็นว่า ธุรกิจมีการผลักภาระต่าง ๆ ให้แรงงานเป็นฝ่ายแบกรับไว้  ขาดการสื่อสารข้อมูลการดำเนินนโยบายของธุรกิจที่ถูกต้องครบถ้วน มาตรการต่าง ๆ ที่ธุรกิจนำมาใช้ เช่น การปรับกระบวนการผลิต การยุบแผนกงาน รวมทั้งการโยกย้ายงาน องค์กรแรงงาน และแรงงานไม่มีส่วนร่วม มิได้มีมาตรการฝึกอบรม หรือเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานเพื่อสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

เข้าลักษณะในทำนองว่า “ปรับตัวได้ทนได้ก็ได้อยู่ทำงาน ปรับตัวไม่ได้ อยู่ไม่ได้ก็ลาออกไป” สถานการณ์ในลักษณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  เพราะเข้าลักษณะ “ใครชนะคนนั้นรอด  หรือระบบแพ้คัดออก”  ลืมไปว่า แรงงานเหล่านี้ล้วนมีส่วนสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจมายาวนานตามอายุงานของแรงงาน เขาเหล่านั้นมีชีวิต มีลมหายใจ มีครอบครัวญาติมิตร  มีอีกหลายชีวิตที่เขาเหล่านั้นต้องอุปการะเลี้ยงดู ผลกระทบที่ทำให้เขาต้องสูญเสียงานและ รายได้มันเป็นทุกข์อันใหญ่หลวงยิ่งนัก

ทุกคนอยากเห็น การดำเนินนโยบายลดโลกร้อนของธุรกิจบนความสัมพันธ์ที่มนุษย์เอื้ออาทรกันและกัน ดังที่เราท่านทั้งหลายปรารถนาและอยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือผู้จ้างงานกับคนทำงานแบบหุ้นส่วนสังคม(มิใช่หุ้นส่วนแบบธุรกิจ)กัน นี่ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งว่า การดำเนินนโยบายต้องได้ใจแรงงาน ได้ใจสังคมไปด้วย และสิ่งเหล่านี้ใช่ไหมที่เราต่างเรียกหาความเป็นธรรมและความสุขที่ยั่งยืน

ประเด็นที่สี่ จากผลกระทบต่อแรงงานดังกล่าว ประเทศไทยมีนโยบาย กฎหมาย กลไก เครื่องไม้เครื่องมือ และมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาแล้วหรือไม่ เพียงใด มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่

จากการตรวจสอบของผู้นำแรงงาน พบว่า ประเทศไทยมีนโยบายเรื่องลดโลกร้อน แต่ไม่มีนโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขเยียวยา หรือลดผลกระทบที่มีต่อแรงงาน ยังไม่มีการศึกษาและจำแนกแยกแยะให้เกิดความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดบ้างที่ทำให้โลกร้อนในระดับสูง ระดับกลาง และระดับเล็กน้อย เพื่อจะได้กำหนดเป้าหมายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมสอดคล้อง

ในส่วนของกฎหมายด้านแรงงาน เท่าที่ศึกษาตรวจสอบ ยังไม่มีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายภาครัฐ รวมทั้งนโยบายของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อแรงงานในวงกว้าง เท่าที่มีอยู่เป็นกฎหมายเชิงตั้งรับ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แรงงานได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยกรณีที่มีการเลิกจ้างเนื่องจากการปรับเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ (มาตรา ๑๒๑ แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑) หรือให้สิทธิลูกจ้างลาออกจากงานโดยได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย กรณีที่แรงงานไม่สมัครใจไปทำงานที่ใหม่ อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว(มาตรา ๑๒๐ แห่งพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑)

ในส่วนของกระทรวงแรงงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในประเด็นผลกระทบของนโยบายลดโลกร้อนของธุรกิจกับแรงงาน ก็ยังไม่พบว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกใดเพื่อทำหน้าที่แก้ไขผลกระทบต่อแรงงานดังกล่าว

ประเด็นสุดท้าย คงต้องกลับมาถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำแรงงานว่า ต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว  แรงงาน ผู้นำแรงงาน และองค์กรแรงงาน มีความคิด จุดยืน หลักการ ท่าที และแนวทางในการดำเนินงานต่อเรื่องดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

