โดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ
หลักการประกันสังคม คือ หลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนทำงานในสังคม
โครงการประกันสังคม (Social Insurance) มีหลักการดังนี้(1)
- งบประมาณที่ใช้มาจากเงินสมทบ หรือเบี้ยประกันซึ่งโดยปกติ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง โดยรัฐมักจะมีส่วนร่วมด้วย
- เป็นการประกันแบบบังคับ
- เงินสมทบจะนำมาตั้งเป็นกองทุนพิเศษ เพื่อจ่ายเป็นผลประโยชน์ทดแทน
- เงินเหลือจ่ายจะถูกนำไปลงทุน เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของกองทุน
- รับประกันว่าจะได้ผลประโยชน์ทดแทน โดยพิจารณาจากประวัติของการจ่ายเงินสมทบ โดยไม่ต้องผ่านการทดสอบฐานะรายได้
- เงินสมทบและประโยชน์ทดแทน มักจะเป็นสัดส่วนกับรายได้
- โปรแกรมกองทุนเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน มักเป็นภาระด้านการเงินของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว
ระบบประกันสังคม เป็นโครงการที่เน้นการคุ้มครองช่วยเหลือระหว่างผู้ทำงานที่มีรายได้ประจำ มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ผู้จ่ายเงินสมทบหรือครอบครัวเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ และต้องบังคับให้ผู้ในวัยทำงานทุกคนในภาคเศรษฐกิจทางการหรือในระบบ (Formal Sector) โดยมีข้อยกเว้นน้อยที่สุด เพื่อให้ฐานสมาชิกกว้างที่สุด เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของหลักการเฉลี่ยสุขเฉลี่ยทุกข์ และกระจายความเสี่ยงทางสังคมร่วมกันเป็นไปได้มั่นคงยั่งยืน ต่างจากโครงการความช่วยเหลือทางสังคมหรือระบบสังคมสงเคราะห์ ที่เน้นช่วยเหลือผู้มีความจำเป็นเดือดร้อนและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด
ความมั่นคงทางสังคมในชีวิตผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าอุบัติเหตุจากการทำงาน (Work Accidents) และโรคเนื่องจากการทำงาน/ประกอบอาชีพ (Occupational Diseases) ถือ เป็นหลักประกันความเสี่ยงภัยที่นายจ้างต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเจ็บป่วยหรือการประสบอันตรายจากการทำงานแก่ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (Workmen’s Compensation Act) โดยถือว่าเงินทดแทนนี้เป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต
การประกันสังคมแรงงานข้ามชาติระหว่างการทำงานและพักอยู่ในต่างประเทศ(2)
ระบบประกันสังคมทำให้เกดความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้ในกรณีที่ว่างาน เจ็บป่วย ชราภาพ ความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น ตั้งครรภ์และดูแลบุตร เจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องการดูแลทางการแพทย์ การสูญเสียผู้สร้างรายได้หลักในครอบครัว และการบาดเจ็บจากการทำงาน ในบางกรณีดังกล่าว ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐฯและ/หรือเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้าง
แรงงานข้ามชาติควรได้รับการปฏิบัติด้านสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานพลเมืองของประเทศ อาจใช้ข้อกำหนดต่างๆในแบบเดียวกันกับที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานพลเมืองของประเทศ เช่น ข้อกำหนดในการเป็นผู้พำนักอยู่ภายในประเทศ อนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้เฉพาะในกรณีซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นจ่ายโดยใช้เงินกองทุนของรัฐและสิทธิประโยชน์ ซึ่งจ่ายให้กับบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดสำหรับเงินบำเหน็จบำนาญปกติ
หากแรงงานข้ามชาติหรือครอบครัวออกจากประเทศที่ทำงานอยู่ ก็ไม่ควรที่จะเสียสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ในประเทศบ้านเกิด สิทธิประโยชน์เหล่านี้ควรติดตามแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะพำนักอยู่ในประเทศใดก็ตาม แต่จะให้เป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อประเทศต่างๆร่วมปรับระบบสวัสดิการสังคมของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO
แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งไม่สามารถจดทะเบียนได้ ควรสามารถขอรับสิทธิระโยชน์ทางประกันสังคมได้จากการทำงานในอดีตภายใต้เงื่อนไขเดียวกับแรงงานพลเมืองของประเทศ
อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 143 ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายในสภาพมิชอบ และการส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมกัน และการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) มาตรา 9 (1) ระบุชัดเจนว่า
“โดยปราศจากอคติต่อมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการขนย้ายผู้เลื่อนย้ายถิ่นเพื่อการทำงานโดยการประกันว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาในดินแดนแห่งชาติ และได้รับการรับเข้าทำงานอย่างสอดคล้องตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียมกันสำหรับตัวคนงานเองและครอบครัวของคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิที่เกิดจากการทำงานที่ผ่านมาในอดีต ในเรื่องของค่าตอบแทน ประกันสังคม และประโยชน์ทดแทนอื่นในกรณีที่ยังไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเหล่านี้ และเมื่อสถานภาพของเขายังไม่สามารถแปลงสภาพให้เป็นปกติให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
สรุป คือ (1) คนงานข้ามชาติและครอบครัว ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ทุกอย่างที่เกิดจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานพลเมืองของประเทศ ถ้าได้เข้าทำงานอย่างสอดคล้องกับกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(2) แรงงานข้ามชาติมีข้อยกเว้นสำหรับสิทธิประโยชน์ที่จ่ายโดยใช้เงินกองทุนของรัฐบาล และไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดกรณีรับเงินบำเหน็จบำนาญ
กิจการและลูกจ้าง (ทั้งไทยและต่างชาติ)ที่ไม่อยู่ในบังคับของระบบการประกันสังคมตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกา
หมายเหตุ: บุคคลใดที่มิใช่ลูกจ้าง หรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายประกันสังคม อาจสมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558
ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2558 มีจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนต่างชาติขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมทั้งหมด 499,368 คน (ประมาณ 1 แสนคน หรือร้อยละ 20 อยู่ในจ.สมุทรสาคร) ประกอบด้วย
สัญชาติเมียนมาร์ 312,028 คน
กัมพูชา 86,551 คน
ลาว 11,983 คน
เวียดนาม 509 คน
อื่นๆ 88,297 คน
ขณะที่ผู้ประกันตนโดยบังคับ ตามมาตรา 33 ณ ธันวาคม 2558 ทั้งประเทศจำนวน 10,391,761 คน (สถิติงานประกันสังคม 2558:น.5) เพราะฉะนั้นผู้ประกันตนต่างชาติ คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของทั้งประเทศ และมีแรงงานข้ามชาติเข้าถึงประกันสังคมไม่เกินครึ่งของทั้งหมดที่มีกว่าล้านคน
สำนักงานประกันสังคม แบ่งแรงงานข้ามชาติที่ได้รับความคุ้มครองเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เข้ามาทำงานตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน,แรงงานมีฝีมือ หรือเข้ามาตามข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาล (MOU) ต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
- แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองแต่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว มีหนังสือเดินทางชั่วคราว (Terporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certicated of identity) และใบอนุญาตทำงาน (Work permit) สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
- แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทำงานชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับ ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
หากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ต้องมีผู้แจ้งการประสบอันตรายต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อดำเนินการให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติโดยตรงเป็นจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำงานได้รับ
…. เหลียวหลังแลหน้า … สู่อนาคตการเลือกปฏิบัติ ?
ในช่วงกลางปี 2555นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันติบาต แห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศพม่า(NLD) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเข้าพบนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพบปะชาวพม่าจำนวนมาก ที่ทำงานในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.)มีมติตั้งอนุกรรมการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว และนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดรกระทรวงแรงงาน ก็ได้กล่าวว่า จะศึกษารูปแบบการจัดสวัสดิการด้านประกันสังคม จะดูความเหมาะสมว่า แรงงานต่างด้าวควรใช้สิทธิประโยชน์กรณีใดบ้างจาก 7 กรณี คาดว่า 2 เดือนจะได้ข้อสรุป (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,1 มิถุนายน 2555,น.16) แต่ต่อมาก็เงียบหายไป เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล/รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงบ่อยเกินไป และมีนโยบายอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่าประกันสังคม
ส.ส.เรวัต อารีรอบ และคณะได้เสนอร่างกฎหมายประกันสังคม และได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกับร่างกฎหมายฉบับรัฐบาล โดยร่างกฎหมายของส.ส.เรวัติ อารีรอบกับคณะ ได้เพิ่มมาตรา 33/1 เพื่อเตรียมแบ่งแยกเลือกปฏิบัติด้านอัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 บทบัญญัติมาตรา 33/1 มีดังนี้
“ให้บุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ปรากฏสัญชาติประเทศต้นทาง และมีนายจ้างผู้ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ
ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง เมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ ประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนวรรคหนึ่งจะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้พิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน และอาจกำหนดเงินบำเหน็จสะสมในการทำงานที่คืนให้เมื่อเดินทางกลับถิ่นฐานของประเทศต้นทางทุกครั้ง เป็นสิทธิประโยชน์ระยะสั้น”
ซึ่งร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คสช. และจะมีผลบังคับใช้ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ได้เห็นชอบเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 77 ทวิวรรคสาม เพื่อให้ผู้ประกันตนต่างชาติมีโอกาสเลือกรับบำเหน็จดังนี้
“ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนหรือไม่ก็ตาม และประสงค์ที่จะไม่พำนักอยู่ในประเทศไทย ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”
เมื่อเดือนกรกฎาคมคม 2558 รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (นายโกวิท สัจจวิเศษ)ให้ข่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะว่า
“คณะทำงานของสำนักงานประกันสังคมซึ่งตนเป็นประธานอยู่ ได้ศึกษาจัดทำระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ โดยเทียบเคียงกับประเทศอื่นทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติกับกับแรงงานไทยมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้บางสิทธิประโยชน์อาจไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เช่น สิทธิกรณีว่างงานที่เกี่ยวข้องกับกรมการจัดหางาน ซึ่งแรงงานข้ามชาติต้องกลับประเทศภายหลังครบกำหนดตามบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถรับสิทธิว่างงานได้ เนื่องจากไม่มีงาน ไม่มีนายจ้างก็ต้องกลับประเทศเมื่อไม่ได้รับ ก็อาจตัดเงินสมทบในส่วนนี้
กรณีชราภาพ จะให้เป็นเงินก้อนแก่แรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติอาจไม่ได้กลับมาทำงานในไทยอีก
กรณีคลอดบุตร และการรักษาพยาบาล จะศึกษาว่ามีแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติใช้สิทธิจำนวนเท่าไร รวมถึงจำนวนเงินที่เบิกจ่ายออกไปเท่าไร ซึ่งเห็นว่ากองทุนประกันสังคม ควรแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน
จากการศึกษาเบื้องต้น ประเทศอื่นไม่ได้ให้สิทธิประกันสังคมแก่แรงงานข้ามชาติในเรื่องคลอดบุตรและว่างงาน ขณะที่ได้เริ่มร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติบางส่วนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อพิจารณา”
บทสรุป คือ
มีแนวโน้มว่า รัฐจะจัดระบบประกันสังคมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ดังนี้
ยกเว้นเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตร
การรักษาพยาบาลและกรณีคลอดบุตร ให้ไปใช้บัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ต้องจ่ายเงินประกันกับกระทรวงสาธารณสุข และจ่ายค่าบริการรายครั้งต่อหน่วยบริการ
โดยอ้างถึง เงื่อนไขรูปแบบการทำงาน-ระยะเวลาการทำงานที่ไม่เหมือนกับแรงงานไทย หลายประเทศไม่ให้สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรและว่างงานเหมือนประเทศไทย และเพื่อความคล่องตัวในบริหารงาน
ขณะที่พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เป็นครั้งแรกที่ได้แก้ไขให้ผู้ประกันตนไม่มีสัญชาติไทยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี ตามกฎกระทรวงที่บังคับใช้เมื่อกลางเดือนมกราคม 2560 ดังนี้
สาระสำคัญ
กฎกระทรวงการจ่ายบำเหน็จชราภาพผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.2560
ใช้บังคับตั้งแต่ 17 มกราคม 2560
ที่มา: พระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่ 4)พ.ศ.2558 มาตรา 77 ทวิวรรคสามบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายบำเหน็จชราภาพให้ผู้ประกันตนไม่มีสัญญาติไทยไม่ว่า จะมีอายุครบ 55 ปีหรือไม่
ประเด็นสำคัญ คือ
- ต้องเป็นผู้ประกันตนของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทยแล้ว
- ต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เช่น ถูกเลิกจ้าง ขอลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง
- แสดงความไม่ประสงค์ จะไม่พำนักในไทยต่อไป พร้อมเอกสารหรือหลักฐานที่กฎกระทรวงกำหนด
- เงินบำเหน็จที่จะได้รับ เหมือนผู้ประกันตนไทยทั่วไป คือ
4.1 ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้เงินบำเหน็จเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย
4.2 ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้เงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย พร้อมผลตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
ข้อสังเกต คือ
(1) กฎกระทรวงฯฉบับนี้ น่าจะออกมาไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ทวิวรรคสาม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เพราะเพิ่มเติมเงื่อนไขว่า “ต้องเป็นผู้ประกันตนของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทยแล้ว”
(2) แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ถ้ารัฐบาล
พม่าไม่ทำความตกลงกับรัฐบาลไทยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ อาจทำให้ผู้ประกันตนชาวพม่าที่ในไทย ไม่ได้เงินบำเหน็จชราภาพได้
จับตา … สู่การเตรียมเลือกปฏิบัติ ?
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศพ.ศ. 2559
หมวดว่าด้วยการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ ในร่างพระราชกำหนดดังกล่าวให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ขึ้นใหม่ สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่มีการจ้างงานและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 (เช่น อาจกำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนต่างชาติจ่ายเงินสมทบสำหรับประโยชน์ทดแทนบางกรณี โดยรัฐบาลไม่จ่ายสมทบ, อาจกำหนดให้นายจ้างและผู้ประกันตนต่างชาติไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ และรับสิทธิประโยชน์บางกรณีแตกต่างจากผู้ประกันตนสัญชาติไทย) เป็นต้น
—————————————————
(1) องค์การแรงงานระหว่างประเทศเจนีวา หนังสือ “ความมั่นคงทางสังคม คู่มือการศึกษาสำหรับผู้ใช้แรงงาน” (ภาษาไทย) ม.ป.ป. น.5
(2) สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ แนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในเอเชียและแปรซิฟิก,กรุงเทพ 2551: คัดจากน.37