เสรีภาพการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความร่วมมือในสถานประกอบกิจการ

20160501_114331

เสรีภาพการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความร่วมมือในสถานประกอบกิจการ ã

ความหมาย

เสรีภาพในการสมาคม หมายถึงสิทธิของลูกจ้างในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งองค์กรหรือสหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้างทั้งหมด การเจรจาต่อรองร่วมเป็นกระบวนการต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้าง โดยทั่วไปมักเป็นการเจรจาข้อตกลงในด้านสภาพการทำงานและสภาพการจ้างงาน ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานและทั้งสองส่วนมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ถ้าลูกจ้างไม่มีเสรีภาพในการสมาคมการเจรจาต่อรองร่วมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากลูกจ้างไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ กลุ่มลูกจ้างต้องมีอิสระในการเลือกตัวแทนของลูกจ้าง และนายจ้างต้องไม่แทรกแซงในกระบวนการเลือกตัวแทนลูกจ้างดังกล่าว

ในสถานประกอบกิจการที่อยู่นอกระบบและสถานประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ หรือ ลูกจ้างไม่แสดงความสนใจต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานแต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือลูกจ้างมีสิทธิในการจัดตั้งและเป็นตัวแทนของลูกจ้าง ทั้งนี้ นายจ้างต้องเคารพสิทธิของลูกจ้างและไม่แทรกแซงการรวมกลุ่มของลูกจ้าง

เมื่อลูกจ้างเรียกร้องเพื่อการต่อรองและการเจรจากับนายจ้างสิ่งสำคัญคือนายจ้างต้องเคารพต่อข้อเรียกร้อง ของลูกจ้างและไม่มีมาตรการเพื่อขัดขวางหรือแทรกแซงลูกจ้างที่เข้าร่วมการเรียกร้องนี้

นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างประสงค์เข้าร่วมการรวมกลุ่มเจรจากับนายจ้างในเงื่อนไขที่ต้องการสำหรับการทำงานและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย นายจ้างควรจัดสรรเวลาในการเจรจาอย่างเปิดเผยกับคนงานและดำเนินการโดยสุจริตใจในมุมมองของการได้มาซึ่งผลลัพธ์ในเชิงบวกร่วมกัน

มีหลากหลายช่องทางที่จะพัฒนาการสื่อสารอย่างเปิดเผยระหว่างลูกจ้างและนายจ้างในเชิงบวก สิ่งสำคัญคือ สถานประกอบกิจการต้องมีความเต็มใจและหาช่องทางเพื่อทำให้การเจรจาเกิดขึ้น ผู้จัดการของสถานประกอบการควรหาช่องทางในการรับฟังข้อเรียกร้องของลูกจ้างเพื่อเจราจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และแจ้งลูกจ้างถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพการทำงานของลูกจ้าง นอกจากนี้สถานประกอบกิจการควรมีกระบวนการรับฟังข้อขัดแย้งและข้อร้องทุกข์ในแนวทางที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

รายการตรวจประเมินนายจ้างเกี่ยวกับความร่วมมือในสถานประกอบการ เสรีภาพในกรสมาคม และการเจรจาต่อรองร่วม

รายการตรวจประเมิน

1. ลูกจ้างมีอิสระในการพบปะพูดคุยและรวมตัว โดยไม่ถูกแทรกแซงหรือขัดขวาง ใช่หรือไม่
2. ตัวแทนสหภาพแรงงานและองค์กรสิทธิลูกจ้าง สามารถเข้าถึงลูกจ้างในสถานประกอบการ ใช่หรือไม่
3. ลูกจ้างมีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ตามที่กฎหมายกำหนด ใช่หรือไม่
4. นายจ้างไม่กระทำการขึ้นบัญชีลูกจ้าง(Blacklist) เพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างงานลูกจ้างที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานหรือมีส่วนร่วมในการสมาคมของลูกจ้าง ใช่หรือไม่
5. นายจ้างอนุญาตให้มีการจัดตั้งองค์กรลูกจ้างและดำเนินการโดยอิสระ และนายจ้างไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุม ใช่หรือไม่
6. นายจ้างไม่กระทำการใดๆเพื่อลงโทษลูกจ้างที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานหรือมีส่วนร่วมในการสมาคมของลูกจ้าง ใช่หรือไม่
7. นายจ้างไม่จัดหาสิ่งจูงใจให้แก่ลูกจ้างเพื่อไม่ให้ลูกจ้างเข้าร่วมสหภาพแรงงานหรือมีส่วนร่วมในการสมาคมของลูกจ้าง ใช่หรือไม่
8. นายจ้างไม่กระทำการใดๆ เพื่อลงโทษลูกจ้างที่เข้าร่วมกลุ่มคัดค้าน โต้แย้ง หรือนัดหยุดงานประท้วงตามขั้นตอนกฎหมาย ใช่หรือไม่
9. นายจ้างไม่จ้างลูกจ้างใหม่ หรือบอกเลิกลูกจ้างที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหรือกิจกรรมที่ลูกจ้างเป็นตัวแทนลูกจ้าง ใช่หรือไม่
10. นายจ้างเจรจาต่อรองโดยสุจริตใจกับสหภาพแรงงานหรือตัวแทนลูกจ้าง ใช่หรือไม่
11.ถ้าเจรจาข้อตกลงร่วมกันบรรลุผลสำเร็จ จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงนั้น ใช่หรือไม่
12.นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างมีการชุมนุมหรือการแสดงออกอย่างสันติ ใช่หรือไม่
13.มาตรการวินัยมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมาย ใช่หรือไม่
14.นายจ้างแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งของลูกจ้างตามข้อกำหนดของกฎหมาย ใช่หรือไม่

สาระสำคัญ :

ลูกจ้างต้องมีเสรีภาพในการสมาคม จัดตั้งและเป็นตัวแทนลูกจ้าง เพื่อเรียกร้อง หรือแสดงข้อคิดเห็น ต่อนายจ้าง และมีเสรีภาพในการเจรจาต่อประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพการทำ งาน สิทธิตามกฎหมาย และสิทธิของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างเรียกร้องขอเข้าร่วมการเจรจาในประเด็นใดๆ กับนายจ้าง นายจ้างควรปฏิบัติต่อการเรียกร้องของลูกจ้างโดยสุจริตใจ และเข้าร่วมการเจรจาเพื่อนำ ไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกัน นายจ้างจะไม่แทรกแซงในกระบวนการจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง หรือลงโทษลูกจ้างที่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน หรือมีส่วนร่วมในการสมาคมของลูกจ้าง และควรจัดทำช่องทางสื่อสารกับลูกจ้าง รวมทั้งมีระบบร้องทุกข์เพื่อให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นๆ

ข้อปฏิบัติที่ดีและข้อแนะนำ :

  1. จัดประชุมในสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน และส่งเสริมให้ลูกจ้างเลือกตัวแทนลูกจ้างเพื่อเป็น ตัวแทนในการเจรจากับผู้บริหาร
  2. ส่งเสริมการแก้ไขข้อร้องทุกข์ของลูกจ้างอย่างมีประสิทธิภาพในระยะเริ่มต้น โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ในการรับมือกับข้อขัดแย้งนั้นๆ และมีความเต็มใจในการรับฟังและให้ความใส่ใจต่อข้อขัดแย้งและข้อร้องทุกข์ ของลูกจ้าง

ã ที่มา: แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีหรือจีแอลพี (Good Labour. Practice: GLP) 2556: น.19-21, จัดทำโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรมประมง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สนับสนุนโดย กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา