ขบวนแรงงาน เสนอบิ๊กอู๋ปรับค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

คสรท. และสรส.จัดแถลง จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้า รมว.แรงงานรับลูกนำข้อมูลให้บอร์ดพิจารณาเพื่อให้เกิดความสมดุล รอบคอบ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ได้ร่วมกันแถลงข่าว “จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่กระทรวงแรงงาน โดยช่วงบ่ายได้เข้าพบ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอข้อมูล

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท. กล่าวว่า ตามที่คสรท.เคยประกาศว่า ค่าจ้างควรปรับขึ้นเป็น 700 บาทนั้นด้วยเนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับมานานแล้วตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการกำหนดปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่าควรจะปรับขึ้นเท่าไรในปัจจุบันก็ต้องมาคุยกันเนื่องจากข้อมูลการสำรวจค่าครองชีพของคสรท. คือ ค่าจ้างต้องเลี้ยงดูครอบครัวอย่างน้อยรวม 3 คน ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งตัวเลขจะปรับขึ้นเท่าไรต้องคุยกัน ด้วยทราบว่า กระทรวงแรงงานก็มีการสำรวจข้อมูลมาเช่นกันจึงเห็นว่าต้องนำข้อมูลมาคุยกัน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเท่าไร โดยรัฐต้องมาดูแลด้านสวัสดิการต่างๆเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงรัฐเอาต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยแม้ยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างปัจจุบันค่าครองชีพก็ปรับขึ้นแล้ว ซึ่งคสรท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขึ้น 2-15 บาทแน่นอน หลักการต้องเท่ากัน เพราะไม่ว่าจะที่ไหนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็เท่ากันหมด

นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นการมาวันนี้ต้องการแถลงเรื่องแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยแนวคิดการปรับขึ้นค่าจ้างที่ใช้อยู่นั้นยังสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เป็นการแบ่งแยกพื้นที่ สร้างความแตกต่างกันด้วยการที่มีค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดการกระจุกตัวของแรงงานในเมืองมากขึ้น ทิ้งไว้เพียงผู้สูงอายุ กับเด็กให้อยู่บ้านในต่างจังหวัด และการที่ปรับค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดปัญหามากมาย นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งหากมองดีๆแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้เกิดกำลังซื้อในตลาดเศรษฐกิจโดยรวมจะดีมากขึ้น และทำให้ความเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน คนมีความต่างกันด้านเศรษฐกิจเกิดช่องว่างทางรายได้มากเกินไป ฉะนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำได้จริง และนี่คือแนวทางการแก้ปัญหาคนกลุ่มใหญ่ในประเทศกว่า 10 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เป็นการใช้กลไกการดูแลสังคมแบบองค์รวม และกระทรวงแรงงานต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวเจรจาต่อรองตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การรับรองสัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98  ซึ่งทางคสรท.ยังมีข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้พิจารณา พร้อมทั้งขอนัดพบอีกครั้งเพื่อการใช้เวลาให้ข้อมูลเหตุผลข้อเสนอต่างๆด้วย ซึ่งประเด็นแรงงานข้ามชาติก้อยากที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้นตามข้อเสนอ

นางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคสรท. เป็นผู้แทนในการแถลงดังนี้ ว่า ได้มีการประกาศจุดยืนคัดค้านเกี่ยวกับนโยบายแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หลายครั้งในรอบปี 2560 กับการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งที่ผ่านมาเงื่อนไขในการปรับค่าจ้างแต่ละครั้งไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ภายใต้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รัฐบาลมีข้ออ้างเสมอว่า นักลงทุนจะหนี จะย้ายฐานการผลิต เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อเสนอของคสรท. ปรับค่าจ้างแล้วสินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จากแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่ขาดความ ซึ่งผลจากการสำรวจหนี้คนของคนงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยพบว่า คนงานมีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225.87 บาท ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเป็นหลักประกันที่สำคัญให้แก่คนทำงาน เพราะยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองได้ ซึ่งจากสถิติการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างกับกระทรวงแรงงานพบว่ามีเพียง ปีละ 300 – 400 ฉบับ และครอบคลุมลูกจ้างเพียงแค่ 2 แสนคนเศษเท่านั้น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมเป็นหลักการทางสากล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ “ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและยุติธรรมเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว” รวมทั้งหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยึดถือและปฏิบัติดังที่รัฐบาลปัจจุบันได้ยืนเสมอมาว่าการบริหารประเทศจะยึดหลักการทางสากล และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติได้ “ประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักการดังกล่าวในปี 2561จะเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำและความจริงใจของรัฐบาล

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้เคยนำเสนอข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น ผลการสำรวจของพี่น้องคนงานในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรัฐบาลได้เข้าใจ พิจารณาถึงเหตุผล สาระของความเป็นจริง  ดังนั้นจึงขอประกาศจุดยืน หลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ต่อรัฐบาลดังนี้

  1. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)และค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ
  2. รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
  3. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการ ที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี
  4. รัฐบาลต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
  5. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้านพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(บิ๊กอู๋)  กล่าวต้อนรับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยว่า การทำงานนั้นก็คุ้นกับประเด็นทางสังคมซึ่งก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสมอ เนื่องจากตนเองทำงานในระดับพื้นที่มาก่อน เป็นตำรวจอยู่ต่างจังหวัด และเป็นคนพื้นเพภาคอีสานฉะนั้นยินดีที่จะรับข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานทุกเรื่อง ซึ่งการทำงานทางกระทรวงแรงงานยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ด้วยต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และได้มีการมอบหมายนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงแรงงานไปแล้ว 11 ข้อ มีทั้ง นโยบายเร่งด่วนอย่างประเด็นแรงงานข้ามชาติ ผลักดันและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ตาม IUU Fishing โดยป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และคุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจำนวนกว่า 4 ล้านคน เพื่อส่งเงินกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยเน้นแก้ปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึง ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand และอีกหลายประเด็นด้านกฎหมายแรงงานที่สำคัญๆ 11 ฉบับประกอบด้วย นโยบายบริหารการพัฒนา และส่วนการบริหารในระดับพื้นที่ด้วย ภายใต้แนวนโยบายการทำงานของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“การให้ทางตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าพบครั้งนี้ก็เพื่อฟังข้อมูลให้รอบด้านเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อย่างไรเสียก็คงเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีท่านปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งมีหลายส่วนร่วมกันในการพิจารณา โดยทางรัฐบาลได้ให้แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างนั้นต้องให้แรงงานอยู่ได้ ธุรกิจการลงทุนก็ต้องมองและให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน  ซึ่งก็ขอรับข้อเสนอไปให้บอร์ดพิจารณาเพื่อให้เกิดความสมดุล รอบคอบ ในการประกาศปรับขึ้นพื้นที่ ปรับขึ้นเท่ากันต้องดูรายละเอียดมีเหตุมีผลตอบได้หมดซึ่งต้องขอเวลาสักระยะหนึ่ง เรื่องกลไกระดับจังหวัดเดี๋ยวต้องมาดูกัน ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ ปรับขึ้นเท่าไรนั้นก็คงต้องรอดู” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าว

วาสนา ลำดี รายงาน