ความยุติธรรมด้านแรงงานในภาวะวิกฤติอุทกภัยร้ายแรงที่ภาคใต้ประเทศไทย

ภาพเFBไมตรี 15871603_1432315883468297_6402580861089550863_n

ความยุติธรรมด้านแรงงานในภาวะวิกฤติอุทกภัยร้ายแรงที่ภาคใต้ประเทศไทย

ชฤทธิ์  มีสิทธิ์  

ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมที่ร้ายแรงมาแล้ว ๓  ครั้ง คือ (๑) วิกฤติต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ (๒) วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ และ(๓)วิกฤติมหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔

ผลกระทบของวิกฤติต้มยำกุ้ง

สถาบันการเงินล้มละลาย เกิดปัญหาตลาดหุ้นส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมจนมีการเลิกจ้างจำนวนมาก มีคนตกงานไม่น้อยกว่า ๑  ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือที่มีอายุมาก กระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนชั้นล่างของสังคม  เมื่อรัฐบาลขาดนโยบายทางสังคมรองรับ จะเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากให้กับคนจน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเกิดการปรากฏตัวของ “คนจนใหม่” คือแรงงานที่มีการศึกษาแต่ไม่มีงานทำ

วิกฤตินี้ทำให้ธุรกิจใช้มาตรการลดกำลังคนแต่เพิ่มงาน ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง หรือสลับกันมาทำงานทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง  ลดหรือยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ ที่เคยจัดให้  ย้ายแรงงานไปทำงานในโรงงานเครือข่ายในพื้นที่ที่ค่าจ้างต่ำกว่า   กระจายงานไปให้ผู้รับเหมาช่วงและผู้รับงานไปทำที่บ้าน กระทบต่อความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตรชนบท สหภาพแรงงานอ่อนแอลง ถูกทำลายมากขึ้น และเกิดปัญหาทางสังคม ความเครียด การฆ่าตัวตาย เด็กถูกทอดทิ้งและต้องออกจากโรงเรียน

        ผลกระทบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ในภาพรวมทั้งนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการประเมินกันว่า จะมีผู้ถูกเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า ๑ ล้านคน  ทั้งนี้ไม่นับรวมคนทำงานที่ต้องตกงานเนื่องจากเกษียณอายุอีกนับแสนคน  มีการระบุตัวเลขของแรงงานในระบบ  ที่ต้องออกจากระบบเนื่องจากวิกฤติดังกล่าว ราว ๗๕๐,๐๐๐ คน มีแรงงานกลับเข้าสู่ระบบเพียง ๕๐๐,๐๐๐ คน  ส่วนอีก ๒๕๐,๐๐๐ คน ไม่สามารถระบุได้ว่าไปทำงานอยู่ในภาคการผลิตใด แต่มีข้อมูลตัวเลขของแรงงานในภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม มีสถิติของแรงงานที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งในปี ๒๕๕๑และปี ๒๕๕๒ รวมจำนวน ๑,๐๔๗๐๗๐ คน เป็นกรณีถูกเลิกจ้างในปี ๒๕๕๑ เพียง ๙๐,๗๓๒ คน แต่เป็นการลาออก สูงถึง ๒๙๖,๙๓๓ และถูกเลิกจ้างในปี ๒๕๕๒ เพียง ๑๘๙,๘๓๘ แต่ลาออกจำนวน ๔๗๙,๕๖๗  คน เป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่แรงงานไม่น่าจะอยากออกจากงานจำนวนสูงมากผิดปกติดังกล่าว

       

ผลกระทบวิกฤติมหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔ และสึนามิที่ญี่ปุ่นที่มีผลต่อการจ้างงานในประเทศไทย

เดือนมีนาคม ๒๕๕๔  เกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น  เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยสูงมากราวร้อยละ ๗๕ ของการลงทุนทั้งหมด ธุรกิจสั่งหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวน หรือร้อยละ ๗๕ หรือเลิกจ้าง  แต่แรงงานนับแสนคนที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับเหมาค่าแรงในกิจการยานยนต์และชิ้นส่วน องค์กรแรงงานมีข้อสังเกตว่าธุรกิจเร่งรีบเลิกจ้างจนเกินไป มีลกระทบทั้งต่อแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ กล่าวคือ  บ้านแรงงานถูกน้ำท่วม หากแรงงานไม่ไปทำงานก็ขาดรายได้ หรืออาจถูกเลิกจ้างเพราะขาดงาน  และนายจ้างไม่ติดต่อสื่อสารในทุกเรื่องสร้างความวิตกแก่แรงงานอย่างยิ่ง แรงงานส่วนหนึ่งลาออกจากงานไปเองซึ่งกรณีลาออกตามกฎหมายไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

สำหรับแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้รับงานจากโรงงานมาทำที่บ้านจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากบ้านเรือนและทรัพย์สินรวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานเสียหายทั้งหมด ไม่มีเงินออม และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไม่ให้ความสนใจและส่วนใหญ่ถูกลืม

ในส่วนแรงงานข้ามชาติมีข้อจำกัดในเรื่องแรงงานเองไม่รู้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ของประเทศไทย มีข้อจำกัดทางภาษาและเงื่อนไขการอนุญาตให้ทำงานที่จำกัดอยู่ในพื้นที่หรือจังหวัดจึงเข้าไม่ถึงบริการและความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย  รวมทั้งมีการยึดบัตรและหลักฐานสำคัญของแรงงานไว้โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา (อ้างอิงจากรายงานการศึกษาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยชฤทธิ์ มีสิทธิ์ เสนอต่อสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงหาคม ๒๕๕๕)

สำหรับอุทกภัยร้ายแรงที่ภาคใต้ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๐ ยังอยู่ในระหว่างการประมวลและรวบรวมข้อมูลความเสียหายให้ครบถ้วน ประกอบกับในช่วงวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ มกราคม ๒๕๖๐ จะเกิดพายุและมีฝนตกหนักอีก  ยังไม่ทราบว่าจะก่อผลเสียหายร้ายแรงอีกเท่าใด อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็จะทำงานในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ  ประเด็นคือ หน่วยงานใดจะทำหน้าที่ประมวลรวบรวมในภาพรวมครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของประชาชน มิใช่เห็นแต่ภาพรวมกว้างๆว่า กระทบต่อจีดีพี สองหมื่นล้านบาทเศษ ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลและภาคประชาสังคมจะร่วมมือกันในการประเมินผลกระทบและ ความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านสังคมซึ่งมักจะถูกละเลยหรือขาดการ เอาใจใส่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในเรื่องฐานข้อมูล

PA240047       

 กฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายด้านแรงงานที่มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้โดยตรงมีเพียงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งแก้ไขเป็นฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๘ เช่น

(๑) กำหนดคำนิยามเรื่องภัยพิบัติ ว่าหมายถึง อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่นๆ  ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ (มาตรา ๕)

(๒) กรณีท้องที่ใดประสบภัยพิบัติร้ายแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนได้  การออกประกาศนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประกอบกับความมั่นคงของกองทุนเป็นสำคัญ โดยลดหย่อนได้คราวละไม่เกิน ๖ เดือน (มาตรา ๔๖/๑)

(๓) กรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย (เหตุที่ฝ่ายใดไม่ได้ก่อหรือเหตุที่เกิดขึ้นโดยที่ใครๆก็ไม่อาจป้องกันหรือแก้ไขได้) หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน และอยู่ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎกระทรวง (มาตรา ๗๙/๑) เท่าที่ทราบกระทรวงแรงงานยังมิได้ออกกฎกระทรวงตามมาตรานี้ และมีองค์กรแรงงานได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความห่วงใยกันว่าจะทันกาลหรือไม่ และรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร

นอกจากนี้ มีบทบัญญัติที่เป็นหลักการหรือสาระสำคัญที่เป็นสิทธิพื้นฐานด้านแรงงานทั่วๆไป เช่น

(๑)  หากนายจ้าง ผู้จ้างงาน หรือสถานประกอบการมีความจำเป็นถึงขนาดต้องเลิกจ้าง เนื่องจากหากยังคงประกอบกิจการต่อไปภายใต้สภาพเดิม อาจกระทบถึงขั้นต้องเลิกกิจการ ถือว่ามีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้าง แต่ก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ๑ งวดการจ่ายค่าจ้าง และต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย (๓๐ วัน, ๙๐ วัน, ๑๘๐ วัน, ๒๔๐ วันและ ๓๐๐ วัน)

(๒) แต่ถ้านายจ้างยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ คือมิได้จำเป็นถึงขนาดว่ากิจการจะเดินต่อไปไม่ได้ หรือถ้าเดินไปอาจถึงขั้นต้องเลิกกิจการแต่กลับเลิกจ้าง  นายจ้างอาจถูกลูกจ้างฟ้องว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙

หากลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว เป็นสมาชิกหรือกรรมการสหภาพแรงงาน เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ หรืออยู่ในระหว่างกระบวนการเรียกร้องเจรจาต่อรองตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ นายจ้างอาจถูกลูกจ้างฟ้องว่า นายจ้างเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องไปใช้สิทธิร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียก่อนภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันเลิกจ้าง

ซึ่งความจริงปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น  หากรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ถูกต้อง เป็นธรรมและทันกาล เว้นแต่ผู้นั้นฉวยโอกาสจากสถานการณ์ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต เอาเปรียบผู้อื่นเกินควร ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและคุณธรรม

(๓) หากลูกจ้างนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และนายจ้างต้องการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด  นายจ้างต้องยื่นเรื่องต่อศาลแรงงาน และต้องผ่านการวินิจฉัยของศาลแรงงานเสียก่อน ในระหว่างดำเนินคดีกรรมการลูกจ้างได้จะได้รับสิทธิและค่าจ้างตามสัญญาจ้างและตามกฎหมายทุกประการ

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง เพราะเหตุที่ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐาน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย หรือคณะกรรมการความปลอดภัยฯ(ระดับชาติ) ตามกฎหมายดังกล่าว

       มาตรการทางบริหารจัดการของรัฐบาล

มาตรการของกระทรวงแรงงานในภาวะวิกฤติมหาอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๕๔ มีดังต่อไปนี้

ก. ด้านช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เช่น (๑) โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยประสานนายจ้างที่ไม่ประสบอุทกภัยให้ช่วยรับลูกจ้างจากกิจการที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไปทำงานชั่วคราว  (๒) อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุทกภัย

ข. ด้านการฝึกอาชีพ ได้แก่ (๑) โครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ยกระดับฝีมือลูกจ้างภาคอุตสาหกรรม(๒) โครงการจ้างงานเร่งด่วนประทังชีวิตคนทำงาน

ค. มาตรการที่คาบเกี่ยวกับกฎหมายด้านแรงงาน ได้แก่ (๑) โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนที่ประสบภัย (เงินกู้ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสีย) และโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน  (๒) โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง  โดยรัฐจะจ่ายเงินสมทบ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อรายและ(๓) ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ของนายจ้างและลูกจ้าง จากร้อยละ ๕ เหลือร้อยละ ๒

ซึ่งกระทรวงแรงงานน่าจะได้สรุปบทเรียนว่ามาตรการใดมี่ความเหมาะสมสอดคล้องหรือสามารถนำมาปรับใช้หรือพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับสถานการณปัญหาในครั้งนี้ได้ และมาตรการใดที่องค์กรแรงงานหรือนักวิชาการได้ทักท้วงหรือให้ข้อสังเกตว่าไม่เป็นธรรมหรือไม่เกิดประโยชน์ กระทรวงแรงงานและรับบาลก็ควรรับฟังและแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป

ที่วิจารณ์กันมากได้แก่ (๑)โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง  โดยรัฐจะจ่ายเงินสมทบ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือนต่อราย ว่าไม่เป็นธรรมเพราะนายจ้างเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ และเป็นมาตรการที่ช่วยไม่ได้จริง เพราะวางกรอบระยะเวลาไว้เพียง ๓ เดือน ปรากฏว่าเมื่อพ้นสามเดือนแล้วแรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก และเพื่อป้องกันมิให้เกิดครหาว่ารัฐบาลเอนเอียงฝ่ายธุรกิจ มาตรการของรัฐควรยึดหลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ครอบคลุม และต้องได้สัดส่วนด้วย  เป็นต้น และ (๒) มาตรการส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ เนื่องจากอุทกภัยปี๒๕๕๔ กระทบรุนแรง ใช้เวลาในการฟื้นฟูยาวนาน รัฐบาลจึงใช้มาตรการดังกล่าว แต่ก็มีเสียงทักท้วงว่า ประเทศไทยน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้

DSC00135

ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้

         ต่อคนทำงานและองค์กรคนทำงาน

๑.สถานการณ์นี้เอื้อให้เกิดการเชื่อมประสานคนทำงานทุกภาคส่วน ทั้งในระบบ นอกระบบและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวในภาคใต้ และภาคเกษตรกรรมมีการใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และเอื้อให้องค์กรแรงงานได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ  สถาบันทางวิชาการ และประชาสังคม รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศด้วย เป็นการยกระดับความรู้และทักษะในการทำงานเชิงบูรณาการอันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาแรงงานและนโยบายประเทศต่อไป

๒. มาตรการทางสังคมและมาตรการทางบริหารของภาครัฐนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว มาตรการทางกฎหมายขอให้เป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายนำมาใช้เมื่อมาตรการอื่นๆ ไม่มีหรือไม่บังเกิดผลแล้วเท่านั้น

