โตโยต้าแจง เปิดโครงการสมัครใจลาออก

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ฯ ร่อนหนังสือชี้แจงกรณีเปิดโครงการ “จากกันด้วยใจ” เฉพาะพนักงานรับเหมาช่วง ยัน50 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงาน ด้านสมาพันธ์แรงงานฯเตรียมคุยในเครือ

วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีการเปิดโครงการสมัครใจลาออก ว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเซียลเน็ทเวร์ค ถึงโครงการสมัครใจลาออกสำหรับพนักงานรับเหมาช่วงของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ทางบริษัท ใคร่ขอชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ว่า จากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาส่งผลบริษัทฯต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง

ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือก บริษัทฯจึงเปิดโครงการ “จากกันด้วยใจ” ให้แก่พนักงานรับเหมาช่วงเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ซึ่งพนักงานที่เข้าโครงการจะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงานและบริษัทฯยังพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น ทางบริษัทฯยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะมีการนับอายุงานต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังยืนยันว่าระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทไม่มีนโยบายปลดพนักงานออกแต่อย่างใด รวมทั้ง โตโยต้ายังมีความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป

ด้านนายภูภาร สมายา ประธานสมาพันธ์แรงงานโตโยต้าประเทศไทย กล่าวถึงการเปิดโครงการ“จากกันด้วยใจ”ให้พนักงานรับเหมาช่วงของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ลาออกโดยสมัครใจนั้น ในส่วนของสหพันธ์แรงงานฯ ทราบว่า เป็นการปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิตของนายจ้าง และมีปัญหาในเรื่องของกำลังคนที่เกินด้วยการเปิดให้มีการสมัครใจลาออกขณะนี้เท่าที่รับรู้ข้อมูลพนักงานเหมาช่วงมีการสมัครใจลาออกจำนวนมากเกินกว่าที่นายจ้างกำหนดไว้จนในส่วนของหัวหน้างานต้องดึงรายชื่อบางส่วนของพนักงานที่ทำงานดีกลับไปไม่ให้ออกตามโครงการ และการผลิตสินค้าตัวใหม่ที่ต้องการทักษะแรงงานสูงกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการผลิตของโตโยต้ายังเป็นการใช้กำลังคนยังไม่ได้นำโรบอท หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้กำลังคนจึงเกิน ซึ่งในอนาคตต้องมีการพัฒนาคน ซึ่งข่าวนี้นั้นทางสหพันธ์แรงงานโตโยต้าซึ่งเป็นกรรวมตัวของสหภาพแรงงานในเครือก็มีการประชุมเพื่อที่จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เรียกประชุมเพื่อติดตามข้อมูลแต่ละแห่งแต่ก็เฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ โครงการ จากกันด้วยใจครั้งนายจ้างก็จ่ายเงินให้กับพนักงานฯที่เข้าโครงการ และรับปากว่าจะรับกลับหากสถานการณ์ในบริษัทดีขึ้น ซึ่งการที่พนักงานฯสมัครใจเข้าร่วมโครงการจนเกินกำหนดของบริษัทฯนั้นอาจเป็นเพราะพนักงานฯต้องการเงินก้อนที่บริษัทให้ในการตอบแทน และพนักงานฯส่วนใหญ่อายุยังน้อย และในส่วนของ Carmaker ค่ายรถต่างๆก็มีความกังวลว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อยู่เช่นกันในขณะนี้

นายตั้ม ชัยภูมิ เล่าว่า ในฐานะที่เป็นพนักงานโตโยต้าอยากให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะพนักงานรับเหมาช่วงเหล่านี้เป็นแรงงานชั้นดีที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน อยากให้บริษัทฯคิดถึงครอบครัวของแรงงานที่ยังมีภาระรับผิดชอบ การที่กล่าวถึงความเป็นพี่น้องผู้ใช้แรงงานจึงอยากให้ทางสหภาพแรงงานเข้ามาดูแลเพื่อให้พี่น้องแรงงานได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้พนักงานรับเหมาช่วงที่เคยได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น และทำงานมานานแต่วันนี้กลับต้องเข้าโครงการลาออกโดยไม่สมัครใจ เนื่องจากแต่ละแผนกทางบริษัทได้ระบุจำนวนในการบังคับให้เข้าโครงการจึงส่งผลกระทบต้องลาออกจำนวนมาก

