ขยายอายุการทำงานและฐานค่าจ้าง กับ อนาคตบำนาญผู้ประกันตน ?

ขยายอายุการทำงานและฐานค่าจ้าง กับ อนาคตบำนาญผู้ประกันตน ?

โดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

กล่าวนำ

“ปัจจุบันกว่า 94% ของประเทศทั่วโลก กำหนดอายุรับบำนาญขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 60 ปี ส่วนประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้กำหนดอายุเกษียณอยู่ระหว่าง 60-67 ปี ซึ่งความแตกต่างของอายุเกษียณระหว่างประเทศสมาชิกมีแนวโน้มลดลง การปรับเพิ่มอายุเกษียณของประเทศเหล่านี้มักทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย อายุเกษียณอยู่ในช่วง 55-60 ปี

ปัจจัยที่มีผลต่อการออมเพื่อให้มีเงินบำนาญเพียงต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณได้แก่จำนวนปีการทำงาน ฐานค่าจ้าง และอัตราเงินสมทบ ซึ่ง 2 ปัจจัยแรกจะมีผลโดยตรงต่อการคำนวณเงินบำนาญรายเดือนของลูกจ้าง ส่วนอัตราเงินสมทบจะมีผลต่อการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในอนาคต

เนื่องจากการจัดเก็บเงินสมทบกรณีชราภาพเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ดังนั้นในช่วงปี 2542-2556 ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุยังไม่สามารถรับเงินบำนาญได้ เนื่องจากระยะเวลาจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 15 ปีที่กฎหมายกำหนด จึงได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นบำเหน็จตามจำนวนสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนพร้อมดอกผล

สำนักงานประกันสังคม เริ่มดำเนินการจ่ายบำนาญครั้งแรกในปี 2557 จำนวนเงินบำนาญที่ผู้ประกันตนได้รับในช่วงแรกระหว่าง 2,000-3,000 บาทต่อเดือนต่อคน เนื่องจากมีระยะเวลาการออมเงินได้เพียงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดสำหรับผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี ได้สิทธิรับสิทธิบำนาญ แต่ยังคงทำงานต่อ จะมีจำนวนปีการทำงานเพื่อนำส่งเงินสมทบได้มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนปีการส่งเงินสมทบ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวณเงินบำนาญเพิ่มขึ้น และเงินบำนาญที่จะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

การขยายอายุการทำงานจาก 55 ปีเป็น 60 ปีเพื่อสิทธิการรับบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีระยะเวลาการทำงานนานขึ้น มีระยะเวลาการออมเงินมากขึ้น ส่งผลให้เมื่อเกษียณอายุออกจากงาน ย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำนาญสูงขึ้น

อีกทั้งเป็นการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้ ตลอดจนเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยได้ทางหนึ่ง”*

ข้อสังเกต คือ อายุ 55 ปีตามกฎหมายประกันสังคม คือ อายุเริ่มเกิดสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพของลูกจ้างภาคเอกชนไม่ใช่อายุเกษียณ เพราะลูกจ้างไม่ต้องแสดงเจตนารับบำเหน็จ หรือบำนาญ เมื่ออายุครบ 55 ปีแล้วถ้านายจ้างยังให้ทำงานและจ่ายค่าจ้างต่อไป

นายจ้างภาคเอกชนจำนวนมาก กำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่เกิน 55 ปี หรืออาจไม่กำหนดเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ เพื่อให้ลูกจ้างทำงานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใครทำไม่ไหวก็ลาออกไปเอง เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ขณะที่บางประเภทลักษณะงานและปัญหาสุขภาวะสะสมของลูกจ้าง บางรายอาจไม่พร้อมหรือไม่ต้องการทำงานต่อเนื่องจนถึง หรือเกินอายุ 55 ปี?

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2560 นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล) ได้สั่งให้สปส.แก้ไขกฎหมายประกันสังคมขยายเวลาการรับเงินชราภาพ (บำเหน็จ หรือ บำนาญ) ของผู้ประกันตนจาก 55 ปีเป็น 60 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตและรองรับสังคมสูงอายุ ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีในอนาคต โดยจะมีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งในระยะแรกอาจให้ผู้ประกันตนที่มีอายุใกล้ 55 ปีเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญได้

สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ที่ได้เพิ่มเติม มาตรา118/1 สรุปความว่า

  1. การเกษียณอายุตามที่นายจ้างกำหนดไว้ หรือนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันไว้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วย
  2. กรณีนายจ้างมิได้กำหนดอายุเกษียณไว้ หรือนายจ้างกับลูกจ้างไม่ได้ตกลงไว้หรือกำหนดอายุเกษียณเกิน 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุต่อนายจ้างและมีผลเมื่อครบ 30 วันนับแต่วันแสดงเจตนา โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

เมื่อมีข่าวจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคมขยายอายุ 55 ปีรับประโยชน์ทดแทนชราภาพเป็น 60 ปี ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากไม่พอใจ เพราะจะกระทบสิทธิผู้ประกันตนจำนวนมากที่รอคอยรับบำเหน็จ หรือ บำนาญเพราะมีอายุใกล้ครบ 55 ปี โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2560 ขณะที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน (ม.ล.ปุณฑริก สมิติ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ทำหนังสือคัดค้านผ่านประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560

สรุปเหตุผล คัดค้านการขยายอายุรับเงินชราภาพจาก 55 ปีเป็น 60 ปี ดังนี้

  1. ถือเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนที่รู้มาตั้งแต่วันเข้าสู่ระบบประกันสังคมว่าต้องได้รับเงินชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี ส่วนจะทำงานต่อไปถึงอาย 60 ปีหรือไม่ ควรเป็นเรื่องนายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือ แก้กฎหมายให้เกษียณอายุ 60 ปี
  2. สปส.ขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ และขาดการวางแผนที่ดี เพราะย่อมรู้มานานว่า รายรับรายจ่ายกรณีชราภาพจะเป็นอย่างไร
  3. ควรปฏิรูปโครงสร้างบริหารประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ และแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้รัฐบาลจ่ายสมทบเท่ากับนายจ้างและลูกจ้าง เร่งให้รัฐบาลชำระเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบและปรับขึ้นฐานค่าจ้างต่ำสุด และสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ

ค้านสปส.เก็บเงินสมทบเพิ่ม กับความเข้าใจที่สวนทาง?

เมื่อตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้แถลงข่าวว่าเตรียมจะขยายฐานค่าจ้างผู้ประกันตนจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท/เดือน ทำให้ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน จากเดิมไม่เกิน 750 บาท/เดือน เกิดกระแสการคัดค้านจากองค์การแรงงานนำไปสู่นายกรัฐมนตรีต้องออกมาปรามว่า “จะยังไม่มีการเก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม เพราะต้องทำความเข้าใจก่อน”

ท่าทีของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) สรุปได้ว่า

1.การเพิ่มเงินสมทบไม่ใช่ทางออก เป็นการผลักภาระให้ผู้ประกันตนและนายจ้าง

2.ปัญหาหลัก คือ รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 เหมือนผู้ประกันตนและนายจ้าง แต่จ่ายเพียงร้อยละ 2.75  และรัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบสะสมรวมกว่า 5 หมื่นกว่าล้านบาท

3.สปส.ต้องมีหลักการปฏิรูปอย่างแท้จริง ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมอย่างแท้จริง

4.รัฐบาลควรดำเนินการให้มีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม เพราะคณะกรรมการประกันสังคมชุดที่แต่งตั้งโดยมาตรา44 หมดวาระลงในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่ 4) พ. ศ. 2558 ให้ได้ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง จะยึดโยงผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงให้มีส่วนร่วมตรวจสอบ กำหนดนโยบายการบริหารประกันสังคมตามความต้องการของสมาชิกกองทุนได้ชัดเจน

นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสปส.และ น.ส.อำพันธ์ ธุรวิทย์ โฆษกสปส.ได้ชี้แจงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสปส.จะขยายเพดานฐานค่าจ้างเพิ่มเงินสมทบสรุปได้ว่า

1.การเพิ่มเงินสมทบ มาจากการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 5 ครั้ง เมื่อปี2559 พบว่าผู้ประกันตนร้อยละ 81 เห็นด้วยกับการเพิ่มการจ่ายเงินสมทบจากการคิดฐานเงินเดือนใหม่จาก 15,000 บาทต่อเดือนเป็น 20,000 บาทต่อเดือน และอีกร้อยละ 77 แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซค์สำนักงานประกันสังคมเห็นด้วยเช่นกัน ขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ (มติชน,23 ต.ค.60:น.9)

2.รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน คำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพิ่มฐานค่าจ้างเก็บเงินสมทบเพิ่มเพราะกองทุนประกันสังคมไม่มั่นคง กำลังถังแตก แต่กองทุนยังมีความมั่นคงเห็นได้จากมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 41,306 ล้านบาท สถานะกองทุน 30 กันยายน 2560 มีเงินลงทุนรวมถึง 1.7 ล้านล้านบาท  ไม่มีปัญหาการเงินอย่างที่บางกลุ่มเข้าใจ

3.เจตนารมณ์ที่เก็บเงินสมทบเพิ่มนั้น เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่เห็นชัดเจน คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ปัจจุบันจะรับที่ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือนสมทบสูงสุดคือ 15,000 บาทจะได้เพียง 7,500 บาทตลอดชีวิต แต่เมื่อปรับเพิ่มฐานเงินเดือนเป็น 20,000 บาท จะได้เงินสมทบ 10,000 บาทตลอดชีวิต,กรณีชราภาพ ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นจากการเก็บเงินสมทบ ลองคิดว่ารับเงินบำนาญชราภาพ 5 ปีภายหลังเกษียณก็คุ้มกับที่ส่งเงินเข้ามาแล้ว

4.ยืนยันว่า กรณีรัฐบาลติดหนี้จ่ายเงินสมทบให้สปส.นั้น เป็นการติดหนี้ต่อเนื่องมาหลายปีของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2560 นั้น รัฐบาลปัจจุบันไม่เคยค้างจ่ายเงินสมทบของใหม่เลย แต่ได้ทยอยชดใช้หนี้เดิมไปด้วย

ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายนพ. ศ. 2560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลเผยผลสำรวจเรื่อง “ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่” ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้ประกันตนจำนวน 1,251 ตัวอย่างในวันที่ 3-4 พฤศจิกายนพบว่า เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนร้อยละ 60.83 , มาตรา 40 จำนวนร้อยละ 21.4 2 และมาตรา 39 ร้อยละ 17.75 โดยมีร้อยละ 50.84 ระบุว่ารับรู้เกี่ยวกับการเพิ่มอัตราเรียกเก็บเงินประกันสังคมแบบเหมาจ่ายของสปส. และร้อยละ 49.16 ตอบว่า ไม่เคยรู้เรื่องดังกล่าว โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57 ตอบว่าไม่เห็นด้วยที่จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นตามฐานเงินเดือน เพราะไม่อยากจ่ายเพิ่ม

▪เป็นเรื่องปกติ ผู้ตอบจำนวนมากไม่เห็นด้วยการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นตามฐานเงินเดือนถ้าไม่เข้าใจสาเหตุและผลประโยชน์ที่จะได้เพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร? ทั้งที่ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนไม่ได้จ่ายเงินสมทบเพิ่ม คงเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยค่าครองชีพฝืดเคืองเพิ่มขึ้นทุกวันทำให้ผู้ประกันตนจำนวนมากที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม

กรณีชราภาพ ตามกฎหมายประกันสังคม

นายจ้าง และผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท กรณีผู้ประกันตนม.33 และฐานค่าจ้าง 4,800 บาทอัตราเดียวสำหรับผู้ประกันตน ม.39 โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ คือ อายุครบ 55 ปีและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (เช่น ถูกเลิกจ้าง,ลาออกหรือเกษียณอายุ)

ยกเว้นผู้ประกันตนอายุไม่ครบ 55 ปี จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จเมื่อมีคำวินิจฉัยให้เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตายก่อนอายุครบ 55 ปี

สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ แบ่งเป็น

(1) เงินบำเหน็จ (เงินก้อนครั้งเดียว)

1.1 ส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน –ได้รับเงินบำเหน็จในส่วนที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบ

1.2 ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป –ได้เงินบำเหน็จในส่วนเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนรวมผลประโยชน์ตอบแทนตามอัตราที่สำนักงานกำหนดแต่ละปี

1.3 ทายาทได้รับเงินบำเหน็จสิบเท่าของจำนวนเงินบำนาญชราภาพ ที่ผู้ประกันตนได้รับคราวสุดท้ายก่อนตาย – เมื่อผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญ

1.4 ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย – มีสิทธิได้รับบำเหน็จ ไม่ว่าจะมีอายุครบ 55 ปีหรือไม่ โดยต้องแสดงความประสงค์จะไม่พำนักในประเทศไทยและต้องเป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทย

(2) เงินบำนาญ (เงินเลี้ยงชีพรายเดือน) กรณีส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ โดยไม่มีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ เพราะเจตนารมณ์กฎหมายมุ่งคุ้มครองหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุภายหลังเกษียณหรือพ้นวัยทำงานไปตลอดชีวิตโดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว

จำนวนเงินบำนาญ=ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นประกันตนสิ้นสุดลง เช่น ผู้ประกันตนมีค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 15,000 บาท ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับบำนาญเท่ากับ 15,000×20%=3,000 บาท/เดือน (เพิ่มอีก 1.5 % ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน)

ความสัมพันธ์กับสิทธิประโยชน์อื่น

(1) ผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ ยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเหมือนประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

(2) ผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับการคุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย จากประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน หลังจากนั้นต้องไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“ต้นปี 2557 เป็นปีแรกที่เริ่มจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุเกินอายุ 55 ปี ซึ่งสปส.ประมาณการว่าจะมีผู้ประกันตนมาขอรับทั้งบำเหน็จบำนาญกว่า 1 แสน 3 หมื่นคน ต้องจ่ายเงินกองทุนออกไปกว่า 4.7 พันล้านบาทและภายในปี 2587 หรือ 30 ปี ข้างหน้า กองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบ เพราะ เก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายนายจ้างเพียงฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง จะไม่สมดุลกับอัตราที่ต้องจ่ายออก 20 % ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย และกองทุนชราภาพเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นประมาณ 90% ของกองทุนประกันสังคมด้วย อาจทำให้กองทุนขาดเสถียรภาพ

คณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบจำลองการพัฒนาบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมเปิดเผยผลการศึกษาเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเป็น 6 ทาง” (มติชน,9 มิถุนายน 2557,น.10) สรุปได้ดังนี้

(1) ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนร้อยละ 1 และนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี โดยเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 รวมอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพเท่ากับร้อยละ 21 หลังจากนั้นกำหนดให้อัตราเงินสมทบคงที่ จะช่วยยืดอายุของกองทุนไปได้อีก 46 ปี

(2) เพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิรับบำนาญ 2 ปีทุก 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี อาจใช้ปีเกิดเป็นเกณฑ์ เช่น ผู้ที่เกิดปี 2510 เป็นต้นไป จะมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุ 62 ปี หรืออาจกำหนดปีที่จะปรับเพิ่มอายุเกษียณ เช่น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป อายุเกษียณจะปรับเพิ่มปีละ 6 เดือน โดยอัตราเงินสมทบคงที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่ที่ร้อยละ 3 ยืดอายุกองทุนได้ 37 ปี

(3) เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญจาก 15 ปี เป็น 20 ปี โดยอัตราเงินสมทบเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ยืดอายุกองทุนได้ 33 ปี

(4) ปรับการคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจากฐาน 60 เดือนสุดท้ายของเงินเดือนเป็นตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบเพื่อใช้คำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 19 และค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมลดลงร้อยละ 19 เช่นกัน ยืดอายุกองทุนได้ 32 ปี

(5) มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุนได้ 58 ปี และ

(6) มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 พร้อมกัน ซึ่งจะทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพนานไปถึงปี 2629 หรืออีก 72 ปีข้างหน้า

ข้อเสนอแนวทางปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม ที่ศึกษาโดยนักวิชาการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการประกันสังคม ได้เสนอต่อที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคมในช่วงปลายปี2560 สรุปได้ดังนี้

(1) ขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพ มีข้อพิจารณา 4 แนวทาง คือ

แนวทาง 1 คงอายุรับบำนาญชราภาพไว้ที่ 55 ปี เงื่อนไขและสิทธิแระโยชน์เงินบำนาญแบบเดิม

แนวทาง 2 ขนายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล และมีสิทธิได้รับบำเหน็จชดเชย หากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุที่มีสิทธิรับบำนาญได้

แนวทาง 3 ขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญตามหลักสากล และสามารถเลือกรับบำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ จะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง

แนวทาง 4 ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนรายใหม่ ภายหลังการแก้ไพระราชบัญญัติประกันสังคมประกาศใช้ สำหรับผู้ประกันตนปัจจุบัน สามารถเลือกรับบำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ

แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง และสามารถเลือกรับประกันสุขภาพต่อเนื่อง โดยยอมให้หักเงินบำนาญที่ได้รับทุกเดือน

(2) เพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพต่อเนื่องแก่ผู้รับบำนาญ โดยผู้รับบำนาญที่เลือกรับการประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังออกจากการเป็นผู้ประกันตน จะยอมให้หักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพ

(3) การปรับสูตรค่าจ้างเฉลี่ยในการคำนวณบำนาญชราภาพ

ปรับสูตรคำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 สุดท้าย (5 ปี) เป็นค่าจ้างเฉลี่ยตลอดระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ โดยค่าจ้างเฉลี่ยแต่ละเดือนจะปรับให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อนนำมาเฉลี่ย เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตนที่มีลักษณะค่าจ้างที่แตกต่างกัน และช่วยให้ผู้ประกันตน ส่วนใหญ่ได้บำนาญเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างเมื่อ 15 ปีที่แล้วอาจเป็นเงินเพียง 7,000 บาท แต่เมื่อปรับเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้ว อาจมีค่าสูงถึง 12,000 บาท

นายอารักษ์ พรหมณี อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิระบบบำนาญ กล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม” ครั้งสุดท้ายประจำปี 2560 ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทอธานีว่า “การแก้กฎหมายประกันสังคมครั้งนี้ สปส.ควรมีระบบรองรับที่เรียกว่าการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวหรือที่มีภาวะพึ่งพิง การขยายอายุจาก 55 ปีเป็น 60 ปี อาจต้องมีเงื่อนไข เพราะบางอาชีพอาจไม่เหมาะสม ควรกำหนดหรือไม่ว่า หากอายุ 55 ปีจะได้สิทธิอะไร และหากอยู่ต่อจะมีเงื่อนไขอะไรจูงใจหรือไม่ ส่วนการเก็บอัตราเงินสมทบ จะสามารถเปิดกว้างได้หรือไม่ เช่นจ่ายเพิ่มโดยไม่ต้องมีจำนวนเพดานมาจำกัด เป็นต้น” (มติชน,29 พ.ย.60 ,น.7)

สัดส่วนอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีผู้ประกันตน มาตรา 33

กรณี นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล รวม
1.เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย 1.06 1.06 1.06 3.18
2.คลอดบุตร 0.23 0.23 0.23 0.69
3.ทุพพลภาพ 0.13 0.13 0.13 0.39
4.ตาย 0.08 0.08 0.08 0.24
รวม 4 กรณี 1.5 1.5 1.5 4.5
5.สงเคราะห์บุตร 1 1
6.ชราภาพ 3 3 6
7.ว่างงาน 0.5 0.5 0.25 1’25
รวม 7 กรณี 5 5 2.75 12.75

หมายเหตุ ▪ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบปรับสัดส่วนอัตราเงินสมทบ กรณีที่จ่ายฝ่ายละ ร้อยละ 1.5 เป็นอัตราใหม่ คือ

กรณีเจ็บป่วย           จากเดิม                  0.88 เป็น 1.06

กรณีคลอดบุตร         จากเดิม                 0.12 เป็น 0.23

กรณีตาย                 จากเดิม                 0.06 เป็น 0.08

กรณีทุพพลภาพ     จากเดิม                   0.44 เป็น 0.13

▪ พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไปได้ตัดความว่า “ฝ่ายละเท่ากัน” ในมาตรา 46 วรรคสอง เพื่อรัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากับฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนได้ โดยแต่ละฝ่าย ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพและกรณีว่างงาน ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ต้องไม่เกินอัตราเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยท้ายพระราชบัญญัติประกันสังคม กำหนดอัตราเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ไม่เกินฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และเงินสมทบกรณีว่างงานไม่เกินฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

สำนักงานประกันสังคม ได้เคยชี้แจงเหตุผลที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ สรุปได้ดังนี้

(1) เพราะผู้ประกันตนมีนายจ้างจ่ายเงินสมทบช่วยอยู่แล้ว และกฎหมายประกันสังคมไม่ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพเท่ากับนายจ้างกับผู้ประกันตน

(2) เพราะพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 24 กำหนดให้กรณีเงินกองทุนประกันสังคมไม่พอจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีใดให้รัฐบาล จ่ายเงินอุดหนุนได้ตามความจำเป็น

(3) เพราะผลสำรวจประกันสังคมกรณีชราภาพของประเทศต่างๆ ไม่กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพตลอดไป เพราะรัฐบาลรับภาระ ค่าใช้จ่ายงบประมาณบริหารสำนักงานและบุคลากรเกี่ยวกับประกันสังคมแล้ว

มีข้อเสนอให้ปรับปรุงประกันสังคมกรณีชราภาพจากฝ่ายแรงงานหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาตอบสนองจากกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เช่น ให้ผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญมีสิทธิใช้สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมเหมือนเดิมต่อไปได้, ปรับฐานค่าจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้มากกว่า 15,000 บาท/เดือน และมาตรา 39 ให้มากกว่า 4,800 บาท/เดือน เพราะแช่แข็งมานานกว่า 20 ปีแล้ว หรือให้ผู้ประกันตนมีสิทธิจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพตามฐานเงินเดือนจริง,รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบประกันสังคม หรือเงินอุดหนุนกรณีชราภาพ  เช่นเดียวกับที่สนับสนุนข้าราชการ,ผู้ประกันตนมาตรา 40 และสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ฯลฯ

ที่สำคัญ คือการปฏิรูปหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุหรือระบบการออมเพื่อการชราภาพที่มีระบบบริหารแบบแยกส่วนเป็นหลายกองทุนตามกลุ่มอาชีพหรือแรงงานในระบบกับนอกระบบให้มีบูรณาการลดเหลื่อมล้ำไปสู่ความครอบคลุมถ้วนหน้าของประชากร ความเพียงพอของรายได้เลี้ยงชีพ และโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาลยั่งยืน

—————————-

* บางตอนใน “ปฏิรูปบำนาญกองทุนประกันสังคม” หน้า 1-2 เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ การปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม จำนวน 12 ครั้งทั้งในกทม.และภูมิภาคช่วงเดือนสิงหาคม ถึง พฤศจิกายน 2560)