คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๘)

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์    

          ในครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่องแรงงานนอกระบบต่อนะครับ อยากจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง มีการประชุมประจำปี ๒๕๖๑  ของคณะกรรมการที่ปรึกษา โครงการพัฒนาเมืองเพื่อครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ หรือ “โฮมเนท” และสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยทำงานร่วมกับเทศบาลเมือง ๘ แห่ง คือ พะเยาและเชียงราย (ภาคเหนือ) มหาสารคามและขอนแก่น (ภาคอีสาน) สมุทรสงครามและนครปฐม (ภาคกลาง)  สงขลา (ภาคใต้) และกรุงเทพมหานคร

โครงการนี้มีเป้าหมายคือ  เพื่อส่งเสริมให้เทศบาลเมืองเป้าหมาย ๘ เมือง มีการพัฒนาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบทั้งด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงบริการทางสังคมจากภาครัฐ และมีวัตถุประสงค์คือ

(๑) เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรแรงงานนอกระบบ เพื่อให้สามารถนำเสนอปัญหาและความต้องการของตนเอง ให้ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น

(๒) สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาเมืองที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของแรงงานนอกระบบในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งสาธารณะ การจัดทำกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาอาชีพ มาตรการการคุ้มครองทางสังคม และการกระจายข้อมูลข่าวสารด้านต่าง ๆ

(๓) พัฒนาความรู้ความสามารถของแรงงานนอกระบบ ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จัดโดยภาครัฐ

โครงการที่ว่านี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน ๔ ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๙ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ที่แรงงานนอกระบบ จำนวน ๕,๐๐๐ คน และบุคลากรขององค์กรส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย ๔๐ คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (อียู)  สิ่งที่โครงการคาดหวังให้เกิดขึ้นคือ

(๑) เกิดองค์กรแรงงานนอกระบบแบบองค์กรฐานสมาชิกที่เข้มแข็งใน ๘ เมืองเป้าหมาย และองค์กรแรงงานนอกระบบในแต่ละเมืองมีสมาชิกอย่างน้อย ๘๐๐ คน จาก ๕ กลุ่มแรงงานนอกระบบ

(๒) มีผู้นำแรงงานนอกระบบอย่างน้อย ๑๖๐ คนจาก ๘ เมือง หรือ ๒๐ คนจากแต่ละเมือง มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรในระบบฐานสมาชิก และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่มและเครือข่ายแรงงานนอกระบบในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีพ นโยบายและกฎหมาย การเจรจาต่อรอง และการสื่อสารสาธารณะ

(๓) สถานภาพของแรงงานนอกระบบใน ๘ เมืองได้รับการยกระดับ  และแรงงานมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ

(๔) เจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมือง ๘ เมือง จำนวน ๔๐ คน มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นแรงงานนอกระบบ และมีประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

(๕) เกิดเครือข่ายแรงงานนอกระบบใน ๘ เมืองเป้าหมาย

(๖) เกิดเวทีนโยบายระหว่าง ๘ เมืองกับตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง ในปีที่ ๓ และ ปีที่ ๔ ของโครงการ

(๗) มีแรงงานนอกระบบจำนวนไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน จาก ๘ เมืองสามารถเข้าถึงทรัพยากร       (เช่น  แหล่งงาน ข้อมูลข่าวสาร เงินทุน) และบริการจากภาครัฐ

เหล่านี้ คือความมุ่งมั่น คือความคาดหวัง คือความร่วมไม้ร่วมมือ  ของ กลุ่มแรงงานนอกระบบ     โฮมเนท สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเทศบาลเมือง ๘ แห่งรวมทั้งภาคีต่างๆที่มาร่วมงานกัน ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้และความยุติธรรม

การดำเนินงานโครงการดังกล่าวกำลังย่างก้าวเข้าปีที่ ๓ แล้ว การประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ของคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ เป็นการประชุมเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานปีที่ ๒ และแผนการดำเนินงานปีที่ ๓ และคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการจะได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ

ข้อสังเกตต่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

ประเด็นแรก

          โครงการนี้ได้ก่อเกิดคุณูปการที่สำคัญยิ่ง  ที่ทำให้ภาคีที่ร่วมงานทั้งหมดและโดยเฉพาะ บุคลากรของ ๘ เมือง กับกลุ่มแรงงานนอกระบบได้พบกัน ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน  เข้าใจกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  จนสามารถกล่าวได้ว่า ในการดำเนินงานเพียงปีเศษ  โครงการสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเทศบาลเมืองและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญในประเด็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เกิดความร่วมไม้ร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างน่าประทับใจและอบอุ่นใจ มีการบูรณาการในการทำงานระหว่างโครงการนี้กับโครงการต่าง ๆ ใน ๘ เมือง

ประการสำคัญก็คือ แม้ว่าอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่ผู้ปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนและกลุ่มแรงงานนอกระบบได้ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเรียนรู้สภาพความเป็นจริงและความคิดของแต่ละฝ่ายร่วมกัน  ทำให้วิธีคิดและวิธีการทำงานโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบวางอยู่บนความเป็นจริง ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต กล่าวคือ ยิ่งพบกัน ทำงานร่วมกัน ยิ่งเห็นความเป็นจริง ยิ่งเข้าใจ และเห็นทางว่าควรจะเดินไปแนวทางไหน มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่สร้างสรรค์ที่น่าทำมากมายก่ายกอง เช่น

การจัดระบบการให้บริการทางด้านสุขภาพของหน่วยงานเทศบาลให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ โดยการขยายเวลาให้บริการแก่แรงงานนอกระบบจากที่ปิดให้บริการตอนเย็นจนถึงเวลา ๒ ทุ่ม

กลุ่มแกะหอย ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมในชุมชนท้องถิ่น เป็นแหล่งผลิต/แปรรูปหอยส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ แต่ก็มีประเด็นเรื่องอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการกำจัดเปลือกหอย เชื่อมโยงกับประเด็นอาหารที่สะอาดและปลอดภัย และผู้บริโภค รวมทั้งอยู่ในระหว่างคิดค้นว่า จะนำเปลือกหอยซึ่งกำจัดได้ยากและย่อยสลายได้ช้า ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร โดยการประสานกับหน่วยงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม

เมื่อพูดถึงการประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองและแรงงานนอกระบบ เริ่มมีความเข้าใจแล้วว่า มันมิใช่เรื่องการประกอบอาชีพแบบโดดๆ แต่การทำงานหรือประกอบอาชีพ เกี่ยวโยงกับสุขภาพและความปลอดภัย การได้รับการสนับสนุนและบริการจากภาครัฐ การได้รับหลักประกันสังคมและสวัสดิการสังคมในยามที่ไม่อาจประกอบอาชีพได้ หรือมีเหตุเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือเหตุอื่นใด  แรงงานจะได้ไม่เดือดร้อน  โดยมีรายได้ในการยังชีพ  ได้รับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตและทำการงานได้ตามปกติ และประการสำคัญแรงงานนอกระบบเองก็ต้องมีการจัดตั้งรวมตัว เพื่อความเข้มแข็ง และการพึ่งพาตนเอง อันจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ การเจรจาต่อรองและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการจัดทำนโยบายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานนอกระบบ

ประเด็นที่สอง

          เทศบาลเมืองทั้ง ๘ เมือง เห็นพ้องต้องกันว่า  แม้ว่าในการดำเนินงานที่ผ่านมาของเทศบาลเมืองจะเกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบมาโดยตลอด ภายใต้กรอบงานการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แต่ก็ยังขาดการเรียนรู้และเข้าใจในประเด็นแรงงานนอกระบบ เนื่องจากยังมิได้มีแผนงานที่เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบโดยตรง จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะได้จัดทำแผนงานต่าง ๆของเทศบาลโดยระบุให้ชัดเจนถึงประเด็นแรงงานนอกระบบ เพราะหากมิได้กำหนดให้ชัดเจน ก็อาจมีผลในเรื่องความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรม การประเมินผล รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนบริการต่าง ๆแก่แรงงานนอกระบบของเทศบาล ซึ่งบางเมืองได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วในแผนงาน

ประเด็นที่สาม

          เทศบาลเมืองทั้ง ๘  เห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อเทศบาลได้มาร่วมกันทำงานในประเด็นคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ทำนองเป็นโครงการนำร่อง หรือการทดลองปฏิบัติการ เมื่อได้ทำ บังเกิดผล เกิดการเรียนรู้ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะขยายผลและเชื่อมประสานไปยังเทศบาลเมืองอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งในเมื่อเทศบาลเมืองมีการรวมตัวเป็นสมาคมสันนิบาตเทศบาล ก็ควรที่จะเชิญชวนหรือส่งเสริมให้สมาคมสันนิบาตเทศบาลเข้ามาร่วมงานในโครงการนี้ด้วย

ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้แทนของสหภาพยุโรปซึ่งมาร่วมประชุมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการประจำปี ๒๕๖๑ ด้วย ได้กล่าวขอบคุณเทศบาลต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และสหภาพยุโรปเห็นว่า หากโครงการนี้ได้ดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ก็ถือได้ว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จตามควรแล้ว

ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของผู้เขียน

ประเด็นที่หนึ่ง : ตัวตนและคุณค่าของแรงงานนอกระบบ

ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบอยู่ประมาณ ๒๒ ล้านคน  คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ประกอบอาชีพทำการงานและให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้คนในสังคมมาช้านาน  แต่ผู้คนในสังคม ซึ่งบางส่วนก็เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างภาคเอกชน ซึ่งคนเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นอย่างดี ได้รับหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างเอกชน ย่อมคุ้นเคยกับเรื่องสิทธิแรงงานและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่แทบทุกวัน แต่เราก็ยังไม่พบเจอปรากฏการณ์ที่คนเหล่านี้พูด กระทำ หรือแสดงออกต่าง ๆ ว่า แรงงานนอกระบบก็คือแรงงานที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลโดยเท่าเทียมกัน

หากเราลองมาทำความรู้จักกลุ่มแรงงานนอกระบบและเครือข่ายที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของโครงการนี้ดู เราจะพบว่ามีกลุ่มแรงงานนอกระบบมากมายก่ายกอง เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม กล่าวคือ

(๑) พื้นที่ภาคกลาง

–นครปฐม เช่น กลุ่มเสริมสวย กลุ่มผู้ค้าตลาดสดเทศบาลเมืองนครปฐม กลุ่มผลิตข้าวหลาม และกลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

–สมุทรสงคราม  เช่น กลุ่มเสริมสวย กลุ่มแกะหอย และกลุ่มแม่ค้าตลาดแม่กลอง

(๒) พื้นที่ภาคเหนือ

–เชียงราย เช่น กลุ่มแปรรูปอาหารพื้นเมือง  กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มสามล้อเครื่อง กลุ่มผู้ค้าในตลาดไนท์บาซาร์  กลุ่มเสริมสวย

–พะเยา เช่น กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มสมุนไพรพื้นบ้าน กลุ่มเย็บปักถักร้อย กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มเย็บผ้า/พรมเช็ดเท้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ถนอมอาหาร กลุ่มมอเตอรไซด์รับจ้าง

(๓) พื้นที่ภาคอีสาน

–ขอนแก่น  เช่น กลุ่มผลิตอาหาร (แจ่วบอง เครื่องดื่มสมุนไพร ไข่เค็ม แหนม ไส้กรอก และขนม ต่าง ๆ ) กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้าฝ้าย กลุ่มตัดเย็บผ้าพื้นเมือง กลุ่มไม้กวาดทางมะพร้าว

–มหาสารคาม  เช่น กลุ่มผลิตดอกไม้จันทน์และจักสาน กลุ่มรับเหมาผลิตอาหาร กลุ่มบริการดนตรี กลุ่มผลิตข้าวเม่า กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ กลุ่มผลิตขนมอบ กลุ่มเสริมสวย

(๔) พื้นที่ภาคภาคใต้

–สงขลา เช่น กลุ่มมอเตอร์ไชด์รับจ้าง กลุ่มผลิตผักไฮโดรโปนิค กลุ่มผลิตผ้าปาเต๊ะ กลุ่มรถเร่แผงลอย

(๕) กรุงเทพมหานคร  ได้แก่ กลุ่มจักสาน กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มสวนผัก กลุ่มแรงงานนอกระบบในพื้นที่เคหะฉลองกรุง  สหกรณ์เครือข่ายตัดเย็บเสื้อผ้าและกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน  เครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร สมาพันธ์แรงงานนอกระบบและองค์กรสมาชิก