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า การเลิกจ้างลูกจ้างเหมาช่วง เหมาค่าแรงได้เข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อการเฝ้าระวัง กรณีที่บริษัทที่มีการเปิดสมัครใจให้คนงานลาออกแทนการเลิกจ้างนั้น หากมองในแง่ของข้อมูลการเติบโตของเศรษฐกิจรถยนต์มีการปรับตัวเรื่องของการใช้แรงงานฝีมือทักษะเพิ่มขึ้น และมีการผลิตรถรุ่นใหม่ แม้ว่า แรงงานที่ทำงานมานานมีทักษะฝีมือ และปรับตัวได้เมื่อมีเครื่องจักรใหม่มาก็ตาม แต่การที่เลิกจ้าง หรือเปิดโครงการให้สมัครใจลาออกสำหรับคนเก่าที่เงินเดือนสูงออก และมีการจ้างเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแทนและยังสามารถที่จะฝึกงานได้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ได้ นายจ้างเห็นว่าให้คนที่เงินเดือนสูงและอายุก็มากแล้วออกไปหนึ่งคนสามารถจ้างเด็กใหม่ได้ตั้งคนครึ่งทีเดียว ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของคน ซึ่งตรงนี้ในส่วนของบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่สมุทรสาครก็มีการเตรียมที่จะเปลี่ยนคนและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เข้ามาแทนซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนทำงาน และการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่น่าจะพอมีเวลาจึงได้มีการเปิดโครงการรับสมัครเข้าโครงการ “ร่วมใจจาก” ลาออกจำนวน 100 คน

ส่วนผลิตภัณฑ์เดิมเครื่องจักรเดิมที่ต้องผลิตเพื่อส่งสินค้าให้กับตลาดก็มีหลายบริษัทหันไปใช้บริษัทรับเหมาช่วง หรือย้ายฐานไปยังประเทศใน CLMV คือกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพดี เช่น ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามที่ค่าจ้างยังต่ำอยู่ เป็นต้น ส่วนประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นกว่าเดิมและต้องการลดต้นทุนเรื่องค่าจ้างคนเก่าซึ่งมีค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงออก ตรงนี้เองมองว่านายจ้างยังคงมองลูกจ้างเป็นสินค้าพอหมดค่าก็ทิ้ง ไม่ได้ดูว่าสังคมต้องแบกรับภาระคนเหล่านี้อย่างไรหลังจากต้องตกงาน “การเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เข้ามาแทนคนนั้นกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 121 ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษในส่วนนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งแม้ว่าการเปิดสมัครใจลาออกแบบกำหนดจำนวนคน และกำหนดแต่ละแผนกทำให้ต้องมีการคัดกันเองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดเพื่อให้ครบจำนวนที่กำหนด ก็ถือว่า ทำลายจิตใจคนทำงาน ซึ่งตอนนี้คิดว่าจำนวนมากคงไม่เป็นอันทำงานในการการผลิต”

นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า การที่นายจ้างใช้วิธีการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออกนั้น อยากฝากให้ลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานดูเรื่องข้อมูลให้ดี เพราะการที่สมัครใจลาออกนั้นกระทบต่อสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานที่หากนายจ้างเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ตามอายุงานแล้ว ลูกจ้างต้องไปแจ้งประกันสังคมเพื่อรับสิทธิกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน แต่หากลูกจ้างสมัครใจลาออกสิทธิกรณีว่างงานจะเหลือเพียงร้อยละ 30 ของเงินเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน หรือ 90 วัน

ด้านกระทรวงแรงงานนายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การเปิดโครงการสมัครใจลาออกในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ ที่มีการรายงานกรณีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อโครงการว่า ‘จากกันด้วยใจ’ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน หรือราว 800 – 1,000 คน สมัครใจลาออก โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต และได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4 – 13 กรกฎาคม 2559 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด (5 ก.ค.59) มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 800 คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 3 แห่งที่ชัดเจนและประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานสำโรง สำนักงานใหญ่, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (นิคมเกตเวย์) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานบ้านโพธิ์) ประกอบรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก และทำชิ้นส่วนรถยนต์ ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการชี้แจงกับลูกจ้างเหมาค่าแรงพร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าหากการปรับระบบลงตัวและผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้น ปัจจุบันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมากับช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องของการประกอบอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในระหว่างนี้บริษัทแต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการจะทำให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้

นายสุวิทยา ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทจำนวนมาก อาทิ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 17 บริษัท ภายใต้ 17 บริษัทจะมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนชุดใหญ่ๆ ทั้งหมด 390 บริษัท ย่อยลงมาจะเป็นพาร์ทต่างๆ ที่เป็นการผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 1,250 บริษัท มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 750,000 คน โดยในวงรอบของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นจ้างเหมาช่วง (Sub Contractor) ประมาณ 40% ของ 750,000 คน และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด อาทิ การให้ออโตเมติก การใช้ไอที อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือบริษัทที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น สำหรับบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เกิดจากภาคความสมัครใจ ขอให้ดูแลเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจนสามารถเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกโดยเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วการที่จะสมัครใจออกนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องของลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะมีส่วนในการพิจารณาด้วย