๓. คนทำงานและองค์กรแรงงาน ไม่ควรตื่นตระหนก หรือกังวลจนเกิดเหตุและด่วนตัดสินใจไม่ไปทำงาน หางานใหม่ หรือลาออกจากงานไม่ว่าโดยปริยายหรือโดยชัดแจ้ง ล้วนแต่ไม่เป็นผลดี กับผู้ใดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว ที่ต้องดูแลเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้าง  รวมทั้งบุคคลดังกล่าวที่เจ็บป่วยและอยู่ในระหว่างการรักษาพยาบาล จะยิ่งได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส   ดังนั้น องค์กรแรงงานทั้งในระบบ นออกระบบ แรงงานข้ามชาติ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้าน แรงงาน จะต้องเร่งประสานความร่วมมือเพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน กลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบรุนแรงและต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

         มาตรการที่ต้องช่วยกันคิดอย่างจริงจัง

(๑) การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าที่ทำงานไม่ได้และหากไม่มีรายได้หรือนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

(๒) มาตรการที่จะช่วยเหลือหรือส่งเสริมป้องกันการเลิกจ้างที่มีประสิทธิภาพ มีหลักประกันได้จริงในขณะเดียวกันภาครัฐก็จะต้องกำหนดกลไกหรือมาตรการการตรวจสอบกรณีธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์

(๓) สถานประกอบการที่บรรยากาศด้านแรงงานสัมพันธ์ไม่ค่อยดี หรือมีความขัดแย้งแคลงใจกันอยู่  อาจจะต้องทบทวนสถานการณ์อย่างจริงจัง และควรแยกแยะเรื่องราวหรือปัญหา และช่วงชิงโอกาสจากสถานการณ์ปัญหานี้ฟื้นฟูระบบแรงงานสัมพันธ์ และพัฒนาอย่างสร้างสรรค์บนหลักการความเท่าเทียม การเคารพ และการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ต่อรัฐบาล

๑.รัฐบาลควรเร่งรัดส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา  โดยถือว่าปัญหาผลกระทบดังกล่าวเป็นปัญหาของประเทศ ไม่ควรปล่อยให้แต่ส่วนจัดการแก้ไขปัญหาไปตามลำพังเพื่อให้ตนเองอยู่รอด เพราะหากเป็นเช่นนั้น ธุรกิจที่ขาดความรู้ความเข้าใจ  หรือประเมินผิดพลาด หรือด้วยความวิตกกังวล ก็จะรีบเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งจะเกิดความเสียหายแก่ทุกฝ่าย

๒. ควรสรุปบทเรียนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันหรือชะลอการเลิกจ้างในภาวะวิกฤติอย่างจริงจัง ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้มาตรการนี้ทั้งใน ๓ วิกฤติ

๓. เร่งออกมาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เพื่อคุ้มครองคนทำงานหรือ

ผู้ประกันตนและสถานประกอบการ เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับการว่างงานเนื่องจากภัยพิบัติเพื่อผู้ประกันตนที่ประสบอุทกภัยที่ภาคใต้ได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมาย

๔. ควรมีมาตรการติดตามคนทำงานที่ตกงาน ย้ายงาน หรือเปลี่ยนงาน รวมทั้งได้กลับเข้าสู่ระบบจำนวนเท่าใด อยู่ในสาขาการผลิตใดบ้าง สู่ภาคนอกระบบเท่าใดสาขาใดบ้าง เพื่อจะได้กำหนดมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงานที่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อให้แรงงานเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ

     ต่อภาคธุรกิจ

ขอเรียกร้องวิงวอนไปยังภาคธุรกิจและผู้ประกอบการว่าให้ยึดหลักการร่วมทุกข์ร่วมสุข หรือหลักความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมระหว่างผู้จ้างงานกับคนทำงาน ปัญหาจากภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันช่วยเหลือ ดูแลและรับผิดชอบ แบ่งปันทุกข์สุข แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ละเลยต่อหลักกฎหมาย ผู้เขียนเห็นว่า ต่อปัญหาดังกล่าวนี้หลักศีลธรรม คุณธรรมและมนุษยธรรมต้องมาก่อน  อย่ายึดแต่มาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมาย แล้วไม่พยายามที่จะแสวงหาความร่วมมือหรือความรับผิดชอบของตนในทางที่ควรที่นอกจากความเป็นนายจ้างลูกจ้างกันแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในฐานะมนุษยชาติด้วย

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยหลักการ เหตุผล หลักคิด และแนวทางดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับประชาชนชาวภาคใต้ที่ประสบภัยในครั้งนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ได้พยายามทำทุกอย่างตามหลักการพึ่งตนเอง มิได้งอมืองอเท้า หรือคอยแต่ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น ภาคประชาสังคมเองก็ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงมิตรภาพและความสง่างามด้านจิตใจที่เพื่อมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน ดังนั้นประเทศไทยจะสามารถฟันฝ่าและผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างอบอุ่น มีความสุข มีพลังและด้วยความสมานฉันท์