คณะทำงานวันกรรมกรสากล ประเมินคำตอบรัฐต่อผลการดำเนินการข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลสำเร็จเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น แถมแก้ไม่ตรงจุด
วันที่ 27 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสากิจสัมพันธ์(สรส.) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โลหะแห่งประเทศไทย และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลจำนวน 10 ข้อ ซึ่งได้ยื่นต่อผู้แทนนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 และได้เดินรณรงค์ผลักดันข้อเสนอ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ใน “วันกรรมกรสากล”แล้ว
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงาน โดยสำนักแรงงานสัมพันธ์ได้ส่งหนังสือถึงคณะจัดงานวันกรรมกรสากลปี 2560 ถึงผลการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง “วันกรรมกรสากลปี 2560” แล้ว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ดังนี้
ข้อที่ 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือปฏิบัติ อันประกอบด้วย
1. ด้านสาธารณสุขประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาครัฐตอบประเด็นนี้ว่า อยู่ระหว่ารอคำตอบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาครัฐตอบข้อนี้ว่า ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนรัฐบาลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาคือตั้งแต่อนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ระดับประกาศยบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และการดำเนินการอุดหนุนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งระบบการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ
ตนมองว่ายังไม่ใช่การเรียนฟรีตามที่เสนอด้วยระบบการศึกษายังคงมีเรื่องการคอรัปชั่น ระบบใต้โต๊ะดั่งที่เป็นข่าวอยู่ และคนทุกคนควรได้รับการศึกษาเท่าที่ต้องการจะได้รับการศึกษาไม่เห็นด้วยที่มีการกำหนดไว้
ข้อที่ 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกภาคส่วน
1. กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คนตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
ประเด็นนี้ภาครัฐตอบว่า ILOได้ตราอนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดอัตรค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรฐานแรงงานประการหนึ่งของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานสำหรับประเทศไทยแม้ไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ แต่ได้นำหลักการสำคัญมาปรับใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่จะคุ้มครองแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจ และสังคม โดยมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่น
2. กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี
ข้อนี้ภาครัฐตอบว่า คณะกรรมการค่าจ้างเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง และผู้แทนภาครัฐฝ่ายละ 5 เพื่อพิจารณาค่าจ้างซึ่งก็พิจารณาจากข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การปรับเพิ่มค่าจ้างปี 2560 ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันละ 5-10 บาท จำนวน 69 จังหวัด ส่วนอีกจำนวน 8 จังหวัดให้คงไว้ในอัตราค่าจ้างเดิม คือวันละ 300 บาท เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ขึ้นยังเป็นคำตอบเดิม
ข้อที่ 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม และอนุสัญญา 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 48)
ส่วนข้อนี้คำตอบคือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งร่างโดยคณะทำงานไตรภาคีเพื่อพิจารณาแก้ไขและได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และวันที่ 30 มินาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงแรงงาน ก่อนเสนอรัฐมนตรี เพื่อส่งคณะกรรมาธิการพิจารณา และส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับอนุสัญญาฉบับที่ 138 กรมสวัสดิฯ ได้ให้การคุ้มครองแรงงานตามอนุสัญญาฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ สิทธิการลาคลอด สิทธิประโยชน์กรณีลาคลอด การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การคุ้มครองการมีงานทำ และการคุ้มครองสุขภาพอนามัย
ข้อที่ 4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการที่ดี มีคุณภาพ มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังนี้
1. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
กรณีนี้ภาครัฐตอบว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงนโยบาย โดยกำหนดนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมิได้กำหนดนโยบายให้มีการแปรรูป แปลงสภาพหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด
2. จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
กรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยการกำหนดหน้าที่ที่ชัดเจนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ และกำหนดแนวทางการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้
3. ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
ข้อที่ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 มอบให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณานำแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์ฯไปพิจารณาประกอบการดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยสคร.ได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ข้อที่ 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม
1. ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
กรณีนี้คำตอบคือ ในช่วงปี 2558-2560 สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการศึกษาการแยกงานบริหารการลงทุนออกให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว โดยแยกส่วนปฏิบัติงานออกเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ต้องแก้ไขกฎหมายประกันสังคมทั้ง 2 ฉบับ และจัดทำพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุน ของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น
2. จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน
ภาครัฐตอบว่า กระทรวงแรงงานกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมก็ได้กำหนดให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ในอัตราที่เท่ากันคือร้อยละ 1.5 ส่วนที่ไม่เท่ากันคือ เงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และกรณีว่างงาน ซึ่งเป็นตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม กรณีรัฐบาลค้างชำระเงินสมทบกองทุนฯ คือ การเสนอขอรับจัดสรรในปีงบประมาณถัดไป และเสนอขอเพิ่มงบประมาณต่อคณะกรรมาธิการฯ (แปรญัตติ)
3. เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33
คำตอบคือ การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เบื้องต้นไม่สามารถให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานได้ เนื่องจากผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า แต่อย่างใดก็ตามมีความเป็นไปได้ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39
สำนักงานประกันสังคมได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 เพื่เพิ่มสิทธิประโยชน์
4. เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้ายนั้น ปัจจุบันผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลขององค์การแรงงานฯซึ่งผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ โดยมีสิทธิรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา การจ่ายเงินสมทบ
5. ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญยัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558
ทางสำนักงานประกันสังคมมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนำไปสู่การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นที่พึงพอใจจากทุกภาคส่วนและสร้างความพึงพอใจกับผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน ผลการดำเนินงานความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรอง อนุบัญญัติที่ต้องดำเนินการรวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 11 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 ฉบับ
6. ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษา ตามคำวินิจฉัยของแพทย์
รัฐตอบว่า สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตรา ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เพิ่มวงเงินอัตราค่ารักษาพยาบาลสำหรับสถานพยาบาลของรัฐ โดยไม่จำกัดวงเงินไปจนสิ้นสุดการรักษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 แต่การดำเนินการตามกระทรวงสาธารณสุขเสนอโดยให้จำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับสถานพยาบาลของรัฐไม่เงิน 2 ล้านบาท ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาใช้สิทธิรักษาพยาบาล กองทุนเงินทดแทนเกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าที่กำหนดในกระทรวง
ข้อที่ 7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีที่นายจ้างไม่จายค่าชดเชยตามกฎหมาย ปิด หรือยุบกิจการทุกรูปแบบ
กรณีนี้การดำเนินการคือ กรมสวัสดิการฯให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าแนะนำ อำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง เรื่องการใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยยื่นแบบคร. 7 รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยภายใน 60 วัน กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และคำสั่งถึงที่สุดพนักงานตรวจแรงงานต้องมีความพร้อมดำเนินคดีกับนายจ้าง ให้คำแนะนำ ร่วมปรึกษาหารือกับลูกจ้างเพื่อแต่งตั้งพนักงานตรวจแรงงานเป็นทนายความฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องสิทธิแก่ลูกจ้าง กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต่อมากรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน แก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กรณีนายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรต้องเสียเงินเพิ่มแก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ซึ่งความจริงคือนายจ้างไม่จ่าย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแต่ว่าวันนี้ยังมีกรณีที่ลูกจ้างยังไม่ได้รับตามกฎหมายฯ และข้อสุดท้ายคือ ให้ความช่วยเหลือด้านเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง ซึ่งกระบวนการพิจารณายังล่าช้ามาก
ข้อที่ 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากกองทุน รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ เช่นกรณีบริษัท บริติช –ไทยซินเทติค เท็กส์ไทย จำกัด
ทางกรมสวัสดิการฯได้แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้และข้อกฎหมายในการจัดตั้งกองทุน ดังนี้
1. ศึกษาหาแนวทางการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ตามกรอบคู่มือการขอจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนของทางราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
2. สำนักงบประมาณ ได้แนะนำว่า หน่วยงานอาจเพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุนที่มีอยู่เดิมและขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ง่ายกว่าการจัดตั้งกองทุนใหม่
3. สมาคมประกันภัย ชี้แจงว่าการทำประกันวินาศภัยเพื่อชดเชยให้กับลูกจ้างกรณีนายจ้างปิดกิจการ เลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย ต้องมีลักษณะดังนี้ ความคุ้มครองเฉพาะกรณีนายจ้างได้รับความสูญเสียจากอุบัติเหตุ การทำประกันภัยต้องเป็นภาคบังคับ ต้องจำกัดวงเงินความรับผิดชอบ
4. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนที่ดูแลงานทางด้านสังคมได้เสนอความเห้นว่าไม่ควรมีการจักตั้งกองทุนใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีกองทุนฯเพิ่มขึ้นจำนวนมากและรัฐบาลเห็นว่ามีกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว และมีภาระกิจที่ค่อนข้างครอบคลุมทั้งหมด
5. อนุกรรมการศึกษาฯ พบว่า จำนวนนายจ้างผู้ที่ไม่จ่ายค่าชดเชย ค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง มีจำนวนน้อยมาก กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.เป็นต้นมาถึงเดือนมิถุนายน 2559 มีนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าชดเชย ค้างจ่ายค่าจ้าง เมื่อเลิกจ้างแล้วมีจำนวน 1,056 รายในขณะที่นายจ้าง หรือสถานประกอบการจำนวน 352,645 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.2 การเรียกร้องเก็บเงินจากนายจ้างทุกรายมาวางกองไว้ เพื่อเป็นหลักประกันของลูกจ้าง จึงน่าจะไม่สมเหตุสมผลมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของประเทศ
6. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานศึกษา และพิจารณาแนวทาง และมาตรการเพื่อรวมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคม โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 ได้มีการประชุมคณะทำงานฯตามมติครม.ที่ประชุมเห็นว่า
1. การจัดเก็บเงินสะสม หรือเงินสงเคราะห์ในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ปัจจุบันมีกองทุนประกันสังคมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันอยู่แล้ว
2. ไม่ควรนำส่วนที่เป็นกองทุนสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจ่ายตามกฎหมายที่ชัดเจนมารวมกับกองทุนประกันสังคม โดยกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างควรปรับปรุงระเบียบให้รัดกุม หลักเกณฑ์การจ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อน และขณะนี้สำนักปลัดกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลการประชุมเพื่อนำเสนอกรมบัญชีกลาง
ข้อที่ 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมของแรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ
ภาครัฐตอบว่า กรมสวัสดิการฯได้มีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง คือ
1. การบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินคดีปรับนายจ้างกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ มีดครงการเร่งด่วน Safety Thailand ซึ่งร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆอีก 5 กระทรวง
2. กรณีสถานประกอบกิจการใดมีปัญหาลูกจ้างร้องเรียนในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน หรือลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบ
3. คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีผู้แทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง มีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ ซึ่งจะมีอนุกรรมการมาจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมถือเป็นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
4. การยกเลิกการใช้แร่ใยหิน กระทรวงแรงงานมิได้มีหน้าที่ในการอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออก ซึ่งผู้ทำหน้าที่โดยตรง คือกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร
ข้อที่ 10. รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
ซึ่งภาครัฐตอบข้อเรียกร้องนี้ว่า สำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินให้กับสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพโดยปี 2560 ได้จัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันฯจำนวน 3 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,299,000 บาท ได้แก่โครงการหน่วยงานต้นแบบ ทำงานความปลอดภัยไร้การ Offic Syndrome โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ใช้แรงงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โครงการส่งเสริมความปลอดภัยการก่อสร้างระบบรถไฟ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแล้วล้อมในการทำงาน (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องทุน และทรัพย์สิน การโอนเงิน และทรัพย์สิน ทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เงินจากการจัดสรรจากกองทุนความปลอดภัยฯ ค่าธรรมเนียม และดอกผล หรือรายได้ โดยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯสามารถดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานงบประมาณ
นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า จากการประเมินสิ่งที่รัฐตอบมานั้นหากให้คะแนนความสำเร็จสิ่งที่ได้นั้นคิดว่าอยู่ที่ร้อยละ 1 เท่านั้น อยู่ระหว่างดำเนินการร้อยละ 60 และยังไม่ได้ดำเนินการเลยร้อยละ 39 ซึ่งหากถามความพึงพอใจต่อแนวทางการดำเนินการหรือว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการนั้น มองว่ายังไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากเสนออีกอย่างแต่ว่าทำอีกอย่าง เป็นต้น
จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงถึงแนวทาง พร้อมรับข้อเสนอกลับไปเสนอผู้บริหารกระทรวงแรงงานให้ทราบถึงข้อท้วงติงของคณะทำงานวันกรรมกรสากล
รายงานโดย วาสนา ลำดี