ต่อมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM),สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์เปิดผนึกต่อสังคม “เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต” โดยตั้งคำถามต่อกระทรวงแรงงานและบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับโครงการสมัครใจลาออก “จากกันด้วยใจ” พร้อมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง และให้ลูกจ้างทุกคนในสถานประกอบกิจการ “เท่าเทียมกัน” ในการจ้างงาน ในลักษณะหนึ่งสถานประกอบกิจการ หนึ่งกระบวนการผลิต หนึ่งสภาพการจ้าง แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนแต่อย่างใด นอกจากการอ้างเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 11 /1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551) ซึ่งก็พบว่า สถานประกอบการมิได้นำพาในการปฏิบัติตามกฎหมายและต้องให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมแทน ซึ่งก็พบข้อจำกัดและระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน

เมื่อมาพิจารณาในคำชี้แจงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก็พบถ้อยคำที่ขัดแย้งกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันหลายประการ ได้แก่

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรเริ่มปรับดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ประกอบกับการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐกลับมาขยายตัวดี อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูงเนื่องจากในปีก่อน ที่มีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ประกอบกับในปีนี้ความต้องการรถกระบะดัดแปลงขยายตัวดีต่อเนื่อง
  2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 มีทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน เนื่องจากผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.08 และ 63.56 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 15.86 และในเดือนพฤษภาคม 2559 ผลิตรถยนต์ 168,394 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.69 ส่งออกรถยนต์ 99,547 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 ยอดขายรถยนต์ 66,019 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9
  3. หากย้อนไปดูสถิติยอดการผลิตรถยนต์รวมทั้งปีของบริษัทโดยตรง พบว่า มีส่วนแบ่งการตลาดขายรถยนต์ในประเทศสูงถึง 33.78 % สถิติการผลิตรถยนต์ ปี 2557 ยอดผลิต 1.88 ล้านคัน ปี 2558 ยอดผลิต 1.91 ล้านคัน ปี 2559 คาดการณ์ 2 ล้านคัน ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2559 ผลิตรถยนต์ จำนวน 138,237 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 11.51 ขายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18
  4. บริษัทมีรายได้สูงสุดติดอันดับ 2 ของประเทศถึงกว่า 417,826 ล้านบาท และมีผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 กว่า 29,937 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2558 ) และผลประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะกว่าเวลา 50 ปีที่ทำธุรกิจในประเทศไทย
  5. บริษัทสามารถจ่ายเงินเพื่อเป็นสปอนเซอร์ให้กับหน่วยงานต่างๆในแต่ละปีได้มากมาย เช่น ในปี 2559 มอบเงิน 30 ล้านบาท สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทยสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก และอีก 180 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่างๆ
  6. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโตโยต้าฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “….จะสามารถทำตามเป้าหมายการส่งออกในปี 2559 ที่ 370,000 คัน ได้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าโตโยต้าไม่มีนโยบายที่จะปลดคนงานออกอย่างแน่นอน โดยโตโยต้ามีแผนที่จะส่งออกไปยังตลาดยุโรปและโอเชียเพิ่มขึ้น ทดแทนตลาดตะวันออกกลางที่กำลังซื้อลดลง รวมถึงมีแผนส่งออกรถยนต์ไปยังอิหร่าน ซึ่งเป็นตลาดเปิดใหม่ด้วย”
  7. นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯปรับลดพนักงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ ที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน
    จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดเจนว่า คำกล่าวอ้างในการดำเนินโครงการสมัครใจลาออกจึงเป็นเพียงวาทกรรมลอยๆ ที่นำมากล่าวอ้างเพื่อลดจำนวนคนงาน ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักประกันใดๆด้วยเช่นกันว่าบริษัทจะดำเนินการตามที่กล่าวนั้นจริง

อีกทั้งการกล่าวอ้างเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังนำไปสู่การที่บริษัทโตโยต้าฯ ละเลยในการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษในส่วนนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้ทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่มุ่งแต่อัตราการเจริญเติบโตและความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน

สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โดยต้องคำนึงถึงการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากกว่าผลักภาระให้ลูกจ้างผ่านข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด รวมทั้งการจักต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในบริษัทฯแห่งอื่นๆ ในการนำข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจชะลอตัว มาใช้เลิกจ้างคนงานอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทซัพพายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อาจใช้ข้ออ้างเดียวกันกับบริษัทโตโยต้าฯ นำมาเลิกจ้างคนงานติดตามมา

โดย วาสนา ลำดี