(๑) โครงการนี้ของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้มีส่วนกระตุ้น เร่งเร้า และเสริมศักยภาพของผู้นำแรงงานให้มีทักษะในการ ศึกษาวิจัย คิดวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งในระดับสถานประกอบการ ระดับอุตสาหกรรมและระดับประเทศ การบ้านของผู้นำแรงงานเหล่านี้ก็คือ จะไปสานต่องานให้มีความสมบูรณ์ เข้มข้นและคมชัดขึ้นได้อย่างไร และประการสำคัญคงต้องนำประสบการณ์ในครั้งนี้ กลับไปยังฐานที่มั่นของตนเองคือ สถานประกอบการ ชุมชน หรือพื้นที่อุตสาหกรรม และเชื่อมต่อเข้ากับการดำเนินงานขององค์กร เพื่อปักหมุด ขยายผล และเพื่อความยั่งยืน

(๒) จากข้อ ๑ องค์กรแรงงานควรไปเชื่อมประสานกับธุรกิจทั้งในระดับสถานประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในนโยบายของธุรกิจในการลดโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อแรงงาน จะได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุหรือต้นทาง น่าจะดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหาตรงปลายทาง ซึ่งทั้งเหนื่อย ต้นทุนสูง และหวังผลได้ยาก

(๓)ใช้กลไกระบบแรงงานสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี (นายจ้างกับลูกจ้าง) ไตรภาคี  (นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ)และพหุภาคี นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ และเครือข่ายวิชาการ และภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรชุมชนท้องถิ่น) เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น การทำเอ็มโอยูร่วมกัน  การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้าง ในประเด็นผลกระทบต่อแรงงาน การปรับโครงสร้างการผลิต กระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ การลดกำลังแรงงานลง  โครงการจำใจจาก หรือการเลิกจ้างจำนวนมากๆ

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า “นโยบายลดโลกร้อนของธุรกิจเกิดผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง และผลกระทบต่างๆ ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพการจ้างทั้งสิ้น” ซึ่งองค์กรแรงงานสามารถใช้กลไกและกระบวนการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และ พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ได้

(๔) องค์กรแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ควรจะได้ประสานความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจาก แรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างหรือเป็นผลจากโครงการจำใจจาก และทำให้สูญเสียงานและรายได้ ส่วนที่กลับเข้าสู่ในระบบไม่ได้ อาจต้องไปทำงานในภาคนอกระบบ หรืออาชีพอิสระ ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของการจ้างงานด้วยนั้น  กลไกของกระทรวงแรงงานก็ต้องเชื่อมประสานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ แล้ว ก็น่าที่จะช่วยกันเติมเต็มให้แผนดังกล่าวรองรับการแก้ไขปัญหาเรื่องลดโลกร้อนของธุรกิจที่กระทบต่อแรงงานด้วย

(๕) เป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อวางหลักการสำคัญของกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดโลกร้อนดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน เพื่อเป็นฐานสำคัญให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการเลิกจ้างให้มากที่สุด  แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆรองรับ หรือมีการเยียวยาอย่างเป็นธรรม แต่แน่นอนว่าเรื่องกฎหมายต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไปได้ ขอให้มีแนวคิดตรงกันก่อน  ภาระงานที่ควรต้องเร่งทำ คือ สร้างมาตรการในทางบริหารที่สร้างสรรค์  สอดคล้อง  และเป็นธรรม ซึ่งในส่วนนี้สามารถเร่งดำเนินการได้ทันทีโดยการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายลดโลกร้อน มุ่งปกป้องรักษาโลก รักษาชีวิตทุกสรรพสิ่ง เหตุใดการดำเนินนโยบายนี้ของฝ่ายธุรกิจ จึงละเลยต่อปัญหาความมั่นคงในการทำงานของแรงงาน การลดกำลังแรงงาน หรือการเลิกจ้าง แม้นายจ้างได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วก็ตาม มันก็ไม่ต่างไปจากการลงโทษประหารชีวิตลูกจ้างอยู่ดี เราไม่มีทางออกทางแก้ที่ดีกว่านี้แล้วจริงหรือ ธุรกิจรอด แต่แรงงานไม่รอด ธุรกิจจะยืนอยู่ได้ด้วยอะไร  แท้จริงแล้วภารกิจนี้จะลุล่วงได้ก็แต่โดยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน  ซึ่งในความเป็นจริงทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่มีภาระและต้องใช้จ่ายในส่วนนี้ มิใช่แต่ฝ่ายธุรกิจฝ่ายเดียวเท่านั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นของสังคมครับ  มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนครับ

@@@@@@@@@