ในการจัดประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เข้าพบ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 111แล้ว โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบให้สัตยาบันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) โดยมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศจัดทำสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคี และกระทรวงแรงงานจดทะเบียนสัตยาบันสารต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 คือ เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเพื่อส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางาน การเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน
โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติ ที่หมายความถึงการแบ่งแยก การกีดกันหรือการลำเอียงใดๆบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ หรือ สถานภาพทางสังคม และฐานอื่น ๆ ที่ประเทศ ให้สัตยาบันกำหนดเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมใน โอกาสได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้น
รัฐบาลไทยเคยให้สัตยาบันอนุสัญญาหลัก ILO ไปแล้ว 5 ฉบับ และยังไม่ให้สัตยาบันหลักอีก 3 ฉบับ (ดูตารางอนุสัญญาหลัก) โดยขบวนการแรงงานไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหลายชุดพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยได้เป็นข้อเรียกร้องอันดับต้นๆที่เสนอต่อรัฐบาลทุกชุดในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ภายหลังปี 2550 เป็นต้นมา
ตาราง การให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักของไทย (ก่อนปี 2560)
เรื่อง | อนุสัญญาหลัก (CORE LABOUR STANDARDS) | ปีที่ไทยให้สัตยาบัน |
การยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก | ฉบับที่ 138 ว่าด้วยการกำหนดอายุขั้นต่ำ พ.ศ.2516 (1973) | พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) |
ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กประเภทเลวร้ายที่สุด
พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) |
พ.ศ.2543 (ค.ศ.2001) | |
การยกเลิกการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ | ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ
พ.ศ.2473 (ค.ศ.1930) |
พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) |
ฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับ
พ.ศ.2500 (ค.ศ.1957) |
พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) | |
การขจัดการเลือกการปฏิบัติในอาชีพและการจ้างงาน | อนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ
(ในอาชีพและการจ้างงาน) พ.ศ.2494 (ค.ศ.1951) |
พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) |
อนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ
(ในอาชีพและการจ้างงาน) พ.ศ.2501 (ค.ศ.1958) |
ยังไม่ให้สัตยาบัน | |
เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม | อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและ
การคุ้มครองสิทธิการรวมตัวกัน พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) |
ยังไม่ให้สัตยาบัน |
อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและ
การเจรจาต่อรองร่วม พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) |
ยังไม่ให้สัตยาบัน |
ตาราง สมาชิกอาเซียนกับปีที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักของแต่ละประเทศ
ประเทศ (จำนวน) | C.29 | C.87 | C.98 | C.100 | C.111 | C.105 | C.138 | C.182 |
บูรไน (2) | 2554 | 2551 | ||||||
กัมพูชา (8) | 2512 | 2542 | 2542 | 2542 | 2542 | 2542 | 2542 | 2549 |
อินโดนีเซีย (8) | 2493 | 2541 | 2500 | 2501 | 2542 | 2542 | 2542 | 2543 |
ลาว (5) | 2507 | 2551 | 2551 | 2548 | 2548 | |||
มาเลเซีย (5) | 2500 | 2504 | 2540 | 2540 | 2543 | |||
พม่า (2) | 2498 | 2498 | ||||||
ฟิลิปปินส์ (8) | 2548 | 2496 | 2496 | 2503 | 2496 | 2503 | 2541 | 2543 |
สิงคโปร์ (5) | 2508 | 2508 | 2545 | 2548 | 2544 | |||
ไทย (5) | 2512 | 2542 | 2512 | 2547 | 2544 | |||
เวียดนาม (5) | 2550 | 2540 | 2540 | 2546 | 2543 |
ที่มา – องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
เมื่อพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักของประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่าประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักครบทั้ง 8 ฉบับ มี 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
เข้าเป็นภาคีอนุสัญญามากที่สุดจำนวน 3 ฉบับ (ฉบับละ 9 ประเทศ) คือ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 29 ว่าด้วยการห้ามใช้แรงงานบังคับ,ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำการใช้แรงงานเด็ก และฉบับที่ 183 ว่าด้วยการห้ามและดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก
รองลงมา คือ อนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันมี 8 ประเทศ และให้สัตยาบันน้อยที่สุด เพียง 4 ประเทศ คือ อนุสัญญาฉบับที่ 87 คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย พม่า และฟิลิปปินส์ และฉบับที่ 105 คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย (ดูตารางอาเซียนกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาหลัก)
ข้อสังเกต คือ ประเทศร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อ พ.ศ. 2462 และ ห้าประเทศรุ่นก่อตั้งสมาคมอาเซียน (ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2510 มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และหรือ ฉบับที่ 98
(รายงานโดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ)