คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๗)

ภาพจากเว็บไซต์google

ภาพคนทำงานบ้านเว็บไซต์google

                                                ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

          ครั้งนี้เราจะมาคุยและคิดกันเรื่องงานบ้าน หรือที่แต่เดิมเรียกกันว่างานรับใช้ในบ้าน ซึ่งนับวันยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ และหลายท่านคงทราบดีแล้วว่า เมื่อครั้งกระโน้น ลูกจ้างหรือแรงงานในงานบ้าน  ดังที่นิยมเรียกกันว่า “แจ๋ว”มักจะเป็นเด็กและผู้หญิงที่ย้ายถิ่นมาจากชนบทแดนไกล  แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ไม่ทราบว่าคิดกันบ้างหรือไม่ว่า งานบ้านถูกอธิบายโดยรัฐบาลว่า เป็นงานที่คนไทยไม่ทำ หาแรงงานได้ยาก หลายปีมานี้จึงเห็นแต่แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบ้าน

ในขณะที่สภาพการจ้าง ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆของลูกจ้างงานบ้าน ยังแตกต่างและต่ำกว่าลูกจ้างทั่วไปเป็นอันมาก อีกทั้งยังไม่ได้รับหรือเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมาย  จนถูกจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ  แม้ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายเป็นลูกจ้างและมีกฎหมายคุ้มครองแล้วก็ตาม

ประการแรก: งานบ้านคืองานจำพวกไหน

          ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มิได้มีบทนิยามงานบ้านไว้ แต่ตามกฎหมายมีความหมายและเข้าใจได้ว่า  เป็นงานบริการต่าง ๆเพื่อความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เช่น ดูแลบ้าน คน ทรัพย์สิน และสัตว์เลี้ยง ทำอาหาร  ซักรีด ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น โดยงานบ้านที่ว่านี้ จะต้องไม่มีงานที่เกี่ยวกับธุรกิจของนายจ้างรวมอยู่ด้วย

หมายความว่า งานบ้านต้องเป็นงานบ้านแท้ๆ ไม่มีงานธุรกิจรวมอยู่ด้วย จึงจะอยู่ในความหมายของกฎกระทรวง และได้รับการคุ้มครองดูแลบางอย่างตามกฎกระทรวง  แต่ถ้าเป็นงานบ้านแล้วมีงานธุรกิจหรืองานอื่นรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างที่ว่านี้ไม่อยู่ในกฎกระทรวงลูกจ้างงานบ้าน แต่ถือเป็นลูกจ้างทั่วไป ได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานทุกฉบับ

มีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นการทำงานบ้าน แต่เป็นงานที่ธุรกิจหรือนายจ้างที่รับบริการงานบ้านได้รับการว่าจ้างจากธุรกิจอื่นให้จัดส่งลูกจ้างไปให้บริการ ณ สถานที่ของผู้ว่าจ้าง หรือสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ท่านจะพบเห็นลูกจ้างเหล่านี้ ที่นิยมเรียกกันว่า “เสื้อเหลือง” …  “ เสื้อเขียว”…  ทำงานอยู่ตามห้างสรรพสินค้า  ธนาคาร และสถานบริการต่าง ๆ   กรณีนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นงานบ้านตามกฎกระทรวงเช่นกัน ลูกจ้างเหล่านี้เปรียบเสมือนลูกจ้างทั่วไป  มีสิทธิตามกฎหมายแรงงานทุกฉบับเช่นกัน

ในปัจจุบันนี้ เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น คือว่าจ้างกันเป็นงานๆ เป็นคราว ๆ   ไม่ผูกพันในการจ้างกันเป็นประจำ สะดวกตอนไหน หรือจะว่าจ้างกันตอนไหนก็แล้วแต่คู่กรณี  อันนี้ในทางกฎหมายอาจอธิบายได้ว่า มิใช่นายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่อาจเป็นสัญญาจ้างทำของ หรือเป็นผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งยังไม่อยู่ในการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงาน  แต่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จะเห็นได้ว่า งานบ้านหรือลูกจ้างงานบ้านมีหลายแบบหลายระดับ แต่กฎหมายได้กำหนดไว้แบบเดียวและได้รับการคุ้มครองเท่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้เท่านั้น

ประการที่ ๒: สิทธิของลูกจ้างงานบ้านตามกฎหมายแรงงานมีอะไรบ้าง

                      (๑) วันทำงาน ไม่เกิน ๖ วันต่อสัปดาห์

(๒) วันหยุด มี ๓ ประเภท คือ–วันหยุดประจำสัปดาห์  ๑วันต่อสัปดาห์  คือ ทำงาน ๖ วัน หยุด ๑ วัน —วันหยุดตามประเพณี บางทีก็เรียกว่า “วันหยุดนักขัตฤกษ์” ไม่น้อยกว่า ๑๓ วันต่อปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย —วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า ๖ วันต่อปี

(๓) ค่าทำงานในวันหยุด กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ใน ๓ ประเภทวันหยุด ดังกล่าว ถ้าเป็นลูกจ้างรายวัน มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด อัตราสองเท่าของค่าจ้างปกติ แต่ถ้าเป็นลูกจ้างรายเดือน จะมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดเพียงหนึ่งเท่า

(๔) วันลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้าง ไม่เกินปีละ ๓๐ วันทำงาน หากลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจขอให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ได้

(๕) ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีทำงานบ้าน

(๖) ห้ามนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน เช่น เงินสดประกันการทำงาน  หรือบุคคลค้ำประกัน

(๗) นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกจ้าง ๑ งวดการจ่ายค่าจ้างและมีผลเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างงวดถัดไป  เช่น จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน  บอกเลิกจ้างวันสิ้นเดือน มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป แต่ถ้าจะให้ลูกจ้างออกในทันทีก็ต้องจ่ายเงินให้หนึ่งเดือนแทนการที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

นอกจากนี้ ลูกจ้างงานบ้านมีสิทธิร้องทุกข์หรือเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่อพนักงานตรวจแรงงาน และมีสิทธิฟ้องคดีแรงงานต่อศาลแรงงานได้เช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไป

          ประการที่ ๓: ความเป็นจริงและคุณค่าของลูกจ้างงานบ้าน

          บ้านใครที่เคยมีลูกจ้างงานบ้าน และเมื่อถึงวันหนึ่งไม่มีลูกจ้างงานบ้าน เช่น ป่วยจนต้องลาออกพักรักษาตัว มีปัญหาครอบครัวต้องกลับไปแก้ไขปัญหา ระหว่างที่ยังหาลูกจ้างใหม่ยังไม่ได้ หรือประทับใจลูกจ้างคนเดิม ยอมที่จะรอลูกจ้างคนเดิม ระหว่างนั้นต้องจัดการงานบ้านกันเองของสมาชิกในครอบครัว คิดดูเถอะครับบรรยากาศและการดำเนินชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวจะเป็นอย่างไร ซึ้งใจและคิดถึงคุณค่าของลุกจ้างงานบ้านกันตอนนี้ละครับ ในขณะที่ช่วงที่ลูกจ้างทำงานรับใช้อย่างหนักและเหนื่อยนั้น สมาชิกในบ้านมักจะไม่เห็นคุณค่าของลูกจ้างงานบ้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ และโดยเฉพาะที่มีทั้งเด็กอ่อน เด็กเล็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนและคนสูงอายุ

เรามักจะไม่เห็นคุณค่าของลูกจ้างงานบ้าน  เราเห็นแต่ว่า จะใช้พวกเขาทำงานอะไร บางครอบครัวคิดถึงขนาดที่ว่า จ้างเขามาแล้ว ต้องใช้ให้คุ้ม จึงใช้งานตลอดเวลา หางานให้ทำอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกที่จ้างงานกัน ขอบเขตงานก็ไม่มากนัก นานวันเข้างานก็งอกเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ตามสภาพของครอบครัวนั้น ๆ เช่น สมาชิกเพิ่มขึ้น มีงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ลูกจ้างได้รับแต่เพียงค่าจ้าง หรือรวมอาหาร หากพักอยู่กับนายจ้าง แต่ไม่มีสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดตอบแทนเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายปีมานี้ ลูกจ้างงานบ้านส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง และชาวลาว แรงงานข้ามชาติแรงงานเหล่านี้เป็นเสมือนผู้มากจากต่างถิ่น มาจากที่อื่น และมิใช่คนไทย  ยิ่งต้องทำงานอย่างหนัก พักผ่อนน้อย ไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานที่มีอยู่น้อยนิด เช่น ไม่ได้หยุดประจำสัปดาห์  ลาป่วยไม่ได้รับค่าจ้าง  ต้องทำงานในวันหยุดตามประเพณีแต่ได้ค่าจ้างเท่าเดิม  ทั้ง ๆที่นายจ้างงานบ้านจำนวนไม่น้อย ก็มีฐานะเป็นลูกจ้างของธุรกิจและสถานประกอบกิจการต่าง ๆ กลับหวงแหนในสิทธิที่จะมีวันหยุดประจำสัปดาห์  วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมทั้งค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าว แต่เมื่อตนมีฐานะเป็นนายจ้าง กลับมองไม่เห็นคุณค่าของสิทธิในเรื่องเดียวกันนั้นของลูกจ้างงานบ้าน เพราะอะไรก็ช่วยกันคิดตรองดูนะครับ

ไม่น่าเชื่อว่าความแตกต่างทางเชื้อชาติ  ถิ่นกำเนิด และเขตแดนแห่งประเทศบวกกับความเป็นนายจ้าง กลายเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงที่มนุษย์จะปฏิบัติตอบแทนกันตามที่กฎหมายกำหนด หรืออย่างเป็นธรรมและเกื้อกูลกัน

ในขณะที่งานบ้านต้องทำทั้งบริการ ทั้งดูแล ทั้งรับใช้ ด้วยกำลังกาย ฝีมือ และด้วยจิตใจ การทำงานบ้านลูกจ้างต้องมีทั้งความรัก ความผูกพัน ความซื่อสัตย์ ความสุจริต เป็นตัวแทนของครอบครัวในการดูแล จัดการงาน และรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างในบ้านให้ได้รับความสุข ความสะดวกสบายและเรียบร้อย

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ลูกจ้างงานบ้านจึงรวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้การสนับสนุนของโฮมเนทและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ โดยประสานงานกับภาครัฐด้วย พบว่าลูกจ้างงานบ้านต้องการความชัดเจนในงานที่จ้างและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ เครือข่ายลูกจ้างงานบ้านมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ เช่น  ให้ทุกฝ่ายยอมรับในความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของงานบ้านและคนทำงานบ้าน  ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  โอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ  สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในทางเพศ สิทธิในการลางานเพื่อดูแลครอบครัวของตนเองบ้าง  สิทธิลากลับประเทศเพื่อเยี่ยมและดูแลครอบครัว  ควรจัดทำเอกสารการจ้างงานเป็นหนังสือเพื่อความชัดเจน หากมีภาระงานเพิ่มเติมก็ควรมีการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มอย่างเป็นธรรม และการประกันสังคมที่เป็นธรรม เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีฐานะเป็นลูกจ้างชัดเจน เป็นต้น

ข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ คือเสียงสะท้อนความต้องการของลูกจ้างกลุ่มนี้ ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติ เขาเหล่านั้นคือ ลูกจ้าง คือคนทำงาน สิ่งที่เรียกร้องคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทำงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง หรือผู้รับจ้าง หรืออาชีพอิสระพึงได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐและสังคม อย่างเสมอภาคเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีสองปีมานี้ (๒๕๖๐-๒๕๖๑)จากการทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ(โฮมเนท) ร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งสภาองค์การนายจ้าง กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นักกฎหมาย นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่กี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองลูกจ้างงานบ้าน หรือที่เรียกกันว่าจรรยาบรรณในการจ้างงานบ้าน

ในจรรยาบรรณซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว  ได้ยอมรับคุณค่าของงานบ้านและกำหนดไว้ในจรรยาบรรณว่า  ”งานบ้านแม้ว่ามิได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจโดยตรง  แต่ก็เป็นงานที่อำนวยประโยชน์แก่สมาชิกของครัวเรือน ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ  งานบ้านจึงเป็นงานที่สนับสนุนทั้งเศรษฐกิจของประเทศและของโลกขณะเดียวกันงานบ้านเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือในหลายๆด้าน และต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต  ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ และการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องทำงานด้วยจิตใจที่ดี  งานบ้านจึงมิใช่งานที่ต่ำต้อยหรือด้อยค่าแต่อย่างใด”

หวังว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำหลักการแนวคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงนะครับ

          ประการที่ ๔ : แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขหรือสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไร

          ผมมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้ครับ

๑. ก่อนอื่นคิดว่าควรเริ่มจากการทบทวนดูความเป็นจริงของงานบ้าน ดูว่าลูกจ้างเขามีภาระงานหรือขอบเขตงานมากน้อยเพียงใด งานยุ่งยากหรือจุกจิกหรือต้องใช้ความระมัดระวังมากน้อยเพียงใด  แต่ละงานที่ทำใช้เวลาเท่าใด  การเพิ่มขึ้นของปริมาณงาน และพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมว่า ลูกจ้างมีความรับผิดชอบ ทุ่มเทและมีจิตใจให้กับงานบ้านมากน้อยเพียงใด รวมทั้งนายจ้างเองได้มีส่วนเสริมสร้างศักยภาพของลูกจ้างมากน้อยเพียงใด เพื่อมาเปรียบเทียบว่า เป็นธรรมหรือไม่

เพราะในความเป็นจริง งานที่หนึ่งคนทำ ถ้าจะให้เป็นธรรม จะต้องใช้ลูกจ้าง ๒ คนทำงาน ดังนั้น ถ้านายจ้างมีความสามารถจ้างเพียง ๑ คน ก็ควรกำหนดขอบเขตงานให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับลูกจ้าง ๑ คน ไม่ควรคิดว่าเพราะเขาเหล่านั้นลำบากยากแค้น ถึงอย่างไรเขาก็ต้องทำ ก็เลยได้โอกาสเอาเปรียบเขา มันบาปนะครับและที่สำคัญมันเป็นการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของนายจ้างลงไป

ลองคิดดูเถอะว่า ตลอดเวลาที่มีการจ้างงานบ้าน ลูกจ้างเหล่านั้นต้องดูและคนในบ้านด้วยหัวใจและด้วยความรัก นายจ้างอยากได้งานที่เปี่ยมด้วยความรักละหัวใจขอองลูกจ้าง แต่ฝั่งนายจ้างเราให้อะไรเขากลับไปบ้าง มันได้สัดส่วนกันหรือไม่ ลองคิดกันดูนะครับ

๒. ด้านลูกจ้างเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ และต้องใช้ความระมัดระวังในงานอย่างสูง และควรจะใส่ใจในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือ และความสามารถต่าง ๆ ให้รับกับภาระงานและสภาพของงาน เพราะลูกจ้างก็ไม่ควรเอาเปรียบนายจ้างเช่นกัน

ทั้งข้อ ๑ และข้อ ๒ คือฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง ต้องเคารพ ให้เกียรติ ให้คุณค่า และให้ความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่า นายจ้างงานบ้านหากได้ลูกจ้างที่ดี และพึงพอใจแล้วไม่อยากเปลี่ยนลูกจ้างหรอกครับ และในทางกลับกันก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะคุณค่าและหัวใจของงานบ้านนี้ ก็คือ เรื่องของจิตใจ หัวใจ และความไว้วางใจกันและกัน ซึ่งมีค่าเกินกว่าที่จะตีราคาเป็นตัวเงิน

