คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน  (๕)

                                                                                                                               ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน ครั้งที่ ๕ มาช้าหน่อยนะครับ ด้วยมีภารกิจงานด้านคดี และการประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนครับ ในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานหรือความยุติธรรมด้านแรงงาน นั่นก็คือ เรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการลูกจ้าง ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๕ – ๕๓ และคาบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙๖-๙๗ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาคณะกรรมการหรือองค์กรที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน คณะกรรมการลูกจ้าง ถือเป็นเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีบทบัญญัติในกฎหมายด้านแรงงานให้ความคุ้มครองมากกว่าคณะกรรมการชุดอื่นใด  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงยังมีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับคณะกรรมการลูกจ้างอีกหลายแง่หลายมุม ควรที่จะมาพูดคุยกัน  ประกอบกับมีคดีเรื่อง การเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ของบริษัท นากาชิมา รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทีมทนายความของสำนักงานได้ดำเนินคดีมาตั้งแต่ชั้นต้น บัดนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาและคดีถึงที่สุดแล้ว ในชั้นต้นคณะกรรมการลูกจ้างแพ้คดี แต่มาชนะในชั้นฎีกา เรื่องราวเป็นเช่นใด จะได้พูดคุยกันต่อไปครับ

เดิมทีเมื่อปี ๒๕๔๘ นายจ้างร้องขอต่อศาลแรงงานเพื่อเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ในระหว่างดำเนินคดี นายจ้างไม่ให้กรรมการลูกจ้างเข้าไปทำงานหรือเข้าไปในสถานประกอบกิจการ สู้คดีกันจนถึงฎีกา กินเวลาทั้งสิ้นร่วม ๗ ปี กรรมการลูกจ้างชนะคดี แต่นายจ้างก็ยังไม่ยอมให้เข้าทำงานหรือเข้าไปในสถานประกอบกิจการ ถ้าจะเข้าไปในโรงงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต้องขออนุญาตกับนายจ้างก่อน

ต่อมาในราวปี ๒๕๕๖ สหภาพแรงงานได้ฟ้องนายจ้างให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเกิดจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ซึ่งมีการละเลยเพิกเฉยมาหลายปี และคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งยังไม่ได้เข้าไปทำงานแต่ได้รับค่าจ้างทุกเดือนได้ฟ้องนายจ้างให้กรรมการลูกจ้างได้เข้าไปทำงาน เพราะการไมได้เข้าทำงานหรืออยู่ในสถานประกอบกิจการ จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้าง  เท่ากับฟ้องว่า การกระทำเช่นนี้ของนายจ้างเป็นการขัดขวางหรือบั่นทอนสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมาย โดยกรรมการลูกจ้างได้พูดกับศาลว่า การไม่ให้กรรมการลูกจ้างเข้าทำงาน ส่งผลเสียหายมากมายในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้าง ข้ออ้างของนายจ้างฟังไม่ขึ้น และนานหลายปีเกินไปแล้ว ถ้าไม่หาทางออก พวกเราอาจต้องดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย

จนเป็นที่มาของการหาทางออก โดยสหภาพแรงงานยอมสละสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างบางอย่าง เช่น อุปกรณ์กีฬา การปรับพื้นที่สนามเพื่อการออกกำลังกายของลูกจ้าง เป็นต้น แลกกับนายจ้างยอมให้คณะกรรมการลูกจ้างเข้าทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่มีงานจริงรองรับ กรรมการลูกจ้างต้องไปรวมกันอยู่ที่ห้องสหภาพแรงงานและทำงานเกี่ยวกับสหภาพแรงงานเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถไปทำงานหรือได้พุดคุยหรือรับรู้เรื่องราวปัญหาความไม่เป็นธรรมของลูกจ้างแต่อย่างใด จนกระทั่งโรงงานประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี ๒๕๕๔ คณะกรรมการลูกจ้างก็ไม่ได้เข้าไปทำงานหรือเข้าไปอยู่ในสถานประกอบกิจการอีกเลย

จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖  นายจ้างได้มีคำสั่งเป็นหนังสือเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้งคณะ อ้างว่า (๑) นายจ้างประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปลายปี ๒๕๕๔ และประสบปัญหาในการผลิตในช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๕

จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมากหลายครั้ง ณ เดือนมีนาคม ๒๕๕๕ มีลูกจ้างเหลือเพียง ๓๕๐ คน จากทั้งหมด ๙๒๐ คน เป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ

(๒) ประกอบกับนายจ้างยังคงประสบปัญหาด้านการเงินและยอดการสั่งซื้อลดลง จึงจำเป็นต้องเลิกจ้าง

โดยนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือตามอัตราส่วน

คณะกรรมการลูกจ้างเห็นว่า

(๑) การเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทุกคนยังมีสถานะเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างได้รับทราบแล้ว

(๒)ในช่วงที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างหลายครั้ง และมีการประชุมร่วมกับนายจ้างหลายครั้ง  นายจ้างก็มิได้ทักท้วงประการใด

(๓)หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี ๒๕๕๔ นายจ้างก็ไม่เรียกให้กรรมการลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานในขณะที่เรียกลูกจ้างอื่นเข้าทำงาน กรรมการลูกจ้างจึงไม่ทราบยอดจำนวนลูกจ้างว่าเพิ่มหรือลงเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดเมื่อใด หากนายจ้างทราบ ก็ควรต้องแจ้งข้อมูลให้คณะกรรมการลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้รับทราบ เพราะสหภาพแรงงานเป็นผู้ใช้สิทธิแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง

แต่นายจ้างกลับเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทันที ทำให้กรรมการลูกจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙(๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  โจทก์(กรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คน) ยังคงเป็นกรรมการลูกจ้างตามกฎหมาย สัญญาจ้างระหว่างกรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คนกับนายจ้างยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย

นายจ้างต่อสู้คดีไว้ ๒ ชั้นว่า

(๑) ข้อแรกเนื่องจากจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการของนายจ้างลดลงเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดที่มีอยู่เดิม สถานะทางกฎหมายของกรรมการลูกจ้างจึงสิ้นสุดลงในทันที

(๒) ข้อที่สองนายจ้างประสบปัญหาในการผลิตและคำสั่งซื้อลดลง รวมทั้งประสบภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี ๒๕๕๔ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก โดยได้จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายแล้ว นายจ้างไม่ต้องร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง

ศาลแรงงานภาค ๑ (ชั้นต้น)พิพากษาว่า

(๑) เมื่อจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการของนายจ้างลดลงเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดที่มีอยู่เดิม สถานะทางกฎหมายของกรรมการลูกจ้างจึงสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายในทันที ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๙(๑)

(๒) มิได้มีบทบัญญัติกฎหมายให้คณะกรรมการลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการคณะกรรมการลูกจ้างต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างชุดใหม่

(๓) มิได้มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลทะเบียนลูกจ้างให้ลูกจ้างหรือกรรมการลูกจ้างทราบ

(๔) เมื่อนายจ้างเลิกจ้างด้วยสาเหตุประสบภัยน้ำท่วมและปัญหาการผลิต จึงเป็นกรณีเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินใดๆอีก (คดีนี้เสร็จการพิจารณาชั้นต้นภายในเวลาไม่เกิน ๑ ปี ในปี ๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๙/๒๕๕๗)

กรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คน ได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ศาลแรงงานภาค ๑ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปความได้ว่า ที่กรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คน อุทธรณ์ว่า กรรมการลูกจ้างพ้นตำแหน่งต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๘(๗)  คือ มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ มิใช่จะพ้นตำแหน่งกรรมการลูกจ้างทันที เมื่อจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่มีอยู่เดิมตามมาตรา ๔๙(๑) ตามที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัย ลูกจ้างทั้ง ๑๑ คนยังคงเป็นกรรมการลูกจ้างอยู่ นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างได้โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้นั้น

ศาลฎีกาพิพากษาว่า

(๑) บทบัญญัติเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการลูกจ้างมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๗  คือดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี

(๒) มาตรา ๔๘ บัญญัติว่า นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งใน (๑) ถึง (๗) โดยมาตรา ๔๘ (๗) กรรมการลูกจ้างพ้นตำแหน่งเมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ 

(๓) ส่วนมาตรา ๔๙ ที่บัญญัติว่า ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ เมื่อ (๑) จำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่เดิมนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะเมื่อเข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๔๙ (๑) ถึง (๔)

(ผู้เขียนขอแทรกตรงนี้เพื่อเพิ่มเติมข้อความ (๑) ถึง (๔) จะได้เข้าใจเนื้อหาของกฎหมาย ว่า มาตรา ๔๙ (๑) ศาลฎีกาได้กล่าวถึงแล้ว  (๒) กรรมการลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเกินกึ่งหนึ่ง (๓) ลูกจ้างเกินกึ่งหนึ่งของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้นมีมติให้กรรมการลูกจ้างทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง (๔) ศาลแรงงานมีคำสั่งให้กรรมการลูกจ้างทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง)

จึงมิใช่เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์กำหนดหลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการลูกจ้าง

(๔) ดังนั้นแม้จะเข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๔๙(๑)  คือจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่เดิม กรรมการลูกจ้างก็ไม่ได้พ้นตำแหน่งกรรมการลูกจ้างไปทันทีดังที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัย  แต่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะได้ตามมาตรา ๔๙ (๑)

(๕) เมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ  กรรมการลูกจ้างเดิมย่อมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๘ (๗) เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะตามมาตรา ๔๘ (๗) ลูกจ้างทั้ง ๑๑ คน (โจทก์) จึงยังคงเป็นกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายเมื่อนายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คนโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ อุทธรณ์ของกรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คน (โจทก์) ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย(นายจ้าง) รับโจทก์ทั้ง ๑๑ (กรรมการลูกจ้าง) กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราค่าจ้างเดิมและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามสภาพการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างและให้จำเลย(นายจ้าง) จ่ายค่าจ้างให้แก่กรรมการลูกจ้างทั้ง ๑๑ คนทุกเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๖ จนกว่าจำเลย(นายจ้าง) จะรับโจทก์ทั้ง ๑๑ กลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินค่าจ้างแต่ละงวดจนกว่าจะชำระเสร็จ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๐๙ – ๘๒๑๙/๒๕๖๐ )

คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ จึงเป็นเรื่องการแปลความกฎหมายในเรื่องการพ้นตำแหน่งของกรรมการลูกจ้างว่า กรณีใดสิ้นสุดทันที กรณีใดต้องไปดำเนินการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งให้เรียบร้อยก่อน กรรมการลูกจ้างจึงจะพ้นตำแหน่ง สรุปคือศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีตามมาตรา ๔๘ (๗) ประกอบมาตรา ๔๙ และมาตรา ๔๙ ซึ่งเป็นกรณีพ้นตำแหน่งเมื่อได้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ก่อน มิได้พ้นตำแหน่งในทันทีครับ

ควรที่สหภาพแรงงานในฐานะที่มีสิทธิแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง หรือกรรมการลูกจ้าง หรือผู้นำแรงงาน ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจหลักกฎหมายและการแปลความกฎหมายของศาลฎีกา เพื่อจะได้นำกฎหมายไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อคุ้มครองแรงงานต่อไป เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคณะกรรมการลูกจ้างทั้งประเทศ นายจ้างเองก็ควรได้ศึกษาอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเคารพและปฏิบัติถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฎหมาย จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือมีภาระต้นทุนในการดำเนินคดีโดยไม่สมควร

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังมีข้อห่วงใย และข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการคุ้มครองกรรมการลูกจ้าง  ขอสรุปประเด็นดังนี้

(๑) เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้าง ตามมาตรา ๕๐ คือเกี่ยวกับ(๑) จัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง (๒) ปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (๓) พิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง และ(๔) ปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ แล้ว เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งหมายให้คณะกรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้างทั้งหมด หรือเทียบได้กับ สส.ในโรงงาน ได้ร่วมกับนายจ้างเพื่อทำหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ นับเป็นกลไกที่มุ่งประสานผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เกิดความเป็นธรรม เป็นการเสียสละปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมและเป็นการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย เหตุใดจึงยังมีเหตุการณ์หรือการกระทำที่ส่อไปในทางขัดขวางหรือบั่นทอนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้างในหลายกรณีอยู่มิขาดสาย

(๒) การตีความกฎหมายของศาลที่ว่า แม้ว่านายจ้างมิให้กรรมการลูกจ้างเข้าทำงานหรือเข้าไปในสถานประกอบกิจการ แต่เมื่อนายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ถือเป็นอำนาจการบริหารจัดการของนายจ้างที่กระทำได้

ประเด็นก็คือ กรรมการลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าทำงาน ขาดการพัฒนาทักษะฝีมือ ขาดการเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาต่าง ๆของลูกจ้างโดยส่วนรวม ไม่มีความสัมพันธ์กับคนงาน ในที่สุดก็ล่องลอยจากพื้นฐานความเป็นจริง กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการลูกจ้างตามกฎหมาย และนอกจากค่าจ้างนายจ้างยังมีการจ่ายค่าตอบแทนหรือสวัสดิการอีกหลายอย่างแต่ต้องเป็นกรณีลูกจ้างมาทำงาน แต่เมื่อนายจ้างไม่ให้กรรมการลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว เป็นความเสียหายหรือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว แต่การแปลความกฎหมายของศาลยังไม่อาจคุ้มครองกรรมการลูกจ้างได้

(๓) คดีในลักษณะนี้ ยังจะก่อปัญหาต่อไปอีก เนื่องจากนายจ้างมักจะอ้างอยู่เสมอว่า คดีกินเวลายาวนาน นายจ้างไม่ให้กรรมการลูกจ้างเข้าทำงานตั้งแต่เริ่มคดี พอศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน นายจ้างก็มักจะอ้างว่า ตำแหน่งงานของกรรมการลูกจ้างมีลูกจ้างอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนแล้ว จึงไม่อาจให้กรรมการลูกจ้างเข้าไปทำงานได้

แต่ความจริงอาจมีเหตุอื่นซ่อนเร้นอยู่ กรรมการลูกจ้างกับนายจ้างก็ต้องไปพิพาทกันต่อในชั้นบังคับคดี เกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ นอกจากค่าจ้าง นายจ้างก็คงอ้างอีกว่า สวัสดิการเหล่านี้จ่ายให้ในกรณีที่ทำงาน เมื่อไม่ได้ทำงานจึงไม่ต้องจ่าย  แต่กรรมการลูกจ้างก็คงเถียงว่า ก็ศาลพิพากษาให้รับกลับเสมือนมิได้เลิกจ้างและให้จ่ายสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดิม  ดังที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า ให้จำเลย รับโจทก์ทั้ง ๑๑ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราค่าจ้างเดิมและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามสภาพการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสมือนมิได้มีการเลิกจ้าง”

ผู้เขียนเห็นว่า กรณีนี้ นายจ้างไม่มีทางเลือกอื่น จะต้องบริหารจัดการให้กรรมการลูกจ้างเข้าทำงาน อันเนื่องจากเพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายกำกับอยู่ และในความเป็นจริงนายจ้างสามารถจัดการได้ เพราะงานของกรรมการลูกจ้างก็เป็นงานผลิตทั่วไป มิใช่ตำแหน่งงานบริหาร หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่อาจยุ่งยากหรือมีข้อจำกัดในการจัดการของนายจ้าง

(๔) อย่าถึงกับต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เลยครับ ใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ในระบบแรงงานสัมพันธ์ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ใช้หลักความเป็นหุ้นส่วนในความเป็นจริง ที่ถือว่า งานผลิตของนายจ้างก็คือผลประโยชน์ร่วมกันของนายจ้างและลูกจ้าง แต่ละฝ่ายจะไม่เอาเปรียบอีกฝ่าย จะเกื้อกูลกันและกันและตอบแทนกลับไปมาอย่างเป็นธรรม สังคมแรงงานจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณกรรมการลูกจ้างทุกคนและสหภาพแรงงานนากาชิมา ที่ไว้วางใจให้ทีมทนายความของสำนักงานได้รับผิดชอบคดีนี้จนถึงที่สุด ขอขอบคุณกรรมการลูกจ้างทุกคนที่ยืนหยัดใช้สิทธิทางกฎหมายจนถึงที่สุด มิฉะนั้นคดีคงจบไปด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากนายจ้าง เช่นที่ปฏิบัติกันในหลายคดี ขอขอบคุณศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติที่ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นต้น  ส่วนในชั้นอุทธรณ์สำนักงานมิได้เรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าทนายความ และขอให้กรรมการลูกจ้างทุกคนได้กลับเข้าทำงานและปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการลูกจ้างให้สมดังที่กฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้และขอให้มีความสุขตลอดไปครับ

@@@@@@@@@