เสวนาสิทธิ ความยุติธรรมและกฎหมายด้านแรงงาน : ๑๐ ประเด็นที่ควรแก้ไขกฎหมายแรงงาน

voicelabour

                                                                                                                            ชฤทธิ์  มีสิทธิ์ นักกฎหมาย/ทนายความ

       ท่านทั้งหลายคงได้อ่านข้อคิด ข้อเขียนที่สื่อสารโดยมูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน ในประเด็นการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ของกระทรวงแรงงานไปแล้ว  หลายท่านก็คงเห็นตรงกันกับผู้เขียนว่า  หากจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ตรงกับปัญหาและเข้ากับห้วงเวลาที่สังคมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ  ก็ไม่ควรแก้ไขเพียงเท่าที่กระทรวงแรงงานเสนอ และความจริงแล้วสิทธิด้านแรงงานมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายแรงงานหลายฉบับ การแก้ไขเพียงฉบับเดียว หรือทีละฉบับแยกกันทำ ก็อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้น หรืออาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการพัฒนากฎหมายเพื่อการพัฒนาและคุ้มครองแรงงาน

แต่อย่างไรก็ตามในชั้นนี้ผู้เขียนจะขอหยิบยกและนำเสนอประเด็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน(ที่คาบเกี่ยวกฎหมายแรงงานฉบับอื่นด้วย) ที่ควรแก้ไขปรับปรุง(ปฏิรูป) ๑๐ ประเด็น ดังนี้

๑. การจ้างงานยืดหยุ่น

สภาพปัญหา:

เนื่องจากการจ้างงานรายชั่วโมง ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายรองรับ ในทางปฏิบัติหากมีการจ้างงานดังกล่าว อาจมีปัญหาทางกฎหมายว่านายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันไว้

เกี่ยวกับการจ้างงานระยะสั้นหรือการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนตามที่ตกลงกัน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ ก็กำหนดลักษณะของงาน และเงื่อนเวลาในการจ้างไว้ คือ งานครั้งคราว งานฤดูกาล หรืองานที่มีลักษณะเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานและจ้างกันไม่เกิน ๒ ปีเท่านั้นโดยต้องทำเอกสารการจ้างไว้ด้วย  นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานอีกหลายสาขาของการผลิตและบริการ ที่ควรเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานกันได้อย่างยืดหยุ่น มิใช่เฉพาะที่มาตรา ๑๑๘ บัญญัติไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าวที่เหมาะสมและเป็นธรรมควบคู่ไปด้วย

หากมีการจ้างงานภายใต้หลักการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์แก่การจ้างงาน ทั้งในส่วนลูกจ้าง คนทำงาน และในส่วนธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  เช่น

  • แม่บ้านสามารถทำงานบ้านและดูแลครอบครัว รวมทั้งสามารถทำงานพิเศษในเวลาที่ยืดหยุ่น เพื่อมีรายได้เพิ่มเติม
  • การทำงานในบางสาขาที่มีการจ้างงานหนาแน่นในบางช่วงเวลา เช่น กิจการโรงแรมหรือการท่องเที่ยว
  • ในงานประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทกัน ลูกจ้างสามารถทำงานให้แก่นายจ้างมากกว่า    ๑ ราย

เพียงแต่ต้องจัดระบบการคุ้มครองแรงงานให้เหมาะสมเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานที่คาบเกี่ยวกับนายจ้างทั้ง ๒ ราย เช่น สิทธิในวันหยุดตามประเพณี  ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง เป็นต้น  และอาจต้องพิจารณาเชื่อมโยงกับกฎหมายแรงงานฉบับอื่นด้วย เช่น กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสวัสดิการสังคม เป็นต้น

ข้อเสนอ:

เห็นควรให้มีมาตรการทางกฎหมายรับรองการจ้างงานรายชั่วโมง หรือการจ้างงานตามระยะเวลาที่ตกลงกันที่ยืดหยุ่นกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๘  และให้มีการคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม

๒.สิทธิได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน

สภาพปัญหา:

เนื่องจากตามสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายมิได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีสัญญาจ้างเป็นหนังสือ ดังนั้นจะมีหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามในการจ้างงานในปัจจุบันมีแนวโน้มของการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือมากขึ้น  ในขณะเดียวกันมีกิจการพิเศษหลายกิจการที่กฎหมายกำหนดให้มีการทำเอกสารการจ้างเป็นหนังสือ เช่น งานที่รับไปทำที่บ้าน   อันเป็นความพยายามสร้างเครื่องมือทางกฎหมายใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะใช้แนวปฏิบัติ นโยบาย หรือจรรยาบรรณองค์กร มาเชื่อโยงกับการจ้างงานมากขึ้น แต่นายจ้างมิได้แจ้งหรือเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้แก่ลุกจ้างอย่างทั่วถึง  ดังนั้นการทำให้ลูกจ้างหรือคนทำงานเข้าถึงสิทธิในข้อมูลดังกล่าวนี้  นับว่าเป็นการยกระดับเพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมและการเข้าถึงความยุติธรรมด้านแรงงานมากขึ้น

ข้อเสนอ :

ให้ลูกจ้างหรือคนทำงานมีสิทธิได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานอันมิใช่ข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และคำสั่งของนายจ้างที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ตลอดจน ระเบียบปฏิบัติ  นโยบาย จรรยาบรรณองค์กร ที่เกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงาน หรืออย่างน้อยในกรณีที่ลูกจ้างมีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หากนายจ้างได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่สหภาพแรงงานแล้ว ให้สหภาพแรงงานแจ้งข้อมูลให้ลูกจ้างทราบ

๓.การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานในงานบ้านอันมิได้

มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

สภาพปัญหา :

เนื่องจากกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ (๓) ระบุว่า มิให้ใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ เกือบทั้งหมดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานจึงนำหลักการดังกล่าวไปตรากฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีเหตุผลว่า การจ้างงานดังกล่าวยังไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย แต่ขยายเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่างานบ้านมิใช่งานที่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ โดยใช้คำว่า งานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย  ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการคุ้มครองแรงงาน

ข้อเสนอ:

เห็นควรให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ที่เน้นกิจการหรืองานที่มุ่งแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ และมีแนวคิดว่างานบ้านมิใช่งานที่มุ่งแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ  จึงให้การคุ้มครองสิทธิเพียงเล็กน้อย และควรให้ความหมายเกี่ยวกับการให้คุณค่าของงานบ้านเสียใหม่ โดยอาจจัดให้อยู่ในกลุ่มกิจการพิเศษตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

๔. ความสมดุลระหว่างการจ้างงานกับชีวิตครอบครัวลูกจ้าง

สภาพปัญหา :

     เนื่องจากการจ้างงานมีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของลูกจ้างและครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจหลายส่วนค้นพบว่า หากลูกจ้างมีความวิตกกังวล หรือมีปัญหาครอบครัว ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงานของลูกจ้างและผลประกอบการของธุรกิจ  ดังนั้นธุรกิจบางส่วนเริ่มตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว และได้กำหนดหลักการดังกล่าวไว้ในนโยบาย มาตรการ หรือจรรยาบรรณองค์กร ซึ่งก่อให้เกิดผลดีในภาพรวม

ข้อเสนอ:

เห็นควรนำหลักการดังกล่าวมากำหนดไว้เป็นมาตรการทางกฎหมาย

voicelabour

๕. ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างที่เป็นธรรม

สภาพปัญหา :

เนื่องด้วยการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และไม่สอดคล้องกับหลักการในทางสากล ลูกจ้างที่ทำงานมานานแสนนานจำนวนมาก ยังคงทำงานโดยได้รับค่าจ้างเพียงเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางด้านแรงงานอย่างยิ่ง

ข้อเสนอ:       

เห็นควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้หมายถึง เงินที่นายจ้างหรือผู้จ้างงานจ่ายตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างหรือคนทำงานซึ่งเพิ่งเริ่มทำงาน  มีปัจจัยในการดำรงชีวิตของตนและสมาชิกใน ครอบครัวอีก ๒ คน รวมทั้งให้มีหลักกฎหมายรองรับเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม  โดยให้มีคณะกรรมการตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว

ในประเด็นนี้รัฐบาลอาจต้องวางกลยุทธ์เชิงนโยบาย  เพื่อให้สถาบันทางวิชาการ หรือสถาบันทางนโยบาย มีการศึกษาวิจัยเพื่อหนุนเสริมการตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของศาลแรงงานด้วย

๖. การคุ้มครองลูกจ้างหรือคนทำงานที่เป็นบุคคลกลุ่มพิเศษ

สภาพปัญหา :

เราควรยอมรับความจริงว่า สังคมไทยมีผู้พิการ และผู้สูงอายุจำนวนมาก  และผู้ที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากเป็นพิเศษจำนวนมาก  เช่น

  • ผู้ติดยาเสพติดที่กำลังเริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่ ภายหลังการบำบัดฟื้นฟู
  • ผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจด้วยการทำงาน
  • หญิงที่ต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูครอบครัวโดยลำพัง
  • ผู้ต้องขังที่ต้องขังเป็นเวลานาน เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีงามและมีความสุข รวมทั้งเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เขาเหล่านั้นเผชิญอยู่  ก็คือการมีงานทำโดยได้รับการคุ้มครองและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  กล่าวคือ ได้รับการปฏิบัติอย่างยืดหยุ่นในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ลักษณะและสภาพงานที่มอบหมายให้ทำ อัตราค่าจ้าง เวลาการทำงานและเวลาพัก ความปลอดภัย     อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  รวมทั้งได้รับโอกาสในการดูแลสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

ข้อเสนอ:

เห็นควรให้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างหรือคนทำงานที่เป็นบุคคลกลุ่มพิเศษตามหลักการดังกล่าวข้างต้น

๗. การคุ้มครองแรงงานในกรณีธุรกิจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

สภาพปัญหา :

ในกรณีที่ธุรกิจประสบปัญหา ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้เช่นเดิม  อันเนื่องมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น วัตถุดิบ การผลิต การตลาด การบริหารจัดการและสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น นายจ้างก็จะใช้มาตรการต่าง ๆ นานา แต่มาตรการที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติรองรับไว้แล้ว คือ

  • การสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ ๗๕ (ต้องมิใช่กรณีเหตุสุดวิสัย)
  • กรณีย้ายสถานประกอบการหากลูกจ้างไม่ไปทำงานที่ใหม่ให้สิทธิลูกจ้างลาออกโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย
  • กรณีปรับกระบวนการผลิตหรือบริการและมีการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่แล้วเลิกจ้าง กฎหมายให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มจากค่าชดเชย นั้น

พิจารณาเห็นว่า การตรากฎหมายเป็นไปในลักษณะตั้งรับปัญหา ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมามากมาย มีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  อ้างเหตุไม่จริง หรืออาศัยข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายลูกจ้าง หรือความเดือดร้อนของลูกจ้างและครอบครัวที่ต้องขาดรายได้ในการยังชีพ ใช้อำนาจในทางบริหารจัดการธุรกิจ เกิดการสูญเสียในภาพรวม

ข้อเสนอ:

ควรวางมาตรการทางกฎหมายในเชิงรุก  ให้มีกลไกทางกฎหมายในการกลั่นกรองและตรวจสอบธุรกิจที่อ้างเหตุดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่ามีมูลความจริงหรือไม่ และมีเหตุจำเป็นสมควรที่จะใช้มาตรการดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด  หากพบความจริงว่าธุรกิจไม่สุจริต เหตุที่อ้างไม่จริง หรือไม่มีเหตุสมควรถึงขนาดจะต้องใช้วิธีการดังกล่าว  ก็ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อการคุ้มครองแรงงานและดำเนินคดีทางกฎหมายกับธุรกิจเหล่านั้น

แต่หากเหตุที่อ้างเป็นจริง และมีเหตุสมควรถึงขนาดที่จะต้องใช้มาตรการเช่นว่านั้น และธุรกิจมิได้บกพร่องหรือมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว  กระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรต้องมีมาตรการทางกฎหมายและใช้อำนาจในทางบริหารกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูกิจการ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม การสร้างอาชีพหรือฝึกทักษะอาชีพใหม่ให้แก่ลูกจ้างโดยธุรกิจและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแก่ลูกจ้างที่ต้องตกงาน (กระทรวงแรงงานเคยทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือธุรกิจช่วยธุรกิจตอนเกิดอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๕๔)  และอาศัยกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  และกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการสังคมเข้ามาหนุนเสริม

๘. ความเท่าเทียมกันของนายจ้างและลูกจ้างในการบอกเลิกสัญญาจ้าง

สภาพปัญหา :

เนื่องจากในกรณีการบอกเลิกสัญญาจ้างเพราะคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาหรือทำผิดกฎหมายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงาน (นายจ้างกับลูกจ้าง)และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีบทบัญญัติให้เพียงนายจ้างฝ่ายเดียวมีสิทธิบอกเลิกจ้าง ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจลูกจ้างในการบอกเลิกสัญญาจ้าง ในความเป็นจริงมีหลายกรณีที่นายจ้างกลั่นแกล้งหรือบีบคั้นให้ลูกจ้าง มิให้ทนทำงานต่อไปได้ หรือตัดสินใจลาออกจากงาน ซึ่งทำให้เสียสิทธิตามกฎหมายมากมาย กระทบต่อความมั่นคงในการทำงานและการดำเนินชีวิตของครอบครัว

ดังนั้น เพื่อให้ เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักแห่งความเท่าเทียมกันในการบอกเลิกสัญญาจ้าง  ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำผิดสัญญา(ในสาระสำคัญ)หรือกฎหมาย โดยให้มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหายได้ด้วย

ข้อเสนอ:

        เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ (หรือรวมทั้งกฎหมายแรงงานอื่นที่มีประเด็นเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาจ้าง) ให้มีมาตรการทางกฎหมายรองรับอำนาจของลูกจ้างในการบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายทำผิดสัญญาในสาระสำคัญหรือทำผิดกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  หากเป็นกรณีร้ายแรงก็ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และให้ลูกจ้างมีสิทธิในค่าชดเชยและค่าเสียหายด้วย

๙. กฎกระทรวงฉบับ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ (งานขนส่งทางบก) ซึ่งถือเป็นกิจการพิเศษตามมาตรา ๒๒ นั้นบังคับใช้ได้จริงหรือไม่

สภาพปัญหา :

       เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ยังไม่เคยมีการประเมินผลหรือการติดตามการบังคับใช้กฎหมายและการทบทวน  เพื่อพิจารณาว่ากฎกระทรวงสามารถนำไปปฏิบัติสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ เพียงใด ประกอบกับหลักคิดในการตรากฎกระทรวงตามมาตรา ๒๒ ก็ยังมีถกเถียง ข้อสงสัยและข้อโต้แย้งในทางหลักการ  ว่า การตรากฎกระทรวงตามมาตรา ๒๒ ให้มีการคุ้มครองแรงงานในกิจการพิเศษได้แตกต่างจากระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น มีความหมายอย่างไร เรื่องอื่นใดที่ไม่มีอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ ได้หรือไม่ หรือแตกต่างในทางที่ด้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฯ ได้หรือไม่

อีกประการหนึ่ง สาระสำคัญในกฎกระทรวงฉบับนี้ หลายเรื่อง ไม่อาจนำไปปฏิบัติได้ตามลักษณะและสภาพของงาน กล่าวโดยสรุป มีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวงมาโดยตลอดช้านานแล้ว เช่น

  • ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของงาน และวันหนึ่งต้องไม่เกิน ๘ ชั่วโมง (ข้อบังคับกำหนดไว้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทางปฏิบัติขับรถกันหามรุ่งหามค่ำ เดือนชนเดือน ปีชนปี ติดต่อกันหลายปี)
  • ห้ามลูกจ้างที่ทำหน้าที่ขับรถขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง  และสามารถให้ทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกินวันละ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น ยกเว้น เหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร (หลักคือห้าม แต่นายจ้างก็ใช้วิธีจ่ายเงินรางวัลค่าเที่ยวและเงินรางวัลพิเศษนานาสารพัด ในขณะที่เงินเดือนจะต่ำ หลักความยินยอมก็ไม่เป็นจริง บางรายหากพนักงานขับรถไม่สะดวกทำงานล่วงเวลา ก็จะให้ออกจากงาน) มีการฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเรียกค่าจ้างในชั่วโมงทำงานที่เกินหลายร้อยชั่วโมงต่อปีหลายปีติดต่อกัน ก็ไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหา
  • ให้พนักงานขับรถมีสิทธิพักหนึ่งชั่วโมง หลังจากที่ขับรถมาแล้วไม่เกินสี่ชั่วโมง อันนี้ก็เป็นหลักการทั่วไปที่ใช้กับการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรม ความจริงคือลูกจ้างต้องไปส่งสินค้าในทันเวลาที่ลูกค้าต้องการและตามคำสั่งของนายจ้าง จึงไม่ได้พัก เพราะถ้าพักจะส่งของไม่ทัน ประกอบปัจจัยการจราจรหรือเหตุอื่น ๆ กลายเป็นว่าลูกจ้างก็มีส่วนทำผิดด้วย
  • พนักงานขับรถต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า ๑๐ ชั่วโมง นับแต่เสร็จงานจนกระทั่งเริ่มงานคราวต่อไป มีหลักฐานยืนยันจากการฟ้องคดีในศาลแรงงาน ว่าหลายสถานประกอบการทำผิด       

ข้อเสนอ:

        พิจารณาได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงมุ่งให้การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัย   ของคนทำงาน  ความปลอดภัยสาธารณะ และเพื่อประโยชน์ของการลำเลียงปัจจัยการผลิต อันจำเป็นแก่   เศรษฐกิจในภาพรวม แต่การตรากฎกระทรวงอาจยังขาดการศึกษาข้อมูล การรับฟังความเห็นจากภาคส่วน    ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีแนวทางการตรากฎหมายที่ยืดหยุ่น  จึงควรพิจารณาทนทวนและแก้ไขปรับปรุง   กฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ และตราขึ้นใหม่โดยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

๑๐. การบริหารและบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงแรงงานโดยนายจ้างนิติบุคคลเดียวแต่มีสถานประกอบกิจการที่จดทะเบียนหลายสาขาในหลายจังหวัด  มีสิทธิจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แยกเป็นการเฉพาะในแต่ละจังหวัดได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสิทธิด้านแรงงาน

สภาพปัญหา :

นิติบุคคลเดียวมีสถานประกอบกิจการในจังหวัดเดียว  จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เพียงฉบับเดียว  ต่อมา มีการขยายไปจัดตั้งสถานประกอบการในจังหวัดอื่น ธุรกิจที่มีสถานประกอบการในจังหวัดอื่นอ้างว่า กระทรวงแรงงานให้ธุรกิจมีสิทธิ จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแยกอีกฉบับหนึ่งได้ ทำให้เกิดปัญหา ความไม่เท่าเทียมกันในข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานซึ่งถือสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ เกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างด้วย ในข้อบังคับ ดังกล่าวมีทั้งระเบียบวินัย จรรยาบรรณ และสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง การบริหารของกระทรวง แรงงานดังกล่าว ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างของนิติบุคคลเดียวกันพึงได้รับตามกฎหมาย  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในเรื่องพื้นฐานและทั่วไปสำหรับลูกจ้าง

ข้อเสนอ:

     กระทรวงแรงงานควรบริหารและบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยยึดหลัก ๑ นิติบุคคล ๑ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  ส่วนกรณีที่นายจ้างมีหลายสถานประกอบกิจการในหลายจังหวัด หากนายจ้างจะกำหนดระเบียบหรือสวัสดิการใดที่เป็นการจำเพาะอันเนื่องมาจากสภาพแห่งท้องถิ่นนั้น ก็ให้นายจ้างสามารถจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเฉพาะในส่วนที่เพิ่มเติมและให้ผนวกรวมกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ได้จัดทำไว้ตามกฎหมายแล้ว

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะได้พิจารณาทบทวนการตรากฎหมายตามที่เสนอข้างต้น เพื่อให้ประเทศนี้ได้มีกฎหมายที่สังคมได้รับประโยชน์และประชาชนได้รับความเป็นธรรม