ข้อเสนอของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐  ณ อาคารรัฐสภา ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรผู้หญิงหลากหลายองค์กรเริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องมีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประธานอนุกรรมาธิการกิจการสตรี พล.เอกสมเจตต์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกร่าง พ.ศ. ๒๕๕๘) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มารับข้อเสนอโดยมีเนื้อหาข้อเรียกร้องดังนี้

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรผู้หญิงหลากหลายองค์กร เริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องมีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ” นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ ฉบับปี ๒๕๕๐ รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติเมื่อ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบันได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐

หากพิจารณาจากสถิติประชากรไทยที่มีจำนวนผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ผู้หญิงในฐานะผู้ลงคะแนนเลือกตั้งยังมีจำนวนมากกว่าผู้ชายถึง ๑.๖ ล้านคน (จากสถิติผู้มีสิทธิลงเสียงประชามติปี ๒๕๕๙) แต่กลับพบว่าจำนวนผู้สมัครและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๕๔ มีสัดส่วนผู้หญิงที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง/แต่งตั้ง มีอยู่ราวร้อยละ ๑๐ เท่านั้น (อ้างอิงข้อมูล ปี ๒๕๔๘) ดังนั้น ในฐานะที่เพศหญิงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เสมอภาคเท่าเทียมกับเพศชายแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายในการส่งเสริมให้ผู้หญิงในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งและในฐานะสมาชิกรัฐสภามีสัดส่วนที่สูงกว่าในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความสมดุลในมุมมอง ความต้องการและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ในการออกกฎหมายและพัฒนาประเทศที่รอบด้าน อันเป็นหลักการ “ความเป็นตัวแทน” ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้ว่าระบบ กติกา รวมถึงกฎหมายที่ระบุเป็นตัวอักษรนั้น ไม่ได้กีดกันโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย แต่เนื่องจากปัจจัยหรืออุปสรรคหลายประการ อาทิ ระบบการคัดสรรกลั่นกรองของพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับชัยชนะของการได้รับการเลือกตั้งมากกว่าการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ประกอบกับการขาดสภาพบังคับของหลักการนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาใช้ถ้อยคำที่มีน้ำหนักน้อย เช่น คำนึงถึง พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงไม่มีความจริงจังที่จะสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับชาติ อุปสรรคหนึ่งที่ผู้สมัครหญิงเผชิญอยู่ คือ ทัศนคติเหมารวมของสังคมที่ยังยอมรับผู้ชายในฐานะผู้นำมากกว่า รวมถึงปัจจัยที่เชื่อมโยงกับภาระครอบครัวที่ผู้หญิงต้องแบกรับ โดยเฉพาะหากต้องผ่านการแข่งขันทางการเมืองที่ดุเดือดแหลมคมทำให้ผู้หญิงก้าวสู่เวทีสาธารณะช้ากว่าผู้ชายมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดกลไกเอื้อต่อการสร้างความเสมอภาคและมาตรการพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างเพศและเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง ดังนี้

  • มาตรการพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา ๒๗ วรรค ๒ ความว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และวรรค ๔ ความว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรค หรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น… ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
  • มาตรา ๗๑ วรรค ๔ ความว่า ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม
  • มาตรา ๙๐ วรรค ๓ การจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง
  • มาตรา ๑๐๗ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
  • มาตรา ๑๒๘ วรรค ๒ ความว่า …ในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกรรมธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการหรือทุพพลภาพ ต้องกำหนดให้บุคคลประเภทดังกล่าวหรือผู้แทนองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นโดยตรง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด….

 

และเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทางการเมืองและการตัดสินใจ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) จึงได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นหลักคิดและเหตุผล เพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. และพระราชบัญญัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอของWeMove ต่อร่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.

  • หลักคิด : การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีองค์ประชุมประกอบไปด้วยทั้งหญิงและชาย และเพื่อการส่งเสริมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ การกำหนดกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ลดความยุ่งยากที่เป็นภาระกับพรรค ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและสมาชิกจนอาจส่งผลให้พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ยาก

ข้อเสนอของ WeMove

มาตรา ๑๐ ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๙ ต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน(เพิ่มเติมข้อความดังต่อไปนี้) โดยจำนวนองค์ประชุมต้องมีสัดส่วนหญิงและชาย เพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ต่อ ๕ จากแต่ละภูมิภาค เพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้

เหตุผลประกอบ

จากบทเรียนในอดีต การใช้ถ้อยคำ “คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งชายและหญิง” ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ นั้น ผลปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพราะไม่มีผลผูกพัน ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย และไม่มีบทลงโทษ ดังนั้น เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติจึงให้ระบุว่า โดยเพิ่มเติม“ต้องมีสัดส่วนทั้งชายและหญิง”  และการกำหนดให้เพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งต่อห้านั้น เป็นมาตรการพิเศษที่ประกันให้เกิดพื้นที่แสดงจุดยืนและมาตรการนี้สามารถกระทำได้ไม่ฝืนกับสภาพความเป็นจริงมากเกินไป

  • หลักคิด : คณะกรรมการบริหารพรรคต้องกำหนดสัดส่วนให้มีทั้งหญิงและชาย

ข้อเสนอของ WeMove

          มาตรา ๒๑ พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  กฎหมาย  นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริง ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง   และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ(เพิ่มเติมเนื้อหาดังต่อไปนี้) โดยต้องกำหนดสัดส่วนชายหญิงให้มีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓

เหตุผลประกอบ

การจะทำให้พรรคการเมืองกระทำด้วยความรอบคอบ และตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับได้นั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมคิด ร่วมนำเสนอ และร่วมพิจารณาตัดสินใจในกระบวนการต่างๆ ของพรรคการเมืองทุกขั้นตอน ซึ่งการระบุสัดส่วนหญิง-ชายไว้ในพรป.พรรคการเมืองอย่างชัดเจน ในจำนวนที่มีความเป็นไปได้และไม่เป็นภาระกับพรรคการเมืองจนเกินไป จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

 

  • หลักคิด : กำหนดเป็นหลักเกณฑ์โดยทั่วไปให้คณะกรรมการของพรรคการเมืองทุกคณะต้องมีสัดส่วนผู้หญิง

ข้อสนอของWeMove

กำหนดเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานหรือหลักเกณฑ์ทั่วไป ให้ผู้หญิงต้องมีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ของพรรคการเมืองทุกคณะ เช่น

มาตรา ๓๘ การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

มาตรา ๓๓ พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

(๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียน สมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง

(๔) การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

มาตรา ๓๙ องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทน พรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง  ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน

เหตุผลประกอบ

เพราะผู้หญิงมักถูกท้าทายเสมอว่าโอกาสเปิดให้เท่ากันกับผู้ชายแต่ผู้หญิงไม่เข้ามาสมัครกันเอง ดังนั้น การผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับตัดสินใจนั้น ต้องเริ่มจากการมีโอกาสและสั่งสมประสบการณ์จากฐานรากขึ้นไปจึงจะสร้างความเชื่อมั่น สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสทางการเมืองในระดับที่สูงขึ้นไปได้

  • หลักคิด : กำหนดเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานของทุกพรรคการเมืองในการพิจารณาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต้องมีสัดส่วนผู้หญิง ตามเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๐

ข้อเสนอของ WeMove

มาตรา ๔๘ การพิจารณาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบ (ตัดเนื้อหาดังต่อไปนี้)แบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (เพิ่มเติมเนื้อหาดังต่อไปนี้) ทั้งโดยสมาชิกพรรคก็ดี หรือส่วนภูมิภาคก็ดี ต้องกำหนดสัดส่วนชายและหญิงให้มีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ และโดยเพศที่มีจำนวนน้อยกว่า ต้องอยู่ในลำดับที่มีโอกาสรับเลือกตั้งด้วย

วรรคสอง

โดยเพิ่มเติมเนื้อหาดังนี้ ……ในกรณีพรรคการเมืองไม่สามารถส่งรายชื่อผู้สมัครฯ ตามเงื่อนไขของกฎหมาย (มาตรา ๔๘ วรรค ๑) ต้องชี้แจงเหตุผลต่อกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดทำเอกสารเผยแพร่ทุกครัวเรือนเกี่ยวกับรายชื่อของผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา ๔๘) ที่แสดงถึงโอกาสความเท่าเทียมของหญิงชายตามวรรค ๑ พร้อมระบุเหตุผลของพรรคการเมือง

เหตุผลประกอบ

การตัดแบ่งเขตเลือกตั้งออกนั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้คำนึงถึงสัดส่วนชายและหญิงในระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ระบุไว้ในการระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น มาตรา ๙๐ วรรค ๓ การจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง อย่างไรก็ตามการคำนึงถึงไม่รับประกันโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิง เพราะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ทำให้พรรคการเมืองมักส่งรายชื่อผู้หญิงอยู่ในลำดับล่าง บางครั้งก็ส่งรายชื่อผู้หญิงเพียงเพื่อให้เต็มจำนวนบัญชีเท่านั้น การเสนอ ต้องกำหนดสัดส่วนชายและหญิงให้มีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ และโดยเพศที่มีจำนวนน้อยกว่า ต้องอยู่ในลำดับที่มีโอกาสรับเลือกตั้งด้วย เป็นการเสนอให้คณะกรรมการเลือกตั้งไปพร้อมกัน จำนวนหนึ่งในสามเป็นจำนวนที่สากลถือว่ามีศักยภาพพอที่จะป้องกันการถูกครอบงำและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (Critical Mass) รวมทั้งการที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องชี้แจงเหตุผลต่อกรรมการเลือกตั้งและประชาชนเป็นการตรวจสอบโดยสังคม การให้คุณให้โทษในกรณีที่พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเงื่อนไขกฎหมายจะปรากฏให้เห็นจากคะแนนเสียงที่ได้รับนั่นเอง (Social Sanction)

  • หลักคิด: การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย สภาพของบุคคล และกลุ่มชาติพันธุ์

ข้อเสนอของ WeMove

มาตรา ๒๓ ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างน้อยในแต่ละปีพรรคการเมืองต้องมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย สภาพของบุคคล และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังต่อไปนี้

 

เหตุผลประกอบ

เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคส่วนหนึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ดังนั้นในการจัดสรรและการใช้งบประมาณต้องให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๑ วรรค ๔ ความว่า ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม WeMoveเสนอเพิ่มกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ มักมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาเฉพาะของตน จึงจำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมและเข้าถึงได้

ข้อเสนอของWeMoveต่อร่างร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.

ข้อเสนอของWeMove

๑. เพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางเพศ ในมาตราใดก็ตาม ที่กำหนดการได้มาและจำนวนของกรรมการการเลือกตั้งทุกระดับและผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรกำหนดให้มี “สัดส่วนชายและหญิงเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓”

๒. ไม่ควรตัดสิทธิผู้ที่เป็นและเคยเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งทุกระดับและผู้ตรวจการเลือกตั้ง

๓. เพิ่มคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเลือกตั้งทุกระดับและผู้ตราจการเลือกตั้ง โดยให้เพิ่มเนื้อหาดังนี้ ที่ มีหรือเคยมีพฤติการณ์กระทำความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัว

เหตุผลประกอบและข้อสังเกต

รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเป็นกรรมการเลือกตั้งไว้สูงเกินไป ซึ่งส่งผลเป็นการกีดกันบุคคลทั่วไปซึ่งรวมถึงผู้หญิงเข้าไปสมัครและมีส่วนร่วมโดยปริยาย การกำหนดสัดส่วนชายหญิงนั้นก็เพื่อรับประกันเสียงและการมีส่วนร่วมขั้นต่ำเพื่อป้องกันการครอบงำและเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) เพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ จึงไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญแต่ส่งเสริมเจตนารมณ์ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายหญิงดังที่ได้อ้างไว้แล้วข้างต้น