เปิดเนื้อหาพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 : “แม้ไม่เข้าใจก็ต้องทำใจ เมื่อความมั่นคงของรัฐมาก่อนความเป็นคน”

เปิดเนื้อหาพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 :
“แม้ไม่เข้าใจก็ต้องทำใจ ของเล่นชิ้นใหม่รัฐไทยต่อการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ”

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
03-07-2560

12 กันยายน 2557 ถ้อยแถลงหนึ่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในนโยบายที่ 2.1 เรื่องการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ว่า “ในระยะเร่งด่วน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในกิจการ 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้วางใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและจัดการปัญหาอื่น ๆที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ เช่น ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล การปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เป็นต้น”
หลังจากนั้นแนวนโยบายต่างๆผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องจึงปรากฎออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

(1) 17 มิถุนายน 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการแต่งตั้งคณะ กรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบด้วยการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ

(2) 22 มิถุนายน 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้มีนโยบายเปิดศูนย์การบริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามจังหวัดต่างๆ

(3) 29 มิถุนายน 2557 ขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวเพื่อเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ

(4) 28 ตุลาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราวจากศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

(5) 25 พฤศจิกายน 2557 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ขยายการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(6) 16 ธันวาคม 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ขยายการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(7) 20 มกราคม 2558 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องให้กระทรวงแรงงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการครบกำหนดเวลาที่ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จออกให้แก่แรงงานต่างด้าวจะหมดอายุ แต่กระบวนการตรวจสัญชาติอาจไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558

(8) 10 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(9) 3 มีนาคม 2558 เห็นชอบการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558

(10) 23 กุมภาพันธ์ 2559 การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 กำหนดให้สิ้นสุดการทำงานในวันที่ 31 มีนาคม 2561 และเร่งรัดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ภายใต้ระบบการนำเข้าภายใต้ข้อตกลง (MOU) รวมทั้งให้ยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงาน

(11) 26 กรกฎาคม 2559 ปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ (2) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ติดตามของแรงงานต่างด้าวและบุตรของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และ (3) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 และคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย

(12) 11 ตุลาคม 2559 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น โดยอาจพิจารณาจัด Zoning พื้นที่ที่พักอาศัย

(13) 25 ตุลาคม 2559 เห็นชอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังสิ้นสุดการจดทะเบียน โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมอำนวยความสะดวกการตรวจสัญชาติแรงงาน และเห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560–2564

(14) 17 มกราคม 2560 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องเร่งรัดการจัด Zoning พื้นที่ที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว

(15) 6 มิถุนายน 2560 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว และการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นทางที่เป็นสาเหตุ

นี้ไม่นับว่าตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน (Memorandum of Understanding on Employment Corporation-MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งสามประเทศแรกดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-46 ส่วนประเทศเวียดนาม ดำเนินการในปี 2558 แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และยังคงมีแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองมาตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

จนนำมาสู่การที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบแรงงานและระบบคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีการเสนอรายงานเรื่องการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวร เพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ ถือเป็น 1 ใน 27 วาระของการปฏิรูป เมื่อเมษายน 2560

และล่าสุดกับการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
ราวกับสะท้อนให้เห็นดังที่ Phillip Martin ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรจะถาวรไปกว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวชั่วคราว” (Nothing more permanently than hiring temporary migrants)
ภายหลังจากที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้ ได้สร้างความแตกตื่น-ตระหนก-ตกใจให้กับทั้งตัวนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา อย่างมหาศาล จนนำมาสู่ปรากฎการณ์ “ลอยแพ-ถีบหัวส่ง-ผลักไสลูกจ้างที่ผิดกฎหมาย” “มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะมากขึ้นถ้านายจ้างคนไหนยังอยากจ้างคนงานผิดกฎหมายอยู่” กระทั่งการออก

แถลงการณ์จากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งนายจ้างและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้เกิดการทบทวนการออกกฎหมายฉบับนี้

ดิฉันคงไม่สามารถก้าวล่วงไปยังที่มาที่ไปของการออกกฎหมายฉบับนี้ได้ว่าเบื้องหลังคืออะไร อย่างไร แม้จะเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เข้ามาด้วยกันก็ตาม เพราะตนเองไม่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายใดเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการหาคำอธิบายในเรื่องนี้จึงมิง่าย

อีกทั้งยังมีความพยายามของอีกหลายภาคส่วนในการนำมาตรา 14 ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้มาปลดล็อคปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ที่ระบุไว้ว่า

“มาตรา 14 เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้ทํางานในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จําต้องปฏิบัติตามพระราชกําหนดนี้ ในกรณีใด ๆ ก็ได้

(1) ผู้รับอนุญาตให้นําคนต่างด้าวมาทํางานหรือนายจ้างนําคนต่างด้าวมาทํางานในประเทศ

(2) คนต่างด้าวเข้ามาทํางานในราชอาณาจักร”

ตลอดจนเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยขยายเวลาออกไป 120 วัน เพื่อให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาต่อจากนี้ จะมุ่งไปที่ตัวบทบัญญัติที่กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้เป็นสำคัญ อย่างน้อยก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าอะไรคือความน่ากลัวของกฎหมายฉบับนี้ ? จนสร้างความกริ่งเกรง-หวาดหวั่นไปทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติได้ขนาดนี้
เมื่อสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และงานที่คนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามกลับพบปัญหาในตัวกฎหมาย ดังนี้

(1) แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายอย่างน้อย 1 ล้านคนที่มีการจ้างงานอยู่ในขณะนี้ ? จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง การเลิกจ้างโดยฉับพลันโดยไม่มีกลไกด้านแรงงานใดๆคุ้มครองแม้แต่น้อย มันคือการละเมิดสิทธิแรงงานดีๆนี้เอง เช่น ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ฯลฯ หรือนี้คือ “ใบอนุญาตเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยชอบธรรม”

(2) รัฐบาลไทยยืนยันว่าไม่มีการจดทะเบียนใหม่แน่นอน โดยผลักดันให้นายจ้างไปใช้การจ้างงานแบบระบบ MOU คือ การจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งก็พบปัญหาการติดขัดในขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้จ้างแรงงานคนหนึ่งๆ อีกทั้งบางประเทศ ระบบ MOU ก็ไม่อนุญาตให้คนธรรมดานำเข้าเอง และบางกิจการก็นำเข้าไม่ได้ เช่น งานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น

(3) มีนายจ้างจำนวนมากที่จ้างงานแรงงานข้ามชาติ แต่ชื่อนายจ้างที่จ้างงานยังคงเป็นนายจ้างคนเดิมอยู่ที่ไม่ได้แจ้งย้ายออก

(4) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง และงานรับใช้ในบ้าน จะได้รับผลกระทบอย่างมากแน่นอน

(5) มีการกำหนดโทษสูงมาก อาจเป็นช่องทางให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายและการทุจริตมากขึ้น รับเงินใต้โต๊ะมากขึ้น

(6) ไม่มีระยะเวลากำหนดที่ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานไม่ถูกกฎหมายมีระยะเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง

(7) มีแรงงานจำนวนมากได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว การกลับมาทำงานมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงาน นายจ้างหาแรงงานมาทดแทนไม่ได้ แรงงานไทยไม่ทำงานกับงานประเภทนี้

(8) เกิดการจับกุมแรงงานและส่งกลับอย่างหนาแน่นในหลายพื้นที่

(9) แรงงานถูกลอยแพ โดยไม่มีกลไกการคุ้มครองปกป้องสิทธิแรงงานในการจ้างงานใดๆทั้งสิ้น เช่น ในพื้นที่แม่สอด
แต่ในอีกมุมหนึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า

(1) รัฐไทยมีความชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะรูปธรรมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ผ่านมาตรการและกลไกต่างๆ เช่น การมีคณะกรรมการระดับชาติกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว , การมีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว , การทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนผ่านโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงาน

(2) ลดการแสวงหาประโยชน์ของนายทุนในหลายกิจการ ที่ไม่จำเป็นในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจริงๆ แต่เป็นไปเพื่อลดอำนาจการต่อรองของแรงงานไทย หรือสหภาพแรงงาน และเลือกใช้การจ้างแรงงานข้ามชาติแทน ที่จ่ายเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น และแรงงานไม่สามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ เช่น ที่พบในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น

(3) การใช้แรงงานข้ามชาติต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและปกป้องแรงงานเมื่อถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการจ้างงานที่นายจ้างต้องรับผิดชอบในการวางหลักประกันล่วงหน้า ไม่ใช่ปล่อยลอยแพเลิกจ้างอะไรอย่างไรก็ได้ เฉกเช่นที่แรงงานไทยประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังตัวอย่างที่พบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ทั้งนี้สามารถพิจารณาสาระสำคัญแต่ละเรื่อง รวม 13 เรื่อง ได้ดังนี้

(1) แรงงานข้ามชาติในกฎหมายฉบับนี้หมายถึงใคร ?

– บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ใช้กำลังกายหรือความรู้เพื่อประกอบอาชีพหรือประกอบการงานด้วยประสงค์ค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นงานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(2) แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดบ้างที่จะต้องบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ ?

(2.1) กลุ่มที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(2.2) กลุ่มที่มีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ที่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อมาทำงานชั่วคราว

(2.3) กลุ่มที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม หรือกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการลงทุน

(2.4) กลุ่มที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(3) แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดบ้างที่จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม คุมขัง ส่งกลับ ตามกฎหมายนี้ ?

(3.1) แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆเลยทั้งสิ้น

(3.2) แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน

(3.3) แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานระบุงานประเภทหนึ่ง แต่ไปทำงานอีกประเภทหนึ่ง

(4) แล้วกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยตอนนี้แล้ว จะถูกกฎหมายนี้ใช้บังคับหรือไม่ อย่างไร ?

– กลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำงานหรือได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้รับใบอนุญาตทำงานหรือได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มบัตรสีชมพู , กลุ่มรอพิสูจน์สัญชาติ , กลุ่ม MOU ยังคงสามารถทำงานได้ต่อไป

– ใบอนุญาตทำงานที่ออกให้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคมพุทธศักราช 2515 ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตทำงานนั้น

– นายจ้างผู้ใดได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ ตามพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ให้ดำเนินการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนเองในประเทศได้ต่อไป

(5) งานอะไรบ้างที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถทำได้บ้าง ?

– คณะกรรมการ (คกก.) นโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็น คกก.ตามกฎหมายฉบับนี้ จะประกาศกำหนดเองว่า งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดเพียงใดก็ได้ รวมทั้งการจัดสรรจำนวนคนต่างด้าวเข้าทำงาน

– ในระหว่างที่ยังมิได้มีประกาศ ให้อธิบดีกรมการจัดหางาน อนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใด ๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 (ในที่นี้ คือ การนำบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้ชั่วคราว)

– คกก. สามารถประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัยสำหรับแรงงานข้ามชาติ เฉพาะจำพวกใดหรือท้องที่ใดก็ได้

– ก่อนทำงานต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานจากนายทะเบียน เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วนตามที่อธิบดีประกาศกำหนดซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน แต่คนต่างด้าวจะทำงานนั้นได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ

– เมื่อ 29 มิถุนายน 2560 ได้มีประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง กําหนดงานอันจําเป็นและเร่งด่วน ออกมาใช้แล้วซึ่งไม่ต้องขออนุญาตทำงาน แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียน ซึ่งก็คือ อธิบดีกรมการจัดหางานทราบ

(6) ถ้านายจ้างจะจ้างแรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทย ต้องทำอย่างไร ?
มี 2 ประเภท คือ

(6.1) ผ่านบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในกฎหมายส่วนที่ 2 การประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

– ต้องเป็น “บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ” หรือลักษณะเดียวกันเท่านั้น

– ก่อนที่อธิบดีจะอนุญาต ต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทไว้กับอธิบดี เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

– ถ้าทำผิดเงื่อนไขการจัดหางานที่กำหนดไว้ จะมีโทษพักใบอนุญาต

– ใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานมีอายุ 2 ปี ฉบับละ 20,000 บาท

– ถ้าใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ต้องจัดการใหม่ภายใน 15 วัน

– เมื่อนำแรงงานเข้ามาแล้ว แต่นายจ้างไม่รับหรือแรงงานไม่ยินยอมทำงาน ให้บริษัทส่งกลับไปยังประเทศต้นทางภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งจากนายจ้าง และมาแจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายใน 7 วันนับแต่วันที่คนต่างด้าวกลับออกไป

– ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานอาจจัดให้คนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างรายอื่นได้ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่นายจ้างไม่รับเข้าทำงานหรือวันที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้างด้วยเหตุดังกล่าว

– คนต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างรายอื่นได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

– ถ้าบริษัทที่จัดหาคนต่างด้าวมาทำงานไม่นำคนต่างด้าวมา ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนายจ้างไปแล้วทั้งหมดภายใน 30 วัน ที่นายจ้างเรียกคืน

– ถ้าลูกจ้างทำงานครบตามสัญญาแล้ว ให้นายจ้างแจ้งบริษัทผู้จัดหาแรงงานให้ ภายใน 7 วัน เพื่อให้บริษัทผู้จัดหาแรงงานส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป

(6.2) นายจ้างจ้างเองโดยตรง หรือจ้างต่อจากนายจ้างคนอื่น

– ยื่นคำขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานต่ออธิบดี และต้องได้รับอนุญาตก่อน

– ชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขออนุญาตทำงานและการออกใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 20,000 บาท ต่อแรงงาน 1 คน

– อายุใบอนุญาตทำงาน 2 ปี หรือเป็นไปตามที่กฎหมายอื่นกำหนด

– ต่อใบอนุญาตทำงานได้ครั้งละ 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี ต่อครั้งละ 20,000 บาท

– ใบอนุญาตทำงานหาย ต้องแจ้งขอใหม่ ใบละ 3,000 บาท

– วางหลักประกันไว้กับอธิบดีเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่นายจ้างได้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ คาดว่าอาจจะจำนวนประมาณ 20,000 บาทต่อคน

– ถ้าจ้างต่อจากนายจ้างคนอื่นที่เลิกจ้างแล้ว ต้องไปทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิม

– ต้องทำงานตามประเภทที่ขออนุญาตเท่านั้น ถ้าจะเปลี่ยนต้องแจ้งนายทะเบียน ค่าเปลี่ยนครั้งละ 5,000 บาท

(7) โทษที่เกี่ยวข้องถ้าไม่ทำตามกฎหมายนี้ ?

– แรงงานจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือต้องเดินทางกลับออกไปจากประเทศไทยภายใน 30 วัน

– นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยเป็นงานที่กำหนดว่าห้ามทำ ปรับ 4 -8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน

– นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับ 4 -8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน

– นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่ตรงกับงานที่กำหนดในใบอนุญาตทำงาน ปรับ 4 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน ส่วนลูกจ้างจะถูกปรับ 1 แสนบาท

– แรงงานข้ามชาติที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

– บริษัทจัดหาแรงงานข้ามชาติ หรือนายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่ขออนุญาตต่ออธิบดี จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– ขออนุญาตแล้ว แต่อธิบดียังไม่อนุญาต แต่นำมาทำงานแล้ว จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน

– บริษัทจัดหาแรงงานข้ามชาติ ไม่ทำตามระเบียบที่กำหนด ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เช่น ปรับตั้งแต่ 5,000- 20,000 บาท , จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท

– เมื่อลูกจ้างไม่ทำงาน นายจ้างไม่แจ้งกับอธิบดี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

– ส่งลูกจ้างกลับประเทศต้นทางแล้วไม่แจ้ง ถ้าเป็นนายจ้างปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่ถ้าเป็นบริษัท ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

– นายจ้างไม่จัดส่งลูกจ้างกลับ ปรับไม่เกิน

1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่ถ้าเป็นบริษัท ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

– ยึดใบอนุญาตทำงาน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– หลอกลวงว่าสามารถนำแรงงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยได้ จำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 แสนบาท – 1 ล้านบาท ต่อแรงงาน 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ช่วยดำเนินการ จำคุก 1-3 ปี ปรับ 2-6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(8) ถ้านายจ้างจะเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยมีเหตุผลอันสมควร หรือลูกจ้างแรงงานข้ามชาติอยากลาออก หรือทำงานครบกำหนดแล้ว ต้องทำอย่างไร ?

– จัดส่งคนต่างด้าวนั้นกลับไปยังประเทศต้นทางภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวไม่ได้ทำงานกับนายจ้างหรือวันที่ครบกำหนดตามสัญญา

– เมื่อจัดส่งคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางแล้ว ให้นายจ้างแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

– ไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(9) ถ้านายจ้างเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร , นายจ้างเลิกกิจการ , นายจ้างผิดสัญญาจ้างหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องทำอย่างไร ?

– นายจ้างหรือลูกจ้างแจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

– ถ้าแรงงานข้ามชาติหางานใหม่ไม่ได้ ให้นายจ้างรายเดิมส่งกลับประเทศต้นทางภายใน 7 วัน

– ถ้านายจ้างไม่จัดส่งเอง ให้อธิบดีเป็นผู้ส่ง โดยหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันที่นายจ้างได้วางไว้

(10) ใครเป็นคนดูแลเรื่องนี้ ? ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายและกำกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

– กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รวม 26 คน

– กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

– มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ

– ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ

– ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประธานสภาหอการค้าไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

– ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ซึ่งอธิบดีเสนอชื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคน โดยแต่งตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

– ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านแรงงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านกฎหมาย และด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ โดยแต่งตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

– ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ

– ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

(11) อำนาจหน้าที่อธิบดีกรมจัดหางานในฐานะนายทะเบียน และเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง

– มีหนังสือเรียกหรือสั่งให้บุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งเอกสารประกอบการพิจารณา

– เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศในระหว่างเวลาทำการ

– เข้าไปในสถานประกอบการซึ่งรับคนต่างด้าวจากผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้

– ค้นในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศหรือมีคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาจมีหมายค้น

– มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถจับกุมไปส่งสถานีตำรวจได้ทันที

(12) เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิต้องทำอย่างไร ?

– สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้

– ยื่นคำร้องต่ออธิบดีเพื่อดำเนินการ และสามารถหักหลักประกันที่นายจ้างวางไว้ เป็นการชดใช้ความเสียหาย

(13) กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
– เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

– มีคณะกรรมการดูแลเรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ

– ช่วยเหลือคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานแล้วถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายด้านแรงงาน

– ส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

– ช่วยเหลือและอุดหนุนหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ที่เสนอโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงานแก่คนต่างด้าว
เหล่านี้คือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่ดิฉันพยายามย่อยออกมาเพื่อทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามมาแต่ต้น ยังไม่เข้าใจอย่างกระจ่าง ได้มีโอกาสทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การส่งเสียงให้เกิดการทบทวนการออกกฎหมายฉบับนี้ บนพื้นฐานความสมดุลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป