“การสร้างเครือข่ายเพื่อกลไกการขับเคลื่อนของขบวนผู้หญิง”

20170208_122629[1]

“การสร้างเครือข่ายเพื่อกลไกการขับเคลื่อนของขบวนผู้หญิง”

โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายเพื่อกลไกการขับเคลื่อนของขบวนผู้หญิง” วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2560 ที่บ้านอิงเขา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จัดโดยกลุ่มบูรราการแรงงานสตรี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)

นางสาวนิไลมล มนตรีกานท์ ประธานกลุ่มบูรณาการสตรี กล่าวว่า การทำงานของผู้หญิงต้องประสานกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหญิงในระบบ นอกระบบ และข้ามชาติ ซึ่งหวังว่าจะเกิดเครือข่ายแรงงานหญิงที่เข้มแข็ง ได้รู้จักกันว่า กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในการขับเคลื่อนประเด็นแรงงานหญิง

อาจารย์สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า ประวัติศาสตร์บทบาทแรงงานหญิง ได้มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่เกิด 14 ตุลาคม2516 และ 6 ตุลาคม 2519 การต่อสู้ของแรงงานหญิงมีการขับเคลื่อนในยุคแรกของอุตสาหกรรม การต่อสู้ทางการเมืองนำมาถึงการเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้างซึ่งช่วงปี 2516 นั้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 12 บาท แรงงานในกลุ่มต่างๆทั้งในส่วนของพระประแดง อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ ได้เดินเท้าไปสนามหลวง การเคลื่อนขบวนครั้งนั้นแรงงานหญิงเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นยุคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถามว่า ความสำเร็จในการต่อสู้ของกลุ่มผู้หญิงก่อนเป็นกลุ่มบูรณาการสตรีนั้น หรือแม้แต่อยู่ในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มีขบวนผู้ชายในการสนับสนุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นลาคลอด 90 วัน ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้าง ประกันสังคม ฯลฯ เป็นผลงานกลุ่มบูรณาการแรงงานตรี ซึ่งไม่ใช่แรงงานหญิงส่วนเดียว ยังมีขบวนผู้ชายเข้าร่วม

นางสาวสงวน ขุนทรง กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทำงานของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีนั้นมีการหนุนด้านความรู้ข้อมูลจากส่วนของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

นายศรีโพธิ์ วายุพักษ์ ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การทำงานของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จากการทำงานและรู้จักกับกลุ่มฯมานาน และมีการทำงานเป็นกำลังหลักของขบวนการแรงงาน ในประเด็นต่างๆ ด้านสิทธิแรงงาน สิทธิสตรีเป็นต้น การทำงานของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีเดิมฐานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานหญิงสิ่งทอ ตอนนี้แรงงานในประเภทสิ่งทอวิกฤติลดน้อยลง  และการที่สหภาพ สหพันธ์แรงงานไม่มีกรรมการเป็นผู้หญิงก็ทำให้ไม่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานในกลุ่ม

ต่อมาได้มีการจัดเสวนา “สถานการณ์การจ้างงาน /ความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวและในที่สาธารณะ/นโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ/สถานการณ์การเมือง”

นายบัณฑิตย์ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจประชาการวัยทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีอยู่ 37 ล้าน มีจำนวนผู้ชาย 20 ล้านคน ที่เหลือคือผู้หญิง ซึ่งมีการจำแนกแบบกว้างในเศรษฐกิจนอกระบบคือผู้อยู่ในวัยแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมาย แต่ต่อมาปรับว่าแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 ด้วยซึ่งเป็นคนทำงานที่ไม่ใช้ลูกจ้างเอกชน หรือข้าราชการซึ่งปรับในปี 2557 ซึ่งการทำงานของแรงงานมีความไหลไปมาบ้างครั้งทำงานในระบบแต่ช่วงหนึ่งอาจไปทำงานนอกระบบก็ได้ เป็นไปตามช่วงเวลาที่มีการสำรวจว่าช่วงไหนที่เขาทำงานอยู่ ซึ่งผลสำรวจแรงงานในระบบก็พบว่าแรงงานชายมีจำนวนมากกว่าแรงงานหญิง และคนที่อยู่นอกกำลังแรงงาน มี18 ล้านคนมีผู้หญิง 12 ล้านคน ผู้ว่างงานในอาเซียนที่มีอัตราการว่างงานสูงคือ อินโดนีเซีย พม่า และลาวตามลำดับประเทศไทยว่างงาน 3.3 ล้านคน ว่างงานร้อยละ0.13 เป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายร้อยละ0.9 ภาคเศรษฐกิจมี 2 ระบบ ภาคเกษตรกรรมผู้ชาย 7 ล้าน หญิง 5 ล้าน นอกภาคเกษตร 25ล้าน ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การทำงานนอกภาคเกษตรกรรมนั้นภาคบริการมากกว่าภาคการผลิต การใช้แรงงานมากคือภาคบริการ อันดับ 2คือภาคการผลิต

ปัญหาการทำงานต่ำระดับความหมายคือ การทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง ซึ่งเป็นคนที่มีประสิทธิภาพที่ควรทำงานได้สูงกว่านี้ ประสิทธิภาพสูง วุฒิการศึกษาสูงแต่นายจ้างต้องการจ้างวุฒิที่มีจึงต้องทำงานต่ำกว่า ก็ต้องจำยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ การศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจำแนกตามชั่วโมงการทำงาน ผู้ชายจะทำงานมากกว่าผู้หญิง มากถึง 56 % ผู้หญิง 46% ซึ่งในส่วนของแรงงานในระบบ ผลจากการสำรวจเรื่องกรรมการสหภาพแรงงานในประเทศไทยการบริหารมีผู้หญิง น้อยกว่าผู้ชาย ตำแหน่งที่ผู้หญิงเป็นเท่ากับผู้ชายคือเหรัญญิก ส่วนใหญ่ในตำแหน่งอื่นๆ คือ ผู้ชาย จำนวนสมาชิกผู้ชายร้อยละ 37 ผู้หญิงร้อยละ 35 ไม่แต่ต่างกันมาก นี่ในส่วนของสหภาพแรงงานเอกชนจาก 342 แห่ง ส่วนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจนั้นมีกรรมการรัฐวิสาหกิจมากกว่าผู้ชายคือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) นอกนั้นเฉลี่ยกรรมการสหภาพแรงงานหญิงมีเฉลี่ย 1-6 คนเท่านั้น

รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัว เด็กและสตรี ในที่สาธารณะ เนื่องจากผู้หญิงประสบกับปัญหาความรุนแรงตลอดเวลา ซึ่งความรุนแรงที่เห็นคือความรุนแรงทางกาย แต่ยังมีความรุนแรงทางวาจาด้วย ซึ่งผู้หญิงในครอบครัวที่ประสบกับความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา ด้วยวัฒนธรรมจึงทำให้หญิงไทยไม่กล้าที่จะนำเรื่องออกสู่สาธารณะ ปัจจุบันมีการเรียกร้องความเท่าเทียมกันเรื่องสิทธิสตรี ทำให้มีการนำเสนอเรื่องราวความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวออกมา คนที่ได้รับผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัวต้องเข้าใจถึงความยากลำบากใจของผู้หญิงในการที่จะเปิดเผย

ยังมีอีกประเด็น คือการกระทำการล่วงละเมิดในที่ทำงานซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงทางเพศของผู้ชาย และบางรายที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งการนี้มีประเด็นสายการบังคับบัญชาทำให้ลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงอาจไม่กล้า และเป็นเรื่องของการพิสูจน์ เป็นความรุนแรงด้วยเกิดจากภาวะความเป็นผู้หญิง ซึ่งมีผู้หญิงเด็กเสิร์ฟร้านกาแฟที่ใส่เสื้อมีรายชื่อให้ผู้มาซื้อของใช้นิ้วจิ่มสั่ง การจ้างงานมีความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจซึ่งนำมาซึ่งการคุกคามทางเพศ จะทำอย่างไรให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ

อาจารย์สุนี ไชยรส กล่าวว่า รู้หรือไม่ว่าผู้หญิงมีความสำเร็จด้านรัฐธรรมนูญ จากหลายเรื่องที่ยื่นไปข่วงร่างรัฐธรรมนูญผู้หญิงเสนอเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลต้องได้รับการคุมครอง ระบุในมาตร 4 และมาตรา 30 มีการตัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากเดิมมีหลายประเด็น สิทธิความหลากหลายทางเพศ ต่อมาก็ได้คืนมา การที่จะเคลื่อนต่อคือสิทธิแรงงานหายไป อย่างการกำหนดการมีส่วนร่วมในการบริหารประกันสังคม การเสนอกฎหมายหายไป การมีส่วนร่วมต่างที่ต้องกำหนดสัดส่วนหญิงชายเท่ากันก็หายไป

วันนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ การร่างกฎหมายลูก กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ท่ามกลางกระแสการใช้กฎหมายพิเศษมาตรา 44 มากมาย ต้องรับรู้การเคลื่อนไหวของภาครัฐในการกำหนดกฎหมาย ตอนนี้การคุกคามประชาชนเรื่องที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่ตอนนี้มีการต่อสู้ของชาวบ้านชุมชน ซึ่งก็เป็นผลกระทบต่อแรงงานด้วย ซึ่งเป็นการจ้างงานแรงงานที่ละเมิดสิทธิหรือไม่เพื่อการจ้างงานเพื่อนบ้านซึ่งไม่มีการรวมตัวเรียกร้องและมองว่าเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคน สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทั้งที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีการปล่อยเช่าระยะยาว 50 ปี ภายใต้ความเดือดร้อนของชุมชนที่อยู่อาศัยที่ทำกิน ภายใต้นโยบายช่วยเหลือคนเมืองภายใต้รัฐบาลนี้เช่น นโยบายช่วยเหลือคนจน เงินสงเคราะห์เด็กเพิ่มขึ้นเป็น 3 ปี เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นการช่วยกันออกคนละครึ่ง และตอนนี้ก็มีการแชร์กันมากมายเรื่องการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเพียงแนวคิดข้อเสนอแต่ยังไม่ได้ปรับจริง

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การทำงานขับเคลื่อนประเด็นนโยบายต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำแรงงาน นักวิชาการหลังจากประเด็นปัญหาการเลิกจ้างคนงานหญิงจำนวนมากกรณีคนงานไทยเกรียง ประเด็นการคลอดบุตรของคนงานหญิงที่ไม่สามารถจะดูแลให้นมบุตรได้ ซึ่งช่วงนั้นคุณอรุณี ศรีโต เข้ามาเป็นประธานกลุ่มและได้รับความช่วยเหลือทั้งข้อมูลทางวิชาการจากนักวิชาการ นักการเมืองหญิง ขบวนสหภาพแรงงานต่างๆก็เข้ามาขับเคลื่อนไม่ว่าหญิงหรือชาย จากการลาคลอด 90 วันสำเร็จได้ ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวเรื่องการเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประกันว่างงาน และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนลูกของคนงาน ซึ่งเคลื่อนไหวช่วงคุณวันเพ็ญเป็นประธาน จนถึงวิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นประธาน การได้ศูนย์เลี้ยงเด็กมาจากคำพูดของนายกทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศว่า กลุ่มอยากได้ตรงไหนบอกมาจนเกิดเป็นความร่วมมือของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วประเทศในท้องถิ่น และศูนย์นำร่องที่ซอยคู่สร้าง สมุทรปราการ เป็นศูนย์เลี้ยงเด็กลูกของคนงานศูนย์เดียว และมาได้เรื่องสถาบันความปลอดภัยในการทำงาย ที่แม้ว่าไม่ใช่สถาบันตามที่สนองตอบตามข้อเสนอทั้งหมดแต่ก็ได้มาจากการเรียกร้อง

การจ้างงานปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหมดแล้วในยุคนี้มากับเทคโนโลยีและเป็นการลดการจ้างงานทำให้เกิดความสะดวกต่อการบริการไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านค้าทางอินเตอร์เน็ตคือการอำนวยความสะดวก กระทบต่อความมั่นคงในการทำงานหรือไม่ การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การเกษียณอายุที่มีนั้นสอดคล้องหรือไม่ การกำหนดนโยบาย กรรมการไตรภาคีที่เคยเสนอให้มีสัดส่วนผู้หญิง การรับเรื่องราวร้องทุกประเด็นผู้หญิงแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ ปัญหาเกี่ยวกับเด็กสตรีจะทำเองหรือว่าบางประเด็นที่ต้องส่งให้องค์กรที่เชี่ยวชาญทำ ก็ดูประเด็นหลัก ต้องทำงานอย่างเกาะติด

นางสาวธนพร วิจันทร์ อดีตประธานกลุ่มฯกล่าวว่า การทำงานของสตรีต้องมีแนวคิดประชาธิปไตย ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ความสำเร็จในการเคลื่อนไหวนโยบายไม่ว่าจะเป็นลาคลอด 90 วัน ประกันสังคมกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ศูนย์เลี้ยงเด็กได้มาช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ช่วงนี้การเคลื่อนไหวทำได้อยาก ปัญหาความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองทำให้วันนี้การเคลื่อนไหวขาดพลัง กี่รัฐบาลแล้วที่การขับเคลื่อนไม่ส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงดั่งอดีตที่ผ่านมา เดิมสหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตหนังแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังหลักทดถอยออกไปด้วยความต่างในความคิดเห็นทางการเมือง จะต้องมีการประสานกันทางความคิด ต้องเข้าใจประเด็นที่ทำให้แตกแยกแล้วปกครอง ต้องเข้าใจระบบชนชั้น ต้องชัดเจนเพื่อการเคลื่อนข้อเสนอของขบวนร่วมกันต้องทำให้ได้ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างไรต้องมี กลุ่มต้องเตรียมตัวเตรียมนโยบายใคร พรรคไหนมีข้อเสนอที่ชัดเจนจะเสนอใครชัดเจนหรือไม่ว่าตัวแทนของแรงงาน ผู้หญิง ใช่หรือไม่ต้องดูเตรียมความพร้อมสักวันต้องเลือกตั้ง

นางสาวนิไลมล กล่าวอีกว่า จากการสรุปการพูดคุยและวางแผนการทำงานทั้งสร้างเครือข่ายผู้หญิง ร่วมกันมองถึงทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องเวทีรณรงค์ข้อเรียกร้องเบื้องต้นโดยกลุ่มฯจะมีการจัดในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งข้อเรียกร้องตอนนี้มีกลุ่มสตรีสรส.และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอดังนี้

  1. ให้รัฐรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการเป็นมารดา ให้ผู้ชายมีสิทธิในการเพื่อดูแลภรรยาช่วงคลอดบุตร
  2. ให้รัฐเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตรเป็น 120 วัน
  3. รัฐจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับชีวิตคนทำงาน เนื่องจากแรงงานทำงานเช้ากลับมืดและควรอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานมากนัก
  4. รัฐต้องกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพแรงงานหญิงต้องสารถตรวจมะเร็งปากมดลูกและเต้านมได้ฟรี แม้ว่าประกันสังคมกำหนดเรื่องการตรวจสุขภาพฟรีแต่ยังจำกัดอยู่
  5. รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนผู้หญิง ผู้ชายร้อยละ 50 ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในทุกองค์กรทุกระดับไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น ระดับชาติอย่างส.ส. ส.ว. และองค์กรไตรภาคี
  6. ให้รัฐกำหนดวันที่ 8 มีนา วันสตรีสากลเป็นวันหยุดประจำปี

ทั้งนี้ ขณะนี้ทางกลุ่มยังเปิดรับข้อเสนอของทางเครือข่ายผู้หญิงกลุ่มอื่นๆอยู่

(รายงานโดยวาสนา ลำดี)