ผู้หญิงเรียกร้องความเท่าเทียม เสนอลาคลอดเพิ่ม 120 วัน ผู้ชายลาได้ 30 วัน ให้สอดคล้องนโยบายเพิ่มประชากรของรัฐ
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ในวันสตรีสากล ได้มีเครือข่ายผู้หญิงประกอบด้วย กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ประกอบด้วยเครือข่ายขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศ (Wemove) สมาพันแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ โครงการสตรี และเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คณะทำงานวาระชายแดนใต้ เครือข่ายสตรีภาคใต้ เครือข่ายสตรีภาคเหนือ กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายสตรีพิการ และเครือข่ายคนหลากหลายทางเพศ ประมาณ 1,000 กว่าคน ได้เดินรณรงค์เฉลิมฉลองเนื่องในวันสตรีสากล จากด้านหน้าโรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ไปยังห้องประชุมอาคารCAT คอนเวนชั่นฮอล บริศัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ
นางสาวนิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การรวมตัวกันครั้งนี้ของเครือข่ายผู้หญิงก็เพื่อแสดงถึงพลังเนื่องในวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันสำคัญที่ผู้หญิงทั่วโลกออกมาเฉลิมฉลองรณรงค์ร่วมกัน เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานหญิงที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปี โดยความเป็นมา ของวันสตรีสากลนั้นเกิดขึ้น ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ว่ากันว่าต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิดส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมันลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุด งานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงาน ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน แต่อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ “ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง” ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็น “ วันสตรีสากล” และเมื่อระบบทุนมีความเติบโตต้องการผลผลิตที่สูงขึ้น แต่การกดขี่ด้านค่าจ้างที่ยังต่ำทำให้ขบวนผู้หญิงยังออกมาเดินขบวนกันในวันนี้กันทุกปี เพื่อรณรงค์เรียกร้องต่อรัฐ ปีนี้ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องดังนี้
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา
- รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึงมีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน
- รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหญิง-ชาย 50:50 ในคณะกรรมการทุกมิติ
- รัฐต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาเป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดตามประเพณี
ส่วนประเด็นข้อเสนออื่นๆแต่ละกลุ่มต่างประกอบด้วย
- ให้รัฐเพิ่มวันลาคลอดจากเดิม 90 วัน เป็น 120 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม
- รัฐต้องให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมฟรี
- ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุให้กับลูกแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีทุกคน
- ให้รัฐจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอดบุตรระยะเวลาเท่ากับที่แรงงานในระบบได้รับ
- รัฐต้องให้ลูกจ้างเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจชาย ลาไปดูแลภรรยา และบุตรหลังคลอด โดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน
ซึ่งปีนี้ทางเครือข่ายไม่ได้นำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาลโดยตรง เพียงต้องการรณรงค์สื่อสารผ่านสื่อมวลชน และสังคมให้เห็นถึงประเด็นความเดือดร้อน ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการนำเสนอผ่านขบวน และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ซึ่งประเด็นหลักทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไข และยื่นข้อเรียกร้องมาหลายปีแล้ว
นางสาวเรืองรุ่ง วิเชียรพงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงข้อเสนอประเด็นการลาคลอด 90 วันนี้ยังไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงของผู้หญิงในการคลอดบุตรและดูแลบุตรหลังคลอด และค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างได้รับเพียง 45 วัน รับจากประกันสังคม 45 วัน ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทได้มีการให้สิทธิลูกจ้างหญิงลาคลอดได้แล้ว 120 วัน หรือบางบริษัทให้ลาคลอดได้ถึง 180 วันแล้วได้รับค่าจ้างเต็มร้อยจากนายจ้าง ซึ่งตรงนี้ทำให้การเรียกร้องให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 120 วันโดยได้รับค่าจ้างจึงมีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับอนุสัญญาILOฉบับที่ 183 ว่าด้วยความเป็นมารดา รวมถึงข้อเสนอให้ผู้ชายสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาได้อย่างน้อย 30 วัน เนื่องปัจจุบันการคลอดบุตรหรือช่วงท้องแก่ผู้หญิงจะมีร่างกายและจิตรใจอ่อนแอต้องมีการดูแลใกล้ชิด และหลังคลอดบุตรจ้องมีการดูแลสุขภาพทั้งแม่และลูก การวางแผนในการดูแลลูก รวมถึงรัฐบาลเองก็ประกาศส่งเสริมการมีบุตรเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุแล้ว
นายนิพัฒน์ ใจเย็น แรงงานในระบบอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ผู้ชายต้องการเรียกร้องให้ลาเพื่อไปดูแลลูกและภรรยา 30 วันโดยได้รับค่าจ้างนั้น ต้องที่จะลาไปดูแลภรรยาเพราะเป็นช่วงที่ภรรยามีร่างกายที่อ่อนแอช่วงหลังคลอดบุตร ยังต้องไปช่วยดูแลเรื่องเครื่องใช้เตรียมตัวเตรียมของต่างๆให้ภรรยาและลูกเพราะว่าบางวันได้นอนน้อยมาก เนื่องจากลูกกวนเพราะว่าเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวไม่ได้พักผ่อนต้องมีคนช่วยดูแลเขาให้ได้พักผ่อน ซึ่งถามว่าตอนนี้การคลอดบุตรของผู้หญิงลำบากมากต้องจ้างคนช่วยดูแล เพราะสามีไม่สามารถช่วยดูได้และเป็นค่าใช้จ่ายทำให้ค่าจ้างไม่เพียงพอ
นางสาวติ่นติ่น เท แรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า อยากได้สิทธิการลาคลอด 120 วัน ที่ให้ไว้ 90 วันถือว่าน้อยไปยังเลี้ยงลูกได้ไม่เต็มที่พอ เขาก็อยากให้เวลากับลูกมากยิ่งขึ้นเพราะหลังจากนั้นเวลาที่จะให้กับลูกก็จะน้อยลงแล้ว ถ้าได้ 120 วันจะทำให้มีเวลาให้กับลูก เวลาหลังจากคลอดลูกเราก็ต้องเข้าทำงานแล้วเวลาที่จะให้สำหรับลูกก็เท่ากับว่าน้อยลง ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกน้อยลง จึงอยากให้รัฐบาลเพิ่มวันลาให้เป็น 120 วัน
นางถิ่นถิ่นเมี่ย แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ กล่าวว่า ทำงานในประเทศไทย 15 ปีแล้ว ตอนนี้อายุ 55 ปี และมีครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศไทย ลูกก็ยังเรียนอยู่จึงยังไม่อยากเกษียณอายุกลับประเทศ อยากให้มีการจ้างงานแรงงานอายุ 55 ปีทำงานต่อ
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ตัวแทนแรงงานนอกระบบกล่าวถึงข่อเสนอแรงงานนอกระบบว่า ด้วยสภาพปัญหาของแรงงานหญิงนอกระบบ มีทั้งปัญหาการขาดรายได้เมื่อคลอดบุตร เมื่อคลอดแล้วก็ไม่มีเงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงเมื่อคลอดบุตรแล้วไม่ได้พักเลยต้องออกไปหารายได้ จึงขอเสนอต่อรัฐบาลว่า แรงงานหญิงนอกระบบต้องได้รับค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรเท่ากับแรงงานในระบบด้วยในฐานะแรงงานเช่นกัน
(รายงานโดย วาสนา ลำดี)