ขบวนแรงงาน เสนอสนช.หยุดร่าง พ.ร.บ.การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

วันที่ 1 กันยายน 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.การพัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. พร้อมเสนอร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. …. (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ให้พิจารณาแทน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน(คสรท.) กล่าวว่า คสรท.ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งประเทศได้ระดมความคิดเห็นมาโดยตลอด รวมถึงจัดเวทีในการวิเคราะห์โดยเชิญ นักกฎหมาย นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกคำสั่งที่ 75/2557ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ชุดใหม่ที่มีหัวหน้าคสช. และนายยกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีทั้งทหาร พลเรือน ข้าราชการ และนักธุรกิจเข้าเป็นกรรมการ ซึ่ง ซุบเปอร์บอร์ด ชุดนี้มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองการบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง โดยการปฏิรูปมีสาระสำคัญ คือให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ซึ่งต่อมามีการยกร่างกฎหมายเพื่อใช้ในการปฏิรูปฯ คือร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริการรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ซึ่งจากการระดมความคิดเห็น สรุปว่า ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาฯฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อสาธารณะ นอกจากไม่มีการปฏิรูปแล้วแต่จะนำสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด ไม่มีหลักประกันว่าสามารถส่งเสริมประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจในการบริการสาธารณะเพื่อประชาชนแต่อย่างใดไม่สามารถป้องกันปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจได้ กลไกการตรวจสอบเอื้อให้เกิดการทุจริต เป็นการผลักภาระค่าบริการเชิงพาณิชย์ให้กับประชาชน และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลแถลงไว้ และไม่สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีประกาศหลายครั้งผ่านสื่อว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

คสรท.จึงได้เรียนมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกเพื่อยับยั้งร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริการรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ที่มีเงื่อนงำในหลายมาตรานำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและประชาชน คสรท.ขอยืนยันในเจตนารมณ์และจุดยืนที่ได้กระทำและแสดงออกเสมอมาว่า เห็นด้วยกับการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ตรวจสอบได้รับผิดชอบและคุ้มค่า เพราะรัฐวิสาหกิจทั้งหลายดังกล่าวมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเพื่อเป็นกลไกการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ปราศจากการทุจริต นำไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดคือร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

  1. ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

–  มาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

– มาตรา 78 บัญญัติไว้ว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ด้านต่างๆ การจัดทําบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใด บรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน

  1. ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจพ.ศ. …. มาตรา 45 วรรคแรก ยังขัดกับหลักการสากลที่ให้บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น มาตรานี้ขัดหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขัดกับอนุสัญญาสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้กำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติ
  2. เป็นการละเมิดสิทธิของลูกจ้างหรือพนักงานของบรรษัทวิสาหกิจ ที่กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่เป็นราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ลูกจ้างพนักงานของบรรษัทไม่สามารถใช้สิทธิรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯได้ จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ด้วย และขัดกับหลักการทางสากล จึงไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย

ทางคสรท.จึงขอให้ทางสภานิติบัญญัติยับยั้งร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ไว้ก่อน และส่งคืนให้รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 77 และ78 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไปด้วย และมอบร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. …. (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) ให้พิจารณาด้วย