ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….

ทำไมต้องคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….

ตอนที่ ๒

ประเด็นที่ ๒ ไม่สามารถป้องกันการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจของการเมืองได้จริง

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….ฉบับนี้จะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ ๕ คณะ คือ

๑.คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) มาตรา ๖ ประกอบด้วย

๑.) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ (ฝ่ายการเมือง)
๒.) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นรองประธานกรรมการ (ฝ่ายการเมือง)
๓.) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน ๒ คน (ฝ่ายการเมือง) ปลัดกระทรวงการคลังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (ฝ่ายข้าราชการ) และประธานกรรมการบรรษัท (ฝ่ายการเมือง)
๔.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 5 คน (ฝ่ายการเมือง) และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ (ฝ่ายข้าราชการ)

๒.คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน คนร.(คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง)มาตรา ๑๕ ประกอบด้วย

๑)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
๒)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม
๓)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน
๔)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
๕)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ
๖)ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
๗)ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
๘)ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรม
๙)ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย

๓.คณะกรรมการกลั่นกรองรัฐวิสาหกิจเพื่อคัดเลือกบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ(บอร์ด:รัฐวิสาหกิจนอกบรรษัท)ที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง(คนร.แต่งตั้ง)มาตรา ๓๕ ประกอบด้วย

๑)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง หรือ รองปลัดฯ
๒)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ รองเลขาธิการฯ
๓)ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ รองผู้ว่าการฯ
๔)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ หรือ รองเลขาธิการฯ หรือ บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ(สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ)จำนวน ๓ คน
๕)บุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการและธรรมาภิบาลจำนวน ๓ คน
๖)ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้ คนร.แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรการ

๔.คณะกรรมการบรรษัทประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ๙ คน และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(บรรษัท)เป็นกรรมการและเลขานุการ โดย คนร.แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการบรรษัทและรองประธานบรรษัท มาตรา ๕๒

๕.คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการบรรษัท มาตรา ๖๓(คนร.แต่งตั้ง) ประกอบด้วย
๑)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
๒)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม
๓)ผู้เคยดำรงตำแหน่งดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
๔)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร
๕)ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน
๖)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
๗)ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
๘)ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ
๙)ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นเลขานุการ

โดยเจตนาของ คสช.นับตั้งแต่การยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนในการที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจากนั้นในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ก็ได้ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ซึ่งสื่อมวลชนเรียกขานสมญาว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” ซึ่ง คนร.หรือซุปเปอร์บอร์ดมีความแตกต่างจาก คนร.ชุดก่อนๆ คือ ซุปเปอร์บอร์ดมีกลุ่มทุนนักธุรกิจ จำนวน ๖ คนเข้ามาร่วมเป็น คนร.ก็ก่อให้เกิดคำถามว่าที่สุดแล้วความพยายามที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะกลับกลายเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ และวันนี้ ข้อสังเกตความสงสัยก็เป็นไปอย่างที่เห็นตามสาระของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…..

เป้าหมายที่สำคัญของ คสช.ที่ต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคือ “ไม่ให้การเมือง นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงและหาประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ”เมื่อดูในสาระรายมาตราแล้ว ทั้งใน คนร.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการประจำเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา คระกรรมการสรรหากรรมการ(บอร์ด)รัฐวิสาหกิจนอกบรรษัทซึ่งแต่งตั้งโดย คนร. คณะกรรมการบรรษัทจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๙ คน ซึ่ง คนร.แต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการบรรษัทซึ่ง คนร.แต่งตั้งเช่นกัน

จึงกล่าวได้ว่าการปฏิรูปที่ “ไม่ให้การเมือง นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงและหาประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ”ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) และองค์ประกอบของ คณะกรรมการทั้ง ๔ ชุดตาม ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…..ซึ่งจะทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งที่บรรษัทและนอกบรรษัทจะตกอยู่ในมือของ “นักการเมือง ข้าราชการประจำ และกลุ่มทุนนักธุรกิจ”ที่สุดแล้ว การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเพียง “วาทะกรรม”เท่านั้น

Sawit kaewvarn
President
Thai Labour Solidarity Committee(TLSC)