ที่ผู้เขียนต้องกล่าวถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบในสาขาอาชีพต่าง ๆ ก็เพื่อให้ทุกท่านได้แลเห็นว่า แรงงานหรือผู้ทำงานกลุ่มนี้ มีบทบาท และมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชน และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่สังคมส่วนใหญ่ และแม้กระทั่งผู้นำระดับประเทศยังขาดความรู้และความเข้าใจต่อแรงงานกลุ่มนี้ และกล่าวถึงแรงงานกลุ่มนี้ไม่มากนัก เราเห็นคนกลุ่มนี้ เป็นผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่เราเองก็ได้ใช้บริการหรืออุดหนุนสินค้าของคนเหล่านี้  แล้วอะไรที่เป็นม่านบังตา หรือปิดกั้นความคิดตัวเราให้มองไม่เห็นตัวตน คุณค่า และความเป็นแรงงานของแรงงานกลุ่มนี้ เมื่อสถิติบอกว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบอยู่ ๒๒ ล้านคน ท่านทั้งหลายมองเห็นอะไรบ้างในความเป็นแรงงานนอกระบบ ลองคิดดูนะครับ

แท้จริงแล้วแรงงานนอกระบบ  ก็คือแรงงานที่จะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลโดยนโยบายและกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ประเทศให้การคุ้มครองและดูแลลูกจ้าง ดังที่เราเรียกกันว่าสิทธิแรงงาน หรือการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอย่างน้อยจะต้องได้รับหลักประกันดังต่อไปนี้

(๑) หลักประกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ

(๒) หลักประกันทางสังคม ซึ่งหมายถึงการคุ้มครองทางด้านสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(๓) การได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการทำงานและการมีงานทำ และ

(๔) การมีส่วนร่วมในนโยบาย หรือการเจรจาทางสังคม

ขอย้ำว่า คนทำงานทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายหรือไม่ คนเหล่านี้จะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลโดยเท่าเทียมกัน แต่แน่นอนว่า เมื่อสภาพการจ้างหรือการทำงานมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป มีความไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาระหว่างในระบบกับนอกระบบ เมืองใหญ่กับเมืองรอง และเมืองกับชนบท ประเทศก็คงต้องสร้างระบบ กฎหมาย และการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้อง กล่าวคือทุกคนต้องได้รับหลักประกัน แต่ไม่ต้องเหมือนกันในทุกๆเรื่อง เหมือนกันในบางเรื่อง แตกต่างในบางเรื่อง แต่โดยรวม ๆ เห็นได้ว่า เขาเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองดูแลแล้ว

ประเด็นที่สอง : แรงงานนอกระบบมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ หากแต่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับรูปแบบทางธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศและเชื่อมโยงกันในระดับระหว่างประเทศด้วย

ว่าไปแล้วธุรกิจข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีอิทธิพลในการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจและการจ้างงาน  แรงงานนอกระบบเป็นผลิตผลของรูปแบบการจ้างงานที่ฝ่ายธุรกิจเป็นผู้กำหนด ยกเว้นการประกอบอาชีพหรือการผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิตหรือการบริโภคอุปโภคของชุมชนโดยแท้ ซึ่งชาวบ้านคิดค้นรูปแบบและวิธีการกันเอง ดังนั้น หากนโยบายหรือรูปแบบการจ้างงานของธุรกิจใหญ่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ

ดังเช่นในปัจจุบัน เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีขั้นสูง ก็เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในบางสาขาการผลิตและบริการในระบบ  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบอย่างแน่นอน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอาชีพอิสระหรือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่สามารถเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ดี ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งงานและการมีรายได้ และดูเหมือนว่า กลุ่มนี้จะมีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงาน เช่น การรับจ้างผลิต  การซื้อขายสินค้าและการให้บริการต่าง ๆ ทางอินเตอร์เนท

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เรียกกันว่าเอสเอ็มอี เมื่อไม่นานมานี้ ความจริงแล้วธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแรงงานนอกระบบอย่างมีนัยสำคัญ แต่น่าเสียดายที่นโยบายของรัฐบาลยังมิได้ให้การดูแลหรือส่งเสริมตลอดสายการผลิต

ประเด็นที่สาม : ขอบเขตที่ถือว่าแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองแล้ว

เนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้คำนิยาม ”แรงงานนอกระบบ” ว่า หมายถึง คนทำงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือไม่ได้รับหลักประกันสังคม  ดังนั้น หากแรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับประกันสังคมตามมาตรา ๔๐ แล้ว  หน่วยงานนโยบายของรัฐจะถือว่าแรงงานดังกล่าวมิใช่แรงงานนอกระบบอีกต่อไป สถิติของแรงงานนอกระบบในส่วนนี้จะถูกนับแจงอยู่ในแรงงานในระบบ ซึ่งน่าคิดว่าควรจัดการเช่นนี้หรือไม่ หรือเป็นการถูกต้องแล้วหรือไม่

ประเด็นต่อมาก็คือ ในกรณีแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะเข้าใจว่าคือ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เราจะใช้หลักเกณฑ์หรือขอบเขตใดในการพิจารณาว่าแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เช่น แรงงานนอกระบบได้รับคุ้มครองในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานเพียงอย่างเดียว จะถือว่าสถานภาพเปลี่ยนแปลงเป็นแรงงานในระบบแล้วกระนั้นหรือ  ในส่วนนี้หน่วยงานนโยบายของรัฐควรกำหนดขอบเขตหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า แรงงานนอกระบบควรได้รับการคุ้มครองในเรื่องใด หรือด้านใดบ้าง จึงจะถือว่าได้รับการคุ้มครองที่มีนัยสำคัญแล้ว

ประเด็นต่อมาก็คือ หากได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานอย่างเพียงพอแล้ว ควรนับแจงสถิติเป็นแรงงานในระบบอย่างนั้น หรือว่าควรทำเช่นใด ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ในส่วนแรงงานในระบบคือนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน มีความชัดเจนและมีระบบของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ในส่วนแรงงานนอกระบบ คือแรงงานที่มิได้มีสถานภาพการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน (นายจ้างกับลูกจ้าง) โดยอาจมีในหลายๆรูปแบบของสัญญา เช่น สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย หรือจะซื้อจะขาย หรือสัญญาขายวัตถุดิบให้ แล้วว่าจ้างให้แรงงานนอกระบบผลิตสินค้าให้ในลักษณะจ้างทำของ เป็นต้น รูปแบบสัญญาจ้างเหล่านี้ มีทั้งคงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์

อีกประการหนึ่ง แรงงานในระบบก็อาจประสบภาวะวิกฤติ หรือธุรกิจได้รับผลกระทบจนมีการเลิกจ้างจำนวนมาก แรงงานเหล่านี้ก็อาจไปทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ และยังมีเหตุของการเลื่อนไหล ย้ายไปมาระหว่างในระบบกับนอกระบบ ดังนั้น ในกรณีแรงงานนอกระบบเปลี่ยนสถานภาพเป็นในระบบ ส่วนนี้เห็นว่าสามารถบันทึกสถิติในส่วนแรงงานในระบบได้ แต่แรงงานนอกระบบที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เห็นควรบันทึกข้อมูลไว้ในส่วนนอกระบบ แต่เป็นนอกระบบที่ได้รับการคุ้มครองแล้ว กับส่วนที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนของแรงงานนอกระบบ อันจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาแนวโน้มและทิศทางการขยายตัวหรือลดลงของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งรูปแบบในการจ้างงานนอกระบบด้วย ซึ่งน่าจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ควรที่หน่วยงานระดับนโยบายจะได้กำหนดกรอบและแนวทางในการสำรวจข้อมูลที่สำคัญของแรงงานนอกระบบ เช่น รูปแบบการจ้างงาน ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่แรงงานได้รับในการทำงาน บทบาทของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม แรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ ควรได้รับการพิจารณาทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการในลักษณะที่เชื่อมประสานกัน มิใช่แยกกันโดยเด็ดขาด เพราะแท้จริงแล้ว คนเหล่านี้ คือแรงงานหรือคนทำงาน

นอกจากนี้ ผู้เขียนทราบว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อย(ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ บาทต่อปี) ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ  “เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต” ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายและโครงการดังกล่าวมาเชื่อมประสานกับการดำเนินงานในส่วนแรงงานนอกระบบในส่วนที่กระทรวงแรงงานรับผิดชอบ โดยพยายามเชื่อมโยงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบที่มีอยู่โดยเน้นการบูรณาการระหว่าง  กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมการจัดหางาน

ดังนั้น หากการดำเนินงานตามโครงการพัฒนา ๘ เมืองเพื่อครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ได้เชื่อมประสานกับกระทรวงแรงงานด้วย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบทั้งในระยะเฉพาะหน้าและในระยะยาว

 

@@@@@@@@@