เสวนาสิทธิ ความยุติธรรมและกฎหมายด้านแรงงาน (๓) : การเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

เสวนาสิทธิ ความยุติธรรมและกฎหมายด้านแรงงาน (๓) : การเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

ท่านทั้งหลายคงจำกันได้นะครับ มีการพูดถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรทางธุรกิจรวมทั้งกลยุทธ์ด้านการตลาด ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว ที่ควรต้องกล่าวถึงคือการเลิกจ้างซึ่งเกิดผลกระทบตามมามากมาย

ตัวอย่างเหตุผลของนายจ้างตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง เช่น

“… ผลการดำเนินงานของนายจ้างขาดทุนมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในปี ๒๕๕๕ ขาดทุน รวมกันจำนวน ๗๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๕๖ ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญกล่าวคือ

(๑) การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปี ๒๕๕๕ และในปี ๒๕๕๖ เป็นวันละ ๓๐๐ บาท รวมถึงการปรับค่าจ้าง ประจำปีและการปรับอื่นๆ ของพนักงาน  ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น  และยังมีตัวแปรสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการปรับค่าแรงขั้น ต่ำด้วย รวมถึงเงินโบนัสประจำปีที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนเป็นอย่างมาก

(๒) ยอดการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักและลูกค้าราย ใหญ่ของบริษัทฯ ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติการณ์หนี้สินของประเทศยุโรป

(๓) ค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งตัว เนื่องจากบริษัทฯจำหน่ายสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ

(๔) การปรับขึ้นของวัตถุดิบในการผลิต เช่น GAS ฯลฯ

ความหมายและขอบเขตการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

คือการเลิกจ้างที่นายจ้างสั่งเลิกจ้าง หรือสั่งปิดกิจการ  รวมทั้งการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เนื่องจากนายจ้างต้องประสบกับภาวะล่อแหลมต่ออันตราย ที่มีผลกระทบต่อการกระทำใดๆในงานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของประชาชน เช่น วิกฤตค่าเงิน วิกฤตธนาคาร วิกฤตหนี้ระหว่างประเทศ หรือมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆในงานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของประชาชน

อันทำให้กิจการของนายจ้างต้องขาดทุนหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือมีคำสั่งซื้อลดลง หรือเหตุอื่นใด ซึ่งทำให้นายจ้างต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง หรือประสิทธิภาพขององค์กร หรือลดต้นทุนการผลิต หรือต้องปิดกิจการ หรือต้องย้ายฐานการผลิต หรือกระทำการอื่นใดในทางธุรกิจ เพื่อให้กิจการของนายจ้างอยู่รอดหรือดำเนินต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจากนายจ้างต้องประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ 

แนวคิดเกี่ยวกับการเลิกจ้าง

แนวความคิดแต่เดิมและยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ก็คือหลักที่ว่านายจ้างมีอิสระในการเลิกจ้าง  นายจ้างมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ตามอำเภอใจ  เนื่องจากกิจการของนายจ้างเป็นทรัพย์สินของนายจ้าง  นายจ้างจะปฏิบัติอย่างไรต่อทรัพย์สินของตนก็ย่อมกระทำได้  อำนาจในการจัดการทรัพย์สินจึงเป็นอำนาจของนายจ้างที่จะจ้างบุคคลใดที่ตนพอใจให้มาทำประโยชน์แก่ทรัพย์สินของตน  นายจ้างจึงมีสิทธิโดยอิสระที่จะเลิกจ้างบุคคลใดที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์  ไม่ว่าจะมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ก็ตาม หรือไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลก็ได้

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่บุคคลมีอำนาจเด็ดขาดเหนือทรัพย์สินของตนเองทั้งในการจัดการทรัพย์สินและห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน และเสรีภาพในการทำสัญญาที่บุคคลมีอิสระในการเลือกแสดงเจตนาทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลใดก็ได้

แนวคิดใหม่

(ก) ยึดหลักเรื่องความมั่นคงในการทำงาน การที่ลูกจ้างจะทำงานได้ดีก่อให้เกิดผลกำไรทางเศรษฐกิจแก่นายจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างมีความมั่นคงในการทำงานและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม งานจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดของลูกจ้างและความมั่นคงในการทำงานเป็นความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ของลูกจ้าง

ความมั่นคงในการทำงานก็คือ การมีงานทำเพื่อมีรายได้มาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวจึงเป็นหลักประกันที่สำคัญในการทำงานและเป็นจุดประสงค์เบื้องต้นของสังคมอันพึงให้ความคุ้มครอง

(ข) แรงงานของลูกจ้างเป็นทรัพย์สินของลูกจ้างที่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หากลูกจ้างทำงานให้นายจ้างเป็นเวลานานย่อมสร้างประโยชน์ให้นายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน ลูกจ้างจึงควรได้รับความมั่นคงจากการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์มาเป็นเวลานาน ลูกจ้างจึงพึงได้รับความคุ้มครองมิให้ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น

(ค) การเลิกจ้างหากมีเป็นจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานและก่อให้เกิดผลเสียทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

แนวคิดใหม่ตามอนุสัญญาและข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

(๑) อนุสัญญาฉบับที่ ๑๕๘ กำหนดว่า ลูกจ้างไม่ควรถูกเลิกจ้าง เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควรอันเนื่องมาจากความสามารถ หรือความประพฤติของลูกจ้าง หรือเนื่องจากข้อกำหนดในการทำงานของกิจการนั้น

(๒) ข้อแนะที่ ๑๑๙ ว่าด้วยการสิ้นสุดการจ้าง โดยฝ่ายนายจ้างเป็นผู้บอกเลิกจ้างที่กำหนดว่า การเลิกสัญญาจ้างไม่สมควรเกิดขึ้น เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกสัญญา นั้น เกี่ยวกับความสามารถหรือความประพฤติของลูกจ้างหรือเนื่องจากความจำเป็นในการดำเนินงานของสถานประกอบการหรือการบริหาร

(๓) ข้อแนะที่ ๑๖๖ ระบุว่าการเลิกจ้างไม่ควรกระทำโดยมีสาเหตุจากการปฏิบัติงานอันไม่เป็นที่พอใจ เว้นแต่นายจ้างได้มีคาสั่งที่เหมาะสมและเตือนด้วยลายลักษณ์อักษรแก่ลูกจ้างแล้ว

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(๑) การใช้สิทธิต้องกระทำโดยสุจริต

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ ให้การใช้สิทธิและการชำระหนี้ทั้งหลายของบุคคลทุกคนต้องกระทาโดยสุจริต

การกระทำโดยสุจริต หมายความถึง การกระทำด้วยความซื่อสัตย์เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ การกระทำใดก็ตามที่เป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับความซื่อสัตย์ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ หรือเป็นการกระทำที่บุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ต่อกันแล้วไม่พึงกระทำต่อกันแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีของการเลิกจ้างด้วยเหตุวิกฤติเศรษฐกิจหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ  หากเป็นไปด้วยความจำเป็นถึงขนาดแล้ว  ย่อมถือได้ว่านายจ้างใช้สิทธิโดยสุจริต  แต่หากเป็นการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นจริงหรือเป็นความเท็จแล้ว  ย่อมถือได้ว่านายจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างโดยไม่สุจริต  เพราะเป็นการกระทำที่นายจ้างที่มีความซื่อสัตย์ เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ จะไม่กระทำการอันเป็นเท็จดังกล่าว  จึงน่าจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกจ้างแล้ว ย่อมเป็นการกระทำละเมิดที่นายจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  และอาจถือว่าเป็นกรณีของการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ที่ศาลอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ลูกจ้างได้

(๒) การเลิกจ้างโดยนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่แทนของเก่าได้รับการคุ้มครองพิเศษในบางกรณีที่นายจ้างต้องประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

นายจ้างอาจมีความต้องการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เพื่อมาปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่ายหรือการบริการ ซึ่งเป็นเหตุให้นายจ้างต้องเลิก จ้างลูกจ้างเพื่อลดจำนวนลูกจ้างลง เนื่องจากภาวะคนล้นงานเพราะมีการนำเครื่องจักรหรือ เทคโนโลยีมาทำงานแทน

ลูกจ้างอาจจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๑ และ ๑๒๒

(๓) กรณีการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ ได้บัญญัติให้ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพ แรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง

(๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือน เป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้อง มิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดาเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องหรือ

(๔) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๕) กระทำการใดๆเป็นการยุยง สนับสนุนหรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด

(๔) กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ได้บัญญัติให้การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไว้ว่า  ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

(๑)กรณีศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๙๙/๒๕๔๑

กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ทั้งเหตุแห่งการเลิกจ้างก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่า เป็นนโยบายของนายจ้างที่จะลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น  การเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดโดยอ้างเหตุดังกล่าว  แม้นายจ้างจะได้บอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ก็เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๕๓/๒๕๔๒

หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณา คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ศาลต้องพิจารณาว่า มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่   และสาเหตุดังกล่าวมีเหตุ เพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ  แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ลูกจ้างเดือดร้อนก็ตาม  แต่หากเป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เพื่อให้กิจการของนายจ้างยังคงดำรงอยู่ต่อไป  โดยหวังว่ากิจการของ นายจ้างจะมีโอกาสกลับฟื้นคืนตัวได้ใหม่  ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นและเพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการเลิก จ้างที่ไม่เป็นธรรม  ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๕๐/๒๕๔๗

แม้ผลประกอบการของจำเลย(นายจ้าง)จะมีกำไรสุทธิน้อยลง แต่ก็ยังมีกำไรอยู่ ไม่ปรากฏว่างานของจำเลยลด น้อยลงมาก หรือประสบการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงาน เพื่อพยุงฐานะจำเลยให้อยู่รอด   จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๘๓/๒๕๔๘

กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ ปรากฏผลการดำเนินงานของจำเลย(นายจ้าง)ในปี ๒๕๔๓ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๒ ร้อยละ ๒๖.๘ ปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๖ ผลการดำเนินงานเป็นกำไรอยู่ เพียงแต่ในปี ๒๕๔๖ กำไรลดลงมาก ยังไม่ได้ความว่าจำเลยขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่ กำไรของจำเลยลดลง ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๕๖-๑๒๕๙/ ๒๕๔๙ 

การวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จำเลย(นายจ้าง)อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นเพราะคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เพื่อพยุงฐานะของจำเลยจึงจำต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ซึ่งไม่ปรากฏว่างานของจำเลยได้ลดน้อยลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายโดยลดจำนวนพนักงานลง และยุบงานบางแผนกเพื่อพยุงฐานะของจำเลยให้อยู่รอด แม้การเลิกจ้างของจำเลยได้กระทำตามขั้นตอนโดยมีคณะกรรมการพิจารณา มิได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหก  และปีต่อมายังคงมีกำไรสุทธิโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท และการที่ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปในขณะนั้นไม่ดีนัก  ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของจำเลยในปีต่อๆไป จะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ หากไม่แก้ไขจัดการโดยวิธียุบหน่วยงานบางแผนกและเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเสียแต่ต้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

จะเห็นได้ว่าในเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ นี้ ศาลฎีกาได้วางหลักการวินิจฉัยและแปลความกฎหมายไว้ดังนี้

(๑) พิจารณาว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่

(๒) สาเหตุดังกล่าวมีเหตุจำเป็นเพียงพอ หรือมีเหตุอันสมควรแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ

ซึ่งความจำเป็นในการเลิกจ้าง ต้องเป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จึงต้องเลิกจ้างเพื่อให้กิจการของนายจ้างยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ รวมทั้งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้

นอกจากนี้ ในส่วนการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การฟ้องร้องในเรื่องการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น  ศาลฎีกาก็มีคำวินิจฉัยประเด็นเหตุผลจำเป็นอันสมควรในการเลิกจ้างไปในทำนองเดียวกับการวินิจฉัยเรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ (ซึ่งความจริงแล้วเป็นการฟ้องร้องคนละฐานสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งน่าที่จะมีการศึกษาวิจัยแนวคำวินิจฉัยของศาลแรงงานและศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษด้านแรงงาน หรือศาลฎีกาเพื่อประโยชน์ในการสร้างความยุติธรรมด้านแรงงานต่อไป) คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๐๔๒-๗๐๔๖/๒๕๔๒

นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้าที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยลูกจ้างดังกล่าวมิได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓(๑) ถึง (๕) ทั้งขณะเลิกจ้างผลประกอบการของนายจ้างก็ยังมีกำไร ส่วนที่นายจ้างอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของตน จนต้องขาดทุนและต้องปิดกิจการในอนาคตก็เป็นเพียงการคาดคะเนของนายจ้างเท่านั้น จะกระทบกระเทือนถึงขนาดต้องดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ยังไม่แน่นอน ขณะนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้า  จึงยังไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๓/๒๕๔๔

แม้ตามมาตรา ๑๒๓ จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ ๕ ประการ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือไปจากเหตุ ๕ ประการแล้วจะเลิกจ้างไม่ได้ แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าความจำเป็นของนายจ้างประการอื่นที่จะอ้างขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้าง  จะต้องเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง

เนื่องจากมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบเอสเอพีมาใช้ปฏิบัติงานแทนระบบเดิม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้กิจการเจริญก้าวหน้าและมีกำไรมากขึ้น  ซึ่งจำเป็นต้องลดพนักงานที่ไม่จำเป็นลงบางส่วน แต่ในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ มิได้ประสบภาวะขาดทุน หรือประสบปัญหาอื่นจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้  จึงมิใช่กรณีความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขเพื่อให้กิจการดำรงอยู่ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๗๗/๒๕๔๘

นายจ้างประสบภาวะขาดทุนต้องปรับปรุงองค์กรให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้คงความอยู่รอด มีการยุบหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานที่โจทก์ทำอยู่ มีการดำเนินการจัดลำดับศักยภาพของพนักงานตามหลักเกณฑ์ นายจ้างมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ที่ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง เพื่อให้กิจการดำรงต่อไปย่อมเป็นเหตุจำเป็นแก่การเลิกจ้าง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแม้ลูกจ้างมิได้กระทำการใดตามมาตรา ๑๒๓(๑) ถึง (๕) ก็ตาม กรณีมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลแรงงานหรือศาลสูงในคดีแรงงานจะได้วินิจฉัยวางหลักกฎหมายและแปลความหรือบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแต่ไม่เป็นธรรมไว้เป็นประการใดก็ตาม ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือมีการเลิกจ้างแล้ว  มีแรงงานและครอบครัวได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างแล้ว จะมีแรงงานหรือลูกจ้างสักกี่รายที่มีความพร้อมที่จะใช้สิทธิทางศาลจนถึงที่สุด รวมทั้งศักยภาพของลูกจ้างและทีมทนายความฝ่ายลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างพอมีกำลังพอที่จะว่าจ้างทนายความ แต่ก็อีกนั่นแหละ โอกาสที่ฝ่ายลูกจ้างจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพยานหลักฐานและนำมาเสนอต่อศาลได้ ไม่ว่านำมาเองหรือขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเพื่อจะนำสืบและพิสูจน์ว่า เหตุที่อ้างในการเลิกจ้างไม่จริง หรือไม่มีเหตุเพียงพอถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้มีความซับซ้อน มีจำนวนมาก และส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของนายจ้างหรือคู่ค้าของนายจ้าง  โอกาสที่จะได้มาก็ไม่ง่ายนัก ยังไม่รวมกรณีที่ลูกจ้างไม่มีทนายความ ระบบการพิจารณาคดีจะเอื้ออำนวยให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวได้ครบถ้วนถูกต้อง หรือไม่ เพียงใด

นอกจากนี้คำพิพากษาของศาลก็มีเพียงการสั่งให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแทนการกลับเข้าทำงาน  เนื่องจากการดำเนินคดีกินเวลายาวนาน กว่าคดีจะถึงที่สุด หากศาลจะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้ากลับเข้าทำงาน ก็อาจกระทบกับการบริหารจัดการของธุรกิจ ลูกจ้างเองก็ต้องหางานใหม่ทำ หรืออาจมีงานใหม่ที่มั่งคงหรือก้าวหน้ากว่าเดิม อาจไม่ต้องการกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมอีกแล้ว คำสั่งศาลที่จะเป็นมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ในทางปฏิบัติน่าจะเกิดได้ยาก เพราะไม่มีหลักกฎหมายรองรับ

ประกอบกับเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ประกอบเหตุเลิกจ้าง  ก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมและการค้าระหว่างประเทศ เป็นการยากที่จะคาดหวังให้ธุรกิจมีการเยียวยาอย่างยุติธรรม  ในกรณีที่มีการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้อมูลอันเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปแล้วว่า ในการเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจนั้น ทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายของธุรกิจได้พิจารณากลั่นกรองและออกแบบการเลิกจ้างให้สอดรับกับกฎหมายที่มีอยู่เป็นอย่างดีแล้ว การดำเนินคดีของฝ่ายลูกจ้าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่ปรึกษาหรือทนายความที่มีความรู้ความเข้าใจด้านแรงงานเป็นอย่างดีและยึดมั่นในหลักการการปกป้องความยุติธรรมด้านแรงงาน หากไม่มีซึ่งสิ่งที่กล่าวถึงนี้แล้ว ลูกจ้างก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับความยุติธรรมดังที่มุ่งหวังไว้

ทางออกหรือทางแก้ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ควรมีนโยบายของรัฐให้เกิดกระบวนการการทำข้อตกลงร่วมในระดับชาติ หรือระดับอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดหลักการการคุ้มครอง  กลไก แนวทาง ขั้นตอน  และมาตรการในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายหรือความเดือดร้อนทั้งของธุรกิจและของลูกจ้างดังกล่าว หรือมิฉะนั้นก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงานให้มีหลักการการคุ้มครอง กลไก และ มาตรการต่าง ๆ  ในทำนองเดียวกันกับการทำข้อตกลงร่วม อันเป็นการมุ่งป้องกันมากกว่าการแก้ไข และมาตรการในการแก้ไขปัญหาก็สามารถกำหนดให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน เช่น การให้สินเชื่อหรือการกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้า การฝึกทักษะฝีมือเพื่อเปลี่ยนงานหรืออาชีพ  เป็นต้น มิใช่เพียงการชดเชยความเสียหายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงรุกที่กระทรวงแรงงาน องค์กรไตรภาคีและองค์กรพหุภาคีด้านแรงงานและภาคประชาสังคมด้านแรงงาน จะได้ร่วมกันคิดและร่วมกันทำตามหลักความเป็นหุ้นส่วนทางสังคม อันเป็นการสร้างมิติใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน