คสรท.แถลงค้านค่าจ้างลอยตัว เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง ขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561 ไม่เห็นด้วยกับค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน วันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณพ์แรงงานไทย
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคสรท.แถลงว่า สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเนื่องในวันกรรมกรสากลปี พ.ศ.2560 มีจำนวน 10 ข้อ การเสนอให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งใน 10 ข้อที่ยื่นไปซึ่งมีสาระก็คือ
1.) รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
เหตุผล : ที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างก็เน้นแต่คำว่า “ขั้นต่ำ”แต่การปรับค่าจ้างไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควรค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลด้วยข้ออ้างเสมอว่านักลงทุนจะหนี จะย้ายฐานการผลิต รัฐบาลให้ความสำคัญของนักลงทุนมากกว่าคุณภาพชีวิตของลูกจ้างซึ่งส่วนมากยังคงได้รับค่าจ้างที่ไม่พอต่อการดำรงชีพ ทำให้คนงานไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างคุณค่าให้ชีวิตที่ ยากจน เป็นหนี้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการบริโภคและภาคการผลิตและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมากกว่าความเป็นจริงทางสังคม แท้จริงแล้วประมาณร้อยละ 60 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า GDP มาจากคนงานและชนชั้นล่าง
2) ให้กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
เหตุผล : ค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มประกาศใช้ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2516 ซึ่งหลักการเป็นไปตามนิยามที่ ILO ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก ๒ คนโดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 12 บาทแต่ในปี พ.ศ.2518 นิยามค่าจ้างขั้นต่ำก็เปลี่ยนไปเหลือเพียงเลี้ยงดูคนทำงานเพียงคนเดียว และที่เลวร้ายกว่านั้นในปี 2537 รัฐบาลได้ประกาศให้ค่าจ้างลอยตัว โดยการปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ซึ่งทำให้ราคาค่าจ้างมีความต่างกันอย่างมากถึง 32 ราคา ในปี 2553 จังหวัดที่มีค่าจ้างสูงสุดเปรียบเทียบกับค่าจ้างต่ำสุดห่างกันถึง 62  บาท (221 – 159) ซึ่งจากความไม่เข้าใจ มองระบบเศรษฐกิจแบบคับแคบ ไม่สนใจโครงสร้างทางสังคมของนักการเมือง นักลงทุน และข้าราชการ ความต่างของค่าจ้างเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นจนทำให้ประเทศไทยติดลำดับต้นๆของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สามารถแก้ได้จนกระทั่งปัจจุบัน และการทำให้ค่าจ้างต่างกันก็จะทำให้คนงานที่อยู่ในเขตค่าจ้างต่ำก็อพยพเข้าเขตค่าจ้างสูงก่อให้เกิดการกระจุกตัวแออัด และทำให้ชนบทภูมิลำเนาขาดแรงงาน ขาดความสัมพันธ์ต่อกันในสังคม สังคมชนบทล่มสลาย ที่ดินที่นาว่างเปล่าไร้เกษตรกรรุ่นหลังสืบทอดจนเกิดการยึดครองที่ดินของกลุ่มทุนผ่านการซื้อขายถูกๆ ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ชอบธรรม
3) กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
เหตุผล : โครงสร้างค่าจ้างและการปรับค่าจ้างทุกปีในเหตุผลและราคาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องมารอกังวลกับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ การจับจ่ายซื้อขายด้วยกำลังซื้อก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยที่เกือบทั้งหมดทั้งการลงทุนและส่งออกยังคงพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ยังมีความผันผวนสูงจากเงื่อนไขปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา การเน้นกำลังซื้อ กำลังผลิต หรือการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ มีความสำคัญยิ่งต่อการวางระบบโครงสร้างค่าจ้าง และการปรับค่าจ้างรายปีโดยมองบริบทรอบด้านอย่างเข้าใจ ความเหลื่อมล้ำที่พยายามควานหาทางแก้ไขก็จะค่อยๆหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานยังคงพยายามที่จะดำเนินการปรับค่าจ้างตามกรอบความคิดเดิม คือปล่อยค่าจ้างลอยตัวในแต่ละจังหวัดให้ดำเนินการได้เอง และเพิ่มสูตรการคิดให้ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งในอนาคตค่าจ้างอาจมีถึง 77 ราคา ไม่เกิดผลดีต่อระบบโครงสร้างค่าจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น จากข้อเสนอและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงแถลงจุดยืนต่อสื่อมวลชนและสังคมว่าทั้ง 2 องค์กร ยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์เดิมคือ
 
        “ รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี ”
 
“และไม่เห็นด้วยกับการให้ค่าจ้างลอยตัวและสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ส่วนการปรับค่าจ้างในอัตราเท่าใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจาหาเหตุผลกันโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่มิใช่เพียงแค่คณะกรรมการค่าจ้างกลางเพียงอย่างเดียว และให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดโดยให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศเพียงชุดเดียว มีองค์ประกอบคณะกรรมการที่หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่สำคัญด้วยสภาวะเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลได้มีการให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนงานและประชาชน เช่น ก๊าซ น้ำมัน และอื่นๆจึงควรที่จะต้องปรับค่าจ้างในปี 2561 ตามหลักการและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นพร้อมกับควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ให้ขึ้นราคาตามไปด้วย