คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงข่าว…เลิกจ้างไม่เป็นธรรม กฎหมาย รัฐ ไม่คุ้มครอง จึงต้องร้องสื่อมวลชน..สังคม กรณี…เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ประธานสหภาพแรงงาน ปล่อยโฮ บอกยังรักงาน ขอให้เชื่อมั่นว่าสหภาพกับบริษัทฯเดินด้วยกันได้ พร้อมช่วยสร้างความเติบโต
วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้จัดแถลงข่าว “เลิกจ้างไม่เป็นธรรม กฎหมาย รัฐ ไม่คุ้มครอง จึงต้องร้องสื่อมวลชน..สังคม กรณี…เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ”
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้แถลงว่า ตามที่สหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการโดยนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ตำแหน่งประธานสหภาพได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ในฐานะองค์กรสมาชิกในประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.00-17.10 น นางอภันตรี เจริญศักดิ์ พนักงานบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอรเนชั่นเนล (ประเทศไทย) ได้ถูกผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และผู้จัดการภาค เรียกเข้าไปพบ และแจ้งผลการสัมภาษณ์ว่า ไม่สามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้แก่นางอภันตรีฯได้ ประกอบกับด้วยเหตุผลการโอนขายกิจการ จึงมีผลกระทบกับตำแหน่งงานของนางอภันตรีฯโดยตำแหน่งงานจะไม่มีในบริษัทฯอีกต่อไป ซึ่งทั้งสองคนไม่สามารถบอกเหตุผลอื่นใดได้ โดยให้นางอภันตรีฯเสนอจำนวนเงินที่ต้องการ เพื่อเสนอแลกกับการลาออกจากบริษัทฯ และให้จบคดีความในศาลฏีกา แต่นางอภันตรีฯ ไม่สามารถตัดสินใจได้ในช่วงเวลานั้น จึงขอเวลาที่จะต้องปรึกษาครอบครัว คณะกรรมการสหภาพ และสมาชิกสหภาพแรงงาน
ซึ่งต่อมาฝ่ายบุคคลขอคำตอบในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 โดยเรียกนางอภันตรีเข้าไปที่บริษัทอีกครั้ง เพื่อขอคำตอบจำนวนเงินที่จะเสนอ แต่นางอภันตรีฯได้ขอโอกาสพูดคุยกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการและผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลก่อน แต่ไม่ได้อนุญาตให้เข้าพบ พร้อมได้มีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าการเลิกจ้างสัญญาจ้าง โดยบริษัทอ้างว่าบริษัทฯ ได้บรรลุข้อตกลงในการโอนตามกิจการร้าน เคเอฟซี จำนวน 250 สาขาของบริษัท ไปยังบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (คิวเอสเอ) โดยเงื่อนไขการโอนสัญญาจ้างในตำแหน่งเดิม คิวเอสเอ จะเป็นผู้พิจารณารับโอนการจ้างโดยวิธีการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 และแจ้งว่าบริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้รับแจ้งจากคิวเอสเอว่า ไม่สามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับลูกจ้างได้และอ้างว่า การโอนขายกิจการดังกล่าวจะไม่มีตำแหน่งของลูกจ้างในบริษัทต่อไป พร้อมกับอ่านหนังสือเลิกจ้างให้นางอภันตรีฟัง พร้อมเสนอเงินค่าชดเชยและบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 21 เดือน เป็นจำนวนเงิน1,055,040.00 บาทหากเซ็นใบลาออก และไม่เรียกร้องใดๆ แต่หากไม่เซ็นเสนอจ่ายตามกฎหมายแรงงานตามอายุงานคือ 10 เดือน และขอให้หยุดการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 และให้คืนอุปกรณ์ทันที แต่หนังสือมีผลเลิกจ้างวันที่ 1 ธันวาคม 2560 นางอภันตรี จึงไม่เซ็น และขอเข้าไปเคลียร์งานพร้อมอำลาพนักงานร้านถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เพราะถือว่าแจ้งกะทันหันมากเกินไปและนางอภันตรีไม่ได้มีความผิดอะไรและไม่มีใครในฝ่ายปฏิบัติการที่ถูกกระทำเช่นนี้ ในผู้จัดการเขตที่มีตำแหน่งเดียวกันกับนางอภันตรี ในเวลาเดียวกัน และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 บริษัทได้โอนเงินเข้าบัญชีให้กับนางอภันตรีฯ จำนวน = 606,790 บาท (คาดว่าเป็นค่าชดเชย และนางอภันตรีได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน) จากเหตุการณ์การถูกเลิกจ้างครั้งนี้ในฐานะที่นางอภันตรี เจริญศักดิ์ อยู่ในระหว่างคำพิพากษาชั้นฏีกา กรณีถูกเลิกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 2554 และขณะนี้อยู่ในช่วงของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง ที่ทางสหภาพยื่นตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560 แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และทางเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นัดเจรจาอีกครั้งที่ 3 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงานไทย (คสรท.)เห็นว่าการที่นางอภันตรี เจริญศักดิ์มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของนางอภันตรีฯ และเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานดังนี้
1.การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการแล้วชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ต้องการให้นางอภันตรีฯทำงานอยู่ต่อไปซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทของนางอภันตรีฯซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานฯ ที่ได้เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการให้แก่พนักงานและสมาชิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพ เกิดข้อวิตกกังวลและหวั่นไหวในเหตุการณ์ครั้งนี้ และนางอภันตรีฯเป็นผู้นำแรงงานสตรี ที่ดูแลในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคให้กับสตรีและเยาวชน ได้มีบทบาทในสังคมให้ยุติความรุนแรงและสร้างเสริมความเสมอภาค ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้พยายามสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้องค์กร ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง(ILO)
2.การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตราห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องฯ”ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจ หน้าที่ ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆหรือเพิกเฉยก็ “ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ”มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)จะพยายามแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และจะประสานความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศและจะสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะทุกรูปแบบเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและร่วมกันแก้ไขประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ตามกติกาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งคาดหวังว่าเจตนารมณ์ของการปกป้องสิทธิของนางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกรณีอื่นๆ จะได้รับการตอบรับที่ดีในการแก้ไขปัญหาจากนายจ้าง จากกระทรวงแรงงานและรัฐบาลดัง“คำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560
นางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ กล่าวว่า เป็นพนักงานบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอรเนชั่นเนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยเริ่มงาน 3 พฤษภาคม 2538 อายุงาน 22.7 ปีแล้ว ปัจจุบัน ตำแหน่ง ผู้จัดการเขต ร้านนวัตกรรมใหม่ (Area Coach of Innovation ) ฝ่ายปฏิบัติการตั้งอยู่เลขที่ 142 อาคาร ทู แปซิฟิค ชั้น 16 ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และมีตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ตามหมายเลขจดทะเบียน กธ 1098 ตั้งแต่ ปี 2554 เป็นต้นมา การเกิดสหภาพแรงงานฟาสฟูดส์นั้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และในหลายประเทศทำได้แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากยากมากจากการที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ด้วยความลำบากแรงกดดัน ด้วยมีปัญหาด้านสวัสดิการตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดกับพนักงานระดับปฏิบัติการ
ร้านจึงได้รวบรวมลายชื่อพนักงานในกรุงเทพปริมณฑลจำนวน 226 คนเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างและสวัสดิการ แต่ถูกกดดันและเลิกจ้างด้วยเหตุผลการใช้เครื่องสื่อสารอิเลคทรอนิคส์ และถูกเลิกจ้างในวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ซึ่งเป็นประเด็นทางด้านกฎหมาย คดีความ จนในที่สุดศาลยืนตามคำสั่ง ครส. สั่งให้นายจ้างรับกลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม หน้าที่เดิม ซึ่งการทำงานตั้งแต่ปี2554 ถึงปี 2559 ไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนเลย สวัสดิการต่างๆก็ไม่ค่อยได้รับ โบนัสก็ไม่มี แต่ก็มีความอดทนกับการที่จะให้ความรู้ด้านกฎหมาย และหาสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งมีการรวมตัวที่เข้แข็งมากที่ภาคใต้ในการรวมตัวของสมาชิก สิ่งที่ได้จากการเรียกร้องคือค่าทำงานล่วงเวลา ที่ไม่ได้รับก็ได้รับ วันลาพักร้อนสามารถทบได้หากไม่ได้ลาในปีที่กำหนดภายในเดือนมีนาคมปีต่อไป รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่นค่าเช่าบ้าน ค่าทำศพ หลายอย่างจากไม่มีสวัสดิการเลยก็ได้เพิ่มขึ้น แม้ยังไม่ได้สมาชิกครบตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
นางอภันตรี กล่าวทั้งน้ำตาว่า ในเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 หลังจากที่ได้หาสมาชิกสหภาพแรงงานได้ร้อยละ 20 ทำให้สหภาพแรงงานสมารถยื่นข้อเรียกร้องได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนด ขอข้าวให้น้องกิน มีการพูดคุยกันแบบทวิภาคีว่า สามารถตกลงได้จาก365 วัน เป็น 107 วัน สหภาพแรงงานพร้อมที่จะยอมรับ แต่ต่อมาก็ตอบกลับมาว่าผู้บริหารไม่ให้ ขอเป็นเหลือแค่วันเสาร์เดือนละ 4 วัน รวมวันนักขัตฤกษ์เป็น 59 วันจาก 107 วันที่คุยกันตอนแรกพอสหภาพแรงงานจะตกลงก็ขอลดลงเหลือเพียง 47 วัน สหภาพฯได้ยื่นข้อเรียกร้องการเจรจาข้อเรียกร้องจึงถูกยืดเยื้อมายาวนาน หลายเดือน ซึ่งข้อเรียกร้องที่ตกลงไม่ได้มีเพียงเรื่องขอข้าวให้น้องกิน เพียงเรื่องเดียว จนเกิดข้อพิพาทที่กระทรวงแรงงาน นัดไกล่เกลี่ยถึง 3 ครั้ง นายจ้างเสนอให้เพียง 1 วันต่อเดือน คือ 12 วันต่อปี จึงไม่สามารถหาข้อยุติได้ และได้เลื่อนไปอีกครั้งวันที่ 26 ธันวาคม 2560 บริษัทฯบอกว่าจะเลิกจ้างคนในออฟฟิต แต่น้องๆและผู้จัดการจะถูกซื้อไป 100 เปอร์เซ็นต์ นั้นหมายความว่าเราผู้จัดการเขตที่ดูแลสาขาเป็นคนเดียวที่เขาบอกว่าไม่ซื้อ ตอนที่ออกมาทำงานโอเปอเรชั่นข้างนอกมีการเลิกจ้างพนักงานออฟฟิตกว่าร้อยคนแล้ว อ้างว่าลกโครงสร้างไม่มีตำแหน่งหน้าที่
“เราเข้าใจว่าวันนี้การเรียกร้องมันยากแต่เราก็อยากให้พี่น้องแรงงานฟาสฟูดส์มีสวัสดิการที่ดีขึ้น ได้รับการดูแล วันนี้แรงงานในห้องแอร์น้องๆต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกมื้อ อยากให้ผู้บริหารก้มลงมามองพวกเราบ้าง ขอแค่ข้าวให้น้องกินเพียงมื้อเดียวถึงกับเลิกจ้างเลยหรือ หาก คิวเอสเอรับเราเข้าทำงาน คิดว่าจะทำให้นโยบายประชารัฐที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของบริษัทมีชื่อเสียง จะทำให้องค์กรของเราเติบโตคู่กับบริษัท เพราะสหภาพแรงงานไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย สหภาพฯเป็นสิ่งที่จะช่วยบริษัทดูแลเรื่องความทุกข์ ความสุข และสามารถที่จะพูดคุยกับพนักงาน 2,000กว่าคนที่มีอยู่ให้เดินต่อช่วยบริษัทได้ ขอร้องอย่ามองสหภาพแรงงานเป็นศัตรู ทำอย่างไรให้บริษัทมองว่าสหภาพแรงงานมาช่วยดูแล การสร้างความสุขให้พนักงานจะทำให้เขาทำงานด้วยความสุข วันนี้ได้เรียกร้องอะไรนอกจากค่าอาหาร ชุดพนักงานเดิมให้ 3 ชุดตอนนี้มีแต่เสื้อไม่มีกางเกง ตอนนี้เรียกร้องได้เพิ่มเป็น 4 ตัวต่อปี การถูกเลิกจ้างวันนี้เป็นการเลิกจ้างแบบซ้ำซาก เป็นการเลิกจ้างแบบไม่สุดจริตใจ ไม่มีความยุติธรรมเป็นการเลือกปฏิบัติ ใจที่ยังรักงานที่ทำมา 22ปีกับ 7 เดือนวันนี้ยังรักอยู่แลคงต้องสู้ในกระบวนการยุติธรรม เราเชื่อมั่นในความยุติธรรมถึงแม้จะกี่ปีก็จะรอ แม้ว่าจะรู้สึกพ่ายแพ้แต่น้องๆอีกกว่าหมื่นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ยอม สุดท้ายเงินเป็นล้านบาทก็ไม่มีความสุขคนเดียวไม่ได้ ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง” นางอภันตรีกล่าว