คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๒)

คลินิกกฎหมายด้านแรงงาน (๒)                                                                             ชฤทธิ์  มีสิทธิ์

ตอนที่ ๑ เราคุยกันเรื่องความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายด้านแรงงาน  เพราะใกล้ชิดกับชีวิตของคนทำงานเหลือเกิน เราจึงขอเรียกกฎหมายเหล่านี้ว่า “กฎหมายเพื่อชีวิต” แล้วเราก็คุยกันให้เห็นว่าชีวิตของลูกจ้างหรือคนทำงาน เมื่อเชื่อมกับกฎหมายด้านแรงงานแล้ว ที่มาหรือแหล่งกำเนิดสิทธิและหน้าที่มีอะไรบ้าง ที่คุยกันได้แก่ สัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และกฎหมายด้านแรงงานทุกฉบับเพื่อทุกท่านจะได้เห็นภาพรวม

ตอนที่ ๒ เราจะคุยกันเรื่องสุขภาพของลูกจ้างหรือคนทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วงเอาการ ในขณะที่ลูกจ้างหรือคนทำงานเองกลับมีอาการมึนๆงง หรือซึมๆ กับเรื่องนี้ ยิ่งตอนนี้สังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุใกล้จะเต็มพิกัดแล้ว เหตุการณ์ที่ท่านทั้งหลายได้พบเห็นหรือรับทราบ ก็ประจักษ์ชัดแล้วว่า จากการที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตและขาดการใส่ใจเรื่องสุขภาพ มันส่งผลร้ายต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวมอย่างไรบ้าง  ดังนั้นหากมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ก็น่าจะเป็นผลดีในภาพรวม

ดังที่กล่าวแล้วว่า กฎหมายแรงงานมีหลายสิบฉบับ สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างนายจ้าง รัฐบาล และผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ก็ถูกเขียนไว้ในกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสุขภาพ ก็มีบัญญัติไว้ในกฎหมายด้านแรงงานหลายฉบับ ซึ่งเราท่านทั้งหลายควรจะได้เรียนรู้และมองเห็นประเด็นสุขภาพของคนทำงานในภาพรวม โดยจะคุยกันตามฉบับต่าง ๆ เป็นลำดับไปดังนี้

ฉบับแรก เราคุ้นหูคุ้นตากันดี เรียกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ สังคมแรงงานมักจะเรียกกันว่า “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ได้วางหลักกฎหมายเพื่อคุ้มครองในเรื่องสุขภาพไว้ดังนี้

เรื่องแรกคือ  วันทำงานปกติ ชั่วโมงทำงานปกติ เวลาพัก ชั่วโมงล่วงเวลา และวันหยุด ทำไมกฎหมายต้องมาบัญญัติเรื่องพวกนี้ เช่น  ในสัปดาห์หนึ่งต้องมีวันหยุดพักเหนื่อย ๑ วัน เรียกว่าวันหยุดประจำสัปดาห์ งานอุตสาหกรรมไม่เกินสัปดาห์ละ ๔๒ ชั่วโมง ตกวันละ ๘ ชั่วโมง งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมงและไม่เกิน ๔๒ ชม.ต่อสัปดาห์ ในงานนี้ห้ามให้ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเพราะมีความเสี่ยงมากและอาจเกิดอันตราย

ในหนึ่งวันทำงานจะต้องมีเวลาพักระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าโดยลักษณะและสภาพของงาน พักคราวเดียว ๑ ชั่วโมงไม่ได้ คนร่างกฎหมายก็เขียนให้พักคราวละไม่น้อยกว่า ๒๐ นาที ก็จะได้พัก ๓ คราว ในเรื่องชั่วโมงทำงานล่วงเวลาก็เช่นกัน  ทำงานมาเต็มชั่วโมงต่อวันก็หนักหนาพออยู่แล้ว หากมีความจำเป็น หรือกรณีเร่งด่วนนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น วันหนึ่งไม่เกิน ๔ ชั่วโมง ครึ่งหนึ่งของชั่วโมงทำงานปกติต่อวันเลยทีเดียว ยังมีรายละเอียดในกฎหมายอีกเยอะนะครับ ขอกล่าวเป็นตัวอย่างบางส่วน

ความเป็นจริงในเรื่องนี้  ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมักคำนึงแต่ประโยชน์ตัวเอง นายจ้างอยากได้งานมากๆ ส่งให้ลูกค้าเร็วๆ จะได้มีรายได้มาก มีกำไรเยอะ จะได้ร่ำรวยเร็วๆ นายจ้างบางส่วนไม่รู้และไม่สนใจกฎหมาย บางส่วนรู้แต่ทำเฉยเหมือนไม่รู้ ฝ่ายลูกจ้างเอง ไม่ค่อยสนใจกฎหมายอยู่แล้ว นายจ้างว่าไงก็ว่าตาม ที่สำคัญไม่ว่าค่าจ้างต่ำหรือค่าจ้างสูง แต่ถ้าทำงานแล้วได้เงินเพิ่มเป็นต้องเอาไว้ก่อน ใครอย่ามาห้ามอย่ามาเตือน ถือว่าขัดขวางความก้าวหน้า หรืออิจฉาที่เพื่อนได้ดี ก็น่าเห็นใจอยู่หรอก ลูกจ้างรายวันหากมาทำงานในวันหยุด ก็จะได้รับค่าทำงานในวันหยุด ๒ แรง ไม่เหมือนรายเดือนถือว่าได้ค่าจ้างเต็มเดือนอยู่แล้ว เมื่อมาทำงานในวันหยุดก็จะได้ค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มอีก ๑ แรงเท่านั้น แต่ก็แย่งกันมาทำงานทั้ง ๒ จำพวกนั่นแหละ

ผลที่ตามมาก็คือ การทำงานหนักต่อเนื่องหลายๆปี นำไปสู่สุขภาพที่ทรุดโทรม    ๒ วันดี ๔ วันป่วย เงินที่ได้มาแทนที่จะไปซื้อปัจจัยเพื่อคุณภาพชีวิต กลับต้องมาซื้อยาและเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาพยาบาล ผลร้ายที่ตามมาที่ไม่ค่อยคิดกันก็คือ กฎหมายเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไร ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ เจตนารมณ์กฎหมายที่ให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น ก็ไม่เกิดผลใดๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการจ้างงานให้ทำงานล่วงเวลาทุกวันต่อเนื่องได้ทั้งปี และติดต่อกันเป็นเวลาหลายสิบปี นี่คือเท่าที่จำเป็นตามกฎหมายแล้วอย่างนั้นหรือ

ไม่ต้องอะไรมากหรอกครับ ลองหันไปดูลูกจ้างในกิจการขนส่งสินค้าทางบก หรือพนักงานขับรถขนส่งสินค้าทางบก มีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานเป็นการเฉพาะ ให้ขับรถวันหนึ่งไม่เกิน ๘ ชม. ห้ามให้ทำงานล่วงเวลาเว้นแต่ลูกจ้างยินยอมเป็นหนังสือ เมื่อยินยอมแล้วก็ให้ทำได้เพียงวันละไม่เกิน ๒ ชม.เว้นแต่กรณีเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร ขับรถ ๔ ชม.ต้องพัก ๑ ชม. และต้องได้พักไม่น้อยกว่า ๑๐ ชม. ก่อนที่จะเริ่มงานในวันถัดไป  ท่านทั้งหลายทราบไหมครับว่า พนักงานขับรถขนส่งสินค้าขับรถกันวันละกี่ชั่วโมง ได้พัก ๑๐ ชั่วโมงก่อนขับรถวันต่อไปหรือไม่ ขอโทษเถอะครับ ผมและทีมงานเคยทำคดีให้พนักงานขับรถ เขาขับกันทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันสามวันเลยก็มี ถึงได้เกิดอุบัติเหตุกันอยู่เสมอ ที่กฎหมายเขียนไว้หลายข้อไม่มีการปฏิบัติเลย เคยมีบริการตรวจเช็คสุขภาพของคนขับรถขนส่งทางบกกันอย่างจริงจังไหมครับ ใครจะดูแลพวกเขา หากเจ็บป่วยหลังจากออกจากงาน

จะเห็นได้ว่านายจ้างทำผิดกฎหมาย ลูกจ้างก็ร่วมทำผิดด้วยเลยเจ๊ากันไปพฤติกรรมเช่นนี้เอื้อให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกต่อไป เพราะจะไม่เกิดการบ่น การทักท้วง หรือการร้องเรียนทั้งต่อรัฐและนายจ้างแต่อย่างใด แล้วสังคมก็ได้ข้อสรุปว่า ประเทศไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่มีใครร้องเรียน ทุกคนอยู่สุขสบายดี

เรื่องที่ ๒ สิทธิการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างเต็มปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน กรณีลาป่วยตั้งแต่ ๓ วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง  หรือของสถานพยาบาลของรัฐ แต่หากลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์ดังกล่าวได้ ก็ให้ลูกจ้างชี้แจงเหตุผลให้นายจ้างทราบ แต่การลาป่วยโดยได้ค่าจ้างปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๓๐ วันนี้ ไม่รวมกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วย หรือประสบอันตราย ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน กับกรณีการลาเพื่อคลอดบุตร กล่าวง่ายๆก็คือกรณียกเว้นนี้ ไม่ถือเป็นวันลาป่วยตามข้อนี้

เรื่องที่ ๓ สุขภาพของแรงงานหญิง

(๑) งานทั่วไปที่ห้ามใช้แรงงานหญิงทำงาน และในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานระหว่างเวลาสี่ทุ่มถึงหกโมงเช้า ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่า งานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างหญิง ให้พนักงานตรวจแรงงานรายงานต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือลดชั่วโมงทำงานได้ตามที่เห็นสมควร  ซึ่งนายจ้างต้องปฏิบัติตาม

(๒) งานที่ห้ามใช้แรงงานหญิงมีครรภ์ทำงาน และห้วงเวลาสี่ทุ่มถึงหกโมงเช้า ห้ามใช้แรงงานหญิงมีครรภ์ทำงาน รวมทั้งการทำงานล่วงเวลา หรือการทำงานในวันหยุด ยกเว้น แรงงานหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับบัญชีหรือการเงิน ให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและต้องให้แรงงานหญิงมีครรภ์ยินยอมเป็นคราว ๆ ไป

(๓) สิทธิการขอเปลี่ยนย้ายงานชั่วคราวก่อนคลอดหรือหลังคลอด โดยมีใบรับรองแพทย์

เรื่องที่ ๔ สุขภาพของแรงงานเด็ก

             เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ยังต้องการการเรียนรู้และการศึกษา ยังมิใช่วัยทำงาน ความรู้และประสบการณ์ยังน้อย อาจเกิดความเสี่ยงอันตรายจากการทำงานได้ แต่เนื่องจากภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม เด็กบางคนมีความสำนึกรับผิดชอบและอยากช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ จึงช่วยทำงานหรือไปทำงานกับพ่อแม่ด้วยความเต็มใจ ในบางกรณีพ่อแม่เป็นคนจัดการให้เด็กไปทำงาน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะมาโทษคนนั้นคนนี้ หรือหาว่าใครเป็นจำเลยในกรณีให้เด็กทำงาน ที่ถูกที่ควรก็คือ ทำความเข้าใจเรื่องนี้ และให้เด็กทำงานหรือช่วยทำงานที่ถูกกฎหมาย และงานนั้นไม่บั่นทอนพัฒนาการของเด็กในทุกๆด้าน ส่งเสริมให้เด็กได้มีการเรียนรู้งานที่เหมาะสมกับวัย มิใช่ทำอะไรไม่เป็นหรือทำไม่ได้เลย

กฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงห้ามจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีในกรณีจ้างเด็กต่ำกว่า ๑๘ ปี ให้นายจ้างแจ้งการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทำบันทึกสภาพการจ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และกรณีสิ้นสุดการจ้างก็ต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานด้วย เด็กต้องมีเวลาพักระหว่างการทำงานเหมือนกับผู้ใหญ่ (ความจริงเด็กควรได้พักมากกว่าผู้ใหญ่) ห้ามจ้างเด็กทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด และห้ามจ้างเด็กทำงานในระหว่าง ๔ ทุ่มถึง ๖ โมงเช้า ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เด็กควรได้พักผ่อนและหากให้ทำงานอาจเกิดอันตรายได้และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของเด็กนั้นเอง

นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดประเภทงานที่ห้ามจ้างเด็กต่ำกว่า ๑๘ ปีทำ เช่น  งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโละ งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับสารเคมี หรือเชื้อโรค งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ (ยกเว้นงานที่ปั๊มน้ำมัน) งานขับหรือบังคับรถยก  งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้า  งานทำความสะอาดเครื่องจักรขณะเครื่องทำงาน เป็นต้น (ผู้ใดสนใจเปิดดูรายละเอียดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔๙  มีไอโฟนกันแล้วก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ เข้ากูเกิล พิมพ์ชื่อกฎหมายและมาตราที่ต้องการทราบข้อมูล)

นายจ้างหรือผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กมีโทษอาญา โทษหนักนะครับ

ฉบับที่ ๒ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔

            เดิมทีเรื่องนี้ก็บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ (ต่อไปจะเรียกว่า “กฎหมายความปลอดภัย” ) จึงมีการยกเลิกเรื่องนี้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

สาระสำคัญของกฎหมายความปลอดภัย

(๑)นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลให้สภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัยและลูกจ้างต้องให้ความร่วมมือ เพราะหากลูกจ้างไม่ร่วมมือก็ยากที่จะเกิดผล  ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามกฎหมายนี้นายจ้างเป็นผู้ออก

(๒) นายจ้างมีหน้าที่บริหารจัดการด้านความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๓) กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย นายจ้างต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนเข้าทำงาน

(๔) นายจ้างมีหน้าที่จัดให้ลูกจ้างทุกคน หัวหน้างานและผู้บริหารเข้าอบรมความปลอดภัยฯ และอบรมในกรณีลูกจ้างเปลี่ยนย้ายงานด้วย

(๕) นายจ้างมีหน้าที่ติดประกาศสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายเตือนอันตราย รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องนี้

(๖) ลูกจ้างที่ทราบเรื่องอันตรายในการทำงานให้แจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโดยเร็ว เพื่อจะได้แจ้งให้ฝ่ายบริหารของนายจ้างทราบโดยเร็วเช่นกัน

(๗) นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย  ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว   หากฝ่าฝืนนายจ้างมีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานจนกว่าจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว

(๘) ในกรณีเกิดอุบัติภัยร้ายแรงในสถานประกอบกิจการ หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน นายจ้างมีหน้าที่ดังนี้

(๘.๑) กรณีลูกจ้างเสียชีวิต นายจ้างต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานทันที โดยโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีการอื่นใด

(๘.๒) กรณีสถานประกอบกิจการเกิดเพลิงไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล หรืออุบัติภัยร้ายแรงอื่น ให้นายจ้างแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบโดยทันทีเช่นกัน รวมทั้งกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗  เมื่อนายจ้างแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว นายจ้างต้องส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้พนักงานตรวจแรงงานภายใน ๗ วันด้วย

(๘.๓) กรณีพนักงานตรวจแรงงานพบว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย  หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ปลอดภัยแก่ลูกจ้าง  พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เช่น สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนหยุดกระทำการ หรือให้แก้ไขปรับปรุงความไม่ปลอดภัย

(๘.๔) กฎหมายห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลุกจ้าง เนื่องจากลูกจ้างดำเนินการฟ้องคดี หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐาน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย หรือต่อคณะกรรมการความปลอดภัย หรือต่อศาล

ฉบับที่ ๓ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗

             กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทน หรือการชดเชยเยียวยา ในกรณีที่ลูกจ้าง เจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต หรือสูญหายอันเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง กองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายนี้ เป็นเงินที่นายจ้างเพียงฝ่ายเดียวมีหน้าที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกำหนดจากประเภทความเสี่ยงอันตรายของกิจการนายจ้าง

เงินทดแทน หมายถึง เงินจากกองทุนเงินทดแทน ที่เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคม  จ่ายให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามกฎหมาย  เป็นค่าทดแทนค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ  โดยลูกจ้างที่ประสบเหตุตามกฎหมายนี้ จะต้องยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน ไม่อาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ในขั้นตอนแรก ในกรณีนี้ หากนายจ้างประสบปัญหา ล้มละลาย ปิดกิจการ หลบหนี หรือหาตัวไม่พบ ลูกจ้างก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถใช้สิทธิกับกองทุนเงินทดแทนได้

ฉบับที่ ๔ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓

กฎหมายฉบับนี้มุ่งคุ้มครองสุขภาพของลูกจ้าง ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานให้นายจ้าง กฎหมายได้จัดตั้งกองทุนประกันสังคม อันเกิดจากการร่วมสมทบของฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นที่น่าเศร้าใจว่า รัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมายให้รัฐบาลเองร่วมสมทบเงินกองทุนประกันสังคมในอัตราที่น้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างซึ่งจ่ายเท่ากันและเป็นอัตราสูงสุดตามเพดานอัตราเงินสมทบที่กฎหมายกำหนด

ใน ๗ ประโยชน์ทดแทนตามกฎหมาย ก็มีเรื่องประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย เช่น ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งกฎหมายเพิ่งแก้ไขให้มีเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพด้วย

กรณีนี้ก็ทำนองเดียวกับกองทุนเงินทดแทน  เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนจะต้องยื่นคำร้องขอรับสิทธิจากเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเสียก่อน ไม่อาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ในขั้นตอนแรก

ฉบับที่ ๕ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓

กฎหมายฉบับนี้ ในปัจจุบันเป็นเพียงฉบับเดียวที่คุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเฉพาะกลุ่มที่กฎหมายนิยามว่าเป็นงานที่รับไปทำที่บ้านเท่านั้น แรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และถือเป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ทั้งคนทำงาน ครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

งานที่รับไปทำที่บ้านตามกฎหมาย ก็ยังคงมีความหมายในทางแคบ คือ เป็นงานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมเท่านั้น (ยังไม่รวม งานเกษตรกรรมล้วนๆ งานพาณิชยกรรม หรือ งานบริการ) จ้างให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผลิต หรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงาน หรือหากมีความจำเป็นต้องขยายการคุ้มครองไปทีงานอื่น ๆ ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกเป็นกฎกระทรวง

ในการจ้างงานนี้ ผู้จ้างงานจะจ้างเองโดยตรง หรือจะจ้างโดยผ่านตัวแทนของผู้จ้างงาน หรือเป็นผู้รับเหมาช่วงก็ได้  เช่น สถานประกอบกิจการติดต่อกับชาวชุมชนให้ทำการผลิตสินค้าโดยตรง สถานประกอบกิจการก็เป็นผู้จ้างงาน ชาวชุมชนก็เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือสถานประกอบกิจการตั้งบริษัท ก. หรือนาย ข. ให้เป็นตัวแทนในการไปจ้างงานที่รับไปทำที่บ้าน กรณีนี้ สถานประกอบกิจการก็เป็นผู้จ้างงาน ตัวแทนเป็นเพียงผู้ไปทำการแทน สถานประกอบกิจการซึ่งคือตัวการย่อมเป็นคู่สัญญากับชาวชุมชน หรือสถานประกอบกิจการจ้างงานบริษัท ก. แล้วบริษัท ก. ไปจ้างงานชาวชุมชนให้รับงานไปทำที่บ้าน (ที่อื่นใดที่มิใช่บริษัท ก.)

กฎหมายฉบับนี้ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ จนบัดนี้ ยังไม่เห็นรูปร่างของการจะบังคับใช้กฎหมายให้สมดังเจตนารมณ์เลย ด้วยเหตุผลของความกลัวของฝ่ายผู้จ้างงานว่า ต้นทุนและค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ฝ่ายชาวบ้านก็กลัวว่าจะถูกเก็บภาษีรายได้มากขึ้น หรือกังวลว่าถ้าเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายเดี๋ยวผู้จ้างงานเขาก็จะไปจ้างคนอื่น ผู้จ้างงานบางรายก็แสร้งขู่ชาวบ้านว่า ถ้าเรียกร้องตามกฎหมาย ก็ไม่รับรองว่าจะมีงานส่งให้ทำหรือไม่  ภาครัฐเองก็คุ้นเคยแต่การบังคับใช้กฎหมายในสถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ขาดทักษะและความรู้ในการทำงานกับชุมชน เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองแรงงานในปัจจุบัน

ใคร่ขอเรียกร้องต่อผู้นำสหภาพแรงงานทั้งหลายว่า หากสถานประกอบกิจการของท่านมีการส่งงานไปให้ทำที่บ้าน  สหภาพแรงงานก็ควรมีส่วนมีเสียงในเรื่องการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้  ดังที่ในบางประเทศสหภาพแรงงานได้ร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี  ดังนั้นช่วยกันเถอะครับ เพราะเรื่องงานที่รับไปทำที่บ้านก็กระทบตัวแรงงานในระบบอย่างจังเช่นกัน และผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย นับว่าเป็นเจตนารมณ์สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ดังที่กฎหมายได้กำหนดสาระสำคัญไว้ เช่น

(๑)  ห้ามมิให้หญิงมีครรภ์ หรือเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ทำงานที่รับไปทำที่บ้านที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย

(๒)  กำหนดประเภทงานที่ห้ามส่งไปให้ทำงานที่บ้าน เช่น งานเกี่ยวกับวัตถุอันตราย งานเครื่องจักรที่มีความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย

(๓)  งานอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม

(๔)  ห้ามผู้จ้างงานจัดหาหรือส่งมอบวัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือสิ่งที่ใช้ในการทำงานที่อาจเป็นอันตรายทั้งต่อคนทำงาน บุคคลในบ้าน ผู้มาติดต่อ รวมทั้งชุมชนสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง

(๕)  ผู้จ้างงานมีหน้าที่แจ้งเตือนข้อมูลอันตรายให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้ง แจ้งวิธีการแก้ไข การป้องกัน รวมทั้งการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตราย

(๖)  ผู้จ้างงานมีหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ ใน กรณีที่ผู้รับงานฯ ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย เนื่องจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ของ ผู้จ้างงาน หรือเนื่องจากผู้จ้างงานไม่จัดอุปกรณ์ป้องกันให้ หรืออุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ณ   สถานที่ทำงาน

เหล่านี้คือกฎหมายด้านแรงงานที่แวดล้อมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของ   คนทำงาน แน่นอนว่า กฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เป็นไปไม่ได้ที่จะครอบคลุมทุก   สิ่งอย่าง ดังนั้น เมื่อทุกคนได้เห็นภาพรวม เห็นหมากทั้งกระดาน ก็จะรู้ว่า อะไรเชื่อมโยงกับอะไร   อะไรที่ยังขาด อะไรที่ยังไม่เชื่อมต่อ อาจจะนำไปประชุม ปรึกษาหารือ หรือยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายจ้าง หรือเสนอแนะต่อรัฐบาล หรือในกรณีที่จำเป็นก็จะได้เสนอแนะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ สมบูรณ์ต่อไป นอกจากนี้ ขอฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ดังนี้

— เหตุใดต้องทำงานล่วงเวลาวันละ ๔ ชั่วโมงทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี

— เหตุใดต้องทำงานวันเสาร์ หรืออาทิตย์ หรือเสาร์เว้นเสาร์ หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ เป็นเช่นนี้ทั้งปี

— ทำไมต้องทำงานในระบบกะ โดยเฉพาะ ๓ กะ ทั้งๆที่ลักษณะและสภาพของกิจการไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

— กรณีลดคนงานลง แต่เครื่องจักรเท่าเดิม ๑ คนต้องคุมเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

— เมื่อใดพนักงานขับรถขนส่งสินค้า ไม่ต้องขับรถหามรุ่งหามค่ำ

— เมื่อใดลูกจ้างทำงานบ้านจะได้หยุดพักในวันหยุดประจำสัปดาห์ตามกฎหมาย

— เมื่อใดลูกจ้างที่ทำหน้าที่ยกกล่องสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า ได้รับการเปลี่ยนย้ายหน้าที่การงานเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงานบ้าง

— เมื่อใดผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต้องเย็บผ้าหรือทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ดึกดื่นตีหนึ่งตีสอง เพื่อให้ได้ค่าแรงที่เพียงพอในการยังชีพ

— เหตุใดผู้ประกันตนที่เกษียณอายุและรับบำนาญชราภาพ แต่กลับเสียสิทธิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม ทั้งๆ ที่ห้วงเวลาส่วนใหญ่ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ไม่ค่อยเจ็บป่วย ครั้นสูงวัย การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่กลับถูกตัดออกจากประกันสังคม

ยังมีอีกมากมายหลากหลายปัญหา ช่วยกันสะท้อน ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออกนะครับ เปลี่ยนแปลงตนเองก่อนเถอะครับ แล้วสังคมส่วนรวมจะเปลี่ยนตามครับ

@@@@@@@@@