“ 8 มีนา 8 ข้อเรียกร้องผู้หญิงถึงนายกตู่”
บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง
“หากชีวิตเป็นดั่งภาพฝันและความหวังการจะยกฐานะความยากจนมาสู่ชีวิตที่ดีกว่า หนทางหนึ่งที่พวกเธอเลือกได้คือ การมีงานทำ มีรายได้ มีครอบครัวที่เข้าใจและร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน แต่ใครเลยจะคิดว่าชีวิตของผู้หญิงหลายคนต้องตกอยู่ในชะตากรรมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมความรุนแรง ที่พวกเธอไม่ได้ก่อขึ้น และถูกผลักภาระมาให้ทำให้พวกเธอต้องฝันร้าย ถูกสามีทอดทิ้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน ท้องไม่พึงประสงค์ ถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจในครอบครัว ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน อายุมากหางานทำไม่ได้ ถูกลูกหลานทอดทิ้ง”ในวันนี้ใครจะเหลียวแลพวกเธอที่ต้องตกอยู่ในสภาพที่สิ้นหวังไร้อนาคต”
ทุกปีของวันที่ 8 มีนาคม ทั่วโลกจะถือให้เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าแห่งเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และนั่นเป็นที่มาของระบบที่ทั่วโลกใช้กันคือ ทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง ในปีนี้สถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยทั้งระบบ ที่มองสภาพปัญหาของผู้หญิงแบบองค์รวม จะเห็นได้ว่า เกือบทุกมิติได้แทรกเร้น “ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง“ อย่างปฏิเสธไม่ได้
จากการทำงานของมูลนิธิเพื่อนหญิง ผ่านศูนย์พิทักษ์สตรี ทีช่วยเหลือผู้หญิง 4 ภาค ได้บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรง ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ พบว่าในรอบปี 2557 – 2559 มีผู้มาขอคำปรึกษา 4,232 กรณีปัญหา(เฉพาะที่มีการบันทึกไว้) โดยผู้ขอคำปรึกษา 1 รายอาจประสบปัญหามากกว่า 1 กรณี ในจำนวนกว่าสี่พันกรณีปัญหานี้ แบ่งการให้คำปรึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง การให้คำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ มี 2,276 กรณีปัญหา คิดเป็นร้อยละ 54 เป็นกรณีความรุนแรงในครอบครัว 1,438 กรณี คิดเป็นร้อยละ 63 กรณีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ 310 กรณี คิดเป็นร้อยละ 14 กรณีความรุนแรงทางเพศ 87 กรณี คิดเป็นร้อยละ 4 และด้านสังคมอื่นๆ 441 กรณี คิดเป็นร้อยละ 19 สอง การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย มี 1,956 กรณีปัญหา คิดเป็นร้อยละ 46 มากที่สุดเป็นคดีความทางแพ่งที่เป็นผลมาจากความรุนแรงในครอบครัว เป็นคดีความทางแพ่ง 1,335 กรณี คิดเป็นร้อยละ 68 เป็นคดีความทางอาญา 621 กรณี คิดเป็นร้อยละ 32 จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ผู้หญิงที่กำลังเผชิญปัญหาผ่านเลนล์การทำงานของมูลนิธิเพื่อนหญิงย่อมเป็นบทสะท้อนให้เห็นช่องว่างเชิงทัศนคติของคนในสังคมไทย นโยบายรัฐ พร้อมข้อกฎหมายที่มองเรื่องของผู้หญิงเป็นลำดับรอง
8 มีนาวันสตรีสากลกับ 8 ข้อเรียกร้อง ที่ผ่านมติการประชุมเชิงปฏิบัติการ กรุงเทพ 60 ของเครือข่ายผู้หญิง 4 ภาค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 60 ณ ห้องศรีศุภราช โรงแรมกานต์มณี กรุงเทพฯ ได้ส่งผ่านสื่อมวลชนมายังฯพณฯนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ
หนึ่ง พ.ร.บ.คุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กขอให้มีผลคุ้มครองทารกเด็กเล็กจนถึง 3 ขวบ อีกทั้งขอให้มีศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงานเอื้อให้แม่ดูแลลูกได้
สอง ขอให้รัฐจัดสวัสดิการช่วยแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น ค่ายังชีพขณะตั้งครรภ์และเงินสงเคราะห์ เลี้ยงลูกในขณะ ตกงานหรือถูกทอดทิ้งจากสามีแบบกระทันหัน
สาม ขอให้รัฐออกกฎหมายบังคับ เพิ่มมาตราการสร้างจิตสำนึก ให้ผู้ชายมีความรับผิดชอบ ลดปัญหา ท้องแล้วทิ้ง โดยมีมาตาการการสร้างความรับผิดชอบโดยการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิด การหักเงินรายได้ ณ ที่จ่ายของการทำงานของผู้กระทำผิด มาช่วยเหลือ เยียวยา เลี้ยงดูบุตร ครอบครัวผู้ถูกกระทำให้สามารรถดูแลตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมุษย์
สี่ ขอให้รัฐปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม หรือกำหมายหลักประกันสุขภาพ ให้ผู้ชายได้ใช้สิทธิการลาคลอด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยามาช่วยเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่
ห้า ขอให้รัฐเร่งปฏิรูประบบกลไกตำรวจ ที่ส่วนมากยังละเลยเพิกเฉยต่อการให้การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยกับเด็ก และสตรี จนเป็นเหตุให้เด็ก และสตรีถูกทำร้ายบาดเจ็บพิการหรือเสียชีวิต มากถึง 30000ราย ในแต่ละปี
หก ขอให้รัฐปรับปรุงกำหมาย พร้อมมาตราการเอาผิดผู้ซื้อบริการทางเพศกับเด็กและลงโทษสถานหนัก พร้อมทั้งกวาดล้างกระบวนการค้ามนุษย์อย่างจิรงจัง
เจ็ด ขอให้รัฐปฏิบัติการเชิงรุกการกวาดล้างยาเสพติด บุหรี่ เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานศึกษา และชุมชน เนื่องจากความรุนแรงที่เด็กและสตรีถูกทำร้าย ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้าเมายา
แปด ขอให้รัฐมีมาตรการพิเศษ เพิ่มระบบสัดส่วนของผู้หญิง ในทุกระดับ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือเป็นพื้นที่ทางการเมืองชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับนโยบาย เพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและการพัฒนาที่อย่างยั่งยืน และขอให้รัฐได้จัดสรรงบประมาณ กองทุนเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ให้กับองค์กรสตรีภาคประชาชน
สุดท้ายจึงอยากฝากท่านนายกรัฐมนตรี ได้นำ 8 ข้อเสนอนี้ เข้าสู่การปฏิรูปประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ความก้าวหน้าของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564 ) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน( Sustainable Development Goals)โดยใช้ เป้าหมายที่ 5 บอกไว้ชัดเจนในเรื่อง “การสร้างความเท่าเทียมทางเพศสตรี และเด็กหญิงทุกคน”