คนงานรถไฟ แถลงปกป้องการรถไฟ เสนอทบทวน ร่างพ.ร.บ.หวันการแปรรูป

สมาพันธ์คนงานรถไฟจัดแถลงข่าวแจง “ปฏิรูปรถไฟต้องไม่ใช่การแปรรูป!!! ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..คือเส้นทางการแปรรูป” เสนอ 3 ข้อให้ชะลอ เพื่อคุย สร้างการมีส่วนร่วม

วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 สมาพันธ์คนงานรถไฟ ได้เปิดตัว พร้อมกับ แถลงข่าว ปฏิรูปรถไฟต้องไม่ใช่การแปรรูป!!! ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..คือเส้นทางการแปรรูป ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำโดยนาย สุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ

กิจการรถไฟได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2433 เป็นต้นมา โดยให้สถาปนา “กรมรถไฟ”ขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ และ เป็น “กรมรถไฟหลวง” และ “การรถไฟแห่งประเทศไทย”ในเวลาต่อมา จากความรุ่งเรืองในยุคต้น แต่เมื่อประเทศไทยรับเอานโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจากการชี้นำของธนาคารโลกด้วยการเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้กิจการรถไฟฯต้องประสบกับภาวะความตกต่ำ และขาดทุนจากการดำเนินการจากนโยบายของรัฐจนถึงปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนี้สินกว่า 130,000 ล้านบาท

ปัจจุบันด้วยภาวะวิกฤตการณ์พลังงาน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั่วทั้งโลกต่างตระหนักในเรื่องนี้จึงเบนทิศทางการขนส่งหลักจากนี้ไปต้องเป็นการขนส่ง “ระบบราง”ซึ่งรัฐบาลต่อมาก็ได้ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อให้บริการในระบบขนส่งทางราง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) บริษัทรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (รฟฟท.)ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย และ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BTS) ซึ่งรับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการลงทุนเพิ่มในระบบการขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วยรถไฟสายสีต่างๆรวมทั้งการสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการขนส่งทางรางด้วยงบประมาณมหาศาล พร้อมๆกับนโยบายการปฏิรูประบบและหน่วยงานที่ดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล การขนส่งทางราง

แนวคิดเรื่องการจัดตั้ง”กรมขนส่งทางราง”จึงเกิดขึ้นโดยวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อเป็นหน่วยงานควบคุม กำกับ ดูแล ระบบการขนส่งทางรางให้ได้มาตรฐานทั้งเรื่องเทคนิค การให้บริการ และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปคัดค้าน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและภาคส่วนต่างๆก็เห็นด้วยให้การสนับสนุนหากดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังที่ผ่านมา แต่มาถึงปัจจุบัน “กรมขนส่งทางราง”ที่จะจัดตั้งขึ้นพร้อมๆกับการออก “ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..”ซึ่งจะให้อำนาจกรมขนส่งทางรางโดยอธิบดี รวมทั้งคณะกรรมการต่างๆที่จะจัดตั้งขึ้นหากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวก็จะมีขอบเขตอำนาจอย่างมากซึ่งมากกว่าหลักการ และเหตุผลที่บอกว่าจะทำหน้าที่ ควบคุม กำกับ ดูแลเพียงอย่างเดียว โดยใช้อำนาจผ่านกลไกต่างๆซึ่งหากพิจารณาจากสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แล้วก็ยากที่จะยอมรับได้ อย่างเช่น

ตามมาตรา 5 “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง มีจำนวน 24 คน เจตนารมณ์เดิมที่รัฐบาล คสช.ประกาศว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จะทำให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพ บริหารงานแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล และปลอดจากการเมือง นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง แท้จริงแล้ว ประธาน รองประธานและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆก็ล้วนมาจากการเมืองและนักการเมือง ข้าราชการประจำรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งจะแต่งตั้งใครไม่ได้นอกจากเป็นคนของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในเวลานั้นๆ เมื่อมองอย่างรอบด้านแล้ว ยังไม่เห็นว่าจะปลอดจากการเมืองแต่อย่างไร แล้วจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ดังที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ได้อย่างไร ไม่มีองค์ประกอบของบุคคลที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้เลยแม้แต่น้อย ไม่มีภาคประชาชน ไม่มีภาคการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่มีผู้แทนพนักงาน ไม่มีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางแม้แต่คนเดียว และเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเข้าใจระบบการขนส่งทางราง เพราะ ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่จะกล่าวต่อไปนั้น เมื่อไม่มีคนที่เข้าใจ และจะไปกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอย่างรอบคอบ อย่างเข้าใจได้อย่างไร จริงอยู่ในการบริหารจัดการอาจเรียกข้อมูล เรียกบุคคลมาชี้แจงให้รายละเอียดได้แต่ในการตัดสินใจอาจผิดเพี้ยน ผิดพลาดได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง

ตามมาตรา 8 อำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง

(1) กำหนดนโยบายด้านการขนส่งทางราง

(1.1) กำหนดแนวทางในการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางให้สอดคล้องกัน และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้ประโยชน์จากระบบการขนส่งทางราง ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางรายเดิม

(1.4) กำหนดกลไกในการยุติข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรกำกับดูแลกับผู้ประกอบการหรือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน

ในข้อ (1.1) ในถ้อยคำที่เขียนว่า “การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้ประโยชน์จากระบบการขนส่งทางราง ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางรายเดิม” ในมาตรานี้ก็จะชัดเจนแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีจำเพาะแค่การกำกับดูแล แต่จะมีอำนาจในการดำเนินการจัดการทั้งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นๆที่ได้ประโยชน์จาก “ระบบการขนส่งทางราง” ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่เห็น ซึ่งระบบการขนส่งทางรางที่กล่าวไว้ในตอนต้นให้ผู้อ่านจับตานิยามศัพท์ในประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องติดตามวิเคราะห์เจาะลึก ถึงนัย เป้าหมาย ซึ่งความหมายของระบบการขนส่งทางรางคือ “รถขนส่งทางราง ทางรถขนส่งทาง สถานีรถขนส่งทางราง ที่จอดรถขนส่งทางราง ศูนย์ซ่อมบำรุง การเดินรถขนส่งทางราง สถานที่จอดยานพาหนะของผู้โดยสาร สถานที่สำหรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถขนส่งทางรางกับระบบขนส่งประเภทอื่น ระบบพลังงาน ระบบควบคุม ระบบสัญญาณ ระบบจำหน่ายและจัดเก็บค่าโดยสาร ระบบความปลอดภัย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบสื่อสารและระบบโทรคมนาคม ที่ใช้ในกิจการขนส่งทางราง และให้หมายความรวมถึงอาคารอุปกรณ์ของระบบดังกล่าวด้วย” แน่นอนว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นที่จะได้และการไปพัฒนาต่อ ย่อมมีมากมายมหาศาลอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการร่างกฎหมายที่หมกเม็ด ซ่อนเงื่อนปมต่างๆ เพื่อหลอกล่อสารพัดที่ให้คนที่ไม่มีรากของการวิเคราะห์กฎหมายเข้าใจผิด คิดว่าดี เช่นบอกว่าจะไม่กระทบสิทธิผู้ประกอบการขนส่งทางรางรายเดิม แต่หากศึกษาร่างกฎหมายนี้ทั้งฉบับแล้วจะพบว่าผู้ประกอบการขนส่งทางรางรายเดิมไม่มีสิทธิอะไรเหลืออยู่เลย หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา

ในข้อ (1.4) ในถ้อยคำที่เขียนว่า “กำหนดกลไกในการยุติข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรกำกับดูแลกับผู้ประกอบการหรือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน” แสดงว่าหลังจากนี้ไปบนรางของการรถไฟฯที่มีอยู่เดิมและที่จะมีเพิ่มในอนาคต จะไม่ได้มีแค่ รฟท.เท่านั้นที่จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเดินรถ แต่จะมีผู้ประกอบการเดินรถ(เอกชน)หลายรายเกิดขึ้นมา ซึ่งส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งทางรางทั้งหมด จะเข้าไปอยู่ในการควบคุม ดูแลของกรมขนส่งทางรางโดยอำนาจของ “อธิบดีกรมขนส่งทางราง

ตามมาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง อธิบดีอาจมอบให้เอกชนรายใดหรือหลายรายเป็นผู้รับอนุญาตเพื่อประกอบกิจการการขนส่งทางรางได้ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางรายเดิม

ตามมาตรานี้แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีเอกชนเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานของเอกชนคือกำไรสูงสุดจากการประกอบการ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชนผู้ใช้บริการ

ซึ่งแน่นอนว่าหากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อใดแล้วย่อมเกิดผลกระทบต่อกิจการในระบบการขนส่งทางรางของรัฐอย่างน้อยก็ 3 หน่วยงานในตอนนี้คือ รฟท.,รฟฟท.,และ รฟม. อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะ รฟท.ซึ่งดำเนินงานมาเป็นเวลายาวนาน เป็นหน่วยงานที่มีเส้น ทาง สถานีการเดินรถ ย่านสินค้า ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ บุคลากร รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆมากที่สุดก็ย่อมมีผลกระทบมากที่สุด

ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งในมติ ครม.วันดังกล่าวก็สอดแทรกเรื่องให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทลูกอีก 3 บริษัท คือ บริษัทบริหารทรัพย์สิน ให้แล้วเสร็จในปี 2563 และบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อน ให้แล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งพอดีกับการสร้างทางคู่ เสร็จทันเวลาพอดี จึงเป็นเหตุอันสงสัยได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มทุนเอกชนที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน รฟท.

สมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.)เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรถไฟ ทั้งที่เป็นพนักงานในระบบรถไฟทั่วไปและระบบรถไฟฟ้าทั้งที่เป็นพนักงานปัจจุบัน อดีตผู้ที่ปฏิบัติงานในกิจการรถไฟฯ รวมทั้งครอบครัว โดยมีเป้าประสงค์เพื่อปกป้องกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และระบบการขนส่งทางรางของรัฐ คือ รฟม.และ รฟฟท.ให้มีความสำคัญในการทำหน้าที่โดยรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เป็นธรรม รวมทั้งจะปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐ ให้เป็นเสาหลักทางด้านการขนส่งของประเทศเพื่อความมั่นคง ยั่งยืน ของประเทศจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1.ในเรื่องของการออก ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…..ขอเสนอให้รัฐบาลชะลอกระบวนการ ไว้ก่อน แล้วนำกลับเข้ามาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสอง

2. ในเรื่องการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินทาง สพ.รฟ.เห็นด้วยในหลักการในการจัดตั้ง แต่จะต้องนำกลับมาดู และศึกษาในรายละเอียดว่าในเรื่องของรายได้ จะต้องนำเข้ามาสู่การรถไฟฯเพื่อนำมาพัฒนากิจการรถไฟฯ

3.ในเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกการรถไฟฯ 2 บริษัท คือบริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อน ขอให้รัฐบาลยุติการดำเนินการก่อน แล้วนำเรื่องกลับมาพูดคุยในรายละเอียดข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้านจนได้ข้อยุติก่อน จึงจะดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมคนงานรถไฟนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนงานรถไฟ ทั้งที่เป็นพนักงานในระบบรถไฟทั่วไปและระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน อดีตผู้ที่ปฏิบัติงานในกิจการรถไฟรวมทั้งครอบครัว โดยมีเป้าประสงค์เพื่อปกป้องกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้มีความสำคัญในการทำหน้าที่โดยรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เป็นธรรม รวมทั้งจะปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้เป็นเสาหลักทางด้านการขนส่งของประเทศเพื่อความมั่นคง ยั่งยืน ของประเทศ

แต่เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลในการออกนโยบายและร่างกฎหมายบางฉบับ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้วและอยู่ในระหว่างการพอจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. และการจัดตั้งบริษัทในการรถไฟอีก 3 บริษัท ซึ่งสาระของกฎหมายและนโยบายอาจเป็นทำในระบบการขนส่งทางรางของรัฐทั้งในปัจจุบันและอนาคตตกอยู่ในการครอบครองขององค์กรเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหน่อวยงานของรัฐในระบบการขนส่งทางราง รวมทั้งประชาชนที่ใช้บริการ