๓. ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน จะต้องช่วยกันสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคม ให้ เห็นร่วมกันในเรื่องของคุณค่าของงาน ศักดิ์ศรีของความเป็นคน ความเป็นจริงของงานบ้าน และความเป็น ธรรมที่ทั้งสองฝ่ายพึงได้รับ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ให้การจ้างงานบ้านเป็นงานที่มีเกียรติ มีคุณค่า และ คนทำงานบ้านพึงได้รับการยกย่องและชมเชยอย่างจริงใจ มิใช่ว่าดูถูกดูแคลนว่า เป็นงานต่ำ งานสกปรก    ไร้เกียรติ หรือเป็นงานสบายอย่างที่พูดติดปากกันจนเคยชินต่อกันมา  ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร

แม้กระทั่งในส่วนนโยบาย หรือฝ่ายกำหนดกฎหมาย ก็มักจะกล่าวว่า งานบ้านเป็นงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดกำไรในทางเศรษฐกิจ  ซึ่งความจริงท่านก็ประจักษ์แก่ใจตนเองดีว่า เกี่ยวหรือไม่เกี่ยว เกิดหรือไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจ  ลองคิดเอาแล้วกัน ถ้าไม่มีลูกจ้างงานบ้าน ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนไปในสภาพไหน  หากคนที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กำลังว้าวุ่นและกังวลใจ หรือทุกข์ใจอยู่กับการจัดการงานบ้านของตนเอง

๔. สืบเนื่องจากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดทำจรรยาบรรณเกี่ยวกับงานบ้าน ซึ่งหมายถึง การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมเกี่ยวกับการจ้างงานและการคุ้มครองลูกจ้างงานบ้าน อันเป็นการสร้างเครื่องมือที่อย่างน้อยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ เห็นพ้องต้องกันในหลักการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ  และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังและยั่งยืน ซึ่งน่าคิดว่า อาจจะเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาการคุ้มครองแรงงานกลุ่มที่มีความเปราะบางก็เป็นได้นะครับ หวังว่าทุกฝ่ายจะจริงจังกับเรื่องนี้ และนำสู่การปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถและต่อเนื่อง สิ่งดีๆและความเป็นธรรมย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

๕. กฎหมายเป็นเรื่องจำเป็นและต้องกำหนดมาตรฐานและสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ไว้ให้เหมาะสม เสมอภาค และเป็นธรรม ปัจจุบันนี้ถือได้ว่า กฎกระทรวงงานบ้าน ที่มีการประกาศใช้ ยังมีการคุ้มครองที่น้อยเกินไป และยังขาดการคุ้มครองที่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของงานบ้าน โดยเฉพาะลูกจ้างงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ก็ควรที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีความสมบูรณ์กว่านี้ ทั้งในเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล การได้รับการชดเชยเยียวยาหากเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน สวัสดิการที่จำเป็น การให้รางวัล และการคุ้มครองในเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง และความจำเป็นที่จะต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวของลูกจ้างเอง เป็นต้น

๖. ควรต้องมีกลไกหรือเครื่องมือทางกฎหมาย หรือการบริหารจัดการภาครัฐ โดยที่ภาคสังคมมีส่วนร่วม ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ สร้างความเข้าใจ ปรับความคิดและทัศนคติให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทำงานกันอย่างมีมาตรฐาน และได้รับการปฏิบัติและตอบแทนการทำงานอย่างเป็นธรรม มีความสุขในการทำงาน มีความมั่นคงในอาชีพ และช่วยหนุนเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไปได้ นำมาซึ่งประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

ทั้งนี้ มาตรการหลักทางกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือการร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ การออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติ ตลอดจนการฟ้องศาล ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมได้ทันเวลาและเหมาะสม และไม่ช่วยให้การจ้างงานมีความสัมพันธ์อันดี และเกิดการจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่แบบเดิม คงใช้เป็นมาตรการสุดท้ายจริงๆ หากมาตรการที่เสนอแนะข้างต้นไม่เกิดผล

 

@@@@@@@@@