จับชีพจร เลือกปฏิบัติ “สิทธิประกันสังคม” แรงงานข้ามชาติ?

โดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

 หลักการประกันสังคม คือ  หลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนทำงานในสังคม

       โครงการประกันสังคม (Social Insurance) มีหลักการดังนี้(1)

  1. งบประมาณที่ใช้มาจากเงินสมทบ หรือเบี้ยประกันซึ่งโดยปกติ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง โดยรัฐมักจะมีส่วนร่วมด้วย
  2. เป็นการประกันแบบบังคับ
  3. เงินสมทบจะนำมาตั้งเป็นกองทุนพิเศษ เพื่อจ่ายเป็นผลประโยชน์ทดแทน
  4. เงินเหลือจ่ายจะถูกนำไปลงทุน เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของกองทุน
  5. รับประกันว่าจะได้ผลประโยชน์ทดแทน โดยพิจารณาจากประวัติของการจ่ายเงินสมทบ โดยไม่ต้องผ่านการทดสอบฐานะรายได้
  6. เงินสมทบและประโยชน์ทดแทน มักจะเป็นสัดส่วนกับรายได้
  7. โปรแกรมกองทุนเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน มักเป็นภาระด้านการเงินของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว

ระบบประกันสังคม เป็นโครงการที่เน้นการคุ้มครองช่วยเหลือระหว่างผู้ทำงานที่มีรายได้ประจำ มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ผู้จ่ายเงินสมทบหรือครอบครัวเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ และต้องบังคับให้ผู้ในวัยทำงานทุกคนในภาคเศรษฐกิจทางการหรือในระบบ (Formal Sector) โดยมีข้อยกเว้นน้อยที่สุด เพื่อให้ฐานสมาชิกกว้างที่สุด เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของหลักการเฉลี่ยสุขเฉลี่ยทุกข์ และกระจายความเสี่ยงทางสังคมร่วมกันเป็นไปได้มั่นคงยั่งยืน ต่างจากโครงการความช่วยเหลือทางสังคมหรือระบบสังคมสงเคราะห์ ที่เน้นช่วยเหลือผู้มีความจำเป็นเดือดร้อนและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

ความมั่นคงทางสังคมในชีวิตผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าอุบัติเหตุจากการทำงาน (Work Accidents) และโรคเนื่องจากการทำงาน/ประกอบอาชีพ (Occupational Diseases) ถือ เป็นหลักประกันความเสี่ยงภัยที่นายจ้างต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเจ็บป่วยหรือการประสบอันตรายจากการทำงานแก่ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (Workmen’s Compensation Act) โดยถือว่าเงินทดแทนนี้เป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต

 

การประกันสังคมแรงงานข้ามชาติระหว่างการทำงานและพักอยู่ในต่างประเทศ(2)

ระบบประกันสังคมทำให้เกดความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้ในกรณีที่ว่างาน เจ็บป่วย ชราภาพ ความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น ตั้งครรภ์และดูแลบุตร เจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องการดูแลทางการแพทย์ การสูญเสียผู้สร้างรายได้หลักในครอบครัว และการบาดเจ็บจากการทำงาน ในบางกรณีดังกล่าว ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯและ/หรือเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้าง

แรงงานข้ามชาติควรได้รับการปฏิบัติด้านสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานพลเมืองของประเทศ อาจใช้ข้อกำหนดต่างๆในแบบเดียวกันกับที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานพลเมืองของประเทศ เช่น ข้อกำหนดในการเป็นผู้พำนักอยู่ภายในประเทศ อนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้เฉพาะในกรณีซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นจ่ายโดยใช้เงินกองทุนของรัฐและสิทธิประโยชน์ ซึ่งจ่ายให้กับบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดสำหรับเงินบำเหน็จบำนาญปกติ

หากแรงงานข้ามชาติหรือครอบครัวออกจากประเทศที่ทำงานอยู่ ก็ไม่ควรที่จะเสียสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ในประเทศบ้านเกิด สิทธิประโยชน์เหล่านี้ควรติดตามแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะพำนักอยู่ในประเทศใดก็ตาม แต่จะให้เป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อประเทศต่างๆร่วมปรับระบบสวัสดิการสังคมของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO

แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งไม่สามารถจดทะเบียนได้ ควรสามารถขอรับสิทธิระโยชน์ทางประกันสังคมได้จากการทำงานในอดีตภายใต้เงื่อนไขเดียวกับแรงงานพลเมืองของประเทศ

 

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 143 ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายในสภาพมิชอบ และการส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมกัน และการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) มาตรา 9 (1) ระบุชัดเจนว่า

โดยปราศจากอคติต่อมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการขนย้ายผู้เลื่อนย้ายถิ่นเพื่อการทำงานโดยการประกันว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาในดินแดนแห่งชาติ และได้รับการรับเข้าทำงานอย่างสอดคล้องตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียมกันสำหรับตัวคนงานเองและครอบครัวของคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิที่เกิดจากการทำงานที่ผ่านมาในอดีต ในเรื่องของค่าตอบแทน ประกันสังคม และประโยชน์ทดแทนอื่นในกรณีที่ยังไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเหล่านี้ และเมื่อสถานภาพของเขายังไม่สามารถแปลงสภาพให้เป็นปกติให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

สรุป คือ (1) คนงานข้ามชาติและครอบครัว ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ทุกอย่างที่เกิดจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานพลเมืองของประเทศ ถ้าได้เข้าทำงานอย่างสอดคล้องกับกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(2) แรงงานข้ามชาติมีข้อยกเว้นสำหรับสิทธิประโยชน์ที่จ่ายโดยใช้เงินกองทุนของรัฐบาล และไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดกรณีรับเงินบำเหน็จบำนาญ

กิจการและลูกจ้าง (ทั้งไทยและต่างชาติ)ที่ไม่อยู่ในบังคับของระบบการประกันสังคมตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกา

หมายเหตุ: บุคคลใดที่มิใช่ลูกจ้าง หรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายประกันสังคม อาจสมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558

ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2558 มีจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนต่างชาติขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมทั้งหมด 499,368 คน (ประมาณ 1 แสนคน หรือร้อยละ 20 อยู่ในจ.สมุทรสาคร) ประกอบด้วย

สัญชาติเมียนมาร์                                                                      312,028 คน

กัมพูชา                                                                     86,551 คน

ลาว                                                                          11,983  คน

เวียดนาม                                                                      509   คน

อื่นๆ                                                                          88,297  คน

ขณะที่ผู้ประกันตนโดยบังคับ ตามมาตรา 33 ณ ธันวาคม 2558 ทั้งประเทศจำนวน 10,391,761 คน (สถิติงานประกันสังคม 2558:น.5) เพราะฉะนั้นผู้ประกันตนต่างชาติ คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของทั้งประเทศ และมีแรงงานข้ามชาติเข้าถึงประกันสังคมไม่เกินครึ่งของทั้งหมดที่มีกว่าล้านคน

สำนักงานประกันสังคม แบ่งแรงงานข้ามชาติที่ได้รับความคุ้มครองเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เข้ามาทำงานตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน,แรงงานมีฝีมือ หรือเข้ามาตามข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาล (MOU) ต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
  2. แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองแต่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว มีหนังสือเดินทางชั่วคราว (Terporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certicated of identity) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
  3. แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทำงานชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ต้องมีผู้แจ้งการประสบอันตรายต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อดำเนินการให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติโดยตรงเป็นจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำงานได้รับ

…. เหลียวหลังแลหน้า … สู่อนาคตการเลือกปฏิบัติ ?

ในช่วงกลางปี 2555นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันติบาต แห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศพม่า(NLD) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าพบนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพบปะชาวพม่าจำนวนมาก ที่ทำงานในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.)มีมติตั้งอนุกรรมการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว และนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดรกระทรวงแรงงาน ก็ได้กล่าวว่า จะศึกษารูปแบบการจัดสวัสดิการด้านประกันสังคม จะดูความเหมาะสมว่า แรงงานต่างด้าวควรใช้สิทธิประโยชน์กรณีใดบ้างจาก 7 กรณี คาดว่า 2 เดือนจะได้ข้อสรุป (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,1 มิถุนายน 2555,น.16) แต่ต่อมาก็เงียบหายไป เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล/รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงบ่อยเกินไป และมีนโยบายอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่าประกันสังคม

ส.ส.เรวัต อารีรอบ และคณะได้เสนอร่างกฎหมายประกันสังคม และได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกับร่างกฎหมายฉบับรัฐบาล โดยร่างกฎหมายของส.ส.เรวัติ อารีรอบกับคณะ ได้เพิ่มมาตรา 33/1 เพื่อเตรียมแบ่งแยกเลือกปฏิบัติด้านอัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 บทบัญญัติมาตรา 33/1 มีดังนี้

ให้บุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ปรากฏสัญชาติประเทศต้นทาง และมีนายจ้างผู้ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ

ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง เมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนวรรคหนึ่งจะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้พิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน และอาจกำหนดเงินบำเหน็จสะสมในการทำงานที่คืนให้เมื่อเดินทางกลับถิ่นฐานของประเทศต้นทางทุกครั้ง เป็นสิทธิประโยชน์ระยะสั้น”

ซึ่งร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คสช. และจะมีผลบังคับใช้ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ได้เห็นชอบเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 77 ทวิวรรคสาม เพื่อให้ผู้ประกันตนต่างชาติมีโอกาสเลือกรับบำเหน็จดังนี้

ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนหรือไม่ก็ตาม และประสงค์ที่จะไม่พำนักอยู่ในประเทศไทย ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

เมื่อเดือนกรกฎาคมคม 2558 รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (นายโกวิท สัจจวิเศษ)ให้ข่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะว่า

คณะทำงานของสำนักงานประกันสังคมซึ่งตนเป็นประธานอยู่ ได้ศึกษาจัดทำระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยเทียบเคียงกับประเทศอื่นทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติกับกับแรงงานไทยมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้บางสิทธิประโยชน์อาจไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เช่น สิทธิกรณีว่างงานที่เกี่ยวข้องกับกรมการจัดหางาน ซึ่งแรงงานข้ามชาติต้องกลับประเทศภายหลังครบกำหนดตามบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถรับสิทธิว่างงานได้ เนื่องจากไม่มีงาน ไม่มีนายจ้างก็ต้องกลับประเทศเมื่อไม่ได้รับ ก็อาจตัดเงินสมทบในส่วนนี้

กรณีชราภาพ จะให้เป็นเงินก้อนแก่แรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติอาจไม่ได้กลับมาทำงานในไทยอีก

กรณีคลอดบุตร และการรักษาพยาบาล จะศึกษาว่ามีแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติใช้สิทธิจำนวนเท่าไร รวมถึงจำนวนเงินที่เบิกจ่ายออกไปเท่าไร ซึ่งเห็นว่ากองทุนประกันสังคม ควรแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน

จากการศึกษาเบื้องต้น ประเทศอื่นไม่ได้ให้สิทธิประกันสังคมแก่แรงงานข้ามชาติในเรื่องคลอดบุตรและว่างงาน ขณะที่ได้เริ่มร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติบางส่วนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณา”

บทสรุป คือ

มีแนวโน้มว่า รัฐจะจัดระบบประกันสังคมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ดังนี้

ยกเว้นเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร

การรักษาพยาบาลและกรณีคลอดบุตร ให้ไปใช้บัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ต้องจ่ายเงินประกันกับกระทรวงสาธารณสุข และจ่ายค่าบริการรายครั้งต่อหน่วยบริการ

โดยอ้างถึง เงื่อนไขรูปแบบการทำงาน-ระยะเวลาการทำงานที่ไม่เหมือนกับแรงงานไทย หลายประเทศไม่ให้สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรและว่างงานเหมือนประเทศไทย และเพื่อความคล่องตัวในบริหารงาน

ขณะที่พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เป็นครั้งแรกที่ได้แก้ไขให้ผู้ประกันตนไม่มีสัญชาติไทยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี ตามกฎกระทรวงที่บังคับใช้เมื่อกลางเดือนมกราคม 2560 ดังนี้

 

สาระสำคัญ

กฎกระทรวงการจ่ายบำเหน็จชราภาพผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.2560

ใช้บังคับตั้งแต่ 17 มกราคม 2560

ที่มา: พระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 4)พ.ศ.2558 มาตรา 77 ทวิวรรคสามบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายบำเหน็จชราภาพให้ผู้ประกันตนไม่มีสัญญาติไทยไม่ว่า จะมีอายุครบ 55 ปีหรือไม่

ประเด็นสำคัญ คือ

  1. ต้องเป็นผู้ประกันตนของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทยแล้ว
  2. ต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เช่น ถูกเลิกจ้าง ขอลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง
  3. แสดงความไม่ประสงค์ จะไม่พำนักในไทยต่อไป พร้อมเอกสารหรือหลักฐานที่กฎกระทรวงกำหนด
  4. เงินบำเหน็จที่จะได้รับ เหมือนผู้ประกันตนไทยทั่วไป คือ

4.1 ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้เงินบำเหน็จเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย

4.2 ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้เงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย พร้อมผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ข้อสังเกต คือ

(1) กฎกระทรวงฯฉบับนี้ น่าจะออกมาไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ทวิวรรคสาม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เพราะเพิ่มเติมเงื่อนไขว่า “ต้องเป็นผู้ประกันตนของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทยแล้ว”

(2) แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ถ้ารัฐบาล

พม่าไม่ทำความตกลงกับรัฐบาลไทยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ อาจทำให้ผู้ประกันตนชาวพม่าที่ในไทย ไม่ได้เงินบำเหน็จชราภาพได้

จับตา … สู่การเตรียมเลือกปฏิบัติ ?

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศพ.ศ. 2559

หมวดว่าด้วยการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ ในร่างพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ขึ้นใหม่ สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่มีการจ้างงานและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 (เช่น อาจกำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนต่างชาติจ่ายเงินสมทบสำหรับประโยชน์ทดแทนบางกรณี โดยรัฐบาลไม่จ่ายสมทบ, อาจกำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนต่างชาติไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ และรับสิทธิประโยชน์บางกรณีแตกต่างจากผู้ประกันตนสัญชาติไทย) เป็นต้น

—————————————————

(1) องค์การแรงงานระหว่างประเทศเจนีวา หนังสือ “ความมั่นคงทางสังคม คู่มือการศึกษาสำหรับผู้ใช้แรงงาน” (ภาษาไทย) ม.ป.ป. น.5

(2) สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ แนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในเอเชียและแปรซิฟิก,กรุงเทพ 2551: คัดจากน.37