ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….

ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….

ตอนที่ ๑ ประเด็นที่ ๑ หลักการและเหตุผลไม่สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนไป

๑. การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติทำหน้าที่ในฐานะผู้หุ้นในรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ”เพียงเพื่อให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ”เท่านั้น

ดังนั้นการจัดตั้งบรรษัท หมวด ๒ ส่วนที่ ๑ การจัดตั้ง (มาตรา ๔๔-๔๘) ส่วนที่ ๒ การโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัท (มาตรา ๔๙-๕๑) เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจแทนกระทรวงการคลังเป็นเพียงกระบวนการ “ถ่ายโอนทุนของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ๑๑ แห่ง ซึ่งมีประมาณ ๖ ล้านล้านบาท เปลี่ยนแปลงให้เป็นหุ้น”และเพื่อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ของกระทรวงการคลังในภายหลังตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๘๙ เท่านั้น “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงศักยภาพในเชิงธุรกิจและการขยายกรอบการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งได้” ด้วยที่รัฐวิสาหกิจแต่แห่งมีภารกิจเพื่อประชาชนเป็นการเฉพาะตามกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๗๕ ยังได้กำหนดให้รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เป็นข้อจำกัดเอาไว้ ดังนั้นการกล่าวอ้างตามหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “จะเสริมสร้างประสิทธิภาพเอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน”ไม่สามารถเป็นจริงได้เพราะเป็นไปตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแท้จริงแล้วที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ และแต่ละแห่งก็มีแผนวิสาหกิจของแต่ละแห่งเพื่อเสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)และคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ ดังนั้นการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจสำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายแห่งรัฐและรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ดังนั้นแท้จริงแล้ว”ร่างกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นมาเพียงเพื่อการการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นหุ้นเพื่อการแข่งขัน ซื้อขายหุ้นในเชิงพาณิชย์ในการดำเนินงานของบรรษัทเท่านั้นมิใช่เพื่อการบริการที่ดีแก่ประชาชน แต่อย่างใด”

๒. หลักการที่กล่าวอ้างว่าการดำเนินการภายใต้กฎมายฉบับนี้ให้”คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้”

เป็นที่ทราบกันว่ารัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ด้วยหลักการอันสำคัญในการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ มุ่งที่จะให้เป็นกลไกของรัฐเพื่อสร้างความกินดี อยู่ดี มีความสุขให้แก่ประชาชน ให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเป็นธรรมในสังคม ซึ่งการเกิดขึ้นของรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นภายหลังก็ยังคงยึดหลักการตามแนวทางนี้ แม้ว่าแต่ละแห่งจะมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งที่ต่างกันแต่ที่สุดแล้วก็เพื่อความมั่นคง ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก

แต่หากพิจารณาสาระของ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. “มาตรา ๑๑ ได้กำหนด ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีอำนาจหน้าที่ เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการควบหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนในหุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือ ทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ”  และ “มาตรา ๕๗ ให้คณะกรรมการบรรษัท มีอำนาจหน้าที่ อนุมัติกรอบการโอน การจำหน่ายหุ้นของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่น ผนวกกับบทเฉพาะกาลมาตรา ๘๙ เมื่อกระทรวงการคลังได้โอนหุ้นในรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทแล้ว ได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดได้ จึงไม่สามารถกำหนดชัดเจนได้ว่าจะคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้อย่างไร และที่สำคัญคือ “ร่าง ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….มีได้กำหนดให้ชัดเจนว่าสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจในบรรษัทที่จะให้กระทรวงการคลัง และ บรรษัทถือครองนั้นมีสัดส่วนเท่าใดที่จะให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ซึ่งก็เท่ากับว่าการจะหน่ายจ่ายโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจสามารถกระทำได้โดยเสรีตามกลไกของตลาด ตามต้องการของผู้ที่จะขาย” และก็ใช่เพียงแต่รัฐวิสาหกิจทั้ง ๑๑ แห่งตามรายชื่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ในมาตรา ๔๙ วรรค ๒ เขียนกำหนดไว้อย่างซ่อนเงื่อนว่า

“การโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทรวงการคลังทีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบให้แก่บรรษัทที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง(รัฐวิสาหกิจ ๑๑ แห่ง) ให้กระทำได้ด้วยความเห็นชอบของ คนร.”

แปลความได้ว่า รัฐวิสาหกิจอื่นจากนี้ถ้ากระทรวงการคลัง(โดยรัฐบาล)มีความต้องการให้รัฐวิสาหกิจนั้นไปอยู่ในการกำกับดูแลของบรรษัท ก็เพียงแค่เปลี่ยนองค์การของรัฐให้เป็นบริษัทแล้วเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นก็สามารถโอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ไปได้เลยแค่เพียงอำนาจของ คนร.เท่านั้น ก็เท่ากับว่ารัฐวิสาหกิจอื่นก็มีโอกาสที่ถูกแปรรูปจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจได้เช่นกัน” คนเขียนกฎหมายฉบับนี้ช่างเขียนกฎหมายที่แยบยล ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ได้อย่างน่ากลัว ใช้วิธีการทางเทคนิคในการเขียนกฎหมายเพื่อหลบเร้นสายตาของประชาชน ใช้มิจฉาเจตนาในการเขียนกฎหมาย…แต่ก็หาได้พ้นสายตาประชาชนที่ภักดีต่อประเทศชาติ ประชาชนไม่…ซึ่งจะตีแผ่ให้เห็นในตอนต่อๆไป…

sawit kaewvarn
president
Thai Labour Solidarity Committee (TLSC)